×

จับตาวิกฤตการเมืองปากีสถาน ประท้วงเดือดทั่วประเทศ หลังอดีตนายกฯ อิมราน ข่าน ถูกจับ

11.05.2023
  • LOADING...
การเมืองปากีสถาน

ปากีสถานกำลังประสบกับวิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่ เมื่อเกิดเหตุชุมนุมประท้วงใหญ่ในหลายเมืองสำคัญทั่วประเทศ หลัง อิมราน ข่าน อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มียอดผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงผู้ถูกจับกุมตัว เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา 

 

THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ถึงสถานการณ์ภาพรวมที่เกิดขึ้นภายในปากีสถาน ตัวละครสำคัญในเกมการเมืองครั้งนี้ รวมถึงสิ่งที่ต้องจับตามองต่อจากนี้คืออะไร มาร่วมทำความเข้าใจการเมืองปากีสถานในเวลานี้ไปพร้อมกัน

 

ใครเป็นใครในเกมการเมืองปากีสถาน

 

  1. อิมราน ข่าน อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน ที่ถูกถอดถอนจากมติไม่ไว้วางใจเมื่อเดือนเมษายน ปี 2022 ซึ่งในขณะนี้ยังคงมีคะแนนความนิยมสูงมากในหมู่ประชาชน ถ้าหากสมมติว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งใหญ่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ มีความเป็นไปได้สูงมากที่พรรค Tehreek-e-Insaf หรือพรรค PTI ของข่าน จะกลับขึ้นมามีอำนาจอีกครั้ง โดยในปากีสถานเองก็เชื่อในทิศทางนี้เช่นเดียวกัน

 

  1. พรรครัฐบาลปากีสถานในปัจจุบัน ที่หลักๆ แล้วเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค นั่นก็คือ พรรค Pakistan People’s Party หรือพรรค PPP ของอดีตผู้นำปากีสถานอย่าง เบนาซี บุตโต ที่เสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี 2007 และพรรค Pakistan Muslim League (N) หรือ พรรค PML(N) ของ เชบาส ชารีฟ นายกรัฐมนตรีปากีสถานคนปัจจุบัน ซึ่งมีเสียงข้างมากในรัฐสภา แต่มีเสียงสนับสนุนจากภาคประชาชนที่ลดน้อยลง 

 

  1. ทหารหรือกองทัพ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในแวดวงการเมืองปากีสถานช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในระยะหลังๆ ความสัมพันธ์ระหว่างทหารและข่านมีปัญหาอย่างมาก ส่งผลให้ในระยะหลังๆ ทหารก็เลยถูกมองว่าจับมือกับพรรครัฐบาล ร่วมกันโค่นล้ม อิมราน ข่าน ให้พ้นจากอำนาจ

 

หลังจากที่แนะนำตัวละครสำคัญแล้ว ผศ.ดร.มาโนชญ์ ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่ อิมราน ข่าน พยายามจะชี้ให้เห็นก็คือ รัฐบาลปากีสถานในปัจจุบันนี้ได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจภายนอกอย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ ที่พยายามเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายในของปากีสถาน เนื่องจากปากีสถานในระยะหลังๆ ภายใต้การปกครองของ อิมราน ข่าน แสดงจุดยืนที่ชัดเจนคือ ต้องการดำเนินนโยบายอิสระ ไม่ต้องการดำเนินนโยบายที่พึ่งพิงสหรัฐฯ มากจนเกินไปดังเช่นที่ผ่านๆ มา ทำให้สหรัฐฯ กับปากีสถานในช่วงหลังมีปัญหากัน 

 

ที่สำคัญคือ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลชุดปัจจุบันพยายามที่จะสกัดกั้น อิมราน ข่าน ทุกวิถีทางให้พ้นไปจากเส้นทางการเมือง โดยเฉพาะความพยายามที่จะทำให้ข่านขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงการขาดคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้ง 

 

จะเห็นได้ว่ามีการฟ้องร้องข่านเยอะแยะมากมายหลายคดีเลย จนถึงตอนนี้มีมากกว่า 100 คดีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคดีความตั้งแต่ประเด็นด้านก่อการร้าย การคอร์รัปชัน โดยเฉพาะกรณีการรับบริจาคเงินและที่ดินในกองทุน Al Qadir Trust ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับโลกรายหนึ่ง รวมถึงการหมิ่นประมาทเจ้าหน้าที่ การหมิ่นประมาทศาล การซื้อและขายของขวัญราคาแพงที่ได้รับมาจากบรรดาผู้นำประเทศ ตลอดจนการก่อจลาจลต่างๆ มากมาย 

 

ทั้งยังเป็นการฟ้องร้องคดีที่เกิดขึ้นในศาลหลายๆ แห่ง เพื่อให้ อิมราน ข่าน จะต้องเดินทางไปขึ้นศาลในหลายๆ ที่ จนไม่สามารถที่จะไปขึ้นศาลได้ครบทุกศาล ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นนั่นก็คือ ความผิดที่ไม่ไปรายงานตัวต่อศาล โดยข่านมองว่า พรรครัฐบาลพยายามที่จะใช้ช่องทางนี้ในการจับกุมเขา หลังจากที่ไม่ไปรายงานตัวกับศาล ข่านจึงขอให้เกิดการรวมคดีที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันแล้วพิจารณาคดีทีเดียวได้หรือไม่ ถ้าหากเป็นความผิดฐานเดียวกัน แต่คำร้องดังกล่าวก็ไม่เป็นผล 

 

นอกจากนี้ข่านก็พยายามที่จะชี้ให้เห็นว่า มีความพยายามวางแผนจับกุมเขาในระหว่างที่เขาเดินทางไปยังศาล รวมถึงลักพาตัว หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นสังหารเขา ซึ่งเขาพยายามชี้ให้เห็นว่าจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้มาโดยตลอด

 

เพราะฉะนั้นที่ผ่านมามีหลายคดีมาก แต่ข่านก็ปฏิเสธทุกคดี ทุกข้อกล่าวหา ยังไม่นับรวมเหตุลอบสังหาร ลอบยิง ขณะชุมนุมประท้วงอีกหลายเหตุการณ์ โดยสิ่งที่ อิมราน ข่าน เรียกร้องเลยคือ การผลักดันให้ปากีสถานจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่โดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งคืนอำนาจให้กับประชาชน 

 

โดยข่านมองว่า รัฐบาลปัจจุบันในขณะนี้เป็น ‘รัฐบาลนำเข้า’ ขึ้นดำรงตำแหน่งจากเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาที่โหวตเห็นชอบ ภายหลังจากที่ อิมราน ข่าน ได้รับมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งเพื่อนร่วมพรรครัฐบาลส่วนหนึ่งก็หันไปสนับสนุนขั้วตรงข้ามของข่านด้วยเช่นกัน เป็นการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 

 

โดยที่ผ่านมามีการเลือกตั้งซ่อมในบางพื้นที่ หลังจากที่ข่านถูกปลดให้พ้นจากตำแหน่ง สมาชิกบางรายของเขาก็ลาออกตามไปด้วย จนนำไปสู่การเลือกตั้งซ่อมในหลายพื้นที่ ปรากฏว่ากระแสของพรรค PTI ของข่าน ก็ยังคงได้รับเสียงสนับสนุนและคว้าชัยในหลายพื้นที่ นับเป็นสัญญาณทางการเมืองที่บ่งชี้ว่า ถ้าหากมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่เกิดขึ้น พรรคการเมืองของ อิมราน ข่าน ก็มีแนวโน้มที่จะชนะ และมีสิทธิคว้าคะแนนเสียงและที่นั่งได้มากกว่าเดิม ยิ่งสร้างแรงกดดันให้กับพรรครัฐบาลและกองทัพปากีสถานที่ยืนอยู่ขั้วตรงข้ามของข่านในช่วงเวลานี้

 

อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนชาวปากีสถานยังคงศรัทธาในตัวข่าน

 

ผศ.ดร.มาโนชญ์ อธิบายว่า ในตอนที่ข่านก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลปากีสถานจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2018 เขาก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศด้วยเหตุผลสำคัญ 3 ประการด้วยกัน คือ 

 

  1. นักการเมืองเดิม พรรคการเมืองเก่าพรรคการเมืองเดิม มีปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน เลยก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายในหมู่ประชาชนที่ต้องติดอยู่กับกลุ่มอำนาจนำเพียงไม่กี่กลุ่ม ไม่กี่ตระกูล 

 

  1. อิมราน ข่าน ชูนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน ประกอบกับประวัติของเขาไม่มีความด่างพร้อยเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันเลย 

 

  1. อันนี้สำคัญมากคือ ข่านมาพร้อมกับกระแสต่อต้านสหรัฐอเมริกาในปากีสถาน เพราะว่าในตอนนั้นเมื่อครั้งที่สหรัฐฯ ยังคงทำสงครามในอัฟกานิสถาน มักจะเอาเครื่องบินโดรนบินขึ้นถล่มโจมตีพื้นที่บริเวณชายแดนปากีสถาน ทำให้ผู้คนจำนวนมากในพื้นที่บริเวณนั้นได้รับผลกระทบ จนเกิดเป็นกระแสต่อต้านสหรัฐฯ และรัฐบาลปากีสถานที่มีความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ขึ้นมา เพราะฉะนั้นพอข่านชูนโยบายที่ประกาศให้สหรัฐฯ ยุติให้การใช้โดรนของสหรัฐฯ และไม่อนุญาตให้สหรัฐฯ เข้ามาปฏิบัติการในปากีสถาน จึงยิ่งทำให้ข่านได้รับความนิยมอย่างมาก 

 

พอเขาก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เขาก็มีนโยบายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายปรามปรามคอร์รัปชัน นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรก็ตาม ข่านเองก็ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลานั้นได้ เนื่องจากเผชิญข้อจำกัดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 

 

แต่ถึงกระนั้น บทบาทการเป็นผู้นำของข่านโดดเด่นและได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากบนเวทีโลก โดยเฉพาะในโลกมุสลิม ยิ่งทำให้ประชาชนชาวปากีสถานจำนวนไม่น้อยรู้สึกภาคภูมิใจกับเสียงชื่นชมในตัวของข่านบนเวทีโลก ประกอบกับความกล้าหาญของข่านที่กล้าจะแสดงจุดยืนและวิพากษ์วิจารณ์มหาอำนาจตะวันตก ยิ่งทำให้ผู้คนภายในปากีสถานภาคภูมิใจในตัวเขามากยิ่งขึ้น

 

อะไรคือจุดแตกหักระหว่าง อิมราน ข่าน กับกองทัพ

 

ผศ.ดร.มาโนชญ์ ชี้ว่า บทบาทของกองทัพในช่วงแรกๆ คือ การให้การสนับสนุน อิมราน ข่าน ก็จริง แต่การสนับสนุนในที่นี้ไม่ได้หมายความว่ากองทัพมาหนุนหลังหรือมาช่วยผลักดันให้ข่านได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศมากขนาดนั้น เพียงแค่กองทัพวางตัวเป็นกลาง และปล่อยให้ประชาชนชาวปากีสถานเป็นคนตัดสินใจว่าจะให้พรรคการเมืองใดได้ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาล 

 

พูดง่ายๆ คือ กองทัพไม่ได้เข้ามาแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วกองทัพมักจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากบนเวทีการเมืองระดับชาติ มีอำนาจที่จะไฟเขียวให้ใครอยู่หรือจะให้ใครไป โดยชาวปากีสถานจะทราบดีว่า กองทัพเป็นองค์กรสำคัญที่มีบทบาทอย่างมากต่อการเมืองของประเทศนี้ในช่วงตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

 

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ที่ผ่านมาชาวปากีสถานมีความรักต่อทหารและกองทัพของเขาเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจเป็นเหตุผลมาจากปัจจัยเรื่องความขัดแย้งกับอินเดียที่ทหารมีบทบาทหลัก ทำให้ชาวปากีสถานผูกพัน มีความรักความภักดี กับทหารและกองทัพค่อนข้างสูง 

 

เมื่อ อิมราน ข่าน ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ บวกกับกระแสที่ได้รับการยอมรับจากทหารด้วย ก็เลยยิ่งทำให้ประชาชนในประเทศรู้สึกไปในทิศทางเดียวกันว่า ตนเองรักทั้ง อิมราน ข่าน และทหาร ไปด้วยในเวลาเดียวกัน 

 

แต่หลังจากนั้นในช่วงก่อนที่ข่านจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เกิดประเด็นปัญหาการโยกย้ายและแต่งตั้งนายทหารคนสำคัญโดยรัฐบาลของข่าน จึงทำให้กองทัพไม่พอใจอย่างมากและยุติการสนับสนุนข่าน จนกลายเป็นประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การแตกหักระหว่างข่านกับกองทัพ

 

เมื่อกองทัพแสดงจุดยืนในลักษณะนี้ ฝ่ายค้านในขณะนั้นรับรู้ถึงสัญญาณและเล็งเห็นถึงโอกาสในการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ประกอบกับสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนหนึ่งที่ต้องการจะแปรพักตร์ก็สบโอกาสที่จะย้ายพรรคและเปลี่ยนขั้วทางการเมือง จนนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในที่สุด

 

สิ่งที่ต้องจับตามองต่อจากนี้คืออะไร

 

ผศ.ดร.มาโนชญ์ กล่าวว่า สถานการณ์ในปากีสถานค่อนข้างที่จะไม่แน่นอน โดยข่านมีมวลชน แต่รัฐบาลมีเสียงข้างมากในรัฐสภา ส่วนทหารมีกำลังและมีอิทธิพลอยู่ ดังนั้นเหตุการณ์สำคัญที่จะเป็นตัวตัดสินชี้ขาดอาจารย์มองว่าคือ การเลือกตั้งในแคว้นปัญจาบและไคเบอร์ปัคตูนควา (KPK) วันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ซึ่งเสียงจากผู้สมัครของทั้งสองแคว้นนี้นับเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภาปากีสถาน 

 

ถ้าหากมีการเลือกตั้งและเป็นไปตามที่บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ผู้สมัครจากพรรค PTI ของข่าน จะชนะการเลือกตั้งในทั้งสองแคว้นนี้อย่างขาดลอย นั่นหมายความว่า รัฐบาลอาจสูญเสียอำนาจนำและเสียงข้างมากในรัฐสภา จนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองในอนาคต

 

ถ้าหากพรรค PTI กลับขึ้นมามีอำนาจ หนึ่งในประเด็นสำคัญที่พรรค PTI จะเร่งจัดการนั่นก็คือ อิทธิพลของทหาร เนื่องจากก่อนที่ข่านจะถูกจับกุมได้ไม่นาน เขาได้ออกมาเปิดเผยว่า ทหารอยู่เบื้องหลังการลอบสังหารเขา ขณะที่ทหารเองก็ตอบโต้กลับไปว่า อย่าพูดพล่อยๆ แบบนี้ถ้าไม่มีหลักฐานแน่ชัด 

 

พอข่านถูกจับ ก็เลยมีการตั้งข้อสันนิษฐานกันว่าอาจเป็นเพราะ

 

  1. การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น
  2. ทหารไม่พอใจข่านอย่างมาก 

 

ในส่วนของการจับกุมข่านนั้น หลายคนไปเข้าใจว่าข่านถูกจับกุมในข้อหาคอร์รัปชัน ซึ่งหมายจับอะไรต่างๆ ก็ยังไม่ชัดเจน แต่ที่เขาจับกุมและบรรดาผู้สนับสนุนข่านไม่พอใจนั่นเป็นเพราะว่า ข่านกำลังจะขึ้นศาลเพื่อรับฟังการไต่สวนคดี แต่กลับถูกรวบตัวไปก่อน 

 

ประกอบกับมีการถกเถียงกันในเชิงวาทกรรม ถ้าไปฟังจากฟากฝั่งรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะเรียกว่าเป็นการจับกุม (Arrest) แต่ถ้าไปฟังจากบรรดาผู้สนับสนุนของข่าน นี่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ไม่ต่างจากการลักพาตัว (Abduction) โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า การจับกุมในครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 

 

แต่ล่าสุดศาลได้ออกมาชี้แจงว่า การจับกุมข่านในครั้งนี้เป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากว่าข่านทำให้เกิดจลาจล สร้างความวุ่นวายในสังคม และไม่ได้ไปรายงานตัวกับศาลก่อนหน้านี้ ทำให้ประเด็นการจับกุมข่านในครั้งนี้เป็นที่ถกเถียงว่าเกิดขึ้นอย่างถูกต้องและชอบธรรมจริงหรือไม่ 

 

ผศ.ดร.มาโนชญ์ ยังอธิบายอีกว่า ขณะนี้ อิมราน ข่าน ถูกจับกุม และศาลให้อำนาจในการจับกุมตัวได้นาน 8 วัน เพราะฉะนั้นสถานการณ์ต่อจากนี้ก็คงจะชุลมุนวุ่นวายและมีการชุมนุมประท้วงกันอย่างต่อเนื่อง เพราะข่านเอง สมาชิกพรรค PTI ก็ออกมาส่งสัญญาณให้ผู้คนออกมาร่วมชุมนุมประท้วงเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ 

 

โดยสถานการณ์หลังจากนี้น่าจะคาดเดาได้ยาก จนกว่าจะพ้นกำหนดการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในสองแคว้นสำคัญ ซึ่งจะเป็นตัวตัดสินที่นั่งในสภา ประกอบกับช่วงพ้นกำหนด 8 วันในการจับกุมข่าน ถ้าไม่ได้รับการปล่อยตัวตามเวลาที่กำหนด การชุมนุมประท้วงก็อาจจะยกระดับขึ้น

 

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเลยคือ การชุมนุมประท้วงในครั้งนี้ประชาชนชาวปากีสถานมีอารมณ์ร่วมที่รุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านมาๆ มากกว่าตอนที่ข่านถูกยิงได้รับบาดเจ็บที่ขา เนื่องจากมีการพูดกันว่า อิมราน ข่าน ถือเป็น ‘เส้นสีแดง’ (Red Line) สำหรับคนปากีสถาน เมื่อไรก็ตามที่มีการจับกุมข่านหรือลอบสังหารเขาเกิดขึ้น ทุกอย่างจะเข้าสู่ความโกลาหล ควบคุมได้ยากลำบาก และสถานการณ์จะบานปลายไปอย่างมาก

 

ขณะที่ท่าทีของทหารหรือกองทัพปากีสถานเองก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่น่าจับตามองว่า ทหารจะแทรกแซงการเมืองหรือไม่ อย่างไร โดยอิทธิพลของกองทัพปากีสถานในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานี้เราทราบดีว่า กองทัพมีอิทธิพลสูงมาก แต่ว่าการแทรกแซงของกองทัพในแต่ละครั้งนั้นมักจะสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน 

 

ตัวอย่างเช่น ตอนที่ เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ ผู้นำกองทัพก่อรัฐประหาร และก้าวขึ้นมามีอำนาจในปี 1999 ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างมากจากประชาชน เนื่องจากผู้คนกำลังไม่พอใจการบริหารประเทศของ นาวาซ ชารีฟ นายกรัฐมนตรีปากีสถานในช่วงเวลานั้น ซึ่งทุกครั้งที่ผ่านมาการแทรกแซงของกองทัพกับความต้องการของประชาชนจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ครั้งนี้ต่างออกไป การแทรกแซงของกองทัพในลักษณะเดิมอาจทำได้ยาก เนื่องจากสวนทางกับมติมหาชนจำนวนมากของปากีสถาน 

 

เพราะฉะนั้นเราอาจได้เห็นวิธีการแทรกแซงการเมืองในรูปแบบอื่น ที่อาจไม่ใช่การรัฐประหารเหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา

 

วิกฤตการเมืองปากีสถานในครั้งนี้จะดำเนินไปในทิศทางไหนและจะจบลงอย่างไร ต้องติดตาม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising