×

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองสหรัฐฯ ยุติสิทธิพิเศษฮ่องกง ชนวนกระตุ้นสงครามการค้า

โดย efinanceThai
17.07.2020
  • LOADING...

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานสถานการณ์ล่าสุดที่สหรัฐฯ ยุติสิทธิพิเศษกับฮ่องกงเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 เป็นอีกชนวนกระตุ้นสงครามการค้ากับจีนให้กลับมาร้อนแรงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในปีนี้สหรัฐฯ ยังคงนำประเด็นอ่อนไหวของจีนมาใช้เป็นเครื่องมือกดดันจีนผ่านความตกลงทางการค้าเฟส 1 

  

ประกอบกับเงื่อนเวลาการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามา ยิ่งทำให้ทุกเรื่องผูกโยงกันอย่างซับซ้อน ทำให้สงครามการค้าครั้งนี้คงจะยืดเยื้อและไม่น่าจะเกิดความตกลงในเฟส 2 ได้ ถึงแม้การเลือกตั้งสหรัฐฯ จะได้บทสรุปเป็นผู้นำคนใหม่ แต่การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในด้านภูมิรัฐศาสตร์จะคงมีอยู่ต่อไป และคงไม่ทำให้สงครามการค้าสงบได้อย่างมีนัยสำคัญ

             

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินได้ว่าตลอดระยะเวลา 2 ปีที่สงครามการค้าปะทุขึ้นทำให้การค้าของไทยในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องเสียประโยชน์สุทธิ 1.1 พันล้านดอลลาร์ แม้ว่าสินค้าไทยส่วนหนึ่งจะได้อานิสงส์จากการส่งไปแทนที่สินค้าของคู่กรณีทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ก็ไม่มากพอที่จะชดเชยผลกระทบหลักๆ ที่ทำให้การส่งออกสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่ของจีนปรับตัวลดลง รวมกับการที่ไทยต้องสูญเสียพื้นที่ตลาดในประเทศเพื่อนบ้านไปจากการเข้ามาของสินค้าจีน

               

ผลจากสงครามการค้าเริ่มเบาบางลงตั้งแต่เกิดความตกลงในเฟส 1 เมื่อต้นปี 2563 แต่การเกิดโควิด-19 กลับเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาความเสี่ยงของการแพร่ระบาดระลอกสองในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกและกดดันการค้าโลกในช่วงที่เหลือของปีอย่างมีนัยสำคัญ

     

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกของไทยไปตลาดสหรัฐฯ ในปี 2563 ที่กำลังเผชิญการแพร่ระบาดอย่างหนักจะยังหดตัว 2.7% มีมูลค่าการส่งออกราว 3.05 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่การส่งออกของไทยไปจีน แม้ได้แรงส่งจากกำลังซื้อที่กลับมาได้ก่อนประเทศอื่น แต่ภาคการผลิตที่พึ่งพาทั้งตลาดจีนและตลาดต่างประเทศก็ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ทำให้การส่งออกของไทยไปจีนขยายตัวอย่างจำกัดที่ 3.2% มีมูลค่าการส่งออกที่ 3.01 หมื่นล้านดอลลาร์ 

                

ตลอดเวลา 2 ปีนับตั้งแต่สหรัฐฯ ได้เริ่มต้นสงครามการค้ากับจีนในการประกาศใช้มาตรการปกป้องการค้าที่ไม่เป็นธรรม มาตรา 301 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 25% จากอัตราภาษีปกติ กับสินค้าจีนล็อตแรก ตามมาด้วยสินค้าล็อตที่ 2 และล็อตที่ 3 รวมเป็นวงเงิน 2.5 แสนล้านดอลลาร์ 

      

ซึ่งการตอบโต้ด้วยสงครามทางภาษียังคงมีใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน บวกกับมาตรการกีดกันธุรกิจของกันและกันที่แทรกเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งทั้งคู่ได้ลงนามความตกลงการค้าเฟส 1 เพื่อนำไปสู่การยุติสงครามการค้า กระนั้นก็ดี กลับมีตัวแปรใหม่เพิ่มเข้ามาเป็นตัวกระตุ้นให้สงครามการค้าปะทุอยู่เรื่อย ไม่ว่าจะเป็นข้อกล่าวหาที่ว่าจีนเป็นต้นเหตุของโควิด-19 หรือแม้แต่การที่สหรัฐฯ ยุติสิทธิพิเศษทางเศรษฐกิจที่เคยให้ต่อฮ่องกงในขณะนี้

                

อนึ่ง ข้ออ้างหลักที่สหรัฐฯ หยิบขึ้นมาใช้เปิดสงครามการค้ากับจีนก็คือการที่จีนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าในภาพรวมในระดับที่สูง แต่ผ่านมาถึง 2 ปีแล้ว การขาดดุลการค้าดังกล่าวก็ยังไม่ลดหายไปอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับก่อนมีสงครามการค้า โดยมีการขาดดุลการค้ากับโลกสูงขึ้นมาอยู่ที่ 8.45 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2562 จากเดิม 7.93 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2561

   

นอกจากนี้จีนก็ยังคงเป็นประเทศที่ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามากที่สุดอยู่ดี แม้ว่ามูลค่าการขาดดุลการค้าจะลดลงมาอยู่ที่ 3.45 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2562 ซึ่งก็ลดลงมาเพียงเล็กน้อยจากเดิมที่ 3.75 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2561

                

จะเห็นได้ว่าสงครามการค้าไม่ได้ทำให้สิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการเป็นจริงได้ และไม่ส่งผลดีต่อฝ่ายใดเลย แต่กลับเป็นเครื่องมือในเกมการเมืองระหว่างประเทศเพื่อนำมาสู่การหาจุดสมดุลระหว่างกันจนเกิดความตกลงทางการค้าสหรัฐฯ-จีน เฟส 1 ขึ้นมาเมื่อต้นปี 2563 ทำให้สงครามการค้าผ่อนคลายแรงตึงเครียดในระดับหนึ่ง ซึ่งผ่านมาแล้วครึ่งปี ความตกลงดังกล่าวก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเดินหน้าได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปีแรกได้ ยิ่งเปิดช่องให้สหรัฐฯ ใช้ความตกลงนี้เป็นเครื่องมือกดดันจีน

                 

ทั้งนี้ ในความตกลงฉบับนี้มีข้อกำหนดที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันหลายด้าน แต่ข้อกำหนดที่ให้จีนเพิ่มการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ อีก 2 แสนล้านดอลลาร์ให้ได้ภายในสิ้นปี 2564 ซึ่งภายใต้สถานการณ์ปกติ การจะเพิ่มกำลังซื้อในระยะเวลาอันสั้นก็ทำได้ยากอยู่แล้ว ประกอบกับวิกฤตโควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมกำลังซื้อของจีนเข้าไปอีก ราคาพลังงานที่ตกต่ำก็ส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าพลังงานที่อยู่ในข้อกำหนด

               

รวมถึงการผลิตสินค้าต่างๆ ก็ไม่สามารถทำได้เหมือนปกติ จึงไม่เอื้อให้มูลค่าการนำเข้าของจีนกระเตื้องขึ้นได้ตามเป้าหมายปีแรกที่ต้องเพิ่มการนำเข้าสินค้าเพิ่มอีกมูลค่า 6.39 หมื่นล้านดอลลาร์ และการนำเข้าสินค้าบริการเพิ่มอีกมูลค่า 1.28 หมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งนี้มูลค่าการนำเข้าสินค้าของจีนจากสหรัฐฯ ผ่านมาแล้วถึง 5 เดือน มีมูลค่าเพียง 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งยังหดตัว 6.3%YoY ยังห่างไกลจากมูลค่าที่ควรจะทำได้อย่างน้อยให้เท่ากับปี 2560 ที่เป็นปีฐานที่มีมูลค่า 7.93 หมื่นล้านดอลลาร์ 

               

นอกจากนี้กรณีฮ่องกงกลายเป็นชนวนใหม่ที่ถูกดึงเข้ามาให้การแก้ปมสงครามการค้าซับซ้อนขึ้นอีก โดยล่าสุดทางการสหรัฐฯ ได้มีคำสั่งยุติการให้สถานะพิเศษต่อฮ่องกงเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 หลังจากที่จีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติกับฮ่องกงเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ทำให้สถานะของฮ่องกงกลับไปเท่าเทียมกับจีน

               

โดยเฉพาะในด้านการค้าที่กระทบเฉพาะสินค้าที่ผลิตในฮ่องกงและส่งไปสหรัฐฯ ต้องเสียภาษีตามการปกป้องการค้าที่ไม่เป็นธรรม มาตรา 301 เช่นเดียวกับสินค้าจีนซึ่งมีเพียงแค่ 1% ของการส่งออกสินค้าจากฮ่องกงไปสหรัฐฯ เท่านั้น สำหรับสินค้าส่งออกหลักที่ฮ่องกงนำเข้าจากจีนแล้วส่งต่อไปสหรัฐฯ (Re-export) ในปัจจุบันก็เสียภาษีตามมาตรา 301 อยู่แล้ว

                

อีกทั้งในส่วนนี้ก็ไม่กระทบต่อจีนมากนัก เพราะจีนใช้ฮ่องกงเป็นทางผ่านสินค้าไปสหรัฐฯ เพียง 8% ของมูลค่าการส่งออกของจีนไปสหรัฐฯ นอกจากนี้คำสั่งดังกล่าวยังรวมถึงนโยบายลดสิทธิด้านการเข้าเมืองของพลเมืองฮ่องกงให้เทียบเท่าจีน และมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ที่มีต่อจีนก็จะส่งผลครอบคลุมถึงฮ่องกง

                

อย่างไรก็ดี ประเด็นการเมืองระหว่างประเทศของสองแกนนำเศรษฐกิจโลกไม่มีทีท่าว่าจะยุติได้โดยง่าย ซึ่งนอกจากกรณีฮ่องกงแล้วยังมีอีกหลายเรื่อง อย่างการอ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้ก็สะท้อนถึงความพยายามขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยเรื่องความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์เป็นเรื่องอ่อนไหวที่พร้อมจะถูกนำมาโยงกับสงครามการค้าได้ทุกเมื่อ จึงเป็นอีกหนึ่งแรงกดดันการค้าและเศรษฐกิจโลกต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง และไม่น่าจะส่งสัญญาณบวกได้อย่างมีนัยสำคัญในระยะต่อไป แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนผู้นำสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีก็ตาม

 

สงครามการค้าครบรอบ 2 ปี ส่งผลกระทบค่อนข้างมาก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามการค้าระหว่างสองแกนนำเศรษฐกิจโลกส่งผลต่อการค้าโลกอย่างมีนัยสำคัญ และในขณะเดียวกัน ผลจากการตอบโต้กันในการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แม้ไม่เกี่ยวกับไทยโดยตรง แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่ามูลค่าสินค้าไทยที่เกี่ยวข้องกับสงครามการเก็บภาษีในล็อตที่ 1 ล็อตที่ 2 และล็อตที่ 3 ทั้งในฝั่งที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ และไทยส่งออกไปจีน รวมถึงการที่สินค้าจีนเข้ามาช่วงชิงตลาดสินค้าไทยใน CLMV

               

โดยรวมแล้วทำให้การส่งออกของไทยในสินค้ากลุ่มดังกล่าวเสียประโยชน์ 1.1 พันล้านดอลลาร์ (เทียบกับปีก่อน 2560 ก่อนเกิดสงครามการค้า) โดย 1.สินค้าไทยได้อานิสงส์จากส่งออกไทยไปสหรัฐฯ (แทนที่สินค้าจีน) เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน มีส่วนทำให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในภาพรวมตลอดปี 2562 ขยายตัว 11.8%

               

ขณะที่ 2.การส่งออกสินค้าไทยไปจีน (แทนที่สินค้าสหรัฐฯ) ได้อานิสงส์โดยอ้อมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมี่อเทียบกับผลกระทบที่มาจากการส่งออกสินค้าในห่วงโซ่การผลิตที่ปรับลดลงค่อนข้างมาก ทำให้การส่งออกของไทยไปจีนในภาพรวมปี 2563 หดตัว 3.8% และ 3.การส่งออกสินค้าไทยไป CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ก็ถูกสินค้าจีนบางรายการเข้ามาตีตลาด ทำให้การส่งออกของไทยไปตลาดดังกล่าวในภาพรวมหดตัว 6.3% ในปี 2562 มีรายละเอียดดังนี้

                

ไทยได้ประโยชน์ในการส่งออกไปสหรัฐฯ เพื่อแทนที่สินค้าจีนได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นกลางในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักที่เข้าทำตลาดได้มากขึ้นจากการขึ้นภาษีสินค้าจีนในทุกรอบ เช่น สินค้าในกลุ่มล็อตแรกที่สหรัฐฯ เพิ่มการเก็บภาษีสินค้าจีน ไทยสามารถส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ในปี 2562 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นแตะ 5.9 พันล้านดอลลาร์ (จากเดิมมีมูลค่า 5.6 พันล้านดอลลาร์ในปี 2560) เช่นเดียวกับการส่งออกสินค้าไทยในกลุ่มล็อต 2 สามารถส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ในปี 2562 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นแตะ 2.1 พันล้านดอลลาร์ (จากเดิมมีมูลค่า 1.9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2560)

                 

ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยที่ส่งไปจีนที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นการได้ประโยชน์โดยอ้อม ขณะเดียวกันสินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตจีนก็ลดลงค่อนข้างมาก เรียกได้ว่าการส่งออกไปจีนเสียประโยชน์เป็นส่วนใหญ่ โดยสินค้าไทยที่ได้ประโยชน์เป็นกลุ่มเดียวกับสินค้าที่จีนเก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯ แต่เป็นสินค้าที่สหรัฐฯ ไม่ได้ส่งออกมาอยู่แล้ว ประกอบกับผู้บริโภคหันมาบริโภคสินค้าผลไม้เมืองร้อนของไทยแทนผลไม้ของสหรัฐฯ เช่น ทุเรียน ลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง ส้ม

                 

ในอีกด้านหนึ่ง สินค้าไทยเสียประโยชน์จากการถูกสินค้าจีนเข้ามาช่วงชิงตลาดอย่างชัดเจนในประเทศ CLMV โดยเฉพาะสินค้าจีนในกลุ่มเหล็ก อะลูมิเนียม เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลายชนิด แม้ว่าในด้านมูลค่าการส่งออกของไทยยังเพิ่มขึ้น แต่ส่วนแบ่งตลาดกลับลดลงชัดเจน

      

จะเห็นได้ว่าส่วนแบ่งตลาดการนำเข้าของ CLMV ในกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามีสินค้าจีนเข้าทำตลาดมีสัดส่วนเพิ่ม 40.4% ของการนำเข้าทั้งหมดของ CLMV จากเดิม 32.6% ในปี 2560 แต่สินค้าของไทยมีสัดส่วนลดลงเหลือ 4.5% จากเดิม 5.3% ในปี 2560 และส่วนแบ่งตลาดสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าจากจีนเพิ่มเป็น 44.8% (จาก 41.8% ในปี 2560) ของไทยลดลงเหลือ 3.0% (จาก 3.6% ในปี 2560)

                 

อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่สงครามการค้าของสหรัฐฯ และจีนปะทุขึ้น ในด้านหนึ่งก็ไม่ได้ทำให้สหรัฐฯ ลดการขาดดุลการค้ากับจีนได้ตามที่ต้องการ เมื่อมองย้อนมาที่ไทย แม้ในด้านมูลค่าการส่งออกของไทยยังได้อานิสงส์จากเรื่องนี้บางส่วน แต่สินค้าไทยในห่วงโซ่การผลิตจีนก็ยากจะเลี่ยงผลกระทบ และไทยก็สูญเสียตลาดในประเทศเพื่อนบ้านไปบางส่วนด้วยเช่นกัน

               

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในปี 2563 นี้ ผลพวงที่มาจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้นจะเริ่มเบาบางลงนับตั้งแต่เกิดความตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในเฟส 1 แต่หากสหรัฐฯ ยังคงใช้ฮ่องกงมาเป็นประเด็นใหม่เพื่อเปิดเกมเดินหน้ากดดันทำสงครามการค้ากับจีนต่อไปคงยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการส่งออกของไทยมากขึ้นอีก จากปัจจุบันที่การส่งออกของไทยก็ได้รับผลกระทบหลักๆ มาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีความเสี่ยงจะเกิดการแพร่ระบาดระลอกสองในช่วงฤดูหนาว ยิ่งกดดันการค้าโลกมากขึ้น

              

ด้วยสาเหตุเหล่านี้ คาดว่าการส่งออกของไทยปี 2563 ไปตลาดสหรัฐฯ หดตัว (-) 2.7% มีมูลค่าการส่งออกราว 3.05 หมื่นล้านดอลลาร์ (กรอบประมาณการที่หดตัว (-) 4.9% ถึงขยายตัว 1.0% ที่มูลค่าการส่งออก 2.98-3.16 หมื่นล้านดอลลาร์) และการส่งออกไปจีนน่าจะฟื้นตัวได้ก่อนตลาดอื่นๆ แต่กำลังการผลิตยังไม่กลับมาเต็มที่ จึงขยายตัวอย่างจำกัดที่ 3.2% มีมูลค่าการส่งออก 3.01 หมื่นล้านดอลลาร์ (กรอบประมาณการที่ขยายตัว 2.0-4.2% มีมูลค่าการส่งออก 2.97-3.04 หมื่นล้านดอลลาร์)

               

โดยสรุป ในระยะปานกลางคงต้องจับตาความเสี่ยงของสงครามการค้าที่พร้อมจะเปลี่ยนภาพได้ตลอดเวลา เพราะสหรัฐฯ ใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อกรเศรษฐกิจกับจีนเพื่อช่วงชิงการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจโลกในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี หรือแม้แต่การช่วงชิงความโดดเด่นในด้านภูมิรัฐศาสตร์ ก็กลายเป็นเรื่องที่ถูกสหรัฐฯ หยิบมาใช้โจมตีจีนอยู่บ่อยครั้ง

      

อย่างกรณีฮ่องกงก็เป็นประจักษ์พยานที่สหรัฐฯ พยายามจะนำเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับสงครามการค้ามาผูกโยงให้การแก้ปมสงครามการค้ายุ่งยากเข้าไปอีก ยิ่งทำให้ความตกลงทางการค้าเฟส 1 ที่แทบจะไม่คืบหน้าจากผลพวงของเศรษฐกิจทั่วโลกที่อ่อนไหวในขณะนี้ ดังนั้นการเดินหน้าไปสู่ความตกลงในเฟส 2 คงไม่เกิดขึ้น และสงครามการค้าครั้งนี้คงจะยืดเยื้อต่อไป

                  

สำหรับในระยะต่อไปคงต้องติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ แม้ว่าผลที่ออกมาจะทำให้ผู้นำสหรัฐฯ เปลี่ยน แต่คงไม่เปลี่ยนท่าทีของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนได้อย่างมีนัยสำคัญ เพราะต้องยอมรับว่าในเวลานี้จีนคือคู่แข่งที่สำคัญของสหรัฐฯ ที่พร้อมจะก้าวแซงสหรัฐฯ ได้ตลอดเวลา อีกทั้งปมความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์มีความเสี่ยงทำให้เกิดการแตกแยกทางเศรษฐกิจของสองขั้วอำนาจ

        

ขณะที่ไทยเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจและการลงทุนของทั้งสหรัฐฯ และจีน ทั้งยังเป็นหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตของภูมิภาค ก็คงต้องเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่เพียงด้านการค้าระหว่างประเทศเท่านั้น แต่อาจส่งผลให้เกิดการปรับฐานการผลิตและการลงทุนครั้งสำคัญของภูมิภาคที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

เรียบเรียง: ชุติมา มุสิกะเจริญ 

ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com  

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising