×

ท่ามกลางโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว เราจะคว้าโอกาสจากการลงทุนได้อย่างไร? หาคำตอบได้จากงานสัมมนา ‘KAsset Investment Forum : ปรับพอร์ตรับโลกเปลี่ยน 2024’

11.09.2023
  • LOADING...
KAsset Investment Forum

นับตั้งแต่ต้นปี 2566 ทั่วโลกมีแต่ความผันผวนเต็มไปหมด ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ และมิติของการลงทุน 

 

อย่างต้นปีมีเรื่องของอัตราเงินเฟ้อที่กำลังมาแรง ซึ่งก็มาตามนัด รวมถึงธนาคารของทั้งสหรัฐฯ และทั่วโลก ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราเร่ง เพื่อเป็นการแตะเบรกทางเศรษฐกิจ ทำให้เงินเฟ้อลดลง 

 

ถึงตอนนี้สถานการณ์ต่างๆ จะเริ่มดีขึ้นทั้งในแง่ของเงินเฟ้อหรือการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะไว้ใจได้ ทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า ท่ามกลางโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว เราจะคว้าโอกาสจากการลงทุนได้อย่างไร?

 

คำถามนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของงานสัมมนา ‘KAsset Investment Forum : ปรับพอร์ตรับโลกเปลี่ยน 2024’ ซึ่งเปิดเวทีด้วย อดิศร เสริมชัยวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย หรือ KAsset และต่อด้วยการชวนกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเพื่อมาค้นหาคำตอบรวมกันผ่านการพูดคุยใน 2 หัวข้อหลัก ได้แก่ 

 

ECONOMIC TALK : A BIRD’S-EYE VIEW OF GLOBAL MARKET หรือมองเศรษฐกิจเมื่อโลกเปลี่ยน โดย

 

  • ดร.ภากร ปีตธวัชชัย – ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  • ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา – นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก 
  • วจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์, CFA รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บลจ.กสิกรไทย

 

EXPERT TALK : STRATEGIES FOR PORTFOLIO RESILIENCE หรือปรับพอร์ตรับโลกเปลี่ยน โดย

 

  • Tai Hui – Managing Director, Chief Market Strategist, Asia Pacific, J.P.Morgan Asset Management
  • Elaine Wu – Managing Director, APAC Head of Sustainable Investment Research, BlackRock Investment Institute
  • มทินา วัชรวราทร, CFA ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย

 

เหล่านี้จะกลายเป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้เรารอดพ้นในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความผันผวน

 

KAsset Investment Forum

 

ภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับในแต่ละประเทศแกนหลักของโลกต่างก็ให้ภาพจังหวะการฟื้นตัวที่แตกต่างกัน โลกของการลงทุนจึงต้องปรับตัวให้ทันกับความท้าทายที่โลกต้องเผชิญใน 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 

 

  • การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) – ขั้วต่างๆ ในเศรษฐกิจโลกเริ่มแยกตัวออกจากกัน การกีดกันทางการค้าเป็นแรงผลักดันหลักที่ทำให้ประเทศใหญ่ๆ ไม่สานสัมพันธ์กันเหมือนเดิม 
  • ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ต่างๆ (Uncertainty) – ซึ่งเกิดขึ้นในแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน ดอกเบี้ยในสหรัฐฯ สูงขึ้นอย่างรุนแรง แต่ในแง่ของ GDP ยังสามารถเติบโตได้ ทำให้นักวิเคราะห์ต่างๆ ยังสงสัยและตั้งคำถามว่า ทิศทางการพัฒนาที่ส่งผลถึงการลงทุนจะไปทางไหน 
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Global Heating) – เรื่องดินฟ้าอากาศที่ไม่แน่นอน สิ่งที่ต้องมองคือปัญหาเหล่านี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาแก้ไขได้อย่างไร 
  • สังคมสูงวัยขยายตัว (Silver Gen) – ซึ่งประชากรที่มีกำลังการผลิต (Productivity) เริ่มลดน้อยลง โลกจะอยู่แบบไหน และจะมีเทคโนโลยีอะไรบ้างที่เข้ามาช่วยในวันที่ผู้สูงอายุมีเพิ่มขึ้น

 

“ทุกการเปลี่ยนแปลงจะมีโอกาส ซึ่งผู้ประกอบการที่มองเห็นโอกาสนั้นก่อนย่อมได้เปรียบทางการแข่งขัน ในแง่ของการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีได้ทันกับความต้องการของผู้บริโภค และการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตร 3 ต่อ ทั้งต่อลูกค้า ต่อสังคม และต่อสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนในที่สุด”

 

KAsset Investment Forum

 

สถานการณ์ในประเทศไทยในด้านการฟื้นตัวครั้งนี้ต่างกับการฟื้นตัวในครั้งก่อนๆ ค่อนข้างมาก เราได้ยินมาตลอดเรื่องการฟื้นตัวแบบ K-Shaped เบื้องต้นการส่งออกเทคโนโลยีเป็นตัวดึงที่ทำให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจ และช่วงหลังจากโควิดเบาลงก็มาจากการท่องเที่ยว และการบริโภคในประเทศที่เกิดขึ้นมาก

 

สิ่งสำคัญที่ต้องดูคือเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่การฟื้นตัวอาจไม่เท่าเทียมกันในแต่ละอุตสาหกรรม บางอุตสาหกรรมฟื้นตัวสู เช่น เทคโนโลยีและการเกษตร ขณะที่เรื่องภาคบริการ หรือพลังงาน และสถาบันการเงินอาจยังไม่ฟื้นตัวเร็วนัก ดังนั้นในอนาคตสิ่งที่สำคัญคือการวิเคราะห์ข้อมูล ดูตัวเลขรวมอาจไม่เห็นอะไรชัด แต่ถ้าดูตามอุตสาหกรรมจะเห็นความแตกต่างกัน

 

หลายคนอาจสงสัยว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างช้าๆ มาร่วม 10 ปีแล้ว ทำไมบริษัทจดทะเบียนไทยยังสามารถทำกำไรได้ดี ถ้ามาดูย้อนหลัง SET Index ในช่วง 10 ปีจะโตประมาณ 5-6% เป็น 2 เท่าของ GDP ปัจจัยหนึ่งที่พบคือ บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ มีสัดส่วนรายได้มากกว่า 30% มาจากต่างประเทศ เช่น การเกษตรและอาหารมีรายได้จากต่างประเทศถึง 81% 

 

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสจากการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มรายได้จากนักท่องเที่ยวต่อหัวผ่านเรื่อง Health and Wellness ซึ่งไม่ใช่แค่การมาท่องเที่ยวแล้วกลับออกไป แต่เป็นการมาพักผ่อนพ่วงกับการรักษาสุขภาพด้วย 

 

อีกเรื่องหนึ่งคือความผันผวนในตลาดทุนโลก และทิศทางการเคลื่อนย้ายเงินทุน ซึ่งหากดอกเบี้ยนิ่งแล้วจะเป็นปัจจัยบวกสำหรับตลาดทุนไทยที่เงินทุนจะไหลกลับเข้ามา และที่มองข้ามไม่ได้เลยคือบริษัทที่เน้นเรื่อง ESG จะเป็นกระแสหลักในการลงทุนทั้งในตลาดทุนโลกและตลาดทุนไทย

 

KAsset Investment Forum

 

ถ้าเทียบเศรษฐกิจของโลกเป็นเรือในมหาสมุทร ในตอนนี้เราผ่านพายุไปแล้ว แต่ว่าทะเลก็ยังไม่เรียบ ยังมีคลื่นที่เข้ามากระทบ ขณะที่เรือยังมีรอยรั่ว โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่สะสมมากขึ้น ทำให้ความสามารถของแต่ละประเทศในการใช้เครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยลง เพราะฉะนั้นเลยปรับประมาณการของเศรษฐกิจโลกลดลงเหลือ 2.4% ซึ่งสะท้อนว่าปัญหายังค้างอยู่ในระดับหนึ่ง

 

สำหรับเศรษฐกิจจีนเป็นกรณีที่วิเคราะห์ค่อนข้างยาก ซึ่งในธนาคารโลกเองก็กำลังมีการถกเถียงและจับตาวิกฤตในจีน โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์จีนว่าอะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งหากจะเข้าใจจีนต้องดูย้อนหลังจะพบว่า จีนใช้อสังหาเป็นแรงดันเศรษฐกิจและการลงทุน ซึ่งตอนนี้กำลังคลำหาเครื่องยนต์ใหม่ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

 

ตอนนี้จีนมีหนี้ที่สะสมมาค่อนข้างเยอะ แต่ถ้าไปดูเครื่องมือทางการคลังที่มีอยู่จะพบว่ามีข้อจำกัดเยอะ เพราะมีรายรับที่น้อยลง ทำให้ไม่มีงบประมาณที่เข้ามาประคับประคองเศรษฐกิจในทุกกลุ่มได้ 

 

ขณะเดียวกันสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทำให้น่าสนใจว่าไทยเราจะมีโอกาสจากตรงไหนบ้าง ซึ่งถ้ามองไปที่ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและ R&D แต่ก่อนไทยจะเน้นจากสหรัฐฯ แต่ตอนนี้ใช้ความรู้จากจีนมากขึ้น ชี้ถึงโอกาสของไทยระหว่าง 2 ตลาดที่ต้องทำตัวเป็น ‘ฮับ’ ซึ่งเข้าถึงได้ทุกกลุ่ม 

 

ส่วนเรื่อง Global Heating หากถามว่าส่วนไหนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะมีภัยพิบัติและน้ำท่วมที่เกิดขึ้นตลอด รวมถึงประชาชนที่อยู่ในเมืองค่อนข้างเยอะ สำหรับไทยมีโอกาสมากกว่าประเทศอื่นในการลงทุนเกี่ยวกับการปรับตัวให้เป็นไปตามสภาพอากาศ เช่น หากชีวิตเปลี่ยนไปจากภาวะโลกร้อน อย่างน้ำท่วมหรือคลื่นความร้อน ก็เปลี่ยนภาคเกษตรโดยการเปลี่ยนพืชที่ปลูกได้ รวมถึงปรับการใช้ชีวิตอย่างการสร้างถนนที่ระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว ประเมินแล้วว่าผลตอบแทนจากการลงทุนอาจอยู่ในระดับ 5-8% ซึ่งเงินลงทุนส่วนหนึ่งมาจากตลาดทุน แต่หลักๆ ต้องเป็นภาครัฐและเอกชนร่วมกัน โดยเน้นที่โครงการเกี่ยวกับน้ำ ซึ่งไทยยังมีโอกาสจากการคลังที่เอื้อ

 

KAsset Investment Forum

 

KAsset มองว่า เราเข้าสู่จุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยแล้ว พี่ใหญ่ที่นำในรอบนี้อย่าง Fed น่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีกสัก 1 ครั้งจนถึงสิ้นปีนี้แล้วก็จะหยุด และไม่คิดว่า Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างรวดเร็ว ระยะต่อไปคิดว่า Fed น่าจะรอให้ดอกเบี้ยระดับสูงทำงานเยียวยาตัวเอง และช่วยกดเงินเฟ้อลงมาอีกสักพัก การจ้างงานก็จะมีการเพิ่มขึ้นในอีกสักพัก เศรษฐกิจจะนิ่งมากขึ้น ซึ่ง Fed จะดูทิศทางว่า 5.5% ในกระเป๋าเอาเศรษฐกิจอยู่ไหม ถ้าเอาไม่อยู่ก็จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทีในช่วงปีหน้า 

 

จากสถิติที่ผ่านมาในหลายๆ รอบ เมื่อ Fed หยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะเห็นว่าหลังจากนั้น 3-6 เดือน จะเกิดการ Returns ในแง่ Positive ประมาณ 7-15% ซึ่งเป็นช่วงที่ Returns สูงที่สุด เพราะว่าหลังจากนั้น 12 เดือนจะปรับเป็น 19% ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยนี่เป็นประมาณการที่มอง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทุกรอบจะเป็นแบบนี้หมด แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น Fed เริ่มหยุดอัตราดอกเบี้ย ตลาดทุนก็จะตอบสนองในด้าน Positive ในช่วงนี้

 

ในปีหน้าเศรษฐกิจบางประเทศอาจจะติดลบบ้าง แต่ไม่ถึงขั้นถดถอย โดยเศรษฐกิจที่จะเร่งตัวขึ้นก็มีจีนและอินเดีย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะดีทั้งหมด เศรษฐกิจที่เร่งตัวไม่สูงมาก เช่น สหรัฐฯ ก็อาจดีได้ เพราะปีหน้าเริ่มเห็นการโตอ่อนๆ แล้ว บางไตรมาสอาจโต 0.1 หรือติดลบ 0.1 ซึ่งไม่ได้กังวลมาก แต่ถ้ามองไปไกลๆ ที่ประเทศที่โตอ่อนๆ จะเร่งตัวในปี 2025 เช่น สหรัฐฯ จะโตได้ 1.9% ส่วนยุโรปได้อานิสงส์ เพราะจีนและสหรัฐฯ ไม่ค่อยคุยกันจึงโตได้ประมาณ 1-2%

 

สำหรับจีนโตได้ 5% แต่จะเห็นว่าแนวทางการโตได้ช้าลง เพราะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจวันนี้บางมากๆ เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยครั้งละเล็กน้อยซึ่งเป็นยาเบา หากเปรียบเศรษฐกิจจีนวันนี้เป็นต้นไม้ที่ช่วงก่อนหน้าตอนเร่งให้โตเยอะ ทำให้กิ่งและก้านไปกันคนละทิศทาง บางก้านได้ปุ๋ยมากก็ใบเขียว บางก้านได้น้อยก็ใบเหลือง วันนี้จึงต้องกลับมาพรวนดินกันใหม่ ใส่ปุ๋ยใหม่เพื่อทำให้เศรษฐกิจโตแบบยั่งยืน 

 

ฉะนั้นจึงไม่คิดว่าเศรษฐกิจจีนจะมีการกระตุ้นอย่างร้อนแรง เพราะว่าบางอุตสาหกรรมต้องการเยียวยา การใส่ไปทั้งระบบอาจทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น อุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหินก็ควรชะลอตัว แต่ไปเร่งในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเพื่อแข่งกับมหาอำนาจอื่นๆ เศรษฐกิจจีนจึงอาจโตได้แบบประคับประคอง 

 

ขณะเดียวกันทำไม ESG ถึงมีความสำคัญ บางคนอาจมองเป็นเรื่องของความเสี่ยง แต่วันนี้คู่ค้าทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้น ซึ่ง KAsset ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาตลอด และมองว่าจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับเรื่อง ESG ออกมาเพิ่มเติมอีก

 

KAsset Investment Forum

 

จากนี้ไปอีก 10 ปีข้างหน้าจะไม่เหมือนเดิม เพราะจากนี้เราต้องใช้ชีวิตอยู่กับเงินเฟ้อ ขณะที่ดอกเบี้ยในยุคต่อไปไม่ใช่ 0-2% ส่วนเงินเฟ้อไม่ใช่ 2-3% แต่ว่าทั้ง 2 ส่วนจะสูงกว่านั้น จึงมี 3 ปัจจัยที่จะเข้ามาเปลี่ยนตลาดการเงินคือ 

 

  1. เราอยู่ในยุคที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงเท่ากับตอนปี 1980 แต่เศรษฐกิจยังแข็งแกร่งและ Resilience (ล้มและลุกได้เร็ว) เพราะว่าค่าจ้างปรับตัวขึ้นพร้อมเงินเฟ้อได้ และชาวอเมริกันยังมีงานทำ 
  2. ยุคที่เงินเฟ้อญี่ปุ่นเยอะกว่าเงินเฟ้อจีน โลกเริ่มกลับข้างและเรากำลังจับตามองว่า เมื่อค่าจ้างปรับขึ้น บริษัทต่างๆ ในญี่ปุ่นจะสามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้หรือไม่ 
  3. มีผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดี และมีทางเลือกในการลงทุนที่มากขึ้น

 

อีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นยุคของ AI ซึ่งวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นแล้ว ต่อไปจะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของคนเรา ที่มองแบบนั้นเพราะ Generative AI เข้าใจมนุษย์ได้มากขึ้น แต่ก่อนใช้ในวงจำกัด แต่ตอนนี้คนธรรมดาใช้ AI ได้แล้ว ทำให้ไม่ใช่แค่บริษัทเทคที่ต้องลงทุนใน AI แต่บริษัทอื่นๆ ก็ต้องลงทุนเช่นกัน ซึ่งตอนนี้ราคาของ AI อาจสูงเกินไป แต่ในระยะยาวจะสร้างประโยชน์ได้มากกว่า

 

ในช่วงปีนี้จะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจค่อยๆ ลดลง และตัวเลขว่างงานจะเพิ่มขึ้น ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องรักษาการลงทุนต่อไป เพราะในช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก อย่างในช่วงที่ตลาดกำลังปรับฐานก็เป็นโอกาสซื้อสำหรับตลาดในสหรัฐฯ

 

ขณะที่ตลาดอินเดียถือเป็นตลาดที่น่าเสียดาย เพราะถ้าซื้อแล้วถือมาตั้งแต่ปี 2000 ให้ผลตอบแทนที่มากกว่าสหรัฐฯ จีน ไทย และเอเชีย เพราะว่าในเชิงโครงสร้างของประเทศต่อไปจะเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตสูงที่สุดในเอเชีย การเติบโตของ GDP จะมากกว่า 5% ไปอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งหาได้ยากในประเทศอื่นๆ 

 

ที่สำคัญอินเดียยังผ่านวิกฤตและจบลงไปแล้วซึ่งรับมือได้ดี ขณะที่ PE ตอนนี้อยู่ที่ 19 เท่า ซึ่งเท่ากับตลาดหุ้น S&P แต่ยังมีโอกาสโตได้มากกว่าโดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มธนาคาร และกำไรยังเติบโตต่อเนื่อง แม้ราคาหุ้นจะไม่ได้ถูกลงก็ตาม แต่ควรมีในพอร์ตเพื่อไม่ให้นักลงทุนไทยพลาดโอกาสที่ดีไป

 

พอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมจึงควรแบ่งสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1: Core Portfolio เน้นลงทุนระยะยาวแบบ Asset Allocation ประมาณ 70-80% ของพอร์ต โดยผู้ลงทุนสามารถเลือกกองทุนเพื่อจัดพอร์ตเองได้ หรือลงทุนในกองทุนผสม ซึ่งมีนโยบายกระจายการลงทุนในหลากหลายประเภทสินทรัพย์อยู่แล้ว เช่น K-GA, K-GINCOME, K-PLAN2, K-PLAN3 และ Wealth PLUS 

 

ส่วนที่ 2: Satellite Portfolio เน้นลงทุนระยะสั้นแบบจับจังหวะตลาด (Market Timing) ประมาณ 20-30% ของพอร์ต โดยผู้ลงทุนสามารถเลือกกองทุนได้ตามสถานการณ์การลงทุนในเวลานั้นเพื่อเพิ่มโอกาสทำกำไร

 

KAsset Investment Forum

 

การที่สหรัฐฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างเร็ว ซึ่งตอนนี้ขึ้นมา 5.5% แล้ว สิ่งที่เห็นคือยาแรงขนาดนี้ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ไม่เหมือนฝั่งยุโรปที่เห็นภาพชัดเจนว่ากำลังซื้อต่างๆ ลดน้อยถอยลงไป

 

ในสหรัฐฯ แม้ตอนนี้ดอกเบี้ยขึ้นก็จริง แต่ด้วยดอกเบี้ยบ้านที่ล็อกเรตไว้ ทำให้คนที่กู้ก่อนหน้านี้ไม่ได้รับผลกระทบ โดยสัดส่วนของผู้ที่จ่ายอัตราดอกเบี้ยที่ 3% หรือน้อยกว่ามีตัวเลขถึง 60% แต่สิ่งที่น่าสนใจคือผู้ที่ยังไม่มีบ้านจะต้องจ่ายมากขึ้นจากดอกเบี้ย 7-8% ซึ่งจะไหวหรือเปล่า

 

ขณะที่ในแง่ของธุรกิจ ก่อนที่จะเข้าสู่ดอกเบี้ยขาขึ้น อาจจ่ายอัตราประมาณ 2% แต่หลังจากนี้อาจต้องจ่ายมากขึ้น สำหรับบริษัทที่มีเรตติ้งดีอาจจ่าย 4-5% ยังพอได้ แต่ถ้าเรตติ้งไม่ดีอาจขยับขึ้นไปถึง 10% ซึ่งต้องจับตามองโดยเฉพาะในปี 2024 ที่เงินกู้จะครบระยะเวลาพอดี ดังนั้นภาพรวมของเศรษฐกิจจึงอาจไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่การเติบโตจะชะลอตัวลง 

 

สำหรับตลาดญี่ปุ่นที่มีสปอตไลต์ส่องไปเป็นเพราะตลาดกำลังคึกคัก ที่สำคัญคืออัตราเงินเฟ้อเริ่มมาหลังจากมีความเป็นห่วงเรื่องเงินฝืด ส่วนหนึ่งเพราะโควิด แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากความสามารถในการขึ้นค่าแรง ทำให้ขึ้นราคาสินค้าได้ ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่างๆ สูงขึ้นในด้วย 

 

ยังไม่นับว่าเงินสดในมือของบริษัทญี่ปุ่นที่มีมาก ทำให้ไปซื้อหุ้นคืนโอกาสในการสร้างผลตอบแทนในการลงทุนก็มีมากไปด้วย การผลักดันธรรมาภิบาลกำลังเกิดดอกออกผล และการที่นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นในบริษัทญี่ปุ่นน้อยเกินไป ทำให้ตลาดน่าสนใจ แต่การเข้าไปลงทุนไม่เหมือนเดิม ในอดีตอาจหาหุ้นถูกๆ เมื่อหวังว่าบริษัทจะมาซื้อหุ้นคืน แต่ตอนนี้ต้องพลิกมุมคิด เช่น รอดูว่าบริษัทไหนที่มีโอกาสเติบโตสูง หรือการทำกำไรที่มากขึ้นก็ค่อยเข้าไปลงทุน 

 

KAsset Investment Forum

 

เรากำลังเข้าสู่ยุคใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้มองว่าเรื่องของเงินเฟ้ออาจไม่สูงขนาดนั้น แต่ต่อไปนี้ไม่แน่แล้ว เพราะการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีต้องมีการลงทุนต่างๆ ทำให้ต้นทุนปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนความขัดแย้งระหว่างประเทศจะทำให้ซัพพลายเชนต่างๆ ที่เห็นว่าราบรื่นจะไม่เป็นแบบนั้นแล้ว 

 

ในแง่ของโอกาสลงทุนแม้จะยังมีความผันผวน แต่ถ้าเลือกดีๆ วิเคราะห์ให้รอบด้านก็มีโอกาสในการลงทุนทั้ง Emerging Market หรือพันธบัตรต่างๆ 

 

ขณะเดียวกันอีกเทรนด์ใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นคือ ความขัดแย้งระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้น หรือการเปลี่ยนผ่านพลังงานซึ่งช่วงนี้จะต้องลงทุนหนักๆ จึงเป็นโอกาสให้กับหุ้นที่เกี่ยวข้องเช่นพลังงานสะอาด 

 

สำหรับตลาดจีนถ้ามองในแง่ของมูลค่าจะพบว่าปรับตัวลงมาประมาณหนึ่ง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อไม่ได้สูงเหมือนตะวันตก จึงมีโอกาสเข้าไปลงทุน แต่ก็มีประเด็นเช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่กระทบกระทั่งกับสหรัฐฯ ดูจะหนักมากขึ้น ที่อาจกระทบต่อการส่งออก แต่สิ่งที่สำคัญคือปัญหาความเชื่อมั่นที่เกิดจากผู้บริโภคไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ส่วนบริษัทต่างๆ ก็ไม่ได้ทุ่มเงินลงทุนเพราะรอดูท่าทีของรัฐบาล 

 

แต่สิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือรัฐบาลจีนมีกระสุนมากมายในมือที่พร้อมยิงออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่คงไม่ได้สาดกระสุนเหมือนก่อนหน้านี้ คงเป็นการยิงที่วัดผลได้ ซึ่งจุดนี้จะสร้างโอกาสในการลงทุน ซึ่งนาทีนี้กลุ่มที่น่าสนใจคือกลุ่มที่ล้อไปกับเมกะเทรนด์ เช่น การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานอย่างรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังตีตลาดไปทั่วโลก และยังมี AI ที่กำลังพัฒนาไปไกล

 

KAsset Investment Forum

 

ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าช่วงเวลาที่เหลือในปี 2023 จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และส่งผลต่อปี 2024 อย่างไร การปรับพอร์ตให้รับมือกับความผันผวนได้เป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม ในสถานการณ์ที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising