จากจุดต่ำสุดในรอบ 11 ปีของหุ้น ‘ธนาคารกสิกรไทย’ (KBANK) ที่ระดับ 70 บาท เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ราคาหุ้น KBANK ใช้เวลา 26 วันพุ่งกลับขึ้นมาปิดที่ 114.5 บาทเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 60% เป็นหุ้นในกลุ่ม SET50 ที่ราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว
ราคาแรงทะลุเป้าหมายนักวิเคราะห์
จากข้อมูล IAA Consensus ซึ่งรวมมุมมองของนักวิเคราะห์ต่อหุ้น KBANK จากทั้งหมด 15 บริษัทหลักทรัพย์ มีนักวิเคราะห์เพียง 1 รายจาก บล.เอเซีย พลัส ซึ่งประเมินราคาพื้นฐานของ KBANK ไว้ที่ 126 บาท สูงกว่าราคาปัจจุบัน ขณะที่ค่าเฉลี่ยของราคาเป้าหมายหุ้น KBANK อยู่ที่ 97.62 บาท โดยราคาเป้าหมายต่ำสุดคือ 82 บาท
ฟันด์โฟลวทรงพลังมากกว่าพื้นฐานในระยะสั้น
หากย้อนดูกระแสเงินลงทุนต่างชาติตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา พบว่านักลงทุนต่างชาติเป็นฝ่ายซื้อสุทธิ 2.83 หมื่นล้านบาท เทียบกับก่อนหน้านั้นที่ขายมาเฉียด 2.9 แสนล้านบาท โดยจะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติเริ่มซื้ออย่างมีนัยตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ราคาหุ้น KBANK และหุ้นในกลุ่มแบงก์ตัวอื่นๆ จะพุ่งขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
ไม่ใช่แค่ KBANK! ‘แบงก์กลาง-ใหญ่’ วิ่งยกแผงกว่า 30%
สำหรับหุ้นกลุ่มแบงก์ทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่นอกเหนือจาก KBANK ราคาหุ้นแบงก์อื่นๆ ต่างปรับขึ้นค่อนข้างโดดเด่น เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) +41.34%, ธนาคารทหารไทย (TMB) +38.10%, ธนาคารกรุงเทพ (BBL) +32.28%, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) +32.05% และธนาคารกรุงไทย (KTB) +30.29%
ราคาปิดครึ่งเช้าของกลุ่มแบงก์ ณ วันที่ 26 พ.ย. 2563
บล.ทรีนีตี้ มองราคาแพงไปแล้ว
ธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่าสาเหตุหลักที่ราคาหุ้น KBANK วิ่งขึ้นมาในช่วงนี้คือ ‘เงินลงทุน’ (ฟันด์โฟลว) ของต่างชาติหลังจากสถานการณ์แวดล้อมหลายอย่างดีขึ้น ทั้งผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ และพัฒนาการของวัคซีนป้องกันโควิด-19 หนุนให้ฟันด์โฟลวไหลเข้าตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) มากขึ้น
“แต่ราคาหุ้นระดับนี้ถือว่าค่อนข้างแพงและเหลืออัปไซด์ไม่มากแล้ว หากนักวิเคราะห์จะปรับราคาเป้าหมายขึ้นอีกต้องใส่สมมติฐานบางอย่างเพิ่มเข้าไป เช่น วัคซีนได้ผลจริง การระบาดลดลง ทำให้การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจฟื้นกลับมาเร็ว”
ฉะนั้นแล้วหากอิงจากประมาณการปัจจุบัน ราคาหุ้น KBANK อาจจะแพงไปแล้ว ส่วนจะมีการปรับประมาณการขึ้นหรือไม่อาจดูจากสัญญาณ 2 ประการคือ วัคซีนสามารถกระจายได้แล้ว ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้น และคุณภาพหนี้ หากไตรมาส 4 ไม่ได้เพิ่มรุนแรงมากก็มีโอกาสที่มุมมองในอนาคตจะดูดีขึ้น
“กลยุทธ์การลงทุนตอนนี้ หากจะเข้าซื้อคงต้องเป็นการเก็งกำไรเป็นหลัก เพราะด้วยพื้นฐานไม่มีอัปไซด์แล้ว และหากฟันด์โฟลวสะดุดจะเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อราคา”
แนวโน้มงบฯ ไตรมาส 4/63 ยังไม่น่าฟื้น
บล.บัวหลวง ประเมินกำไรสุทธิของกลุ่มแบงก์ในไตรมาส 4/63 จะยังคงปรับตัวลดลงจากปีก่อน (YoY) แต่ฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน (QoQ) ด้วยการตั้งสำรองฯ ที่ลดลง โดยมองว่ามีเพียง SCB และ TMB ที่จะรายงานกำไรเติบโต YoY ได้
สำหรับภาพปีหน้า เรามองว่าสินเชื่อจะเติบโตได้ระดับ 5% เทียบกับ 8% ในปีนี้ (ปีนี้มีซอฟต์โลนและการควบรวมของ TMB และ BBL) และคาดว่าการตั้งสำรองฯ จะลดลง 18% ตามภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว
ทั้งนี้ การปลดล็อกให้ธนาคารสามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลได้เป็นอีกปัจจัยที่หนุนราคาหุ้น เราได้ปรับคำแนะนำของกลุ่มจาก ‘เท่าตลาด’ เป็น ‘มากกว่าตลาด’ และมีการปรับราคาเป้าหมายไป ณ สิ้นปี 2564
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์