วานนี้ (18 ตุลาคม) พรรคเพื่อไทยจัดฉายสารคดี ‘น(า)ทีวิปโยค: 10 ปีมหาอุทกภัย’ ย้อนรอยเหตุการณ์ และถอดบทเรียนน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ภายใต้การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้เพียงไม่กี่เดือน โดยมีผู้มาร่วมถ่ายทอดเหตุการณ์อุทกภัยดังกล่าว ได้แก่ ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.), ทวิดา กมลเวชช ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติ และคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กิตติรัตน์ ณ ระนอง หัวหน้าทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
- ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ช่วงหาเสียง 49 วันนั้น พายุเข้ามาแล้ว โดยในเวลานั้นน้ำในเขื่อนก็เริ่มเต็ม แต่ก็ระบายไม่ได้ เพราะน้ำฝนยังเข้ามาในปริมาณมาก หลังจากนั้น เมื่อได้รับตำแหน่งและพรรคชนะการเลือกตั้ง แต่ปัญหาคือตนยังไม่มีอำนาจในการบริหารประเทศจนกว่าจะแถลงนโยบายสู่รัฐสภาในวันที่ 23 สิงหาคม ซึ่งเป็นเวลาที่น้ำในเขื่อนหลักๆ ของประเทศไทยมีน้ำเกิน 100% แล้ว
- “ลองนึกว่าน้ำมาจากท่อ ปกติน้ำจะไหลมาจากต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ แต่ลักษณะของอุทกภัยที่ผ่านมาเหมือนเป็นกรวยแท่ง คือเมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ก็เหลือทางระบายออกนิดเดียว และทางกรุงเทพฯ เองก็ไม่อยากให้ระบาย เพราะท่อไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือกับการจัดการอุทกภัย ครั้นจะระบายออกให้เร็วก็ไม่ได้ เพราะมีขยะและผักตบชวา ดังนั้น จะเห็นว่าเรามาช่วยกันขุดลอกคูคลองด้วย เพราะปริมาณน้ำนั้นระบายออกไม่ได้แล้ว ทั้งนี้ การระบายก็ไม่อาจทำได้คนเดียว ต้องร่วมมือกับทางผู้ว่ากรุงเทพฯ กรมชลประทานที่เป็นผู้คุมกุญแจ เรื่องประตูระบายน้ำ ดังนั้นจึงมีหลายส่วนมาก” ยิ่งลักษณ์กล่าว
- ทั้งนี้ ยิ่งลักษณ์ยังชี้ให้เห็นว่ายังมีปัญหาเรื่องกฎหมายผังเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากผังเมืองก็ใช้กฎหมายฉบับหนึ่ง ด้านคมนาคมเมื่อจะเวนคืนถนนก็ต้องใช้กฎหมายอีกฉบับหนึ่ง อันที่จริงเวลาทำงานนั้นควรต้องกลับมาบูรณาการกัน ทำให้พร้อมกันให้ได้ แต่ ณ วันนั้นไม่มีเลย ทำให้ทุกอย่างวุ่นวายไปหมด “ตอนนั้นเราตั้งศูนย์บริหารขึ้นมาใน 7 วัน ดิฉันดึงเอาศักยภาพขององค์การโทรศัพท์และบริษัทเครือข่ายทั้งหมดมาทำเป็นคอลเซ็นเตอร์ 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด เพราะความเป็นความตาย ความเสี่ยงของพี่น้องประชาชนนั้น ทำให้เราพักไม่ได้” ในเวลานั้นก็ได้ขอความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งหมด
- “ตอนนั้นที่เข้าไป เรายังต้องใช้งบประมาณของรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งเหลือไว้ประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท ก็นำเงินส่วนนี้ไปใช้ในการช่วยเหลือชีวิตผู้คน แล้วมาเร่งทำงบประมาณของปีถัดไป ตอนแรกขอให้ทุกหน่วยตั้งงบประมาณในการจัดการน้ำขึ้นมา แต่ก็ไม่มีใครตั้งเลย ดังนั้นจึงใช้วิธีการอย่างเร็วที่สุดคือตัด 10% มาจากทุกกระทรวง จึงทำได้มีงบ 1.3 แสนล้านบาทมาเป็นงบในการฟื้นฟูและช่วยเหลือเยียวยาประชาชนอย่างเร่งด่วน ทั้งการเยียวยาพืชไร่ เกษตรกร แรงงาน อุตสาหกรรมต่างๆ” ยิ่งลักษณ์กล่าว ในเวลานั้นได้ประสานงานกับธนาคารเพื่อให้ดอกเบี้ยพิเศษหรือราคาต่ำ ลดหนี้เกษตรกรด้วย
- ปลอดประสพชี้ว่า ในปี 2554 ประเทศไทยมีพายุเข้าทั้งหมด 5 ลูก โดยสองลูกแรกนั้นเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสามลูกหลังนั้นเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งลำพังสองลูกแรกนั้นก็ทำให้น้ำในเขื่อนเต็มไปแล้วราว 70-80% “วันที่น้ำท่วมอยุธยานั้น น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาลอดเข้ามาในทุ่งเจ้าพระยา ตนคิดว่ากรุงเทพฯ คงแย่แน่ เพราะน้ำกำลังจะเข้าทุ่งรังสิต และเป็นตามที่กล่าวหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง” ปลอดประสพกล่าว ตอนนั้นคิดแค่ว่าจะทำอย่างไรให้เอาน้ำลงไปได้เร็วที่สุด และคนที่เขาเดือดร้อนนั้นเขาจะอยู่กันอย่างไร มีข้าวกินหรือไม่
- ด้านทวิดาเสริมว่า ภาคกลางทั้งหมดไม่มีที่เก็บน้ำใหญ่ๆ ดังนั้น เมื่อน้ำโผล่ขึ้นมาบนดินก็ไม่สามารถจัดการอะไรได้ และในปี 2554 หน่วยงานหลายหน่วยงานไม่ทำงานด้วยกัน ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่ทำงานด้วยกันอยู่ โดยจะแบ่งน้ำออกเป็นหลายหน่วยมาก เช่น น้ำฟ้าเป็นของหน่วยงานหนึ่ง น้ำกระทบพื้นก็เป็นของอีกหน่วยงานหนึ่ง เป็นวิธีการทำงานที่แตกระแหง ต่างคนต่างทำ ไม่แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน “และในปี 2554 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ใหม่มาก ตนไม่คิดว่าเป็นการบริหารงานที่ผิดพลาด ไม่ประสานงานกันทั้งหมด เพราะปริมาณน้ำก็มากจริงๆ ขนาดที่เรียกได้ว่ายากในการจัดการ” ทวิดากล่าว
- ด้านกิตติรัตน์กล่าวว่า การเยียวยาในเวลานั้นพยายามไปให้ได้อย่างทั่วถึงที่สุด เช่น SMEs ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ประกอบการไปจดทะเบียนที่ไหนก็ต้องได้รับการเยียวยา หรือลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมต้องหยุดงานเพราะโรงงานน้ำท่วม ก็ต้องเยียวยา แล้วคนที่อยู่นอกประกันสังคมด้วย อย่างไรก็ดี ตนเข้าใจดีว่าการจะทำให้ประชาชนพอใจได้ครบทุกคนนั้นเป็นไปได้ยากมาก เพราะทุกคนเดือดร้อน ความล่าช้าเป็นรายนาที รายชั่วโมง หรือรายวันนั้น ย่อมเป็นเรื่องที่ประชาชนมีสิทธิ์จะไม่พอใจได้
- ทั้งนี้ เหตุการณ์อุทกภัยนั้นเกิดขึ้นตอนที่รัฐบาลเป็นประชาธิปไตยขั้นสูงสุด จึงได้ฟังประชาชนอย่างเต็มที่ ความเดือดร้อนของประชาชนถูกรายงานผ่าน ส.ส. ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ตัวนายกฯ ในเวลานั้นอย่างยิ่งลักษณ์เองก็ร่วมระดมความคิดกับอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เพื่อหาทางออกให้สถานการณ์น้ำท่วม
- สำหรับเหตุการณ์นี้ ยิ่งลักษณ์ขยายความว่า “วันนั้นเรารู้ว่าคุณอภิสิทธิ์จะมา เขาไม่ได้นัดเป็นการส่วนตัว แต่รู้จากนักข่าว ตนจึงคิดว่าเป็นการดี เพราะถือว่าอีกฝ่ายเป็นผู้นำฝ่ายค้าน จึงเดินเข้าไปหาแล้วเชิญคุณอภิสิทธิ์มาดูแผนงานของเรา ซึ่งคุณอภิสิทธิ์ก็ได้แสดงความเห็นกลับมา ตนก็ให้ฝ่ายวิชาการและฝ่ายเทคนิคตัดสินใจว่าสิ่งที่คุยกันนั้นเป็นอย่างไรบ้าง”
- นอกจากนี้ ยิ่งลักษณ์ยังเล่าว่า เวลานั้นก็โดนด่าเยอะ “เรื่องโดนด่าคงเป็นปกติมั้งคะ เพราะในฐานะผู้นำ ความคาดหวังสูง และเป็นบุคคลสาธารณะ ตอนนั้นดิฉันก็โดนเยอะเหมือนกัน ท่องไว้คำเดียวว่า อดทน ทำให้เต็มที่ ทำให้ดีที่สุด ช่วยเหลือชีวิตคนให้ได้มากที่สุด ตนเห็นใจคนที่ประสบปัญหา เพราะบางคนก็รอการช่วยเหลือ ซึ่งบางทีทุกอย่างมันไม่ได้ดั่งใจ เพราะเราไม่เคยเตรียมพร้อมในการเกิดวิกฤตมหาอุทกภัยขนาดนี้”
- หลังจบการเยียวยาซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ประเทศเสียหายไปแล้ว ก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจกลับมาพลิกฟื้นและให้เกิดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจอีก จึงจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศไทย เสนอแผนรถไฟความเร็วสูงเป็นจำนวนเงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ในการเชื่อมเมืองใหม่ ทำให้เกิดการใช้จ่ายที่มากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจฟื้นฟูและเจริญในอนาคต และยังมีแผนการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อวางแผนแก้ปัญหาน้ำในระยะสั้นกับระยะยาว พร้อมกันนั้นก็วางแผนแก้ปัญหาเรื่องน้ำแล้งโดยนำน้ำมาใช้ในภาคเกษตรต่างๆ “น่าเสียดายที่แผนรถไฟความเร็วสูง 2.2 ล้านล้านบาทต้องหยุดชะงักลง รวมทั้งแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทด้วย ทั้งหมดนั้นเป็นแผนพร้อมไว้หมดแล้ว แต่ถูกระงับไป” ยิ่งลักษณ์กล่าว
- นอกจากนี้ ยิ่งลักษณ์ยังบอกว่า ตนเข้มแข็งขึ้น อดทนมากขึ้น และเห็นปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนมากขึ้น ในยามที่เขาเกิดปัญหาแล้วหาที่พึ่งจากใครไม่ได้ ทำให้ลงพื้นที่ไปเยี่ยมประชาชน พยายามจะทำงานให้อย่างเร็วที่สุด และอยากฝากให้กำลังใจประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัยทุกวันนี้ ขอให้อดทนแล้วหวังว่าทุกอย่างจะผ่านพ้นไปด้วยดี ตนเข้าใจและรับรู้ความรู้สึกของประชาชน เพราะเคยอยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน ทุกวันนี้เมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม ตนก็จะนอนไม่หลับ เพราะรู้ว่าประชาชนรู้สึกอย่างไร ดังนั้น ก็ขอเป็นกำลังใจให้ เพราะเป็นสิ่งเดียวที่ตนทำได้ในเวลานี้