×

KBank Private Banking คาด ศก.โลก ครึ่งปีหลังลงจอดแบบ Soft Landing แนะนักลงทุนปรับกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงในหลายสินทรัพย์

17.06.2022
  • LOADING...
KBank Private Banking

KBank Private Banking และ Lombard Odier พันธมิตรทางธุรกิจ ไพรเวตแบงก์จากสวิตเซอร์แลนด์ คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในครึ่งหลังของปี 2022 จะได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นของสหรัฐฯ แต่ยังประเมินว่าเศรษฐกิจมีโอกาสชะลอตัวแบบ Soft Landing ได้ หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) สามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ พร้อมเผยกลยุทธ์การลงทุนในภาวะตลาดขาลงในช่วงครึ่งหลังของปี แนะนักลงทุนเน้นกระจายลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เพิ่มน้ำหนักลงทุนในหุ้นคุณค่า หุ้นจีน และพันธบัตรรัฐบาลในประเทศพัฒนาแล้ว 

 

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีตลาดลงทุนมีความกังวลต่อเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะกดดันแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ให้เกิดขึ้นแบบรุนแรงและรวดเร็ว ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ปะทุขึ้น ทำให้ตลาดกังวลต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำมันดิบและวัตถุดิบต่างๆ ส่งผลให้ราคาน้ำมันขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลกที่ทรงตัวในระดับสูงอยู่แล้ว จึงทำให้ในช่วงกลางเดือนมีนาคม Fed มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกตั้งแต่ปี 2018 ที่ 0.25% 

 

โดยล่าสุดเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมได้ปรับขึ้นเกินกว่าที่ตลาดคาด ทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 40 ปีที่ 8.6% เมื่อเทียบปีต่อปี จากราคาพลังงานที่กลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง หลังจากจีนผ่อนคลายล็อกดาวน์ ทำให้ตลาดคาดว่า Fed จะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสะกัดเงินเฟ้อ ซึ่งทุกๆ เหตุการณ์สำคัญเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบให้ราคาหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงจากการที่นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและเข้าถือเงินสดมากขึ้น

 

ด้าน ศิริพร สุวรรณการ Senior Managing Director, Financial Advisory Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดการลงทุนในช่วงนี้ผันผวนกว่าปกติ ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ต่างๆ อยู่ในทิศทางขาลงจากข่าวร้าย ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ยังคงปรับเพิ่มขึ้น และยังไม่เข้าสู่แนวโน้มขาลงตามเป้าหมายของ Fed จากราคาพลังงานและบริการที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้นโยบายการเงินมีทิศทางตึงตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

 

โดยจากการประชุมครั้งล่าสุดในวันที่ 14-15 มิถุนายนที่ผ่านมา Fed ได้มีมติขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในครั้งเดียว เป็นไปตามตลาดคาด ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันของสหรัฐฯ อยู่ที่ 1.5-1.75% พร้อมทั้งส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่เร่งขึ้น โดยจะขึ้นดอกเบี้ยอีกทั้งหมด 1.75% ในการประชุมช่วงที่เหลือของปีนี้ ทำให้ดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2022 อยู่ที่ 3.4% มากกว่าเดิมที่ประเมินไว้ในการประชุมเดือนมีนาคมที่ 1.9% 

 

ทั้งนี้ ด้านภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ตลาดแรงงานยังคงตึงตัว โดยอัตราการว่างงานยังใกล้ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แม้จะเริ่มมีสัญญาณลบจากตลาดบ้านบ้าง หลังจากแนวโน้มดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการซื้อทำให้ยอดขายบ้านลดลง

 

ด้านจีนที่ค่อยๆ กลับมาเปิดประเทศอีกครั้งในแบบระมัดระวังหลังยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง แสดงให้เห็นว่ามาตรการการล็อกดาวน์ได้ผล อย่างไรก็ตาม แม้จำนวนผู้ติดเชื้อในจีนจะลดลง แต่แนวโน้มผู้ติดเชื้อที่อื่นๆ ในเอเชียอย่างฮ่องกงและเกาหลีใต้กลับเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้จีนต้องกลับมาใช้มาตรการ Zero-COVID จนถึงไตรมาส 3 และถ้าหากจีนกลับมาล็อกดาวน์ก็จะส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกอีกครั้ง เช่นเดียวกันกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ก็ทำให้เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากการเผชิญปัญหาห่วงโซ่อุปทานเช่นกัน 

 

สำหรับความเป็นไปได้ต่อไปของสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับมหภาคทั่วโลก แบ่งเป็น 3 กรณี คือ 

 

  1. สงครามยืดเยื้อ กระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ความน่าจะเป็น: สูง ส่งผลให้ GDP โลกลดลง 1%

 

  1. สงครามทวีความรุนแรงและรวดเร็ว เกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก ความน่าจะเป็น: ต่ำ ส่งผลให้ GDP โลกลดลง 2% 

 

  1. ความขัดแย้งคลี่คลาย ความน่าจะเป็น: ต่ำกว่า ส่งผลให้ GDP โลกลดลง 0.5%

 

ตรีพล ภูมิวสนะ Senior Managing Director, Private Banking Business Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องนี้เข้าใกล้เกณฑ์หดตัว ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย อาจนำไปสู่ตลาดหมีหรือตลาดขาลง 

 

ในสภาวะเศรษฐกิจและตลาดเช่นนี้ KBank Private Banking และ Lombard Odier ยังคงเน้นย้ำกลยุทธ์การลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง และแนะนำให้ปรับกลยุทธ์และสัดส่วนการลงทุนในประเภทสินทรัพย์สำหรับครึ่งปีหลัง 2022 ดังนี้ Cash (เงินสด) 2%, Fixed Income (ตราสารหนี้) 36%, Equities (หุ้น) 45% และ Alternative (สินทรัพย์ทางเลือก) 17%

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X