จับตาความสัมพันธ์ ‘อินเดีย-จีน’ ที่บรรลุข้อตกลงร่วมกันในการจัดการลาดตระเวนเพื่อลดความตึงเครียดตามแนวชายแดนที่เป็นข้อพิพาท ถือเป็นสัญญาณที่ดีของการสมานรอยร้าวที่เกิดขึ้นมานาน 4 ปี คาดว่าจะช่วยปูทางการเมืองและทางธุรกิจที่ดีขึ้นระหว่างสองประเทศยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย
รายงานข่าวจาก CNBC ระบุว่า ข่าวดังกล่าวมีขึ้นในช่วงก่อนหน้าการเยือนรัสเซียของ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ BRICS ระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคม ซึ่งในระหว่างการประชุมอาจมีการหารือกับ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ถอดรหัส ‘BRICS’ กับเหตุผลที่ไทยไม่ขอตกขบวน? สำคัญกับการค้าโลกและไทยอย่างไร
- ส่องอัตราการเติบโตของ 2 ขั้วมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก G7 & BRICS
- อินเดียจ่อขึ้นแท่นประเทศเศรษฐกิจขยายตัวเร็วที่สุดในโลก GDP จะโต 6.5% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เบียดแซงญี่ปุ่นขึ้นเป็นเบอร์ 2 ในเอเชียภายในปี 2030
- สินค้าจีนล้นจนเกิด ‘Overcapacity’ โจทย์ท้าทายผู้นำประเทศ?
ความขัดแย้งระหว่างจีนและอินเดียเป็นเป้าความสนใจของนานาประเทศมานาน เนื่องจากทั้งสองประเทศต่างเป็นประเทศมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์ อีกทั้งยังเป็นประเทศใหญ่ที่มีประชากรจำนวนมากที่สุดในโลก และมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจอย่างมาก
ทว่าความตึงเครียดเริ่มตั้งแต่การปะทะกันระหว่างทหารของทั้งสองประเทศที่ชายแดนทางตะวันตกของเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังไม่กำหนดเขตแดน ทำให้ทหารอินเดียเสียชีวิต 20 นาย และทหารจีนเสียชีวิต 4 นาย ในปี 2020
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทั้งสองฝ่ายหยุดลาดตระเวนหลายจุดตามแนวชายแดนในภูมิภาคลาดักห์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ขณะเดียวกันก็ย้ายกำลังพลทหารและอุปกรณ์ทางทหารหลายหมื่นนายไปใกล้พื้นที่สูง
“เราบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการลาดตระเวน และด้วยเหตุนี้ เราสามารถพูดได้ว่า กระบวนการถอนใกล้เสร็จสิ้นแล้ว” สุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดียกล่าว
ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ กองทัพทั้งสองประเทศจะลาดตระเวนตามจุดที่มีข้อขัดแย้งแนวชายแดนตามที่ตกลงกัน และทั้งสองฝ่ายจะเฝ้าติดตามพื้นที่ในลาดักห์เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการละเมิดใดๆ
อย่างไรก็ตาม ทางการในกรุงปักกิ่งยังไม่มีข้อมูลแต่อย่างใดต่อการเผยแพร่รายงานข่าวของอินเดีย
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ในกรุงนิวเดลีกล่าวว่า ข้อตกลงดังกล่าวเปิดทางให้มีการประชุมทวิภาคีระหว่างโมดีและสีจิ้นผิง ‘นอกรอบการประชุมสุดยอด BRICS’ ซึ่งจะเป็นการพบกันครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2020
โดยเบื้องต้นทั้งสองฝ่ายจะถอนกำลังทหารออกจากตำแหน่งปัจจุบันเล็กน้อย เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า แต่จะได้รับอนุญาตให้ลาดตระเวนในพื้นที่ตามกำหนด
ดีเพนดรา ซิงห์ ฮูดา อดีตเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงของอินเดีย ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการชายแดนจีน กล่าวว่า “แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะต้องมีมาตรการสร้างความเชื่อมั่นใหม่ แต่อย่างน้อยทางที่เคยตันนั้นทลายลงแล้ว”
ทั้งนี้ ข้อตกลงครั้งนี้ถือเป็นความคืบหน้าหลังพยายามเจรจาในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เพื่อยุติความตึงเครียดที่ทำลายความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างสองเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หลังจากที่ผ่านมาอินเดียเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการลงทุนของบริษัทจีนและระงับโครงการสำคัญๆ อีกทั้งมีการตรวจสอบการลงทุนของจีนทั้งหมดในอินเดีย และยังเพิ่มความเข้มงวดยิ่งขึ้นหลังจากการปะทะกัน
ส่งผลให้บริษัทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น BYD และ Great Wall Motor สูญเสียเงินหลายพันล้านดอลลาร์ ในขณะเดียวกันบริษัทอินเดียก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่ยากมากขึ้นในการโต้ตอบกับผู้ถือผลประโยชน์ชาวจีน
อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าจากจีนมายังอินเดียพุ่งสูงขึ้น 56% นับตั้งแต่การปะทะกันที่ชายแดนในปี 2020 ทำให้ดุลการค้าของนิวเดลีกับปักกิ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเป็น 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์
“จีนยังคงเป็นแหล่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย และเป็นซัพพลายเออร์ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดในปีที่แล้ว”
เมื่อถามถึงผลกระทบของข้อตกลงการค้าและการลงทุนจากจีน แหล่งข่าวระบุว่า “จะมีการประชุมเพื่อดูว่าขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร โดยอินเดียไม่รีบร้อนมากนัก”
เกิดอะไรขึ้นกับอินเดีย-จีน ย้อนปมพื้นที่พิพาท
THE STANDARD WEALTH ย้อนดูข้อมูล พบว่าจีนและอินเดียมีพรมแดนร่วมกันเป็นระยะทางยาว 4,056 กิโลเมตร แต่ในระยะทางดังกล่าวเป็นจุดที่ไม่สามารถกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนได้ชัดเจน เนื่องจากเป็นแนวแม่น้ำ ทะเลสาบ และหิมะบนภูเขา ซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ส่วนจุดเขตแดนที่ทั้งสองยังไม่สามารถตกลงกันได้ พื้นที่นี้ถูกเรียกว่า ‘แนวเส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง’ (Line of Actual Control) ซึ่งกำหนดเขตแดนขึ้นหลังจากสงครามจีน-อินเดีย ตั้งแต่ปี 1962
กระทั่งช่วงปี 2020 เกิดการเผชิญหน้ากับทหารอินเดียที่หุบเขากาลวานในภูมิภาคลาดักห์ แคว้นแคชเมียร์ ถือเป็นการเผชิญหน้าระหว่างกองทัพจีนและอินเดียที่รุนแรงสุดครั้งแรกในรอบ 45 ปี
ต่อมาในช่วงต้นปี 2021 ทั้งสองฝ่ายปะทะกันอีกครั้งบริเวณพรมแดนรัฐสิกขิมของอินเดีย ส่งผลให้มีกำลังพลได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ก่อนจะเจรจาตกลงกันเพื่อถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ยุทธศาสตร์บริเวณทะเลสาบปันกอง หนึ่งในพื้นที่พิพาทบนเทือกเขาหิมาลัยที่ทั้งสองต่างแย่งชิงอ้างกรรมสิทธิ์
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2024/10/22/india-china-reach-pact-to-resolve-border-conflict-indian-foreign-minister-says.html
- https://indianexpress.com/article/explained/line-of-actual-control-where-it-is-located-and-where-india-and-china-differ-6436436/
- https://www.usip.org/publications/2023/05/why-we-should-all-worry-about-china-india-border-dispute