KBank Private Banking เผยผลสำรวจพบลูกค้าเศรษฐีกว่า 15% มีปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวจากธุรกิจแบบกงสี พร้อมเปิดตัวบริการ Reconciliation Service ช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและยุติปมความขัดแย้งในครอบครัวโดยผู้เชี่ยวชาญ
พีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director, Wealth Planning and Non Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่มีความผันผวนและความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับการเปลี่ยนผ่านระหว่างรุ่นและการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการดำเนินธุรกิจครอบครัว ส่งผลให้ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูงเกิดความตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญในการบริหารจัดการและวางแผนทรัพย์สินครอบครัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
โดยจากการสำรวจลูกค้าที่มีสินทรัพย์สูงกว่า 4,000 ราย หรือประมาณ 790 ครอบครัวของธนาคาร พบว่ากว่า 15% ต้องเผชิญกับปมปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัวที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ และอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจครอบครัวถึงขั้นสะดุดหยุดลงได้ ซึ่งหากธุรกิจครอบครัวของลูกค้าไม่สามารถไปต่อได้อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย
รายงานของธนาคารยังพบด้วยว่ากว่า 80% ของ GDP ประเทศไทยในปัจจุบันมาจากรายได้ของธุรกิจครอบครัวและบริษัทจำนวน 3 ใน 4 ของธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คือกลุ่มธุรกิจครอบครัว ธุรกิจครอบครัวจึงถือเป็นสัดส่วนธุรกิจที่ใหญ่มาก อาจเรียกได้ว่าเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจประเทศไทย ดังนั้นการรักษาและส่งต่อธุรกิจครอบครัวให้ยั่งยืนจึงถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยด้วยเช่นกัน
“แน่นอนว่าคงไม่มีครอบครัวไหนที่จะเห็นพ้องต้องกันไปเสียทุกเรื่อง ก่อนหน้านี้เรามีบริการที่จะช่วยลูกค้าในการหาทางออกร่วมกันหรือแนวทางการแก้ไขความขัดแย้งในอนาคตผ่านการกำหนดกติกาครอบครัวหรือการทำธรรมนูญครอบครัวผ่านบริการ Family Continuity Planning อยู่แล้ว แต่สำหรับลูกค้ากว่า 15% ที่ได้กล่าวมานั้นมีระดับความขัดแย้งที่มากเกินกว่าจะหาข้อตกลงร่วมกันเองได้ เราจึงได้เปิดตัวบริการใหม่ภายใต้ชื่อ Reconciliation Service หรือบริการแก้ไขความขัดแย้งของครอบครัว” พีระพัฒน์กล่าว
โดยบริการดังกล่าวจะมีผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านการเจรจาไกล่เกลี่ยโดยใช้หลักจิตวิทยา ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเข้ามาช่วยลูกค้าให้สามารถยุติข้อพิพาทและหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้การจัดการกงสีและธุรกิจครอบครัวสามารถดำเนินงานต่อไปได้อย่างราบรื่น โดย 3 จุดเด่นของบริการ ‘Reconciliation Service’ ประกอบไปด้วย
- รักษาสายสัมพันธ์ครอบครัว: ความขัดแย้งที่ไม่อาจหาข้อสรุปได้มักจะถูกยกระดับขึ้นเป็นการฟ้องร้อง ซึ่งจะสร้างรอยร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามไปถึงจุดนั้น ธนาคารจึงนำผู้เชี่ยวชาญในการยุติความขัดแย้งที่มีประสบการณ์สูง ดึงหลักจิตวิทยาเข้ามาช่วยในการเจรจา ทำให้หลายครอบครัวสามารถรักษาความสัมพันธ์อันดีเอาไว้ได้
- ยุติความขัดแย้งในระยะเวลาอันสั้น: ข้อได้เปรียบของบริการ Reconciliation Service คือการช่วยย่นย่อทั้งระยะเวลาในการดำเนินการ รวมถึงช่วยลดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นหากต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเต็มรูปแบบในชั้นศาล โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่ให้ความเห็นของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นกลางและครบถ้วน
- จัดการกงสีและธุรกิจได้อย่างราบรื่น: เมื่อครอบครัวได้ทางออกในข้อพิพาทแล้ว ผู้เชี่ยวชาญของธนาคารจะช่วยจัดการวางแผนส่งต่อธุรกิจครอบครัวหรือจัดทำธรรมนูญครอบครัวใหม่ได้ในทันที ทำให้เกิดความราบรื่นและมีประสิทธิภาพในทุกขั้นตอน
“จากประสบการณ์การให้บริการลูกค้ารวมกว่า 4,000 ราย หรือประมาณ 790 ครอบครัว และมีมูลค่าทรัพย์สินครอบครัวภายใต้การบริหารงานกว่า 1.8 แสนล้านบาท เราพบว่าลูกค้าส่วนใหญ่เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นภายในครอบครัวมักจะหาข้อสรุปได้ยาก เพราะขาดคนกลางในการช่วยไกล่เกลี่ย จึงต้องการมืออาชีพที่ให้ข้อมูลทุกฝ่ายได้อย่างครบถ้วน และมั่นใจว่าจะมีความเป็นกลาง ไม่โอนเอียงหรือเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” พีระพัฒน์กล่าว