×

สะเทือนสังคม ปมเปลี่ยนป้าย 33 ล้านบาท สถานีกลางบางซื่อ พบปี 65 UNIQ ได้ 6 โครงการรัฐ มูลค่า 1.8 หมื่นล้านบาท

โดย THE STANDARD TEAM
04.01.2023
  • LOADING...

การเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็น ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ ที่มีราคาการปรับปรุงชื่อใหม่ถึง 33,169,726.39 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) สังคมจึงเกิดคำถามถึงความเหมาะสมในการใช้งบประมาณเพื่อเปลี่ยนป้ายดังกล่าว

 

แม้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ชี้แจงไปแล้วว่า โครงการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ได้ดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างเคร่งครัด ทั้งการกำหนดราคากลาง โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้งาน ความคุ้มค่างบประมาณ ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อโครงสร้างภายในสถานี และประชาชนผู้ใช้บริการ

 

ทั้งนี้ มีการกำหนดราคากลาง รฟท. ได้ดำเนินการผ่านการตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตของงานและราคากลาง โดยพิจารณารายละเอียดจำนวน ปริมาณ รายการพัสดุ วัสดุต่างๆ ค่าแรง ที่ต้องนำมาใช้ในการคำนวณที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้าง ตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นไปตามราคากลางและระเบียบของกรมบัญชีกลาง

 

ราคาดังกล่าวได้รวมยอดเงินเผื่อจ่าย (Provisional Sum) 1,627,662.60 บาท ซึ่งยอดเงินเผื่อจ่ายกำหนดไว้ว่าจะจ่ายให้ก็ต่อเมื่อผู้ว่าจ้างสั่งให้ดำเนินการ สำหรับงานติดตั้งและรื้อถอนวัสดุปิดแทนผนังกระจก เช่น แผ่นผนังอะคริลิกใส เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้ลมหรือฝนสาดเข้าตัวอาคารสถานี ระหว่างที่รอการผลิตและติดตั้งผนังกระจกใหม่

 

อีกทั้งยังมีกระบวนการกำหนดขอบเขตงาน ทางคณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตของงานและราคากลางของโครงการฯ ได้กำหนดขอบเขตของงานที่หลากหลาย ไม่ได้มีเพียงแค่การเปลี่ยนป้ายชื่อเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจัดทำระบบไฟ งานรื้อถอน ที่มีความละเอียดอ่อนและต้องปรับปรุงอย่างระมัดระวัง รวมถึงมีการรับประกันความชำรุดบกพร่อง เพื่อให้โครงการเกิดความรอบคอบ ซึ่งขอบเขตงานทั้งหมดแบ่งออกเป็น 3 ส่วน 

 

งานส่วนที่ 1: งานโครงสร้างวิศวกรรม งานรื้อถอนป้ายสถานีกลางบางซื่อเดิม ทั้งในส่วนภาษาไทยและภาษาอังกฤษ งานรื้อผนังกระจกและโครงกระจกอะลูมิเนียมเดิม งานรื้อระบบไฟฟ้าแสงสว่างของป้ายเดิม งานผลิตและติดตั้งโครงเหล็กยึดตัวอักษรใหม่ ต่อเติมตามความยาวป้ายที่เพิ่มขึ้น

 

งานส่วนที่ 2: งานผลิตป้ายใหม่ งานติดตั้งแผ่นกระจกและโครงกระจกอะลูมิเนียมใหม่ และงานประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ งานสถาปัตยกรรม งานออกแบบรายละเอียดพร้อมรายการคำนวณ งานติดตั้งป้ายชื่อใหม่ และงานติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างของป้ายชื่อใหม่ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยสอดคล้องตามข้อกำหนดของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 1

 

งานส่วนที่ 3: งานในช่วงรับประกันความชำรุดบกพร่อง ซึ่งรวมงานดูแลรักษาระบบไฟฟ้าแสงสว่างของป้ายด้วย เป็นเวลา 365 วัน (12 เดือน)

 

เสียงวิจารณ์ 33 ล้านแพงเกินไป

 

ประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการ รฟท. ให้สัมภาษณ์ในรายการ Wake Up Thailand ทาง VOICE TV ว่า ราคาการเปลี่ยนป้ายดังกล่าวอาจจะแพงเกินไป โดยเฉพาะค่าสถาปัตยกรรมถึง 24 ล้านบาท ค่าทำตัวหนังสือแต่ละตัวแพงขนาดนั้นหรือ และสถานีนี้มีการติดตั้งป้ายมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อสร้างแล้วเสร็จ 

 

พร้อมเสนอแนะว่าควรให้ผู้รับเหมารายนั้นมาดูราคาการติดตั้งป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อป้ายแรก ตกลงราคากันไว้เท่าไร ซึ่งการติดตั้งป้ายแบบ Curtain Wall แบบป้ายสถานีกลางบางซื่อ ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ ใช้การออกแบบติดตั้งผ่านคอมพิวเตอร์ได้ทั้งหมด เป็นการเพิ่มตัวอักษรจากชื่อเดิม เพราะคำว่า ‘สถานีกลาง’ ไม่ต้องทำใหม่

 

ขณะที่ ธงทอง จันทรางศุ แสดงความคิดเห็นว่า “ถ้าคิดจะขอพระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อใหม่ ก็ไม่ควรทำป้ายให้ถาวรแต่แรก จะได้ไม่ต้องเสียเงินสองรอบ”

 

รังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล แสดงความคิดเห็นว่า เป็นการใช้เงินไม่เป็น ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลนี้ใช้เงินภาษีของประชาชนในหลายๆ โครงการที่เปล่าประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว เราควรใช้เงินภาษีของประชาชนในเรื่องที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้หรือไม่ ส่วนตัวตนค่อนข้างผิดหวังที่รัฐบาลใช้เงินแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

 

โลกออนไลน์แสดงความคิดเห็นว่า เมื่อได้เห็นรายละเอียดของเนื้องานแล้วพบว่า เป็นประเภทงานอาคาร ปรับปรุงป้ายสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของ รฟท. บริเวณโดมด้านหน้าของสถานีกลางบางซื่อ ทั้งในฝั่งตะวันออกและตะวันตก 

 

ทั้งนี้ กำหนดป้ายชื่อตัวอักษรภาษาไทย ขนาดสูง 3 เมตร กว้าง 2.6 เมตร หนา 40 เซนติเมตร ส่วนชื่อภาษาอังกฤษ ขนาดสูง 2.1 เมตร กว้าง 2.2 เมตร หนา 40 เซนติเมตร ประกอบด้วย งานโครงสร้างวิศวกรรม, งานสถาปัตยกรรม, งานออกแบบ และงานติดตั้งและรื้อถอนวัสดุปิดแทนกระจกระหว่างใช้งาน หากนำจำนวนตัวอักษรที่เปลี่ยนมาคิดค่าเฉลี่ย ตัวอักษรนั้นตกตัวละ 589,286 บาท

 

ขณะที่ผู้กำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยตรงอย่าง ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคมเข้าตรวจสอบแล้ว แต่เนื่องด้วยป้ายมีขนาดใหญ่ รวมถึงเป็นป้ายพิเศษ มีตัวหนังสือขนาดใหญ่ ซึ่งต้องรอดูว่าราคาและปริมาณงานจะเป็นอย่างไร เพราะมีหลายรายการ ขอรอการชี้แจงอีกครั้ง พร้อมยืนยันว่ามีหน่วยงานตรวจสอบ เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หากผิดก็ว่าไปตามกฎหมาย โดยจะต้องได้รับความชัดเจนไม่เกิน 7 วัน

 

รู้จัก UNIQ รับเหมายักษ์ใหญ่ Top 4 ของไทย 

 

บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ UNIQ เป็นหนึ่งในยักษ์รับเหมาของประเทศไทยร่วมกับอีก 3 บริษัท คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 

 

UNIQ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง โดยเป็นผู้รับเหมาหลักทั้งงานแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งให้บริการครบวงจรทั้งงานออกแบบและงานก่อสร้าง และงานรับก่อสร้างตามแบบที่ผู้ว่าจ้างกำหนด โดยมุ่งเน้นที่งานสาธารณูปโภคขนาดกลางและขนาดใหญ่ 

 

ที่ผ่านมา UNIQ ได้ลงนามในสัญญาก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีหลายโครงการ ทั้งโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน, โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย สัญญาที่ 3: การก่อสร้างงานโยธา ช่วงเตาปูน-ท่าพระ, โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต สัญญาที่ 2: การก่อสร้างงานโยธา ช่วงสะพานใหม่-คูคต และโครงการทางพิเศษสายรามอินทรา-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร สัญญาที่ 1 

 

ทั้งนี้ UNIQ มีสินทรัพย์รวม 45,441.75 ล้านบาท หนี้สินรวม 37,351.62 ล้านบาท โดยในไตรมาส 3/65 มีกำไร 31.33 ล้านบาท ในปี 2565 ได้ลงนามในสัญญารับงานก่อสร้างของภาครัฐไปทั้งสิ้น 6 โครงการ มูลค่ากว่า 18,714 ล้านบาท 

 

วันที่ 31 มกราคม 2565

 

  • บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท อสิตากิจ จำกัด ได้ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างกับกรมทางหลวง (ทล.) ในการก่อสร้างงานรับจ้างเหมาโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอน 6 มูลค่า 1,865 ล้านบาท 

 

วันที่ 11 มีนาคม 2565

 

  • บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) ได้ลงนามในสัญญาจ้างออกแบบและก่อสร้างกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในงานจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) สัญญาที่ 4: งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงสะพานพุทธ-ดาวคะนอง มูลค่า 14,982 ล้านบาท

 

วันที่ 30 กันยายน 2565 

 

  • บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) ได้ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างกับกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ในการก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ถนนราชพฤกษ์ จังหวัดนนทบุรี 1 แห่ง มูลค่า 1,181.5 ล้านบาท
  • บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) และบริษัท อสิตากิจ จํากัด ได้ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างกับ ทช. ในการก่อสร้างสะพานบนสายทาง รย.4060 อำเภอเขาชะเมา, แก่งหางแมว จังหวัดระยอง, จันทบุรี 2 แห่ง มูลค่า 587.516 ล้านบาท

 

วันที่ 21 ตุลาคม 2565 

 

  • บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) ได้ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างกับการประปานครหลวง (กปน.) ในการก่อสร้างวางท่อประปาและงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมโครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ถนนราชพฤกษ์ จังหวัดนนทบุรี ของกรมทางหลวงชนบท มูลค่า 66.8 ล้านบาท

 

วันที่ 29 ธันวาคม 2565 

 

  • บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) ได้ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างกับ รฟท. ในการก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย มูลค่า 33.1 ล้านบาท

 

จากสถานีกลางบางซื่อ สู่ ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’

 

การเปลี่ยนชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็น ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ นั้น เกิดขึ้นภายหลังจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) มีหนังสือที่ นร 0508/ท 4784 ลงวันที่ 2 กันยายน 2565 เรื่อง ขอพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน) โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) และสถานีกลางบางซื่อ คือ 

 

  1. พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ระยะที่ 1 ว่า ‘นครวิถี’
  2. พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ระยะที่ 1 ว่า ‘ธานีรัถยา’
  3. พระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อว่า ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’

 

สำหรับ ‘กรุงเทพอภิวัฒน์’ เป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานเพื่อเป็นชื่ออย่างเป็นทางการ ซึ่งมีความหมายว่า ‘ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร’

 

ทั้งนี้ เมื่อเปิดบริการเต็มรูปแบบ สามารถรองรับรถไฟทางไกลของการรถไฟแห่งประเทศไทยทุกเส้นทาง ทั้งรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ระบบรถไฟความเร็วสูงทุกเส้นทาง รถไฟฟ้าเอราวัน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ รวม 24 ชานชาลา รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน)

 

อีกทั้งส่วนหนึ่งของโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางราง คุนหมิง-สิงคโปร์ สาย Central Route ที่เป็นเส้นทางรถไฟจากสถานีรถไฟคุนหมิง ประเทศจีน ไปยังสถานีรถไฟจูรงตะวันออก ประเทศสิงคโปร์ด้วย 

 

ทั้งนี้ การพัฒนาสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ครั้งนี้ ไม่ใช่การสร้างสถานีขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้เท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นย่านธุรกิจแห่งใหม่ และเป็นสถานีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เชื่อมต่อทุกการเดินทางด้านคมนาคมและธุรกิจเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อทดแทนสถานีกรุงเทพ (สถานีหัวลำโพง) 

 

ขณะที่ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – กันยายน 2564 มีรายได้ 3,429 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าประมาณการเนื่องจากสถานการณ์โควิด

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X