×

จับตาการระบาดสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 จะส่งผลต่อไทยมากแค่ไหน

26.06.2022
  • LOADING...
โควิด BA.4 และ BA.5

ประเทศไทยกำลังจะเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ พร้อมกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดภายในประเทศ ทั้งปรับระดับพื้นที่เป็นพื้นที่สีเขียวทุกจังหวัด เปิดสถานบันเทิงถึง 02.00 น. ตามกฎหมายเดิม และประชาชนสวมหน้ากากตามความสมัครใจ จนแทบใช้ชีวิตตามปกติแล้ว แต่ไวรัสโควิดยังไม่หมดไปและกลายพันธุ์ต่อเนื่อง ล่าสุดเป็นสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในหลายประเทศกลับมาเพิ่มขึ้น เช่น โปรตุเกส สหราชอาณาจักร ออสเตรีย

 

สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 เป็นอย่างไร ในประเทศไทยพบสายพันธุ์นี้แล้วหรือยัง และจะส่งผลต่อการเปิดประเทศมากแค่ไหน

 

สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 เป็นอย่างไร

หากเรียกชื่อสายพันธุ์ตามตัวอักษรกรีก การระบาดของโควิดตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมายังเป็นระลอกของ ‘โอมิครอน’ แต่สายพันธุ์ย่อยของไวรัสที่ระบาดในช่วงกลางปีนี้เริ่มต่างไปจากเดิม (ไม่ได้เป็น ‘ตัวปิดเกม’ เหมือนที่บางฝ่ายคาดหวัง) กล่าวคือเมื่อต้นปีเป็นสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 เมื่อแพร่ระบาดในแต่ละประเทศก็กลายพันธุ์แยกย่อยลงไปอีก เช่น BA.2.12.1 ในสหรัฐอเมริกา แต่ในช่วงกลางปีนี้เป็นสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ที่เริ่มเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดิมในแต่ละประเทศ

 

ทั้ง 2 สายพันธุ์พบครั้งแรกที่แอฟริกาใต้ เมื่อเดือนมกราคม 2565 และต่อมาทำให้เกิดการระบาดระลอกที่ 5 ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม แต่เป็นคลื่นลูกเล็กกว่าระลอก BA.1 และ BA.2 เมื่อปลายปีที่แล้ว มีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับสายพันธุ์ BA.2 มากกว่า BA.1 แต่มีตำแหน่งการกลายพันธุ์บนโปรตีนหนามที่ไม่พบในโอมิครอนสายพันธุ์อื่นคือ L452R ซึ่งตำแหน่งนี้เคยพบในสายพันธุ์เดลตามาก่อน ทำให้คาดว่าอาจจับกับเซลล์ปอดได้ดีขึ้นและหลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น

 

องค์การอนามัยโลกจัดทั้งคู่เป็นสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์น่ากังวลที่ต้องติดตาม (VOC Lineages Under Monitoring: VOC-LUM) โดยประเทศที่พบสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 แล้วมีจำนวน 62 และ 58 ประเทศตามลำดับ ข้อมูลจากการเฝ้าระวังสายพันธุ์ทั่วโลกในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2565 พบว่า BA.4 มีแนวโน้มลดลงจาก 16% เหลือ 9% ในขณะที่ BA.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 16% เป็น 25% ดังนั้นสายพันธุ์ที่ต้องจับตาในช่วงครึ่งปีหลังนี้คือ BA.5

 

สำหรับความสามารถของทั้งคู่จากการรวบรวมของ WHO ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2565 เป็นดังนี้

  • การแพร่ระบาด ทั้งคู่มีความได้เปรียบในการแพร่ระบาดมากกว่า BA.2
  • ความรุนแรง ไม่แตกต่างจาก BA.1 แต่การระบาดในบางประเทศพบว่ามีอัตราการรักษาตัวในโรงพยาบาลและไอซียูเพิ่มขึ้น
  • การติดเชื้อซ้ำ ไม่มีข้อมูล
  • การหลบภูมิคุ้มกัน ระดับภูมิคุ้มกันยับยั้งไวรัสลดลง 7.5 เท่า เมื่อเทียบกับ BA.1
  • การวินิจฉัย ทั้งคู่ตรวจไม่พบยีน S เหมือน BA.1 ส่วนชุดตรวจ ATK ยังสามารถใช้ตรวจสายพันธุ์โอมิครอนในภาพรวมได้
  • การรักษา ยาแอนติบอดีมีประสิทธิผลลดลง ส่วนยาต้านไวรัสยังมีประสิทธิผลต่อสายพันธุ์โอมิครอน
  • วัคซีน ยังมีประสิทธิผลสูงในการป้องกันอาการรุนแรงจากสายพันธุ์โอมิครอน แต่ลดลงตามระยะเวลา และเมื่อฉีดเข็มกระตุ้นจะทำให้มีประสิทธิผลมากขึ้น 

 

ประเด็นเรื่องการหลบหลีกภูมิคุ้มกันมีข้อมูลที่น่าสนใจที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถยับยั้งสายพันธุ์ BA.4 หรือ BA.5 ได้เพิ่มขึ้น แต่ถ้าเทียบกับ BA.1 หรือ BA.2 จะยับยั้งได้น้อยกว่า 3.3 เท่า (แสดงว่าทั้งคู่หลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น) และผู้ที่เคยติดเชื้อสายพันธุ์ BA.1 หรือ BA.2 มาก่อนมีภูมิคุ้มกันที่ยับยั้ง BA.4 หรือ BA.5 น้อยกว่า 2.9 เท่า เมื่อเทียบกับการยับยั้ง BA.1 หรือ BA.2 (แสดงว่าอาจทำให้ติดเชื้อซ้ำได้) 

 

ทั้งนี้มีข้อมูลประสิทธิผลวัคซีนเบื้องต้นจากสำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร (UKHSA) ว่าประสิทธิผลต่อสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ไม่แตกต่างจากสายพันธุ์ BA.2 (แสดงว่าถึงแม้ข้อมูลในห้องปฏิบัติการจะพบว่าสายพันธุ์เหล่านี้หลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น แต่ข้อมูลในสถานการณ์จริงวัคซีนยังมีประสิทธิผลอยู่) ดังนั้นความรุนแรงของสายพันธุ์ใหม่ในแต่ละประเทศอาจแตกต่างกัน ขึ้นกับความครอบคลุมของวัคซีนและการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น

 

ในประเทศไทยพบ BA.4 และ BA.5 แล้วหรือยัง

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์ไวรัสโควิดในประเทศไทยว่า จากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อ 396 ราย ระหว่างวันที่ 18-22 มิถุนายน 2565 พบสายพันธุ์ BA.2 มากที่สุด จำนวน 213 ราย (53.8%) รองลงมาเป็น BA.4 หรือ BA.5 จำนวน 181 ราย (45.7%) ซึ่งเริ่มพบในประเทศตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 6.7% ในสัปดาห์ก่อนหน้า (11-17 มิถุนายน 2565) และ BA.1 น้อยที่สุดจำนวน 2 ราย (0.5%)

 

สำหรับผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.4 หรือ BA.5 แบ่งเป็นกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ 48 ราย (72.7%) และกลุ่มผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 133 ราย (40.3%) แสดงว่าสายพันธุ์เหล่านี้กำลังระบาดมากในต่างประเทศ และเมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นก็ทำให้ทั้งคู่เริ่มระบาดในประเทศมากขึ้นและกำลังแทนที่สายพันธุ์ BA.2 แต่ด้วยสัดส่วนของสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว น่าจะต้องมีการตรวจสอบว่าเป็นตัวอย่างจากคลัสเตอร์หรือพื้นที่เดียวกันหรือไม่

 

สายพันธุ์ใหม่จะส่งผลต่อการเปิดประเทศมากแค่ไหน

ถึงแม้ไม่มีการระบาดของสายพันธุ์ใหม่เข้ามา โควิดยังคงระบาดอยู่ในประเทศไทย แต่ระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้ โดยผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ย 2 สัปดาห์ย้อนหลัง ลดลงจาก 3,100 รายต่อวัน เป็น 2,100 รายต่อวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบลดลงจาก 660 ราย เป็น 600 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจลดลงจาก 320 ราย เป็น 280 ราย และเสียชีวิตลดลงจาก 30 รายต่อวัน เป็น 20 รายต่อวัน อีกทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจรุมเร้า ศบค. จึงมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดอย่างต่อเนื่อง

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ศบค. ประกาศปรับระดับพื้นที่สถานการณ์เป็นระดับเฝ้าระวัง (สีเขียว) ทุกจังหวัด โดยร้านอาหารสามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามปกติ และสถานบันเทิงเปิดบริการได้ถึง 02.00 น. ตามกฎหมายเดิม และประชาชนสวมหน้ากากตามความสมัครใจ ทำให้ความเสี่ยงต่อการระบาดของโควิดเพิ่มขึ้น แต่จะเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน น่าจะขึ้นกับปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ สายพันธุ์ของไวรัส สัดส่วนของผู้ที่ได้รับวัคซีนตามคำแนะนำ และมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโควิด

 

  • หากไวรัสยังเป็นสายพันธุ์เดิม ความเสี่ยงอาจเพิ่มขึ้นไม่มาก เพราะการระบาดของสายพันธุ์ BA.2 อยู่ในช่วงขาลง แต่ในเมื่อมีสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 เข้ามาแทนที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้ จนเกิดการระบาดระลอกใหม่ได้ 
  • หากคนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนตามคำแนะนำ การระบาดน่าจะไม่รุนแรง ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ประชาชนอายุ 12 ปีขึ้นไป ควรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม (เข็มที่ 3 ห่างจากเข็มสุดท้าย 3 เดือน) เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันเพียงพอต่อการป้องกันโรค
  • หากมีมาตรการเฝ้าระวังโรคจะสามารถตรวจพบการระบาดก่อนที่จะกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ กรมควบคุมโรคแนะนำให้ผู้ที่ทำงานในสถานที่เสี่ยง เช่น สถานบันเทิง ตรวจ ATK เป็นประจำทุกสัปดาห์ ส่วนประชาชนทั่วไปตรวจเมื่อมีอาการสงสัย
  • หากมีการระบาดเพิ่มขึ้นควรนำมาตรการป้องกันโรคกลับมาใช้อย่างทันท่วงที เช่น การสวมหน้ากากอนามัยภายในอาคารและระบบขนส่งสาธารณะ การแยกรับประทานอาหาร การทำงานที่บ้าน (WFH)

 

โดยสรุปสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน มีแนวโน้มระบาดแทนที่สายพันธุ์ BA.2 เดิม พบการกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนามคล้ายสายพันธุ์เดลตาทำให้หลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น แต่ยังสรุปเกี่ยวกับความรุนแรงไม่ได้ การเข้ามาของสายพันธุ์ใหม่ในช่วงที่มีการผ่อนคลายมาตรการทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดระลอกใหม่ แต่สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือ หากคนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม น่าจะทำให้การระบาดไม่รุนแรงและเปิดประเทศต่อไปได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X