อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกในปีนี้ส่งสัญญาณว่าถึงจุดสูงสุด (Peak) แล้ว อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการลดลงอาจเป็นไปอย่างช้าๆ จากระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ หมายความว่า อัตราเงินเฟ้อจะยังคงเป็นปัญหาสำหรับธนาคารกลางต่อไปในปี 2023
มาตรวัดอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และยูโรโซนที่เปิดเผยออกมาในสัปดาห์นี้แผ่วลง ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต ซึ่งใช้วัดการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าจากฝั่งผู้ผลิต หรือที่เรียกว่า ราคาหน้าโรงงาน (Factory-Gate Prices) และการคาดการณ์เงินเฟ้อของตลาดก็ลดลงเช่นกัน
ประกอบกับปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อนจากการระบาดของโควิด และสงครามในยูเครนก็กำลังผ่อนคลายลง รวมถึงราคาอาหารและเชื้อเพลิงก็ลดลงเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ภาวะ เศรษฐกิจถดถอย อาจอยู่ใกล้กว่าที่คิด เปิดกลยุทธ์รับมือเน้น Predict-Prepare-Perform
- ‘ไบเดน’ ปัดเศรษฐกิจโลกตกต่ำไม่ได้มาจากดอลลาร์แข็ง แต่มาจากนโยบายที่ผิดพลาดของประเทศอื่น
- ภาระ ‘ผ่อนบ้าน’ อาจเป็นพายุลูกใหม่ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก เมื่อดอกเบี้ยบ้านแพงสุดรอบ 15 ปี
ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมา ทำให้ Bloomberg Economics ประมาณการว่า ในไตรมาสที่ 3 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 9.8% จากปีก่อน และคาดว่าจะอยู่ที่ 9.5% เมื่อสิ้นสุดไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ก่อนจะลดลงเหลือ 5.3% ณ สิ้นปี 2023
ประมาณการดังกล่าวสะท้อนว่า ความเสี่ยงยังคงอยู่ และห่วงโซ่อุปทานยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาจเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หากจีนยังคงยึดมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด และไม่เปิดประเทศ
นอกจากนี้ แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น อาจสร้างแรงกดดันให้นายจ้างขึ้นค่าแรงต่อไป เป็นวัฏจักรการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างและราคาสินค้าเป็นวงจรต่อเนื่องกัน (Wage-Price Spiral)
ขณะที่ ทอม ออร์ลิก (Tom Orlik) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg กล่าวว่า แม้เงินเฟ้อแตะจุดสูงสุดก็ไม่ได้หมายความว่าความเลวร้ายที่สุดจบลงแล้ว
“แม้ว่าราคาจะเริ่มลดลง แต่ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคจะยังคงอยู่เหนือระดับความสบายใจของธนาคารกลาง ทำให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวต่อไป แม้ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยปรากฏขึ้น” ออร์ลิกกล่าว
อ้างอิง: