เยอรมนีเตรียมส่งรัฐมนตรีเยือนไต้หวันครั้งแรกในรอบทศวรรษช่วงต้นปีหน้า คาดว่าประเด็นหารือสำคัญคือเซมิคอนดักเตอร์และดิจิทัล ด้านผู้เชี่ยวชาญฟันธง จีนไม่พอใจแน่นอน แต่เยอรมนีอาจรอดพ้นจากการแก้แค้นได้ เหตุสถานการณ์โควิดในจีนยังระอุ
เบตตินา สตาร์ก-วัตซิงเกอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและการวิจัยของเยอรมนี คาดว่าจะเดินทางไปเยือนไต้หวันช่วงต้นปีหน้า นับเป็นการเดินทางเยือนไต้หวันของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเยอรมนีเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- มาตรการคุมโควิดของจีนจ่อฉุดดีมานด์สินค้าโภคภัณฑ์ ตั้งแต่น้ำมัน เหล็ก ถึงถ่านหิน ซึ่งมักพุ่งสูงในช่วงฤดูหนาว
- จริงหรือที่ ‘อินเดีย’ กำลังจะเป็นโรงงานของโลกแห่งใหม่ต่อจากจีน? ถึงขั้นที่การผลิต 1 ใน 4 ของ ‘iPhone’ จะย้ายมาที่นี่ภายในปี 2025
- สีจิ้นผิง ขึ้นเวที G20 เรียกร้องประชาคมโลกจับมือฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการและการวิจัยของรัฐบาลกลางเยอรมนีจะยังไม่ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนการเยือนไต้หวันดังกล่าว แต่ ปีเตอร์ เฮดต์ สมาชิกรัฐสภาจากพรรค Free Democratic Party หรือ FDP ซึ่งเป็นพรรคที่สนับสนุนภาคธุรกิจ เปิดเผยกับสำนักข่าว Nikkei Asia ว่า รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ เยอรมนี ได้ยืนยันการเดินทางดังกล่าวกับเขาเป็นการส่วนตัวแล้ว
โดยเฮดต์อธิบายว่า รัฐบาลเยอรมนีมองว่า ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนในเอเชียที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
แม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ไต้หวันเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะผู้แทนจากประเทศต่างๆ แต่กลับไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะกับสมาชิกคณะรัฐมนตรี
โดยบุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่มาเยือนไต้หวันล่าสุดคือ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้จุดประกายให้จีนออกมาตอบโต้อย่างดุเดือด เนื่องจากถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน
เฮดต์ยังเผยอีกว่า การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การวิจัยด้านเซมิคอนดักเตอร์และ Digitalization จะเป็นประเด็นสำคัญในการเยือนไต้หวันของสตาร์ก-วัตซิงเกอร์ ครั้งนี้ โดยรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ เยอรมนี คาดว่าจะได้พบกับ ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลของไต้หวัน ผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้บริการสาธารณะทั่วโลกเป็นดิจิทัล
“ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า เราต้องลดการพึ่งพาจีนและทบทวนห่วงโซ่อุปทานของเรา ด้วยความเชี่ยวชาญของไต้หวันในการผลิตชิปและระบบดิจิทัล ทำให้ไต้หวันกลายเป็นพันธมิตรที่มีคุณค่าในการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้” เฮดต์กล่าว
การเยือนไต้หวันของสตาร์ก-วัตซิงเกอร์ เกิดขึ้นหลังจากการพบกันของ โอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ในกรุงปักกิ่ง เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผานมา โดยการพบปะกันดังกล่าวสิ้นสุดอย่างไม่มีข้อตกลงที่ชัดเจน
โดยหลังการเดินทางเยือนปักกิ่งของชอลซ์จบลงไม่นาน รัฐบาลเยอรมนีก็ประกาศมาตรการกีดกั้นการลงทุนของจีนในผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ 2 ราย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ
ด้วยมูลค่าการค้าทวิภาคีมูลค่า 246,100 ล้านยูโรในปี 2021 ทำให้จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี และเป็นแหล่งรายได้และการผลิตที่สำคัญของบริษัทใหญ่หลายแห่ง โดยการลงทุนโดยตรงของบริษัทสัญชาติเยอรมันในจีนสูงถึง 10,000 ล้านยูโรในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ขณะที่ยอดขายของผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันอย่าง Daimler, Volkswagen และ BMW ในปีก่อนกว่า 30% ก็มาจากจีน
ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ จีนไม่พอใจ แต่อาจไม่มีแอ็กชันออกมา
เรนฮาร์ด บีเดอร์แมนน์ ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศชาวเยอรมัน จาก Tamkang University ในไทเป กล่าวว่า การเดินทางเยือนไต้หวันของสตาร์ก-วัตซิงเกอร์ จะเป็นการส่งคำเตือนแก่อุตสาหกรรมของเยอรมนีในจีนว่า รัฐบาลเยอรมนีไม่กังวลเรื่องการแยกตัวทางเศรษฐกิจ (Economic Decoupling) จากจีน ด้วยเหตุนั้นจึงเป็นการบีบบังคับให้บริษัทเยอรมนีทบทวนความเสี่ยงในจีนของตนเอง
ขณะที่ ลุตซ์ เบอร์เนอร์ส จากบริษัทที่ปรึษา Berners Consulting ซึ่งให้คำแนะนำแก่หน่วยงานรัฐบาลเยอรมนีและธุรกิจเกี่ยวกับโครงการที่เกี่ยวข้องกับจีน เชื่อว่า ช่วงเวลาของการเดินทางสตาร์ก-วัตซิงเกอร์ เกิดขึ้นขณะที่รัฐบาลจีนกำลังหมกมุ่นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่เลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่กำลังปรับนโยบายใหม่ อาจช่วยให้เยอรมนีรอดพ้นจากการแก้แค้นครั้งสำคัญได้
“ความร่วมมือด้านการวิจัยกับประเทศตะวันตกเป็นหัวข้อที่ละเอียดอ่อนมากสำหรับผู้นำจีน เนื่องจากจีนยังคงต้องตามให้ทันเทคโนโลยีตะวันตก ซึ่งแสดงให้เห็นได้จากความเจ็บปวดที่เกิดจากมาตรการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ ต่อภาคเทคโนโลยีของจีน” เบอร์เนอร์สยังกล่าวเสริมอีกว่า “ปักกิ่งจะต้องกังวลอย่างแน่นอนที่เห็นรัฐมนตรีเยอรมนีและ ออเดรย์ ถัง ปูทางให้ไต้หวันได้ตั้งหลักที่มั่นคงยิ่งขึ้น”
อ้างอิง: