เพนพอยต์สำคัญลำดับต้นๆ ของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันคือ ‘การหารบิล’ หารค่าอาหารและตามทวงเงินเพื่อนในกลุ่มที่มักจะก้าวไม่พ้นจุดเกรงใจ แถมยังกลายเป็นปัญหาเล็กๆ ที่เรื้อรังและบั่นทอนความสัมพันธ์ของคนโดยไม่รู้ตัว
จากจุดเร่ิมต้นของปัญหาดังกล่าว จึงกลายเป็นไอเดียให้ทางธนาคารกสิกรไทย และบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG ได้พัฒนา ‘ขุนทอง’ แชตบอตที่จะทำหน้าที่เป็นเหรัญญิกในกลุ่ม LINE คอยช่วยสรุปบิลค่าอาหาร หารค่าใช้จ่ายของคนในกลุ่ม และทวงค่าใช้จ่ายที่ค้างไว้ได้ในทุกๆ ช่วง 10.00 น. ของแต่ละวันแบบเสร็จสรรพ โดยเปิดให้ลองใช้งานได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
วิธีการใช้งานคือ ผู้ใช้งานจะต้องแอด LINE ขุนทอง (@KhunThong) ไว้ใน LINE แล้วเชิญขุนทองเข้าในกรุ๊ปเพื่อน หลังจากนั้นถึงจะสามารถเรียกใช้ขุนทองให้ช่วยแบ่งค่าใช้จ่าย หารบิลค่าอาหาร ค่าเที่ยวได้ และยังสามารถเชื่อมต่อกับแอปฯ K PLUS ได้ด้วย เพื่อให้เกิดประสบการณ์การทำธุรกรรมและการใช้งานแบบ Seamless (เมื่อผูกบัญชี K PLUS กับขุนทองจะสามารถกดจ่ายเงินได้ทันทีโดยไม่ต้องสลับแอปฯ)
จุดเด่นคือ นอกจากจะสามารถเตือนเพื่อนๆ แต่ละคนให้จ่ายบิลที่คงค้างเอาไว้ ขุนทองยังสามารถลงรายละเอียดการหารค่าใช้จ่ายในบิลใบเสร็จค่าอาหารในแต่ละมื้อได้แบบเจาะลึกอีกด้วย เช่น ในกรณีที่เพื่อนๆ บางคนไม่ได้ทานอาหารจานนั้นๆ ในมื้อดังกล่าว ก็สามารถเลือกหารเฉพาะคนที่ทานอาหารจานนั้นได้เพื่อให้เกิดความแฟร์ (ถ่ายรูปใบเสร็จแล้วสามารถแสกนข้อมูลแต่ละเมนูเข้าระบบได้)
เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวว่า ขุนทอง เป็นเทคโนโลยีที่ธนาคารกสิกรไทย และ KBTG ร่วมกันพัฒนาขึ้น โดยเป็นโซเชียลแชตบอตใช้งานใน LINE ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ชอบรวมกลุ่มตั้งกรุ๊ป LINE เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ
“เราเชื่อว่าขุนทองจะเข้ามาพัฒนา Enhanced และ Enrich การใช้ชีวิตและการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้คนได้ เนื่องจากทุกประสบการณ์การใช้ชีวิตของผู้คนในสังคม และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในโลกยุคหลังโควิด-19 มีคุณค่ามากๆ ดังนั้นเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยพัฒนาและแก้เพนพอยต์ในเรื่องต่างๆ ได้เป็นอย่างดี”
สำหรับเป้าหมายในเชิงยอดผู้ใช้งานนั้น เรืองโรจน์เปิดเผยว่า ตั้งเป้าจะให้ขุนทองมีผู้ใช้งานมากกว่า 600,000 คนภายในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันที่มีผู้ใช้งานแล้ว 30,000 คน (มีจำนวนการทำธุรกรรมเกิดขึ้นแล้ว 135 ล้านบาท และมีอัตราการทวงบิลสำเร็จถึง 90% ภายใน 1 วัน)
โดยคาดว่าน่าจะเข้ามาช่วยเพิ่มการทำธุรกรรมในระดับ Micro ได้อีกมหาศาล หรือคิดเป็นสัดส่วนการทำธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นราว 30-50% (ปัจจุบันผู้ใช้งานหนึ่งคนจะมียอดการทำธุรกรรมบน K PLUS เฉลี่ย 30 ครั้งต่อเดือน) ซึ่งจะมีส่วนสำคัญท่ีทำให้ K PLUS มียอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 15 ล้านรายตามเป้าหมายในปีนี้ได้ไม่ยาก (ผู้ใช้งานในปัจจุบันอยู่ที่ 13 ล้านราย)
ขณะที่ประเด็นความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้งานนั้น กสิกรไทยระบุว่า แชตบอตขุนทองจะทำงานก็ต่อเมื่อเรียกใช้ หรือให้ช่วยหารบิลค่าใช้จ่ายต่างๆ เท่านั้น นั่นหมายความว่าเวลาที่ไม่ได้เรียกใช้งาน ขุนทองก็จะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับบทสนทนาในกลุ่มแต่อย่างใด และไม่มีการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานแน่นอน
ซึ่งในเดือนหน้า ขุนทองจะเพิ่ม 3 ฟีเจอร์ในการเก็บเงินเพื่อยกระดับประสบการณ์การใช้งานที่สะดวกสบายมากขึ้น ได้แก่ การเก็บค่าใช้จ่ายรายเดือน (Scheduled Bill) บิลค่าใช้จ่ายประจำเดือนที่ต้องเอามาหารกัน เช่น สตรีมมิงออนไลน์ Netflix ที่แชร์ดูและแชร์จ่ายกันได้ ขุนทองจะแจ้งเตือนและตามเก็บเงินจนครบ จ่ายบิลได้ตรงตามเวลา
เก็บหลายบิล (Multiple Bills) เก็บค่าทริป หลายคน หลายบิล ทริปยาว ทริปสั้น และเก็บเงินกลุ่ม (Social Wallet) เพื่อเก็บเงินค่ากองกลางสำหรับค่าใช้จ่ายในแต่ละช่วงเวลาของทริปท่องเที่ยวต่างๆ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า