×

คาซัคสถานประท้วงเดือดรับปีใหม่ เกิดอะไรขึ้นกับยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียกลางที่เคยสงบเงียบแห่งนี้?

07.01.2022
  • LOADING...
คาซัคสถานประท้วงเดือดรับปีใหม่ เกิดอะไรขึ้นกับยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียกลางที่เคยสงบเงียบแห่งนี้?

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ทั่วโลก การประท้วงที่รุนแรงในคาซัคสถานยังคงไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ในระดับโลก
  • การประกาศขึ้นราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เป็นสองเท่าในวันขึ้นปีใหม่กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว จุดไฟประท้วงลุกลามไปทั่วประเทศภายในระยะเวลาเพียง 3 วัน
  • ความไม่สงบส่งผลต่อเสถียรภาพอำนาจในหมู่ผู้นำ มีคำสั่งถอดอดีตผู้นำและบิดาผู้ก่อตั้งประเทศออกจากตำแหน่งประธานสภาความมั่นคงตลอดชีพไม่ต่างจากรัฐประหารเงียบ
  • รัฐบาลเริ่มใช้มาตรการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ และตัดสัญญาณมือถือในบางพื้นที่เพื่อควบคุมสถานการณ์ แต่ก็ยังมีภาพความรุนแรงต่างๆ เล็ดลอดออกมาสู่โลกภายนอก
  • แม้ประธานาธิบดีคนปัจจุบันจะเคยมีท่าทีครั้งแรกๆ ที่พยายามหลีกเลี่ยงวาทะที่รุนแรงต่อกลุ่มผู้ประท้วง แต่ต่อมาได้เปลี่ยนท่าทีกลับมาแข็งกร้าว และพร้อมใช้ทุกวิธีในการปราบปราม ‘ความไม่สงบ’ รวมไปถึงเริ่มส่งสัญญาณให้ชาติเพื่อนบ้านเข้ามามีบทบาทร่วมยุติสถานการณ์จลาจล
  • ความไม่พอใจที่ขยายตัวอย่างรุนแรงและรวดเร็ว อาจมาจากภาวะการเก็บกดทางการเมืองที่ต้องอยู่ภายใต้การปกครองแบบอำนาจนิยมมากว่า 30 ปีนับตั้งแต่เป็นรัฐเอกราช แม้แต่อนุสาวรีย์ของบิดาประเทศที่เคยได้รับความเคารพอย่างกว้างขวางก็ถูกโค่นลงในหลายเมือง

คาซัคสถานตามความรับรู้ของชาวไทยหลายๆ คนอาจจะยังเป็นประเทศที่ไม่ค่อยคุ้นชินนัก บางคนที่คุ้นเคยก็อาจเป็นเพราะชื่อเสียงด้านความสามารถในด้านกีฬาที่ไม่แพ้ชาติมหาอำนาจอื่นๆ อันเป็นมรดกตกทอดที่ยุคสหภาพโซเวียตมอบไว้ให้ แต่เมื่อเร็วๆ นี้หลังเฉลิมฉลองปีใหม่ไม่ทันเสร็จสิ้นก็เกิดการประท้วงที่ขยายตัว และมีความรุนแรงอย่างรวดเร็วลุกลามไปทั่วประเทศ จากเหตุขึ้นราคาก๊าซที่ใช้อุปโภคบริโภคในครัวเรือน สั่นสะเทือนอำนาจรัฐบาลที่เคยแต่ปกครองประเทศอย่างสงบสุขมากว่า 30 ปีนับตั้งแต่เป็นรัฐเอกราช

 

นูร์ซุลตาน นาซาร์บาเยฟ ประธานาธิบดีคนแรกของคาซัคสถาน

ภาพ: Greg Baker / AFP

 

ความเป็นมาของคาซัคสถาน

คาซัคสถานเคยเป็น 1 ใน 15 สาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพโซเวียต ก่อนที่จะประกาศแยกตัวเป็นเอกราชในวันที่ 25 ตุลาคม 1990 และมีเอกราชสมบูรณ์ในวันที่ 10 ธันวาคม 1991 เมื่อบรรดารัฐผู้ก่อตั้งสหภาพโซเวียต เช่น รัสเซีย ยูเครน และเบลารุส ร่วมลงนามยกเลิกสนธิสัญญาสหภาพโซเวียตในท้ายที่สุด เมื่อเป็นประเทศเอกราช คาซัคสถานจึงรั้งตำแหน่งประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลกและอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และยูเรเนียม แต่มีประชากรที่เบาบางเพียง 19 ล้านคน (จากการสำรวจในปี 2021) ดังนั้นโครงสร้างทางเศรษฐกิจจึงเอื้อให้คาซัคสถานเป็นประเทศที่ประชากรมีความกินดีอยู่ดีพอสมควรในระดับเดียวกับรัสเซีย และในระดับที่ดีมากที่สุด ซึ่งดีกว่าอีก 4 ประเทศสถานในเอเชียกลางอย่างอุซเบกิสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน และเติร์กเมนิสถานโดยเปรียบเทียบ โดยข้อสังเกตหนึ่งคือ ชาวคาซัคส่วนมากสามารถประกอบสัมมาชีพในประเทศของตัวเองต่างจากประเทศสถานอื่นๆ ที่ส่วนมากนิยมอพยพไปเป็นแรงงานนำเข้าในประเทศรัสเซีย

 

การเมืองของคาซัคสถานมีเสถียรภาพมาโดยตลอดระยะเวลา 30 ปี นับตั้งแต่นูร์ซุลตาน นาซาร์บาเยฟ (Nursultan Nazarbayev) ผู้นำของรัฐโซเวียตคาซัคประกาศถอนตัวออกจากสหภาพโซเวียตมาเป็นรัฐเอกราช และได้รับเลือกตั้งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศเรื่อยมา จนกระทั่งประกาศวางมือและลาออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศในวันที่ 20 มีนาคม 2019 แต่ยังคงรั้งตำแหน่งประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งถือว่าโดยพฤตินัยแล้วยังคงมีอำนาจมาก อยู่เบื้องหลังคณะผู้ปกครองประเทศรุ่นใหม่พอสมควร โดยมี คาสซิม โจมาร์ท โตกาเยฟ (Kassym-Jomart Tokayev) อดีตนักการทูตขึ้นดำรงตำแหน่งสืบต่อเป็นประธานาธิบดีคนที่สองของประเทศ 

 

โดยรวมแล้วการเมืองการปกครองของคาซัคสถานมีลักษณะอำนาจนิยม ผูกขาดอำนาจทางการเมืองอยู่ในมือของกลุ่มการเมืองเพียงกลุ่มเดียว นับตั้งแต่นาซาร์บาเยฟประกาศเอกราชและอยู่ในตำแหน่งผู้นำประเทศเกือบ 30 ปี อย่างไรก็ตามในยุคของนาซาร์บาเยฟ แม้ว่าจะบริหารประเทศในลักษณะอำนาจนิยม แต่ก็มีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีตามวาระ การเลือกตั้งแทบทุกครั้งจะได้รับข้อกังขาถึงเรื่องความโปร่งใสในการจัดการเลือกตั้งจากบรรดาเหล่าประเทศตะวันตก แต่รัฐบาลยุคนาซาร์บาเยฟก็ยังยินดีต้อนรับการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะในด้านพลังงานเสมอมา อีกทั้งจัดสรรปันส่วนความมั่งคั่งจากการขายทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานสู่ประชาชนหลายภาคส่วน รวมไปถึงการนำความมั่งคั่งเหล่านั้นมาลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ทันสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการย้ายเมืองหลวงจากอัลมาตี (Almaty) ไปสร้างเมืองหลวงใหม่ที่เมืองอัสตานา (Astana) ทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งในภายหลังได้มีการเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นนูร์ซุลตาน (Nursultan) ตามชื่อของประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ รวมไปถึงการมอบสมัญญานาม ‘พ่อของแผ่นดิน’ (Father of the Nation) จากผลงานต่างๆ ดังกล่าว


อย่างไรก็ตามการผูกขาดอำนาจทางการเมืองตามมาด้วยการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจของบรรดาชนชั้นนำที่ใกล้ชิดกับผู้บริหารประเทศ ถึงแม้ว่าประชาชนโดยทั่วไปของคาซัคสถานไม่ได้ยากจนข้นแค้นขนาดนั้น แต่โครงสร้างทางเศรษฐกิจในภาพรวมก็มีความเหลื่อมล้ำที่สูงมาก

 

ภาพ: Ruslan Pryanikov / AFP

 

น้ำผึ้งหยดเดียว: จุดเริ่มต้นของความวุ่นวายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

ถึงแม้ว่าคาซัคสถานจะมีทรัพยากรธรรมชาติที่มหาศาล แต่จำนวนประชากรถือว่าต่ำมาก ดังนั้นช่วงตลอดระยะเวลากว่าสามทศวรรษแห่งการเป็นประเทศเอกราช ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นจึงยังไม่สามารถได้รับการพัฒนาได้อย่างเต็มที่เท่าที่ควร เพื่อรองรับและตอบสนองความต้องการของประชากร อาทิ ในหลายๆ ครั้งมีความจำเป็นต้องยุติการจ่ายกระแสไฟฟ้าอย่างฉุกเฉิน จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานที่พร้อมอุปโภคบริโภคจากมหามิตรอย่างรัสเซีย รวมไปถึงภาวะการขาดแคลนพลังงานด้านต่างๆ ทั้งก๊าซและไฟฟ้า ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการขึ้นราคาของสินค้าจำเป็นดังกล่าวตามกลไกตลาด ทั้งนี้ ก็อาจปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งของปัญหานี้เป็นผลมาจากการผูกขาดอำนาจเศรษฐกิจกับกลุ่มคนที่ใกล้ชิดรัฐบาลไม่กี่กลุ่มด้วยเช่นกัน

 

ทันทีที่คาซัคสถานผ่านเข้าสู่วันแรกของปีใหม่ 2022 ประชาชนต้องเผชิญกับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) มีราคาแพงขึ้นอย่างเฉียบพลันเป็นสองเท่าในคืนเดียว โดยก๊าซชนิดดังกล่าวเป็นปัจจัยหลักในการใช้อุปโภคบริโภคให้ความอบอุ่นในครัวเรือนช่วงฤดูหนาว และเชื้อเพลิงรถยนต์ที่ร้อยละ 70 ถึง 90 ของทั้งประเทศพึ่งพาก๊าซชนิดนี้ เหตุนี้จึงเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ทำให้ประชาชนพร้อมใจกันลงถนนประท้วงรัฐบาล โดยต้นกำเนิดการประท้วงอยู่ที่เมืองฌานาเออเซน (Zhanaozen) ในจังหวัดมันกิสเตา (Mankistauskaya Oblast) แหล่งน้ำมันที่สำคัญของประเทศในภาคตะวันตก โดยที่นี่เมื่อ 10 ปีก่อนก็เป็นเมืองที่เป็นจุดเริ่มต้นประท้วงการเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงคนงาน ก่อนที่ทางการจะปราบปรามลงและแก้ไขสถานการณ์ได้ ดังนั้นเมืองนี้จึงมีความสำคัญและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในการสร้างความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐในภาคประชาชนไปโดยปริยาย

 

สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วและลุกลามไปทั่วประเทศ ความโกรธเกรี้ยวของประชาชนสะท้อนผ่านการบุกทำลายและเผาสถานที่ราชการ โดยเฉพาะสถานที่สำคัญอย่างทำเนียบประธานาธิบดี (Presidential Palace) และศาลาว่าการเมืองอัลมาตีก็ถูกเผาจนได้รับความเสียหาย ยังไม่รวมการบุกโค่นอนุสาวรีย์ของนาซาร์บาเยฟ บิดาผู้สร้างชาติคาซัคสถานยุคใหม่

 

คาสซิม โจมาร์ท โตกาเยฟ ประธานาธิบดีคาซัคสถานคนปัจจุบัน

ภาพ: Vyacheslav Oseledko / AFP

 

อำนาจจากทุกภาคส่วนถูกรวบสู่มือประธานาธิบดีแต่เพียงผู้เดียวไม่เว้นแม้แต่พ่อของแผ่นดิน หรือนี่คือการรัฐประหารเงียบ?

หลังจากที่สถานการณ์พัฒนาความรุนแรงมาโดยลำดับ มีการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตในหลายพื้นที่ และตัดสัญญาณโทรศัพท์ในบางพื้นที่ เนื่องจากสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เป็นกลไกหลักในการนัดหมายการชุมนุมในแต่ละพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาและระเบิดแฟลชแบงเพื่อปราบปราบกลุ่มผู้ประท้วง บางคลิปวิดีโอที่เล็ดลอดผ่านมาทาง VPN แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงในระดับต่างๆ ตั้งแต่ตำรวจใช้กระบองไล่ทุบตีผู้ชุมนุม ไปจนถึงการใช้อาวุธปืนปราบปรามผู้ชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิต 

 

ประธานาธิบดีโตกาเยฟจึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ ตามมาด้วยการประกาศลาออกของคณะรัฐมนตรีตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมโดยประธานาธิบดีได้มีการแต่งตั้ง อาลีฆาน สมาอิลอฟ (Alikhan Smailov) รักษาการนายกรัฐมนตรี โดยหน้าที่หลักเฉพาะหน้าคือ การควบคุมความไม่สงบทั้งปวง อีกทั้งประธานาธิบดีโตกาเยฟเองยังได้ให้คำมั่นกับประชาชนว่า จะให้ตรึงราคาก๊าซไปอีก 180 วันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ที่น่าสังเกตคือ ท่าทีของประธานาธิบดีโตกาเยฟที่ในระยะแรกนั้นยังมีความประนีประนอม แต่ต่อมากลับกลายเป็นแข็งกร้าว เริ่มมีการกล่าวหาว่าเหตุไม่สงบทั้งปวงนั้นเกิดขึ้นจากการสมคบคิด และการบ่อนทำลายโดยแหล่งเงินทุนจากภายนอก รวมไปถึงเริ่มใช้คำว่าการก่อการร้ายกับการประท้วงหลายครั้ง 

 

ที่สำคัญที่สุดคือการปลด นูร์ซุลตาน นาซาร์บาเยฟ ‘พ่อของแผ่นดิน’ อดีตผู้นำประเทศคนแรกออกจากตำแหน่งประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติที่ถือกันว่าสถาปนาขึ้น เพื่อรองรับนาซาร์บาเยฟที่ก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำประเทศมาเป็นผู้ทรงอิทธิพลหลังม่านของผู้นำประเทศรุ่นต่อมา (นาซาร์บาเยฟดำรงตำแหน่งนี้มาเกือบ 30 ปีคู่กับตำแหน่งประธานาธิบดี แม้จะก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ยังคงดำรงตำแหน่งประธานสภาความมั่นคงเรื่อยมา จนกระทั่งโดนปลดเมื่อ 5 มกราคม 2022)

 

สำหรับกรณีของนาซาร์บาเยฟนั้นเป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปว่า ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 27 ปีกับอีก 353 วัน ติดอันดับ 8 ผู้นำที่ครองอำนาจนานที่สุดในโลก และได้ประกาศอำลาตำแหน่งผู้นำประเทศเมื่อ 2 ปีก่อน ด้วยข้ออ้างเรื่องสุขภาพ และได้ผันตัวเองไปเป็นประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติในช่วงที่ถ่ายโอนอำนาจไปสู่โตกาเยฟ ทั้งอำนาจในพรรคนูร์เออตัน (Nur Otan-Light of the Fatherland) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลครองอำนาจนำมาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงอำนาจทางการเมืองในฐานะประธานาธิบดี แต่ก็ได้มีการตั้งข้อสังเกตจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนบทสนทนากับเพื่อนชาวคาซัคสถานในขณะที่ผู้เขียนยังคงศึกษาปริญญาโทอยู่ที่ประเทศรัสเซีย ซึ่งเห็นตรงกันว่าเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของนาซาร์บาเยฟมากกว่า เนื่องจากหากนาซาร์บาเยฟดึงดันครองอำนาจเป็นผู้นำต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ก็จะมีสิทธิถูกรัฐประหารโดยกลุ่มอำนาจนำรุ่นใหม่ ดังนั้น การปลดนาซาร์บาเยฟผู้เป็นพ่อของแผ่นดินออกจากตำแหน่งประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติโดยไม่ได้มีตำแหน่งอื่นรองรับ หรือแม้กระทั่งการให้เหตุผลในการกระทำดังกล่าวโดยตัวประธานาธิบดีโตกาเยฟเอง ณ ขณะนี้อาจตีความได้ว่า เป็นการ ‘รัฐประหารเงียบ’ ขจัดอำนาจที่หลงเหลืออยู่ของนาซาร์บาเยฟ (ในแง่หนึ่งอาจจะอ้างความชอบธรรมที่ว่าเป็นประธานสภาความมั่นคง แต่ไม่สามารถรักษาความมั่นคงในประเทศได้) จึงควรติดตามกันต่อไป

 

ภาพ: Collective Security Treaty Organisation / Handout via Reuters

 

ท่าทีของคาซัคสถานและพันธมิตรที่ใกล้ชิด

สถานการณ์ความวุ่นวายในคาซัคสถานโดยภาพรวมแล้วมีลักษณะที่ไม่ห่างไกลจากภาวะอนาธิปไตย (Anarchy) จากการที่กลไกของรัฐอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารก็ไม่สามารถรับมือกับเหตุการณ์จลาจลทั่วประเทศดังกล่าว ผู้นำของคาซัคสถานจึงมองเห็นความจำเป็นในการแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวผ่านกลไกองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (CSTO-Collective Security Treaty Organization) ซึ่งเป็นองค์การพันธมิตรทางทหารของเหล่าประเทศอดีตสหภาพโซเวียต ไม่ว่าจะเป็น รัสเซีย, เบลารุส, อาร์เมเนีย, คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน, และทาจิกิสถาน ได้ลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาทาชเคนต์ และมีจุดประสงค์ที่จะใช้กำลังทหารของเหล่าประเทศสมาชิกต่างๆ เข้าระงับเหตุไม่สงบตามคำร้องขอของประเทศสมาชิกหนึ่ง โดยหลักการแล้วก็คือ เมื่อประเทศหนึ่งเผชิญภัยคุกคามใดก็ตามจะถือว่าเป็นภัยคุกคามของประเทศสมาชิกที่เหลือด้วย 

 

รัสเซีย

เมื่อเร็วๆ นี้กระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียได้มีการประกาศแถลงการณ์ของเลขาธิการ CSTO ว่ารัสเซียในฐานะสมาชิกของ CSTO ได้ดำเนินการส่งกองกำลังอวกาศ (Russian Aerospace Forces) ในฐานะกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปสู่ดินแดนของคาซัคสถาน เพื่อรักษาความสงบและฟื้นฟูระบบระเบียบต่างๆ ขึ้นมาใหม่ อีกทั้งกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียยังได้ออกแถลงการณ์สนับสนุน โดยระบุอย่างสรุปว่า เป็นหน้าที่ที่ทางการรัสเซียในฐานะสมาชิก CSTO ที่จะตอบสนองต่อคำร้องขอของผู้นำรัฐบาลคาซัคสถานที่เป็นสมาชิก CSTO ร่วมกัน โดยการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพในระยะเวลาที่จำกัดเข้าไปฟื้นฟูระบบระเบียบและสันติภาพให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นการรักษาความมั่นคงร่วมกันของกลุ่มประเทศสมาชิก CSTO 

 

รัสเซียถือว่าคาซัคสถานคือพื้นที่เขตอิทธิพลของตนในภูมิภาคยูเรเซีย อีกทั้งยังเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดมากที่สุดรองจากเบลารุส อีกทั้งยังมีผลประโยชน์ในทุกๆ ด้านอย่างมหาศาลกับคาซัคสถาน ที่สำคัญที่สุดคือความมั่นคงด้านอวกาศ เนื่องจากรัสเซียยังคงเช่าฐานปล่อยจรวดไบคานูร์ (Baikonur) ที่สร้างมาตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต รัสเซียจึงทุ่มทุกอย่างเพื่อยุติความไม่เป็นระบบระเบียบในประเทศพันธมิตรแห่งนี้ หากไม่สำเร็จรัสเซียอาจเผชิญการแทรกแซงจากมหาอำนาจภายนอกที่อาจเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในคาซัคสถานในภาวะสุญญากาศทางอำนาจและเผชิญกระแสตีกลับ เป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มผู้ไม่พอใจรัฐบาลรัสเซียในรัสเซียลุกขึ้นมาประท้วงได้อีก รัสเซียจึงต้องจัดการปัญหานี้ให้ได้อย่างอยู่หมัด

 

เบลารุส

นอกจากรัสเซียจะให้การสนับสนุนการส่งกองกำลังอวกาศในฐานะกองกำลังรักษาสันติภาพไปช่วยรัฐบาลคาซัคสถานแล้ว เบลารุสก็ได้ร่วมส่งกองร้อยพลร่มที่ 103 ไปสมทบกับรัสเซียในฐานะกองกำลังรักษาสันติภาพเช่นกัน 

 

จีน

จีนนับว่าเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุด นอกค่ายอดีตสหภาพโซเวียต อีกทั้งยังเป็นลูกค้าถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของคาซัคสถาน ตัวประธานาธิบดีโตกาเยฟเองก็ได้ให้ความสำคัญกับจีนมาก เนื่องจากเคยได้รับทุนไปแลกเปลี่ยนที่จีนในหลายโอกาส แถลงการณ์ของจีนระบุโดยรัฐมนตรีต่างประเทศจีนว่า สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในคาซัคสถานนั้น ถือเป็นกิจการภายในของคาซัคสถานและหวังว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น (ตามสไตล์จีน) 

 

สหรัฐอเมริกา

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ต่อสายตรงมายังรัฐมนตรีต่างประเทศคาซัคสถานแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และได้กล่าวถึงการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาต่อบรรดาสถาบันตามรัฐธรรมนูญและเสรีภาพของสื่อมวลชน

 

ตุรกี

ในฐานะแกนนำประเทศกลุ่มผู้พูดภาษาตระกูลเติร์ก (Turkic Language) ที่มีสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมร่วมกัน ก็ได้มีการหารือกับกลุ่มประเทศเอเชียกลางอื่นๆ เช่น อุซเบกิสถาน คีร์กีซสถาน อาเซอร์ไบจาน รวมไปถึงคาซัคสถานเอง โดยแสดงความมั่นใจว่าคาซัคสถานจะก้าวข้ามปัญหาดังกล่าวนี้ไปได้ด้วยดี

 

สถานการณ์ล่าสุดเป็นอย่างไร (อัปเดต 10 มกราคม 2022)

ทางการคาซัคสถานระบุว่า เหตุปะทะเดือดระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงและเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในคาซัคสถาน จากวิกฤตราคาน้ำมันเชื้อเพลิงพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีใหม่ ส่งผลให้มียอดผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 164 ราย เกือบ 6,000 รายถูกควบคุมตัว ซึ่งในจำนวนนี้มีพลเมืองต่างชาติรวมอยู่ด้วย

 

โดยเมืองใหญ่ที่สุดอย่างอัลมาตี มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 103 ราย เจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงของชาติได้รับคำสั่งจากโตกาเยฟให้สามารถใช้อาวุธปืนกับประชาชนได้โดยไม่จำเป็นต้องประกาศเตือน ส่งผลให้รัฐบาลในหลายประเทศกำลังเฝ้าจับตาสถานการณ์ในคาซัคสถาน ด้าน แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวทางในการจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุมของโตกาเยฟ และเรียกร้องให้ผู้นำคาซัคสถานประกาศยกเลิกคำสั่งดังกล่าวโดยเร็ว

 

หลังวิกฤตความไม่สงบดำเนินต่อเนื่องนานกว่า 1 สัปดาห์ ล่าสุดทางการระบุว่า สถานการณ์ในอัลมาตีและเมืองอื่นๆ กลับคืนสู่ความสงบเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 9 มกราคม ขณะที่ระบบขนส่งบางอย่างในอัลมาตีจะกลับมาให้บริการได้ในวันที่ 10 มกราคม

 

วิกฤตที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2022 สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำคนปัจจุบันและผู้นำคนก่อนที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘บิดาแห่งชาติคาซัคสถาน’ ในมิติที่ต่างออกไปจากเดิม หลังโตกาเยฟกระชับอำนาจ สั่งปลด นูร์ซุลตาน นาซาร์บาเยฟ อดีตประธานาธิบดีคนแรกของคาซัคสถาน ออกจากตำแหน่งประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับนาซาร์บาเยฟ หลังจากถ่ายโอนอำนาจผู้นำประเทศให้กับโตกาเยฟแล้ว หลายฝ่ายคาดว่าหากเหตุความไม่สงบยังคงยืดเยื้อ ตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising