บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ คาด Fed ประชุมวันที่ 2-3 พฤษภาคมนี้ มีมติขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งสุดท้าย 0.25% หลังเงินเฟ้อเริ่มชะลอ จับตาปัญหา Debt Ceiling อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ Fed หั่นดอกเบี้ยเร็วในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ พร้อมแนะลงทุนตราสารหนี้ได้อานิสงส์ดอกเบี้ยพีค
สิทธิชัย ดวงรัตนฉายา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ กล่าวผ่านรายการ Morning Wealth ว่า คาดว่าการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) วันที่ 2-3 พฤษภาคมนี้จะมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็นครั้งสุดท้าย มาสู่ระดับ 5-5.25% พร้อมทั้งประเมินว่าในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ Fed จะส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ย หลังจากเริ่มควบคุมตัวเลขเงินเฟ้อได้และเริ่มมีแนวโน้มชะตัวลง โดยมีตัวเลขเงินเฟ้อต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย แต่จะคงท่าทีในการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวต่อไปอีกสักระยะ
นอกจากนี้ ปัญหาประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่จะชนเพดาน (Debt Ceiling) ในเดือนมิถุนายนนี้ รวมถึงล่าสุดกรณีปัญหาของ First Republic Bank ซึ่งเป็นถือเป็นประเด็นสำคัญที่มีผลกระทบให้ Fed มีโอกาสจะลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 ได้
“ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้จะเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายของตลาด เพราะจะมีประเด็นเรื่อง Debt Ceiling ว่าจะจบอย่างไร จะมีการผิดชำระหนี้หรือไม่ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ Fed ต้องลดดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด ทั้งนี้ หากตลาดจะออกจาก Bear Market ได้ต้องมี 2 เงื่อนไข คือ Fed เปลี่ยนท่าทีในการขึ้นดอกเบี้ยกับเศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุด”
เขากล่าวว่า จากข้อมูลสถิติย้อนหลังในอดีตจะพบว่าหลังจาก Fed ปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ย หรือเห็นความชัดเจนว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งสุดท้าย ตลาดหุ้นโลกในช่วงแรกจะตอบรับในเชิงบวกก่อน จากนั้นเมื่อ Fed เริ่มลดดอกเบี้ยลงจะเห็นตลาดหุ้นโลกตอบรับในเชิงลบ
ส่วนมุมมองต่อสถานการณ์ปัญหาภาคธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกลุ่ม Regional Banks จากผลสำรวจพบว่ามีสัดส่วนประมาณ 10% ที่มีความเสี่ยงจะเกิดปัญหาสภาพคล่องคล้ายกับปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับ Silicon Valley Bank กับ First Republic Bank
อย่างไรก็ดี มีความกังวลเพิ่มเติมในภาคอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องหลังจากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในสหรัฐฯ หลังจากเริ่มส่งสัญญาณว่าความตึงตัวในภาคการเงินในสหรัฐฯ จะส่งผลกับการใช้เงินของ บจ. ในสหรัฐฯ ให้ลดลงตามไปด้วย ซึ่งเป็นภาพที่กดดันจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง
สำหรับข้อมูลย้อนหลังในอดีตพบว่า ตราสารหนี้ (Fixed Income) เป็นสินทรัพย์ลงทุนที่สามารถให้ผลตอบแทนดีที่สุดประมาณ 6.8-9% ในช่วงที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งสุดท้าย ส่วนในกรณีที่เข้าไปดูผลตอบแทนการลงทุนในตลาดหุ้นจะพบว่าหุ้นกลุ่มธนาคารจะให้ผลตอบแทนดีที่สุด ส่วนหุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบต่ำสุด คือหุ้นอุตสาหกรรมการผลิตปิโตรเคมีกับหุ้นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
“ภาพตลาดหุ้นจะยังคงผันผวน คนที่รับความเสี่ยงได้น้อยแนะนำให้ลงทุนใน Fixed Income ส่วนคนที่ยังอยากลงทุนในตลาดหุ้นให้เน้นหุ้นกลุ่มธนาคาร โดยหวังว่าเศรษฐกิจจะผ่านจุดต่ำสุด และปัญหาสภาพคล่องเริ่มดูคลี่คลาย”
ดังนั้นมีคำแนะนำการลงทุนให้ซื้อตราสารหนี้ ส่วนกรณีที่มีประเด็น Debt Ceiling ให้ลงทุนในทองคำหรือเงินเยน ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นแนะนำให้ซื้อหุ้นกลุ่ม Defensive เช่น หุ้น Coca-Cola, P&G, หุ้นกลุ่ม Healthcare เพื่อรับมือความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมปีนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- SCB EIC ชี้ธุรกิจขนาดเล็กในไทยยังฟื้นจากโควิดช้าและไม่เท่าเทียม แนะรัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ-ช่วยเหลือต้นทุนผู้ประกอบการ
- SCBX เร่งเครื่องขยายธุรกิจตามยุทธศาสตร์ หลังผู้ถือหุ้นไฟเขียวออกหุ้นกู้ 1 แสนล้านบาท ตั้งเป้าเป็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค
- SCB CIO หนุนลูกค้าเวลธ์ลงทุนตราสารหนี้เทอมฟันด์ โอกาสรับผลตอบแทนจูงใจช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ชู 1 ปี 1.75%