×

ปิดฉากความสำเร็จของ ‘KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2022’ เวทีติดสปีดไอเดียธุรกิจให้พุ่งทะยานสู่สตาร์ทอัพที่ยั่งยืนของ KBank [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
30.11.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • KATALYST STARTUP LAUNCHPAD โครงการที่ธนาคารกสิกรไทยจัดขึ้น เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่การเติบโตทางธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในระดับสากล สามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจของตนเอง และนำความรู้ดังกล่าวไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม  
  • จัดต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 3 สตาร์ทอัพให้ความสนใจสมัครเข้าเข้าร่วมโครงการ 250 ทีม เพิ่มขึ้นกว่าปี 2021 ที่มีผู้สมัครเข้ารับการอบรม 140 ทีม โดยมีผู้ผ่านเกณฑ์ได้เข้าอบรมทั้งหมด 65 ทีม จาก 250 ทีม และมีทีมที่ผ่านหลักสูตรหลังจบการอบรมสูงถึง 90%
  • รอบ Pitching Day เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ‘Project EV’ ผู้ให้บริการโซลูชันแบบครบวงจร เพื่อดัดแปลงรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) เป็นรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ คือสตาร์ทอัพที่สามารถคว้าเงินรางวัลในครั้งนี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลักสูตรและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการปั้นสตาร์ทอัพในเมืองไทยตอนนี้เกิดขึ้นมากมาย แต่ละโครงการก็มีความน่าสนใจต่างกัน หนึ่งในนั้นคือโครงการ ‘KATALYST STARTUP LAUNCHPAD’ ของธนาคารกสิกรไทย ที่เพิ่งตัดสินรอบไฟนอลไปเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

 

โดยปีนี้มีสตาร์ทอัพให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ 250 ทีม เพิ่มขึ้นกว่าปี 2021 ที่มีผู้สมัคร 140 ทีม โดยปีนี้มีผู้ผ่านเกณฑ์ได้เข้าอบรมทั้งหมด 65 ทีม จาก 250 ทีม และมีทีมที่ผ่านหลักสูตรหลังจบการอบรมสูงถึง 90%

 

 

ถ้าให้วิเคราะห์ว่าเพราะเหตุใด KATALYST STARTUP LAUNCHPAD ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ถึงได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น คงต้องไล่เรียงกันตั้งแต่ความตั้งใจของธนาคารกสิกรไทยที่ต้องการมุ่งเน้นถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อการเติบโตทางธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในระดับสากล สามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจของตนเอง และนำความรู้ดังกล่าวไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม

 

นำไปสู่การพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรและองค์ความรู้ที่เข้มข้นตลอด 8 สัปดาห์ ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยภายใต้ Stanford Thailand Research Consortium นำโดย รองศาสตราจารย์ Charles (Chuck) Eesley จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

 

ที่สำคัญแนวคิดในปีนี้ยังโฟกัสไปที่การพัฒนาไอเดียธุรกิจให้พุ่งทะยานสู่สตาร์ทอัพที่ยั่งยืน หรือ Jumpstart your idea through entrepreneurial mindset

 

 

ธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (Beacon VC) มองในมุมนักลงทุนและกรรมการการแข่งขันในปีนี้ว่า “จากนี้ไปสตาร์ทอัพต้องคิดถึงเรื่องความยั่งยืน หรือ ESG มากขึ้น เพราะไอเดียโปรดักต์มันเริ่มไม่ต่างกันมากแล้ว แต่เรื่องผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสังคม ต่างประเทศเริ่มมองหาและให้ความสำคัญ สตาร์ทอัพเขาก็ไปทางนี้กันมากขึ้น เมืองไทยยังไม่ค่อยเห็น ซึ่งผมก็ค่อนข้างเซอร์ไพรส์นะที่ได้มาเห็นบนเวทีวันนี้”

 

ธนพงษ์ยังให้แง่คิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมุมมองด้านการทำสตาร์ทอัพให้ยั่งยืนว่า “ในมิติของ ESG ตัว G หรือ Governance สำคัญ บางทีคนทำธุรกิจไม่ค่อยโฟกัสเรื่องโครงสร้าง แต่มุ่งไปที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ จึงเห็นสตาร์ทอัพหลายรายที่พลาดเรื่องการมีธรรมาภิบาลที่ดี มีโครงสร้างการเงินการบัญชีที่ดี ผมพยายามพูดเสมอว่า สตาร์ทอัพที่ดีระบบบัญชีสำคัญ เพราะเวลานักลงทุนมาดูเขาจะตรวจบัญชี ถ้าดูแลไม่ดีตั้งแต่ต้นอาจได้เงินจากนักลงทุนยาก ซึ่งต่อไปน่าจะเป็นประเด็นหลักที่นักลงทุนให้ความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากพักหลังๆ เริ่มมีหลายบริษัทมีปัญหาเรื่องนี้เยอะขึ้น”

 

 

เชษฐพันธุ์ ศิริดานุภัทร Managing Director, KLabs ก็มองว่าต่อจากนี้ Green Tech เป็นเทรนด์ที่มาแน่นอน “ปีที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้คุยกับหลายบริษัทก็เริ่มสนใจทำเรื่องเกี่ยวกับ Green Tech มากขึ้น อีกเรื่องที่เห็นชัดเจนที่สตาร์ทอัพควรจะต้องรู้คือ พวกโซลูชันต่างๆ จะเป็นลักษณะของ B2B และ B2C มากขึ้น จากเมื่อก่อนจะเห็นพวกโปรดักต์แพลตฟอร์มเยอะมาก แต่เทรนด์ตอนนี้คือหลายธุรกิจเริ่มกลับมามองว่าจะมีโซลูชันหรือนวัตกรรมอะไรที่ทำให้บริหารงบประมาณได้ดีขึ้น สร้าง Productivity ได้มากขึ้น ดังนั้นอาจต้องมองไปที่ลูกค้าธุรกิจและลูกค้า SMEs ด้วย”

 

หันกลับมามองสตาร์ทอัพ 8 ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ที่กรรมการทั้งสองท่านคิดเห็นเช่นเดียวกันว่า ทุกทีมมีโปรดักต์ที่ชัดเจน แข็งแรง และผ่านเข้ารอบมาแบบเหนือความคาดหวัง

 

“เป็นสัญญาณที่ดีนะที่เห็นสัดส่วนของ Deep Tech เยอะ ไม่ได้มีแค่แพลตฟอร์มเหมือนที่เคยเห็นอีกแล้ว เป็นอะไรที่น่าสนใจและหลายทีมไม่ได้มีแค่ไอเดีย แต่มีการ Pilot แล้ว มีตัวเลขยืนยัน ทำให้มันน่าเชื่อถือมากขึ้น” ธนพงษ์กล่าวเสริม

 

เพื่อให้คุณเห็นภาพเดียวกัน ขอรวบรัดสั้นๆ ให้เห็นถึงไอเดียของทั้ง 8 ทีมพอสังเขป เริ่มที่

 

 

‘HealthTAG’ ที่มาในฐานะ Healthtech Company เจ้าแรกในไทยที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ ผ่านเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพและจัดการข้อมูลทางการแพทย์แบบครบวงจร บน WEB 3.0 โดยมีคนไข้เป็นศูนย์กลาง ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันของข้อมูลทางการแพทย์แบบไร้รอยต่อ เข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา แต่ยังคงความปลอดภัยระดับสูงสุด ทำให้ช่วยลดความซ้ำซ้อนในการทำงานของบุคลากร ลดความผิดพลาด เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาแก่ผู้ป่วย และเกิดการบูรณาการข้อมูลทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

 

‘iFlow Tech’ บริษัท Deep Tech ที่มุ่งพัฒนาความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของมนุษย์ผ่านการแก้ไขปัญหาทั้งด้านน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ด้วยเทคโนโลยีเครื่องปรับคุณสมบัติน้ำ MaxFlow ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร ช่วยเปลี่ยนจากน้ำกระด้าง (Hard Water) เป็นน้ำนุ่ม (Soft Water) เพื่อให้เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และที่อยู่อาศัย

 

‘Joy Ride Thailand’ ทำหน้าที่เป็น ‘Nanny for Adult’ เสมือนลูกรับจ้างหลานจำเป็นที่มาพร้อมบริการพาผู้สูงอายุ ผู้ป่วย คนท้อง และคนพิการ ไปหาหมอ ยังมี Joy Go Round บริการเป็นเพื่อนพาไปทำบุญ ทำธุระ ซื้อของ กินข้าว เยี่ยมที่บ้าน หรือตามแต่ที่ลูกหลานไว้ใจให้ทำหน้าที่แทน

 

‘Gaorai’ (เก้าไร่) ผู้ให้บริการโซลูชันการเกษตรและการบริหารที่ดินเพื่อการเกษตรแบบครบวงจรผ่านแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Satellite Analytics, Soil Analytics, On Ground Data Collection, Drone Services, Agriculture Services, Farm Monitoring และ Farm Management เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตรและเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี ปัจจุบันเก้าไร่ให้บริการ Drone Fleet Services และ On Ground Data Service ผ่านแพลตฟอร์มอีกด้วย 

 

‘Seek Education’ แพลตฟอร์มด้านการศึกษาสำหรับนักเรียน ม.ต้น-ม.ปลาย เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการค้นพบตัวเองไม่เจอ โดยใช้หลักทางจิตวิทยาช่วยค้นหาแนวโน้มความถนัดให้สอดคล้องกับสาขาวิชาในระดับมหาวิทยาลัย และยังมีกิจกรรมเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และความคุ้นเคยในสาขาวิชาชีพ ผ่านผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอาชีพ

 

‘PetPaw’ บริการจัดการร้านค้าสำหรับเจ้าของธุรกิจขายสินค้าสัตว์เลี้ยง ช่วยเหลือเจ้าของธุรกิจตั้งแต่การค้นหาสินค้า คัดเลือกสินค้าที่ดีและมีคุณภาพ การจัดเก็บรวมถึงจัดส่งไปยังร้านค้า ผ่านช่องทางทั้ง Online และ Offline อีกทั้งยังเป็นผู้ช่วยบริหารจัดการร้านค้าด้วยระบบ POS System สำหรับบริหารจัดการร้านค้าสินค้าสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ

 

 

‘LEET Carbon’ บริการโซลูชันเพื่อการจัดการและแก้ปัญหาที่ใช้ข้อมูลพื้นฐานทางธรรมชาติ เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องของความโปร่งใสของข้อมูลของโครงการคาร์บอนเครดิต รวมไปถึงการชดเชยการปลดปล่อยคาร์บอน และสามารถใช้เป็นเครื่องมือติดตาม ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลในเชิงพื้นที่ที่เกิดขึ้นตามช่วงเวลา ทั้งในโครงการคาร์บอนเครดิต และโครงการด้านอื่นๆ มีความต้องการใช้ข้อมูลสิ่งปกคลุมดินเพื่อการแก้ปัญหา เช่น งานวิจัย งานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และงานอนุรักษ์ทางธรรมชาติ งานจัดการภัยธรรมชาติ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยข้อมูลที่สามารถตรวจสอบและยืนยันได้อย่างโปร่งใสและเชื่อถือได้

 

และ ‘Project EV’ ผู้ให้บริการโซลูชันแบบครบวงจร เพื่อดัดแปลงรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) เป็นรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ รวมทั้งมีบริการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ศูนย์กระจายสินค้า หรือใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าของพันธมิตรทั่วประเทศ พร้อมทั้งมีศูนย์บริการซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงตลอดระยะเวลาการใช้งาน การใช้รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงสามารถช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงและลดภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ให้กับบริษัทขนส่งโลจิสติกส์ได้อย่างมาก

 

ปัจจุบัน Project EV ให้บริการดัดแปลงรถกระบะไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เหมาะสำหรับบริษัทขนส่งโลจิสติกส์ที่มีศูนย์กระจายสินค้าระยะการขนส่งไม่เกิน 250 กิโลเมตรต่อวัน สามารถคืนทุนภายในระยะเวลา 2 ปีครึ่ง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ประมาณ 30.8 ตันต่อคันต่อปี ในรถกระบะที่วิ่งประมาณ 90,000 กิโลเมตรต่อปี ขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพและสมรรถนะการใช้งานจริงร่วมกับบริษัทขนส่งโลจิสติกส์ 

 

 

ปริวรรต วงษ์สําราญ ผู้ก่อตั้ง Project EV และเป็นผู้ที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศจากโครงการ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2022 เล่าถึงจุดเริ่มต้นของไอเดียที่เริ่มเห็นว่า หากรถไฟฟ้าที่กำลังเป็นเทรนด์โลกเข้ามาประเทศไทย ซึ่งยังไม่มีเทคโนโลยีเป็นตัวเอง อาจทำให้เสียโอกาสมากกว่าได้โอกาส “ผมมองว่าถ้ารถไฟฟ้าเข้ามา คนที่อยู่ในซัพพลายเชนไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตหรืออู่ซ่อมที่มีองค์ความรู้เรื่องรถสันดาป กลายเป็นว่าอาชีพเหล่านี้จะหายไป ผมมองเห็นช่องว่างตรงนี้และได้มีโอกาสคุยกับอาจารย์ที่ ม.บูรพา ซึ่งทาง EEC ก็มีการส่งเสริมเรื่องการเปลี่ยนผ่านระหว่างรถยนต์สันดาปภายในเป็นรถยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้ว จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีตัวนี้ขึ้นมา ต้องบอกก่อนว่าผมไม่ใช่คนแรกที่ทำ มีคนทำเรื่องนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ยังมีข้อจำกัดทำให้ไม่สามารถจดทะเบียนได้ และส่วนใหญ่จะจับกลุ่มรถบ้าน แต่ผมคิดว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์น่าสนใจและยังไม่มีผู้เล่นเท่าไร

 

“การได้เข้ามาเรียนรู้ในหลักสูตร KATALYST STARTUP LAUNCHPAD มันให้อะไรกับผมเยอะมากๆ Project EV เริ่มจากการมีเทคโนโลยี มีไอเดียเบื้องต้น หลักสูตรนี้ทำให้โปรเจกต์ของผมแข็งแรงขึ้น มีจุดเด่นชัดเจนขึ้น กลายเป็นโมเดลธุรกิจตัวนี้ ผมว่าเนื้อหาที่เขาคัดเลือกมามันช่วยให้เราออกนอกกรอบและต่อยอดไอเดียได้ เหมือนเป็นไกด์ให้เราไปหาข้อมูลต่อ สิ่งที่เมนเทอร์ย้ำเสมอคือต้องหาข้อมูลจากลูกค้าจริงๆ ไม่ใช่หาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต และถามตัวเองเสมอว่าสิ่งที่ทำสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าจริงหรือเปล่า

 

 

“การเรียนรู้เรื่องการเป็นผู้ประกอบการหลักการคล้ายๆ กัน ส่วนตัวผมคิดว่าหลักสูตร KATALYST STARTUP LAUNCHPAD ออกแบบมาได้ดี มีสแตนฟอร์ดมาเป็นเมนเทอร์ด้วย ซึ่งแตกต่างจากที่อื่น ก็อยากชวนให้คนที่สนใจมาสมัครกันในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นคนที่ยังไม่เริ่มต้นธุรกิจเลยก็มาเรียนรู้เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ได้ หรือคนที่มีธุรกิจอยู่แล้ว อยากรู้ว่าไอเดียของเราเวิร์กจริงไหม แม้แต่คนที่ทำธุรกิจไประดับหนึ่งเริ่มอยากสเกลอัพธุรกิจก็ลองมาเข้าหลักสูตร สำคัญคือคุณต้องเปิดใจรับฟังฟีดแบ็ก เพราะโดยพื้นฐานสตาร์ทอัพจะมีแพสชันเยอะและหลงรักโปรดักต์ตัวเองจนไม่ฟังคนอื่น ถ้าคุณเปิดใจจะได้มุมมองอะไรใหม่อีกเยอะที่นำไปปรับใช้ได้เสมอไม่ว่าจะธุรกิจเดิมหรือทำโปรดักต์ใหม่”

 

 

ก็เหมือนกับที่ธนพงษ์บอกว่า KATALYST STARTUP LAUNCHPAD เป็นโครงการที่เน้นให้ความรู้ เพื่อให้สตาร์ทอัพใน Early Stage เริ่มต้นธุรกิจทุกทาง มายด์เซ็ตในการทำธุรกิจที่ถูกต้องจึงสำคัญ

 

เชษฐพันธุ์ก็มองว่าการสร้างธุรกิจที่ดีหรือการสร้างนวัตกรรมที่ดีก็ตาม กระดุมเม็ดแรกสำคัญที่สุด “กระดุมเม็ดแรกที่สตาร์ทอัพต้องติดให้ถูกคือ Pain Point นั้นมีจริงหรือเปล่า บางครั้งเราสร้างโปรดักต์จากจินตนาการ แต่ลืมคิดไปว่า Pain Point ไม่มีจริง เพราะถ้ามันไม่มีจริง สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นผิดหมด ของดีแต่ไม่มีคนใช้ เพราะไม่จำเป็นกับชีวิตเขาก็ไม่มีประโยชน์

 

“สิ่งต่อมาคือ เมื่อมีคนใช้แล้วจะทำเงินกับมันอย่างไร กระดุมสองเม็ดนี้ก็ใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินครั้งนี้ด้วย เพราะการทำธุรกิจให้ยั่งยืน ไอเดียดีอย่างเดียวไม่รอด ต้องมีสองอย่างควบคู่กันคือ มี Pain Point จริง และสร้างรายได้ได้จริง”

 

เมื่อถามว่า หลังการแข่งขันสิ้นสุด KBTG และ Beacon VC จะเข้าไปเสริมทัพในมุมไหนให้กับสตาร์ทอัพบ้าง ธนพงษ์และเชษฐพันธุ์บอกคล้ายกันว่า มองไปที่เรื่องของการสร้าง Ecosystem

 

“ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการ Integrate กับระบบทางการเงินต่างๆ เช่น อยากจะเชื่อมต่อกับระบบ Payment ทาง KBTG ก็จะช่วยซัพพอร์ตตรงนี้ ไม่แต่เฉพาะทีมชนะ ทุกทีมที่ผ่านเข้ารอบเราก็พร้อมจะช่วยเหลือ” เชษฐพันธุ์กล่าว

 

“เราอยากให้ทุกทีมเติบโตมาเป็นทรัพยากรที่ดีให้กับ Ecosystem ของประเทศไทย เมื่อเขาโตขึ้นอาจจะมาต่อยอดกับเราทีหลังก็เป็นได้” ธนพงษ์กล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising