×

วัคซีน 100 ล้านโดส ปี 2564 ‘เป้าหมาย’ ที่ยังไม่ถึง ‘จุดหมาย’

27.12.2021
  • LOADING...
วัคซีนโควิด

วันที่ 19 ธันวาคม 2564 เป็นวันที่ประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนโควิดครบ 100 ล้านโดสได้ตามเป้าหมายภายในปี 2564 และวันถัดมา (20 ธันวาคม) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศ ‘ชัยชนะ’ ของศึกย่อยในสงครามโควิด #ประเทศไทยต้องชนะ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าปัจจุบันมีผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วมากกว่า 50 ล้านคน ทำให้ปีนี้เป็นปีที่ไทยฉีดวัคซีนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 

 

แต่อย่างที่นายกฯ เกริ่นมาก่อนแล้วว่าเป็นสงครามที่ยืดเยื้อเกินกว่าที่ทั่วโลกหรือใครคาดคิดไว้ และเรายังไม่ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด นี่จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ชัยชนะในครั้งนี้เงียบกว่าการประกาศผลงานอื่นๆ ของรัฐบาล อีกเหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะข่าวสายพันธุ์โอไมครอนกินพื้นที่สื่อเกือบทั้งหมด สั่นคลอนความมั่นใจในการเปิดประเทศและสร้างความกังวลที่จะต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกรอบ

 

เป้าหมายการฉีดวัคซีน 100 ล้านโดสนี้อาจเปรียบเป็น ‘หลักกิโลเมตร’ ที่บอกว่าเราเดินทางมาไกลเท่าไรแล้ว แต่ยังไม่ถึง ‘จุดหมายปลายทาง’ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น และเป้าหมายต่อไปควรเป็นอย่างไร

 

เป้าหมายที่ปรับตามสถานการณ์

ย้อนกลับไปในช่วงแรกของการจัดหาวัคซีนโควิด รัฐบาลไม่ได้ตั้งเป้าหมายการฉีดวัคซีน 100 ล้านโดสตั้งแต่ต้น แต่ปรับตามสถานการณ์การระบาดภายในประเทศ โดยปลายปี 2563 รัฐบาลประกาศแผนการจัดหาวัคซีนครอบคลุมประชากร 33 ล้านคน (ประมาณ 50%) โดยจัดหาจากข้อตกลงทวิภาคี 30% แบ่งเป็นวัคซีน AstraZeneca 20% (26 ล้านโดส) และอื่นๆ 10% และจากโครงการ COVAX 20% 

 

ต่อมาเกิดการระบาดที่จังหวัดสมุทรสาครจึงมีการสั่งวัคซีน Sinovac อย่างเร่งด่วน 2 ล้านโดส และสั่งวัคซีน AstraZeneca เพิ่มอีก 35 ล้านโดส แต่รวมทั้งหมดยังคงเป็น 50% อยู่ จนกระทั่งเกิดการระบาดระลอกใหม่เมษายน 2564 จึงมีการปรับแผนในเดือนพฤษภาคมเป็น 100 ล้านโดส (ประมาณ 70%) ภายในปี 2564 และปรับอีกครั้งในเดือนมิถุนายน รวมทั้งหมด 150 ล้านโดสภายในปี 2565

 

ครึ่งปีหลังรัฐบาลน่าจะจัดหาวัคซีนได้เพิ่มขึ้น รวมถึงการรับบริจาคและแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุขแถลงแผนการจัดหาวัคซีนภายในปีนี้ว่าจะมีวัคซีนเข้ามามากถึง 124 ล้านโดส ซึ่งยังไม่รวมวัคซีนทางเลือก Sinopharm 11 ล้านโดส และ Moderna 5 ล้านโดสด้วย ยิ่งไปกว่านั้นเดือนกันยายนยังได้กำหนดเป้าหมายในปี 2564 เพิ่มเติมอีกคือ

 

  • ให้ความครอบคลุมของผู้ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1
    • อย่างน้อย 70% ภายในเดือนพฤศจิกายน 2564
    • อย่างน้อย 80% ภายในเดือนธันวาคม 2564
  • ให้ความครอบคลุมของผู้ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2
    • อย่างน้อย 70% ภายในเดือนธันวาคม 2564
  • ให้ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายครบ 2 เข็ม และผู้เคยติดเชื้อโควิดได้รับเข็มกระตุ้น 1 เข็ม โดยมีแผนการจัดสรรให้มีผู้ได้รับการกระตุ้นเดือนละ 1-2 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564

 

เป้าหมายเหล่านี้ต่างถูกกำหนดมาจากฝั่งกระทรวงสาธารณสุข ทว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งที่นายกฯ น่าจะเป็นผู้กำหนดเองคือเมื่อครั้งประกาศ ‘เปิดประเทศใน 120 วัน’ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 โดยกล่าวว่าจะพยามทำทุกทางให้รับส่งมอบวัคซีนตามกำหนดและตั้งเป้าฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ได้ 50 ล้านคน แต่ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่เริ่มเปิดประเทศจริงมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 42.4 ล้านคน 

 

ส่วนในวันที่นายกฯ ประกาศชัยชนะว่าฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดส มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 50.6 ล้านคน (70.2%) วัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 44.5 ล้านคน (61.8%) และวัคซีนเข็มที่ 3 จำนวน 5.1 ล้านคน (7.1%) ซึ่งเป็นการนำวัคซีนเข็มกระตุ้นมารวมด้วย ทำให้ ‘สัดส่วน’ ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มไม่ถึง 70% ซึ่งมีความหมายต่อการป้องกันโรคมากกว่า ‘จำนวน’ 100 ล้านโดส และไม่น่าจะเร่งฉีดได้ทันสิ้นปีนี้แล้ว

 

เป้าหมายที่อาจไม่มีความหมาย

เป้าหมายการฉีดวัคซีน 50% ของประชากรในตอนแรกน่าจะมีที่มาจาก ‘ระดับภูมิคุ้มกันหมู่’ (Herd Immunity) ของไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งมีค่าการระบาด (R) อยู่ระหว่าง 2-3 (ผู้ติดเชื้อ 1 รายสามารถแพร่เชื้อต่อได้ 2-3 ราย) คำนวณระดับภูมิคุ้มกันหมู่ตามสูตร 1-1/R ได้เท่ากับ 50-66.7% ดังนั้นควรฉีดวัคซีนอย่างน้อย 50% แต่ถ้าคำนึงถึงประสิทธิผลของวัคซีนด้วยอาจต้องฉีดอย่างน้อย 70%

 

ยิ่งไวรัสกลายพันธุ์ยิ่งแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น ค่า R จึงเพิ่มขึ้นตาม อัลฟามีค่า R 4-5 ควรมีระดับภูมิคุ้มกันหมู่ 75-80% เดลตามีค่า R 5-8 ควรมีระดับภูมิคุ้มกันหมู่ 80-87.5% เมื่อคำนึงถึงประสิทธิผลของวัคซีนอาจต้องฉีดอย่างน้อย 115% อีกทั้งภูมิคุ้มกันยังลดลงตามระยะเวลาทำให้ในตอนหลังการตั้งเป้าหมายการได้รับวัคซีนตามระดับภูมิคุ้มกันหมู่จึงแทบไม่มีความหมายในการหยุดการระบาดแล้ว

 

แต่ใช่ว่าจะไม่มีความหมายต่อการป้องกันโรคเลย เพราะวัคซีนยังมีประสิทธิผลป้องกันอาการรุนแรง ยิ่งมีผู้ได้รับวัคซีนครบมากเท่าไร ความเสี่ยงต่อ ‘ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล’ หรือการล่มสลายของระบบสาธารณสุขก็จะลดลงตามไปด้วย สังเกตว่าก่อนเปิดประเทศระยะนำร่อง 1 ตุลาคม 2564 กรมควบคุมโรคได้กำหนดเกณฑ์การพิจารณาพื้นที่สีฟ้าว่าต้องมีความครอบคลุมการได้รับวัคซีนครบอย่างน้อย 70% 

 

และในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ หรือกลุ่ม ‘608’ อย่างน้อย 80% ซึ่งกลุ่มนี้ควรได้รับวัคซีนก่อนและมีสัดส่วนที่ได้รับวัคซีนมากกว่ากลุ่มอื่น (ควรใกล้เคียง 100%) เพราะมีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรงสูงกว่า แต่เกณฑ์นี้กลับไม่ถูกนำมาใช้จริง ทั้งในการประกาศพื้นที่สีฟ้าและการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเกณฑ์ ซึ่งจะเห็นได้จากความครอบคลุมที่แยกตามกลุ่มเป้าหมาย 

 

  • ผู้สูงอายุ เข็มที่ 1 จำนวน 8 ล้านคน (74.2%) เข็มที่ 2 จำนวน 7.1 ล้านคน (65.4%)
  • ผู้มีโรคประจำตัว เข็มที่ 1 จำนวน 4.9 ล้านคน (77.0%) เข็มที่ 2 จำนวน 4.4 ล้านคน (69.9%)

 

เมื่อแยกตามจังหวัดพบว่า จังหวัดที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มผ่านเกณฑ์ 80% มีเพียง ภูเก็ต (96.4%) และกรุงเทพฯ (94.0%) เท่านั้น

 

รองลงมาคือเกณฑ์ 70% มี 11 จังหวัด ได้แก่ สงขลา (77.5%) พังงา (77.2%) ตรัง (76.4%) สุราษฎร์ธานี (76.1%) เชียงใหม่ (75.6%) ระนอง (74.3%) ชลบุรี (73.9%) ปทุมธานี (72.3%) พะเยา (71.3%) เชียงราย (70.5%) สมุทรสาคร (70.4%)

 

ในขณะที่ยังมีบางจังหวัดมีสัดส่วนไม่ถึงหรือประมาณ 50% ได้แก่ ปัตตานี (42.9%) นราธิวาส (46.6%) นครพนม (50.4%) แม่ฮ่องสอน (51.0%) บึงกาฬ (51.1%) แพร่ (52.1%) อุทัยธานี (52.7%) ตาก (52.8%) สกลนคร (53.2%) หนองบัวลำพู (53.4%) สมุทรสงคราม (53.4%) ลพบุรี (53.5%) ยะลา (54.6%) กาญจนบุรี (54.7%) แสดงให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายวัคซีน

 

ศบค. อาจจัดสรรวัคซีนให้กับจังหวัดที่มีการระบาดหนักก่อน เช่น กรุงเทพฯ และให้กับจังหวัดนำร่องด้านการท่องเที่ยวมากกว่า แต่สำหรับผู้สูงอายุไม่ควรมีความแตกต่างมากขนาดนี้ เพราะการเดินทางภายในประเทศเชื่อมถึงกันทั้งหมด การระบาดจึงมีโอกาสเกิดขึ้นในจังหวัดใดก็ได้ ซึ่งปัญหานี้อาจไม่เกิดถ้าทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าควรฉีดให้กับกลุ่มใดก่อน

 

นอกจากนี้ผู้สูงอายุน่าจะเป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงข่าวสารหรือได้รับข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นหรือความกังวลต่อผลข้างเคียงของวัคซีน เข้าไม่ถึงช่องทางการรับวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นการจองหรือการเดินทาง ลูกหลานต้องช่วยลงทะเบียนหรือลางานเพื่อไปส่งฉีดวัคซีน และการไม่ได้รับวัคซีนยี่ห้อที่ต้องการหรือการฉีดสูตรไขว้ทำให้เกิดความลังเลใจในการเข้ารับการฉีดวัคซีนได้

 

ยิ่งไปกว่านั้นในสไลด์แถลงข่าวประจำวันที่ 21 ธันวาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุขยังคงใช้ความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ในการติดตามการดำเนินงานของแต่ละจังหวัดอยู่ ทั้งที่วัคซีนเข็มแรกไม่มีประสิทธิผลในการป้องกันสายพันธุ์เดลตา ซึ่งเข้ามาระบาดในช่วงครึ่งปีหลัง และต่อจากนี้น่าจะเป็นโอไมครอน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยระดับภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นจากการฉีดเข็มกระตุ้น

 

เป้าหมายที่ควรจะเป็นสำหรับปีหน้า

การฉีดวัคซีน 100 ล้านโดสได้สำเร็จภายในปี 2564 เป็น ‘หลักกิโลเมตร’ ที่บอกว่าเราเดินทางมาไกลมากจากการฉีดวัคซีนเข็มแรกในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 แต่ยังไม่ใช่จุดหมายที่แท้จริง ซึ่งน่าจะต้องมีความครอบคลุมของการได้รับวัคซีน (Vaccine Coverage) เป็นสัดส่วนที่มากกว่านี้ และเกณฑ์การได้รับวัคซีนครบ (Fully Vaccinated) อาจเป็น 3 เข็มแทน 2 เข็มที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

 

เป้าหมายความครอบคลุมของวัคซีนในระดับโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งเป้าไว้ 40% ภายในสิ้นปี 2564 และ 70% ภายในกลางปี 2565 เพื่อให้เกิดการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม สำหรับไทยมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เกิน 70% แล้วในปีหน้าถ้าติดตามน่าจะฉีดเข็ม 2 ให้ครบก็จะถึงเป้าหมายนี้ได้ไม่ยาก แต่ในรายละเอียด WHO กำหนดลำดับความสำคัญของผู้ที่ควรได้รับวัคซีนไว้ด้วย คือ

 

  1. ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดอาการรุนแรง
  2. ผู้ใหญ่ทุกคน เพื่อฟื้นฟูกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ
  3. วัยรุ่น เพื่อลดการระบาดและความเสี่ยงเพิ่มเติม

 

ดังนั้นไทยจะต้องติดตามผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรังมารับวัคซีนก่อน โดยเฉพาะในจังหวัดที่ยังมีความครอบคลุมต่ำกว่า 80% (ตามที่กรมควบคุมโรคเคยกำหนดเป็นเป้าหมายก่อนเปิดประเทศ) ซึ่งจะทำให้รัฐบาลไม่ต้องกลับมาใช้มาตรการทางสังคม เพื่อ ‘สร้างสมดุล’ ระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจ จากนั้นถึงติดตามกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มนักเรียน/นักศึกษามารับวัคซีนให้ถึง 70% ในทุกจังหวัด

 

สุดท้ายกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี ถึงแม้เด็กจะมีอาการไม่รุนแรง แต่เด็กมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเหมือนผู้ใหญ่ จึงอาจมีอาการโควิดระยะยาว (Long COVID) รวมถึงกลุ่มอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบในเด็ก (MIS-C) หลังจากหายป่วยแล้วได้ นอกจากนี้ข้อมูลการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนในต่างประเทศยังพบว่ามีผู้ป่วยเด็กรักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่าระลอกที่ผ่านมา

 

การระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนที่เริ่มระบาดในหลายประเทศช่วงปลายปี 2564 นี้น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจเปลี่ยนนิยาม ‘การได้รับวัคซีนครบ’ จาก 2 เข็มเป็น 3 เข็ม เพราะสายพันธุ์นี้หลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น การศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่าภูมิคุ้มกันจากวัคซีน 2 เข็มยับยั้งไวรัสได้ลดลง แต่ถ้าฉีดเข็มกระตุ้นจะยับยั้งไวรัสได้มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องการศึกษาประสิทธิผลจริงของเข็มกระตุ้น

 

หลายประเทศจึงเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในช่วงปลายปีนี้ ยกตัวอย่างสหราชอาณาจักร ปัจจุบันมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 51.6 ล้านคน (76.8%) เข็มที่ 2 จำนวน 47.2 ล้านคน (70.3%) และเข็มที่ 3 จำนวน 32.3 ล้านคน (48.0%) ทั้งที่เมื่อต้นเดือนธันวาคมยังมียอดผู้ได้รับเข็มที่ 3 อยู่ 19.0 ล้านคน (28.3%) แสดงว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการฉีดเข็มกระตุ้นมาก ไทยก็น่าจะต้องเดินตามในทิศทางนี้

 

นอกจาก ‘ปริมาณ’ วัคซีน 2 เข็มแรกและเข็มกระตุ้นแล้ว ไทยยังต้องคำนึงถึง ‘คุณภาพ’ หรือชนิดของวัคซีนด้วย เพราะถึงแม้ในภาพรวมวัคซีนป้องกันอาการรุนแรง ทว่าแต่ละยี่ห้อมีระดับประสิทธิผลมาก-น้อยในระยะเวลาสั้น-ยาวต่างกัน วัคซีนชนิดเชื้อตายกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ไม่ดี และถ้ายังเป็นวัคซีนรุ่นเก่า (ผลิตจากเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม) และกระตุ้นภูมิไม่สูงพอก็อาจป้องกันสายพันธุ์ใหม่ไม่ได้

 

สำรวจแผนการจัดหาวัคซีนปี 2565

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ศบค. แถลงว่าเป้าหมายของการฉีดวัคซีนในปี 2565 ว่าจะครอบคลุม 80% ของประชากรทุกคนในแผ่นดินไทย โดยจัดหาวัคซีนจำนวน 120 ล้านโดส แบ่งเป็นวัคซีน AstraZeneca 60 ล้านโดส วัคซีน Pfizer 30 ล้านโดส (ในจำนวนนี้เป็นขนาดสำหรับเด็ก 10 ล้านโดส) และวัคซีน Novavax 30 ล้านโดส ซึ่ง 2 ยี่ห้อแรกจัดทำสัญญาซื้อวัคซีนแล้ว ส่วนยี่ห้อหลังอยู่ระหว่างเจรจา

 

กลุ่มเป้าหมายมีทั้งหมด 7 กลุ่ม ได้แก่ 

  • ผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนและประสงค์รับวัคซีน จำนวน 2.4 ล้านโดส 
  • ผู้อายุครบ 12 ปีบริบูรณ์ จำนวน 1.4 ล้านโดส 
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี จำนวน 10 ล้านโดส
  • เข็มที่ 3 จำนวน 44 ล้านโดส
  • เข็มที่ 4 จำนวน 46.3 ล้านโดส
  • เข็มกระตุ้นในผู้ที่เคยติดเชื้อ 1.5 ล้านโดส
  • สำรองส่วนกลาง 14.4 ล้านโดส

 

แสดงว่าวัคซีน AstraZeneca ซึ่งเป็นชนิดเวกเตอร์ไวรัสจะยังเป็น ‘วัคซีนหลัก’ เหมือนปีนี้ (แต่สุดท้ายก็นำมาไขว้กับวัคซีนอื่น ทั้งสูตร Sinovac + AstraZeneca และ AstraZeneca + Pfizer) น่าจะเป็นเพราะมีโรงงานผลิตในประเทศ แต่สวนทางกับสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ใช้วัคซีนชนิด mRNA เป็นเข็มกระตุ้น แม้แต่สหราชอาณาจักรที่ใช้วัคซีน AstraZeneca เป็นวัคซีนหลักก็ไม่ได้ใช้ฉีดต่อเป็นเข็มที่ 3

 

การฉีดวัคซีนไม่ตรงกับสูตรมาตรฐานหรือสูตรที่ต่างประเทศใช้ทำให้ไทยไม่สามารถอ้างอิงงานวิจัยจากต่างประเทศได้โดยตรง กระทรวงสาธารณสุขต้องรองานวิจัยในประเทศ ซึ่งอาจไม่ได้มีศักยภาพและงบประมาณเท่ากับต่างประเทศ ไม่มีการติดตามประสิทธิผลอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้ตัดสินใจบนข้อมูลที่จำกัดและอาจไม่ทันเวลา เช่น วัคซีนสูตรไขว้ต้องฉีดเข็มกระตุ้นเมื่อไรก็ยังไม่มีข้อมูลออกมา

 

แผนการฉีดวัคซีนในปีหน้าควรระบุกลุ่มเป้าหมายว่า ‘กลุ่ม 608’ จะต้องมีความครอบคลุมอย่างน้อย 80% ด้วย ไม่อย่างนั้นจะเป็นช่องโหว่ให้นำการได้รับวัคซีนของกลุ่มวัยทำงานมาเฉลี่ย เหมือนการนับ 100 ล้านโดสในปีนี้ที่ในบางจังหวัดผู้สูงอายุอีกกว่า 50% ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ นอกจากนี้จะต้องเรียงลำดับกลุ่มเป้าหมายในการฉีดเข็มกระตุ้นก่อน-หลัง และระบุความครอบคลุมให้ชัดเจนอีกเช่นกัน

 

โดยสรุปการฉีดวัคซีนโควิด 100 ล้านโดสในปี 2564 เป็นเป้าหมายที่ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์การระบาดในประเทศ ซึ่งสามารถมองได้ว่ามีแผนการฉีดวัคซีนที่มีความยืดหยุ่น แต่เนื่องจากกว่าจะปรับเปลี่ยนก็เป็นช่วงกลางปี และยังต้องปรับเปลี่ยนสูตรตามสายพันธุ์เดลตาและวัคซีนที่จัดหามาได้ในขณะนั้นด้วย ในอีกแง่หนึ่งก็อาจมองได้ว่าชะล่าใจในตอนแรก กว่าจะรู้ตัวก็ไม่ทันการระบาดระลอกที่ 3-4 แล้ว

 

เป้าหมาย 100 ล้านโดสไม่มีความหมายในการหยุดการระบาด เพราะสายพันธุ์ใหม่แพร่กระจายเร็วขึ้นและผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วยังสามารถติดเชื้อได้ แต่จะมีความหมายในการป้องกันโรค หากจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มที่ควรได้รับ เช่น ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรังในจำนวนและสัดส่วนที่มากพอ ซึ่งจะป้องกันระบบสาธารณสุขไม่ให้ล่มสลาย และสร้างสมดุลกับฝั่งเศรษฐกิจได้อย่างมั่นใจ

 

เมื่อไวรัสยังคงกลายพันธุ์ต่อเนื่อง และการได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเอาสายพันธุ์ใหม่ไม่อยู่ การจัดหาวัคซีนในปี 2565 จึงเน้นที่การฉีดเข็มกระตุ้น ซึ่งหากใช้วัคซีนรุ่นเก่าจะต้องเป็นชนิดที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูง เช่น วัคซีนชนิด mRNA (เท่าที่มีข้อมูลในปัจจุบัน) ส่วนถ้าจะรอวัคซีนรุ่นใหม่อย่างเร็วสุดน่าจะเป็นช่วงมีนาคม 2565 ทั้งนี้จะต้องติดตามผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน 2 เข็มแรกมาฉีดเพิ่มเติมด้วย

 

ที่สำคัญแผนของไทยจะต้องกระจายความเสี่ยงชนิดและยี่ห้อวัคซีน ทั้งในแง่ประสิทธิผลและกำลังการผลิต เช่น เพิ่มสัดส่วนของวัคซีนชนิด mRNA และจองทั้ง Pfizer และ Moderna เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับปีนี้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X