×

ศูนย์วิจัยกสิกร ชี้แนวโน้มบอนด์ยีลด์ยังพุ่ง จากความต้องการระดมทุนที่เพิ่มขึ้น

22.09.2021
  • LOADING...
ศูนย์วิจัยกสิกร

อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (บอนด์ยีลด์) ไทยเริ่มไต่ระดับขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำท่ามกลางความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังมีอยู่มาก

 

ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยดังกล่าวมาจากหลายสาเหตุ ทั้งการปรับขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งรับข่าวสัญญาณการเตรียมถอยออกจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย แผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2565 

 

โดยสำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างเตรียมแผนการกู้เงินสำหรับปีงบประมาณ 2565 เป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 2.3 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้มีทั้งแผนการก่อหนี้ใหม่และแผนการบริหารหนี้เดิมในวงเงิน 1.1 ล้านล้านบาท และ 1.2 ล้านล้านบาท ตามลำดับ ตามมาด้วยล่าสุด คือข่าวการปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของ GDP

 

มองไปข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การระดมทุนและการก่อหนี้ของภาครัฐรวมทั้งเอกชนจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องในปี 2565 และเป็นวงเงินที่สูงกว่าการเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องในระหว่างปี เพราะสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินทุนเคลื่อนย้ายมีโอกาสขาดดุลต่อเนื่อง ซึ่งมีผลในการระบายสภาพคล่องออกเพิ่มขึ้นจากในปีนี้ ท่ามกลางปัญหาการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว 

 

อีกทั้งโอกาสที่กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายอาจอ่อนไหวมากขึ้นจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะดำเนินการทยอยปรับลดวงเงินของมาตรการ QE (QE Tapering) ระหว่างช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้า

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการระดมทุนในประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงจังหวะการลดวงเงิน QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยคาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของไทยมีแนวโน้มทยอยเพิ่มสูงขึ้น จากระดับประมาณ 1.80% ในปัจจุบัน ไปอยู่ที่ระดับ 1.90% ในช่วงสิ้นปี 2564 โดยมีกรอบคาดการณ์ที่ 1.70-2.10%

 

ส่วนในปี 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยังมีโอกาสปรับขึ้นต่อตามความต้องการระดมทุนในประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการจับสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ และท่าที Fed ที่จะนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายหลังจาก QE Tapering สิ้นสุดลง 

 

สำหรับตัวแปรในประเทศ คงเน้นติดตามรูปแบบการกู้เงินของภาครัฐผ่านเครื่องมือต่างๆ และการจัดสรรจังหวะเวลาการออกตราสารหนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการระดมทุนของบริษัทเอกชน (Crowding Out Effect)

 

ส่วนภาคธุรกิจ นอกจากจะเตรียมแผนสำหรับธุรกิจในปีหน้าแล้ว คงต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องแผนการระดมสภาพคล่อง ช่องทางการกู้เงิน และช่วงเวลาของการออกหุ้นกู้ เพื่อให้สามารถระดมสภาพคล่องได้สำเร็จในวงเงินที่ต้องการ ในจังหวะที่ต้นทุนการออกหุ้นกู้กำลังจะทยอยเพิ่มสูงขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 

 

โดยตัวอย่างของการเตรียมรับมือที่มีให้เห็นแล้ว อาทิ หลายบริษัทอาศัยจังหวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรยังขยับขึ้นไม่มาก ทยอยออกหุ้นกู้เพื่อระดมเงินไปใช้ชำระคืนหนี้หุ้นกู้ที่กำลังจะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2565 หรือคืนหนี้เงินกู้ของสถาบันการเงิน ซึ่งทำให้สามารถล็อกต้นทุนการออกหุ้นกู้ในอายุที่ยาวขึ้นแต่มีดอกเบี้ยที่ต่ำลงกว่ารุ่นเดิมที่กำลังจะครบกำหนดได้ 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X