KBank Private Banking แนะนำนักลงทุนเพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน Private Asset ผ่านกองทุนหุ้นนอกตลาดจีน หลังเศรษฐกิจโลกช่วงโค้งสุดท้ายของปีมีแนวโน้มหดตัว ตลาดทุนเผชิญความท้าทายรอบด้าน ราคาสินทรัพย์ในตลาดแทบทุกประเภทยังผันผวน
ตรีพล ภูมิวสนะ Senior Managing Director, Private Banking Business Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เมื่อพูดถึงการลงทุนในจีน เชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงมีความกังวล แม้รัฐบาลจีนยังคงเพิ่มความพยายามอย่างต่อเนื่อง ในการพลิกฟื้นตลาดหุ้นที่กำลังเผชิญกับความเปราะบาง อย่างไรก็ดี KBank Private Banking มองว่าจีนเป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจในการเข้าลงทุนในหุ้นนอกตลาดเนื่องจากตลาดหุ้นนอกตลาดจีนมีมูลค่าการระดมทุนสูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลก โดยในปี 2565 จำนวนเม็ดเงินระดมทุนสูงถึง 3.21 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (11.7 ล้านล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นการเติบโตสูงถึง 900% เมื่อเทียบกับเม็ดเงินระดมทุนในช่วง 10 ปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังมีมาตรการสนับสนุนที่ผ่อนคลายเกณฑ์การจดทะเบียนในตลาดหุ้น เปิดโอกาสให้การออกจากการลงทุน หรือ Exit ผ่านการ IPO ในตลาดหลักทรัพย์ มีความคล่องตัวมากขึ้น โดย KBank Private Banking เชื่อว่าลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูงของธนาคารมีการลงทุนในตลาดหุ้นจดทะเบียนของจีนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นหุ้นจีน A-Share หรือ H-Share การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นจีนนอกตลาด จะช่วยกระจายการลงทุนและเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนได้ เนื่องจากธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และธุรกิจที่อยู่นอกตลาดมีสัดส่วนอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน
ล่าสุด KBank Private Banking ร่วมกับ บลจ.กสิกรไทย หรือ KAsset และ Schroders Capital นำเสนอกองทุนเปิดเค ไชน่า ไพรเวทอิควิตี้ 23A ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย หรือ K-CHAPE23A-UI ที่ลงทุนในหุ้นนอกตลาดในจีน โดยลงทุนส่วนใหญ่ในธุรกิจช่วงที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งกิจการและธุรกิจช่วงที่เติบโตซึ่งต้องการเงินทุนเพื่อขยายกิจการผ่านการซื้อขายในตลาดรองซึ่งมีระดับราคาที่น่าสนใจ หรือเป็นการร่วมลงทุนโดยเน้นลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโต และสอดคล้องกับแผนการพัฒนาของรัฐบาลจีน ได้แก่ เทคโนโลยี สุขภาพ และการบริโภค ซึ่งมีศักยภาพในการกลายมาเป็นกลุ่มบริษัทที่เป็นผู้นำตลาดในอนาคต
ขณะเดียวกันยังมีการกระจายการลงทุนในหลายมิติ ทั้งด้านอุตสาหกรรม ช่วงของธุรกิจ ลักษณะการร่วมลงทุน และลงทุนในกว่า 100 บริษัท โดยความผันผวนของผลตอบแทนในอดีตของ Schroders Capital China Private Equity ต่ำกว่าดัชนีหุ้นจีน MSCI All Share กองทุนมีอายุ 7 ปี และสามารถขยายเพิ่มได้อีก 2 ปี สั้นกว่ากองทุนหุ้นนอกตลาดทั่วไป และลดความเสี่ยงการถูกเรียกเงินคืนกรณีกองทุนต่างประเทศต้องการเงินทุนเพิ่ม
จุนเชียน Head of Private Equity China, Schroders Capital, Schroders Group PLC กล่าวว่า Schroders Capital ได้รับใบอนุญาตคิวเอฟเอลพี (Qualified Foreign Limited Partner: QFLP) ที่เปิดกว้างในการนำเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในประเทศจีนและส่งเสริมการลงทุนในหุ้นนอกตลาด เพื่อสนับสนุนการเติบโตของบริษัทในจีน ทำให้สามารถลงทุนในจีนได้
นอกจากนี้ Schroders Capital ยังมีประสบการณ์การลงทุนหุ้นนอกตลาดในจีนมานานกว่า 15 ปี และมีเครือข่ายผู้จัดการกองทุนหุ้นนอกตลาดที่แข็งแกร่ง เช่น Sequoia China, Legend Capital และ Maison Capital รวมถึงมีทีมงานที่ดูแลด้านการลงทุนประจำอยู่ในประเทศจีน และได้รับการสนับสนุนจาก Schroders สวิตเซอร์แลนด์ จึงสามารถเข้าถึงข้อมูลและโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจ และพิจารณาถึงความเสี่ยงอย่างรอบด้าน อาทิ การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลจีน แต่ผู้จัดการกองทุนก็จะสามารถปรับตัวตามนโยบายได้ เนื่องจากเข้าใจธรรมชาติของรัฐบาลจีน (Adaptive-Flexible-Local Knowledge)
ตรีพลกล่าวว่า ในภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน ทำให้โอกาสลงทุนในหุ้นนอกตลาดมีความน่าสนใจมากขึ้น เพราะหลายบริษัทกำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่องระยะสั้น จากยอดขายไม่ขยายตัว ต้นทุนสูงขึ้น และกำไรลดลง ทำให้มีความต้องการหาพันธมิตรหรือเพิ่มทุน นับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่กองทุนหุ้นนอกตลาดจะเข้าลงทุนในบริษัทคุณภาพดีในราคาที่ต่ำลง เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างกำไรได้ในอนาคต
โดยเชื่อว่าการลงทุนในกองทุนเปิดเค ไชน่า ไพรเวทอิควิตี้ 23A ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย จะช่วยกระจายความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนจากสินทรัพย์ดั้งเดิมอย่างหุ้นและตราสารหนี้ และเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนระยะยาวให้กับนักลงทุนได้ ทั้งนี้การลงทุนในหุ้นนอกตลาดจีนที่บริหารโดย Schroders Capital ตั้งแต่ปี 2554 ถึงปี 2565 ให้ผลตอบแทน IRR ที่ 17.2% ต่อปี ในขณะที่ผลตอบแทนของการลงทุนดัชนีหุ้นจีน MSCI China USD ด้วยกระแสเงินสดและจังหวะเวลาการลงทุนที่เหมือนกันจะอยู่ที่ -3% ต่อปี