กสิกรไทยชี้ ผลพวงจาก Fed ขึ้นดอกเบี้ย อาจกดดันให้ กนง. ต้องกัดฟันขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในสัปดาห์หน้า แม้เศรษฐกิจยังไม่พร้อม เตือนโลกเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย
กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ประเมินว่า การปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างดุเดือดในอัตรา 0.75% เป็นครั้งที่สามติดต่อกันของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ถ่างกว้างมากขึ้น จะสร้างแรงกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมสัปดาห์หน้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กูรูชี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเขย่าห่วงโซ่การผลิตโลก เตือนไทยมัวแต่เหยียบเรือสองแคม สุดท้ายอาจตกขบวน
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- ต่างชาติแห่ปักหมุด ลงทุนเวียดนาม ยอด FDI พุ่งแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่น สัญญาณบ่งชี้ ไทยเริ่มไร้เสน่ห์?
“ในสัปดาห์หน้า กนง. อาจต้องกัดฟันปรับดอกเบี้ยขึ้น 0.25% เพื่อสกัดเงินเฟ้อ แม้ความพร้อมในแง่ทางเศรษฐกิจของเรายังไม่ดีเท่าไร” กอบสิทธิ์ระบุ
กอบสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนต่างของดอกเบี้ยทุก 0.25% ที่ดอกเบี้ย Fed ขยับหนีขึ้นไปจากดอกเบี้ยนโยบายของไทย จะนำไปสู่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง 38 สตางค์ ทำให้หากไทยไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม เงินบาทก็จะยิ่งอ่อนค่า สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อผ่านการนำเข้าสินค้า
กอบสิทธิ์ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในช่วงสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 1-1.25% พร้อมมองแนวโน้มค่าเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับดอลลาร์ในช่วง 1 เดือนจากนี้จะอยู่ในกรอบ 36.50-38.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนในช่วงสิ้นปีเงินบาทอาจอยู่ในช่วง 35.00-37.00 บาทต่อดอลลาร์
“ในปีนี้ Fed ได้ขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วรวม 3% สร้างแรงกดดันให้กับเศรษฐกิจทั่วโลก จากการที่นโยบายทางการเงินมีผลล่าช้า การเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจส่งผลทำให้เกิด Shock ในเศรษฐกิจ ซึ่งกดดันให้ธนาคารกลางประเทศอื่นต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นเช่นกัน” กอบสิทธิ์กล่าว
ทั้งนี้ กอบสิทธิ์ยังคาดว่า เศรษฐกิจโลกในอีก 12 เดือนข้างหน้ามีความโน้มเอียงไปในทางถดถอยมากขึ้น โดยสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในขณะนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วหรือไม่ จากการที่ GDP หดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน อีกทั้งในหลายประเทศ โดยเฉพาะในยูโรโซนที่อาจจะเกิด Black Winter ขึ้นจากการที่ต้องประหยัดพลังงานมากขึ้น จากการคว่ำบาตรพลังงานจากทางรัสเซียและ EU ทำให้อาจเกิดการขาดแคลนขึ้น
ล่าสุดด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั่วโลกได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 50.3% เข้าใกล้ภาวะหดตัวมากขึ้น สำหรับประเทศไทยดัชนีภาคการผลิตยังค่อนข้างดีอยู่ โดยอยู่ที่ 53.7% ต่างจากในยูโรโซนและในอีกหลายประเทศที่ค่อนข้างซบเซา เช่น ไต้หวัน ที่ใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID) ทำให้ภาคการผลิตเจอความท้าทายพอสมควร โดยล่าสุดตัวเลขอยู่ที่เพียง 42.7%
กอบสิทธิ์ระบุว่า เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตได้ช้าลงทำให้ภาคการส่งออกมีการชะลออย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีบางประเทศในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่ยังคงเดินหน้าต่อไปได้ในระดับหนึ่ง ในขณะที่ไทยเมื่อเทียบกับปี 2021 กลับพบว่าไทยนั้นพึ่งพาการส่งออกได้น้อยลงจากเดิม ส่วนภาคที่พึ่งพาได้นั้นจะเป็นในส่วนของภาคการท่องเที่ยว
“ไทยครองแชมป์ในแง่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน โดยมีจำนวนถึง 3.2 ล้านคน ทำให้คาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะช่วยปรับดุลบัญชีเดินสะพัดให้ดีขึ้นได้” กอบสิทธิ์ระบุ
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP