สถานการณ์ความตึงเครียดในแคว้นชัมมูและแคชเมียร์ (Jammu & Kashmir: J&K) ในเขตยึดครองของอินเดียกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง หลังจากอินเดียประกาศยกเลิกสถานภาพพิเศษ (Special Status) และสิทธิ์ในการปกครองตนเองของรัฐชัมมูและแคชเมียร์ในวันที่ 5 สิงหาคม โดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งประธานาธิบดีราม นาถ โกวินท์ คำสั่งนี้นำไปสู่การยกเลิกกฎหมายมาตรา 370 ของรัฐธรรมนูญอินเดีย ซึ่งว่าด้วยการปกครองตนเองของ J&K ที่มีมาตั้งแต่ปี 1950
หลังจากการประกาศคำสั่งประธานาธิบดีต่อมา อมิต ชาห์ รัฐมนตรีมหาดไทยอินเดีย ได้ผ่านกฎหมายการปรับโครงสร้างเขตปกครองของแคว้นชัมมูและแคชเมียร์ (Jammu and Kashmir Reorganization Bill) โดยแบ่งแคชเมียร์ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. เขตชัมมูและแคชเมียร์ ซึ่งจะกลายเป็นดินแดนสหภาพ (Union Territory) มีสมาชิกสภาท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง 2. เขตลาดักห์ (Ladakh) ซึ่งจะแยกไปเป็นดินแดนสหภาพเช่นกัน ไม่มีสภาบริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของตัวเอง แต่จะมาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลกลาง อย่างไรก็ตาม ‘ดินแดนสหภาพ’ ทั้งหมดจะขึ้นตรงและอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกลาง
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ปากีสถานไม่พอใจอย่างมาก ชาห์ มะห์มุด กุเรชี่ รัฐมนตรีต่างประเทศของปากีสถาน ประณามว่า ‘เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ’ …และในฐานะที่ปากีสถานยังมีข้อพิพาทกับอินเดียในประเด็นแคชเมียร์ ปากีสถานจะใช้ทุกช่องทางเพื่อตอบโต้มาตรการที่ไม่ชอบธรรมนี้… จะเพิ่มความพยายามทางการทูตเพื่อสกัดกั้นไม่ให้คำสั่งมีผลบังคับใช้
สถานการณ์ในแคว้นชัมมูและแคชเมียร์ส่อเค้ารุนแรงและอาจนำไปสู่วิกฤตที่รุนแรงเหมือนหรือยิ่งกว่าในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึงต้นทศวรรษ 1990 ที่อินเดียเสริมทหารเข้าไปจำนวนมากหลังจากที่มีการประท้วงใหญ่ในแคชเมียร์ ชาวแคชเมียร์นัดกันหยุดงานครั้งใหญ่ โดยในช่วงนี้ก็เกิดกลุ่มติดอาวุธเพื่อปลดปล่อยแคชเมียร์ขึ้นมามากมาย สืบเนื่องมาจากการที่ประชาชนแคชเมียร์มองว่าอินเดียไม่มีวันยอมที่จะให้ตัวแทนที่แท้จริงของชาวแคชเมียร์มีอำนาจด้วยวิถีภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เป็นเพราะความไม่พอใจและความสิ้นหวังในผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 1987 ซึ่งสื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ในช่วงนั้นอินเดียประกาศเคอร์ฟิว (Curfew) และใช้กำลังตอบโต้อย่างรุนแรงพร้อมกับประกาศปกครอง J&K โดยตรง
การเสริมกำลังทหารจำนวนมากเข้าไปในพื้นที่ในช่วงนั้น ทำให้รัฐ J&K เต็มไปด้วยกองกำลังทหารอินเดีย ต่อมามีรายงานปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแพร่หลายของทหารอินเดียและกลุ่มกองกำลังฝ่ายต่อต้านในปี 1990 กลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างพากันรายงานว่ามีทั้งการฆ่านอกอำนาจศาล การทรมาน การลอบวางเพลิง การจับกุมโดยพลการ และการคุมขังโดยปราศจากการไต่สวน ตลอดจนการยิงกลุ่มผู้เดินขบวนประท้วงที่ปราศจากอาวุธและการสังหารหมู่พลเรือน
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้ทั้งชาวฮินดูและมุสลิมในพื้นที่ได้รับผลกระทบ โดยชาวฮินดูกว่า 1.5 แสนคนได้อพยพออกไปตั้งค่ายลี้ภัยที่ชัมมูด้วยความช่วยเหลือของรัฐบาลอินเดีย ซึ่งการอพยพดังกล่าวรัฐบาลอินเดียอ้างว่ามาจากการที่ถูกคุกคามจากกลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้านที่ต้องการกำจัดชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยในแคชเมียร์ ในอีกด้านหนึ่ง มีมุสลิมมากกว่า 5 หมื่นคนอพยพออกจากแคชเมียร์เพื่อหนีความรุนแรงและปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยกองกำลังรักษาความมั่นคงของอินเดีย หลายคนพยายามหนีเข้าไปยังอาซาดแคชเมียร์ (Azad Kashmir หรือดินแดนแคชเมียร์อิสระในฝั่งปากีสถาน) หรือไม่ก็ย้ายไปอยู่ตามรัฐอื่นๆ ของอินเดีย
สถานการณ์ของแคชเมียร์ในปัจจุบันมีความสุ่มเสี่ยงอย่างใหญ่หลวงที่จะซ้ำรอยอดีตและอาจถึงเข้าสู่วิกฤตที่เลวร้ายกว่า เพราะครั้งนี้อินเดียได้ดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางอย่างถาวร เป็นการดับฝันของชาวแคชเมียร์และท้าทายปากีสถานอย่างที่สุด ซึ่งหากย้อนดูประวัติศาสตร์แคชเมียร์ตั้งแต่ยุคอาณานิคมถึงยุคหลังการแบ่งแยกอินเดีย-ปากีสถาน ก็จะพบว่าชาวแคชเมียร์จะลุกฮือขึ้นต่อสู้กับชนชั้นปกครองมาแล้วหลายครั้งเมื่อถึงจุดแตกหัก
ประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนที่อินเดียประกาศยกเลิกมาตรา 370 อินเดียได้ประกาศยกเลิกไม่ให้มีการเดินทางไปประกอบพิธีแสวงบุญของชาวฮินดูในแคชเมียร์ที่มีขึ้นทุกปี (Amarnath Yatra) แล้วเสริมทหารเข้าไปในพื้นที่ 38,000 นาย โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงและการต่อต้านการก่อการร้าย จากนั้นก็มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน J&K ต่อมาเมื่อประกาศยกเลิกมาตรา 370 อินเดียได้ส่งทหารเพิ่มเข้าไปอีก 8,000 นาย โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตในพื้นที่แคชเมียร์ถูกตัดสัญญาณ แกนนำทางการเมืองถูกกักบริเวณ รวมไปถึงสมาชิกพรรคการเมืองที่เป็นพันธมิตรกับพรรคภารติยะ ชนะตะ (Bharatiya Janata Party: BJP) ของ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียแนวชาตินิยมอิงศาสนา ซึ่งชูประเด็นยกเลิกมาตรา 370 เป็นหนึ่งในวาระหาเสียงมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
เหตุใดการยกเลิกสถานภาพพิเศษปกครองตนเองจึงอ่อนไหวและสำคัญต่อมุสลิมแคชเมียร์และปากีสถาน
ปัญหาแคชเมียร์มีความเป็นมาที่ยาวนาน (สามารถอ่านรายละเอียดจากบทความที่แล้วได้ตามนี้ https://thestandard.co/india-pakistan-crisis/) เป็นชนวนให้เกิดสงครามครั้งแรกระหว่างอินเดียกับปากีสถานในปี 1948 หรือหลังจากทั้งสองประเทศได้รับเอกราชไม่นาน สาเหตุเพราะปากีสถานไม่พอใจที่อินเดียได้ผนวกแคชเมียร์เข้ากับอินเดีย ทั้งที่ชาวแคชเมียร์ส่วนใหญ่ที่เป็นมุสลิมไม่ต้องการเข้ารวมกับอินเดีย ปากีสถานมองว่าขัดกับหลักการของการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง (Self Determination ตามแผนการแบ่งแยกอินเดียและปากีสถาน หรือ Partition Plan) ที่ให้รัฐอิสระทั้งหลายเลือกว่าจะอยู่กับอินเดียหรือปากีสถาน โดยพิจารณาบนพื้นฐานความเชื่อมโยงด้านชาติพันธุ์และความต้องการของคนส่วนมาก และความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์
สงครามและความขัดแย้งอินเดียปากีสถานถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของสหประชาชาติในวันที่ 20 มกราคม 1948 เพื่อศึกษาและหาแนวทางการแก้ไข ในวันที่ 21 เมษายน 1948 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ได้ผ่านมติที่ 47 เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับการแก้ไขปัญหาด้วยวิถีแห่งประชาธิปไตยหรือการลงประชามติอย่างอิสระและเป็นกลางให้ชาวแคชเมียร์เลือกว่าจะอยู่ฝ่ายไหน ซึ่งทั้งอินเดียและปากีสถานก็ยอมรับมติดังกล่าว นอกจากนี้ในมติที่ 47 ยังได้เรียกร้องให้อินเดียและปากีสถานถอนกำลังออกจากชัมมูและแคชเมียร์
ต่อมาในวันที่ 13 สิงหาคม 1948 UNSC ได้ผ่านมติใหม่เพิ่มเติม ดังนี้ 1. ให้มีการหยุดยิงระหว่างอินเดียกับปากีสถาน 2. ให้ถอนทหารปากีสถานออกจากดินแดนพิพาท 3. ให้ถอนทหารอินเดียออกจากพื้นที่ ยกเว้นกำลังส่วนน้อยที่สุดต่อความจำเป็นในการผดุงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อย มติยังระบุถึงอนาคตของแคชเมียร์ว่าจะถูกตัดสินตามความต้องการของประชาชน” รัฐบาลอินเดียและปากีสถานต่างยินยอมและตกลงตามมติดังกล่าว ซึ่งทำให้ข้อตกลงหยุดยิงมีผลในตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 1949 สงครามครั้งแรกระหว่าง 2 ประเทศนี้จึงยุติลง และสหประชาชาติได้มีมติจัดตั้งกลุ่มทหารสังเกตการณ์แห่งสหประชาชาติสำหรับอินเดียและปากีสถาน (United Nations Military Observer Group for India and Pakistan: UNMOGIP) เพื่อเฝ้าตรวจตราบริเวณแนวเส้นหยุดยิง (Cease-fire Line) ซึ่งต่อมาเป็นที่ยอมรับและเรียกกันว่า ‘แนวเส้นควบคุม’ (Line of Control: LOC) โดยกลายเป็นเส้นพรมแดนของทั้งสองฝ่ายไปโดยพฤตินัย
แต่อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการจัดทำประชามติใน J&K ตามมติสหประชาชาติ โดยอินเดียอธิบายว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆ อีกต่อไปที่จะต้องทำประชามติ เพราะชาวแคชเมียร์ได้ยอมรับความเป็นพลเมืองอินเดียแล้วผ่านกระบวนการเลือกตั้งท้องถิ่นและระดับรัฐก็มีตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของตัวเอง ยอมรับในมาตรา 370 ที่ให้สถานภาพพิเศษและสิทธิในการปกครองตนเอง (ซึ่งจะได้อธิบายต่อไป)
ดังนั้น การยกเลิกสถานภาพพิเศษของ J&K จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะนอกจากจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายใต้สถานะใหม่ที่ถูกทำให้เล็กลง และถูกยึดอำนาจเข้าส่วนกลางแล้ว ยังมีความกังวลกันว่าจะก่อให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในแคชเมียร์ รวมทั้งการเกิดนักรบหรือนักสู้คลื่นลูกใหม่ อันเนื่องมาจากความสิ้นหวัง ความผิดหวัง และแรงโกรธแค้นสะสมตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของการแบ่งแยกที่ไม่ได้ตัดสินใจกำหนดชะตาชีวิตตนเองเหมือนรัฐอิสระอื่นๆ และไม่ได้มีการจัดทำประชามติตามมติคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ที่สำคัญคือการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อให้ได้รับสิทธิในการปกครองตนเองและอิสรภาพกำลังห่างไกลความสำเร็จไปเรื่อยๆ จากการปรับโครงสร้างของแคว้นชัมมูและแคชเมียร์ดังกล่าว
ปากีสถานซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับอินเดียมีข้อพิพาทกรณีแคชเมียร์เป็นแกนกลางของปัญหาที่ผ่านมาทุกรัฐบาลก็แสดงจุดยืนสนับสนุนอิสรภาพของแคชเมียร์มาตลอด เมื่ออินเดียพยายามเปลี่ยนสถานะเดิมของแคว้นนี้ รัฐบาลอิสลามาบัดและนายกรัฐมนตรีอิมรอน ข่าน จึงเผชิญแรงกดดันทั้งจากในประเทศและโลกมุสลิมว่าจะตอบโต้หรือให้ความช่วยเหลือชาวแคชเมียร์อย่างไร อิมรอน ข่าน เองตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งก็พยายามทำให้วาระการแก้ปัญหาแคชเมียร์เป็นวาระสำคัญของรัฐบาลด้วย ปากีสถานจึงพยายามผลักดันเรื่องนี้ทั้งในทางตรง โดยพยายามหาช่องทางเจรจากับอินเดีย และในทางอ้อมผ่านเวที OIC รวมทั้งประเทศสำคัญๆ อย่าง สหรัฐอเมริกา และตุรกี
เข้าใจสภาพพื้นที่ ประชากร และเขตปกครองแคชเมียร์ในอินเดีย
สงครามครั้งแรกระหว่างอินเดียและปากีสถาน นอกจากจะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคนแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการฉีกแคชเมียร์ออกเป็นสองส่วน ซึ่งทำให้สายสัมพันธ์และการไปมาหาสู่กันในหมู่เครือญาติของชาวแคชเมียร์จำนวนมากถูกตัดขาดโดยสิ้นเชิงจากการกำหนดเส้นแนวควบคุมดังกล่าว ผลคือ J&K ทางใต้ และลาดักห์ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเป็นเขตปกครองของอินเดีย เรียกว่าแคชเมียร์ฝั่งอินเดีย ส่วนแคชเมียร์ทางตะวันตกแถบบริเวณเทือกเขากิลกิต (Gilgit) และส่วนหนึ่งของบัลติสถานเป็นเขตของปากีสถาน เรียกว่า Azad Kashmir
J&K เป็นรัฐเดียวในอินเดียที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ในอดีตแคชเมียร์เคยมีอาณาจักรของตัวเอง และไม่ได้รวมอยู่กับเมืองชัมมูที่อยู่ทางใต้ด้วย แต่มาถูกผนวกรวมกันหลังจากที่อังกฤษสามารถพิชิตดินแดนแคชเมียร์ที่อยู่ภายใต้อาณาจักรของผู้ปกครองชาวซิกข์ได้ในปี 1845 จากชัยชนะครั้งนั้น อังกฤษมีความพอใจต่อท่าทีที่เป็นกลางของอัครมหาบดีจากตระกูลโดกราแห่งที่ราบชัมมู ราชา กุลาบ สิงห์ เพราะทำให้อังกฤษได้เปรียบในการทำศึกครั้งนั้น ทั้งที่ กุลาบ สิงห์ เป็นคนที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการรับใช้อาณาจักรซิกข์ ช่วยขยายอาณาเขตของแคชเมียร์ไปจนถึงลาดักห์ติดชายแดนจีน
เมื่ออังกฤษพิชิตแคชเมียร์ได้ กุลาบจึงได้รับการตอบแทนจากอังกฤษเป็นอย่างดีด้วยการทำสนธิสัญญาอัมริตสาร์ (Treaty of Amritsar) ในเดือนมีนาคม 1846 ภายใต้สนธิสัญญาฉบับนี้ กุลาบต้องจ่ายเงินให้กับอังกฤษ 10 ล้านรูปี เพื่อเป็นค่าชดเชยและปฏิกรรมสำหรับในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่อังกฤษเข้าครอบครองแคชเมียร์ ในจำนวน 10 ล้านรูปีนี้ 2.5 ล้านรูปี ถูกละเว้นในเวลาต่อมา เนื่องจากอังกฤษได้ยึดเอาดินแดนบางส่วนบริเวณแม่น้ำบีอาส (Beas) แทน จึงสรุปได้ว่าแคชเมียร์ถูกขายโดยเจ้าอาณานิคมอังกฤษให้กับ กุลาบ สิงห์ เพียง 7.5 ล้านรูปี (ขณะนั้นค่าเงิน 51 รูปี เท่ากับ 1 ดอลลาร์ 7.5 ล้านรูปีจึงเท่ากับประมาณ 1.5 แสนดอลลาร์) ด้วยเหตุนี้ดินแดนแคชเมียร์จึงถูกผนวกเข้ากับชัมมูภายใต้การปกครองของ กุลาบ สิงห์ ซึ่งในเวลาต่อมามีสถานภาพเป็นมหาราชาแห่งแคว้น J&K การผนวกรวมของทั้งสองดินแดน แม้จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร แต่ชาวมุสลิมก็ยังคงเป็นประชากรส่วนใหญ่
มาถึงปัจจุบัน หากดูในภาพรวมแล้ว แคชเมียร์มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 222,236 ตารางกิโลเมตร ในจำนวนนี้พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การปกครองของอินเดีย หรือ 101,437 ตารางกิโลเมตร อยู่ในเขตยึดครองของปากีสถานประมาณ 78,114 ตารางกิโลเมตร และเป็นของจีนอีก 42,685 ตารางกิโลเมตร (ในจำนวนนี้ 5,130 ตารางกิโลเมตร ได้มาจากการยินยอมมอบให้ของปากีสถานภายใต้สนธิสัญญาเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างจีนกับปากีสถานในปี 1963)
แคว้นชัมมูและแคชเมียร์ในฝั่งอินเดียมีประชากรทั้งหมดประมาณ 12 ล้านคน ภาษาหลักในท้องถิ่นที่พูดกันมีภาษาอุรดู (Urdu), แคชเมียรี (Kashmiri), ฮินดิ (Hindi), โดกรี (Dogri), ปาการี (Pakari) และลาดักชี (Ladakhi)
แบ่งออกเป็น 3 เขตปกครอง ได้แก่
1. แคชเมียร์: ดินแดนเหนือสุดของอินเดีย ล้อมรอบด้วยภูเขา ตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขา Pir Panjal และ Panjri ประกอบไปด้วย 6 เมือง ได้แก่ Anantnag, Baramulla, Budgam, Kupwara, Pulwama และ Srinagar มีประชากรประมาณ 6.88 ล้านคน โดยร้อยละ 96 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 2.45 นับถือศาสนาฮินดู
2. ชัมมู: พื้นที่ราบที่อยู่บริเวณต่ำลงมาทางทิศตะวันตกของเทือกเขา Pir Panjal ซึ่งกั้นระหว่างหุบเขาแคชเมียร์กับที่ราบชัมมู ประกอบไปด้วย 6 เมือง ได้แก่ Kathua, Jammu, Udhampur, Doda, Rajouri และ Poonch มีประชากรประมาณ 5.37 ล้านคน ร้อยละ 62.55 นับถือศาสนาฮินดู, ร้อยละ 33.45 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 4 นับถือศาสนาอื่นๆ
3. ลาดักห์ (Ladakh): ชายแดนสุดด้านตะวันออกของรัฐชัมมูและแคชเมียร์ อยู่ติดกับทิเบต ประกอบด้วย 2 เมือง ได้แก่ Leh และ Kargil มีประชากร 2.7 แสนคน ร้อยละ 50 นับถือศาสนาพุทธ, ร้อยละ 46 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 3.1 นับถือศาสนาอื่นๆ (บางแหล่งระบุในลาดักห์คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม)
อินเดียเป็นประเทศสหพันธรัฐที่แบ่งเขตปกครองออกเป็น 29 รัฐ (J&K คือหนึ่งในนั้น) กับอีก 7 ดินแดนสหภาพ (Union Territory) ที่ขึ้นตรงต่ออินเดีย J&K ได้รับสถานภาพพิเศษตามรัฐธรรมนูญมาตรา 370 ในการปกครองตนเองดังที่กล่าวมา แต่เมื่ออินเดียยกเลิกสถานพิเศษนี้ไป พร้อมกับปรับให้ J&K เป็นดินแดนสหภาพ ส่วนลาดักห์ก็เป็นดินแดนสหภาพที่แยกจากกัน ดังนั้น เขตปกครองอินเดียแบบใหม่จะประกอบด้วย 28 รัฐ 9 ดินแดนสหภาพ
ข้อกังวลและความไม่พอใจหนึ่งของชาวแคชเมียร์คือ การยกเลิกสถานพิเศษตามมาตรา 370 นั้น นอกจากจะทำให้แคชเมียร์เสียอิสระภาพในการปกครองตนเองแล้ว ยังอาจนำไปสู่ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในพื้นที่ จากการยกเลิกกฎหมายห้ามคนอินเดียจากภายนอกครอบครองอสังหาริมทรัพย์และการเข้าไปตั้งรกรากถาวร ซึ่งจะทำให้สัดส่วนประชากรมุสลิมชาวแคชเมียร์เล็กลงเรื่อยๆ
มาตรา 370 ข้อกำหนด 35A ที่มาและความสำคัญ
การคุ้มครองและสงวนสิทธิพิเศษสำหรับชาวแคชเมียร์เหนือดินแดนของพวกเขานั้น เริ่มมีมานานแล้วตั้งแต่ยุคที่อยู่ใต้การปกครองของตระกูลโดกราในยุคของมหาราชา ฮาริ สิงห์ ทั้งนี้เพราะในยุคนั้นแคชเมียร์ตกอยู่ในภาวะการถูกกดขี่ต่างๆ นานา จนประชาชนลุกขึ้นประท้วงหลายครั้งในปี 1924
คนงานมุสลิมส่วนใหญ่ที่ทำงานในโรงงานทอผ้าไหมของรัฐได้เรียกร้องให้รัฐเพิ่มค่าตอบแทนให้มากขึ้น พร้อมการโยกย้ายผู้คุมงานชาวฮินดูซึ่งพวกเขากล่าวหาว่า ‘รับสินบน’ ต่อมาถึงแม้คนงานเหล่านี้จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่บรรดาหัวหน้าหรือแกนนำที่นำการเรียกร้องก็ถูกจับ ซึ่งทำให้มีการประท้วงหยุดงานตามมา มีการใช้ความรุนแรงโดยกำลังทหารเข้าจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วง แกนนำกลุ่มผู้ประท้วงจึงยื่นคำร้องไปยังอุปราช ลอร์ด รีดดิง ซึ่งมีความว่า ‘กองทัพทหารที่ถูกส่งมา (เพื่อจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วง) ได้กระทำการอย่างป่าเถื่อนทารุณอย่างที่สุดต่อคนยากจนที่ไร้ทางสู้และกลุ่มแรงงานปลอดอาวุธที่รักสันติ ผู้ซึ่งถูกทำร้ายด้วยหอก อาวุธปลายเหล็ก และอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ในการสงคราม’
ในหนังสือร้องเรียนอ้างถึงความไม่พอใจและการร้องทุกข์ในเรื่องอื่นๆ อีก ใจความบางตอนปรากฏดังต่อไปนี้ ‘มุซัลมาน (Musulmans: หมายถึงมุสลิม) ในแคชเมียร์ทุกวันนี้กำลังตกอยู่ในภาวะทุกข์ระทม ทั้งที่พวกเขามีจำนวนคิดเป็นร้อยละ 96 ของประชากรทั้งหมด แต่ในจำนวนดังกล่าวมีผู้รู้หนังสือเพียงร้อยละ 0.8 เท่านั้น… ทุกวันนี้พวกเราต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมากต่อการที่รัฐเมินเฉยไม่แยแสต่อปัญหาและการร้องทุกข์ของพวกเรา และความไม่เป็นกลางต่อสิทธิของพวกเรา ความอดทนนั้นมีขีดจำกัดและมีจุดสิ้นสุดของมัน… ชาวฮินดูในรัฐ (แคชเมียร์) ที่มีอยู่เพียงร้อยละ 4 ของจำนวนประชากรทั้งหมด กลับได้เป็นหัวหน้าอยู่ในทุกๆ กระทรวง’
ภายใต้แรงกดดันและความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นในปี 1927 มหาราชา ฮาริ สิงห์ ได้บัญญัติกฎหมายใหม่เพื่อเป็นการส่งเสริมการทำงานของคนท้องถิ่น โดยมีสาระสำคัญคือการห้ามคนภายนอกทำงานภาครัฐและห้ามบุคคลภายนอกซื้อที่ดินในแคชเมียร์ กระนั้นก็ตาม ชาวแคชเมียร์ก็ยังไม่ค่อยพอใจเนื่องจากตำแหน่งสำคัญๆ ในแคชเมียร์กลับตกเป็นของคนที่มาจากชัมมู โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากชนชั้นปกครองของตระกูลโดกรา
ต่อมาในปี 1950 ยุคหลังการแบ่งแยกอินเดียกับปากีสถานซึ่งตามมาด้วยสงครามแย่งชิงดินแดนแคชเมียร์ และในระหว่างที่ชาวแคชเมียร์กำลังรอคอยว่าจะมีการจัดทำประชาชมติตามที่สหประชาชาติดังที่กล่าวไว้แล้ว รัฐบาลอินเดียได้บัญญัติ ‘สถานภาพพิเศษ’ (Special Status) ของแคว้นแคชเมียร์ไว้ในรัฐธรรมนูญอินเดีย มาตรา 370 โดยสาระสำคัญคือรัฐบาลอินเดียให้สัญญาว่า (มาตรา 370 มาจากเงื่อนไขที่ระบุอยู่ในข้อตกลงเข้าร่วมกับอินเดียที่ลงนามโดย ฮาริ สิงห์ ในวันที่ 26 ตุลาคม 1947 ภายใต้เงื่อนไขคงอำนาจทุกด้าน ยกเว้น กลาโหม การคลัง และการต่างประเทศ)
- แคชเมียร์จะเป็นเขตที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากรัฐอื่นๆ ภายใต้ระบบสหพันธรัฐของอินเดียและจะได้รับการรับรองสิทธิ์ในการปกครองตนเอง
- รับรองตำแหน่งงานท้องถิ่นของภาครัฐ แคชเมียร์สามารถใช้ธงสัญลักษณ์เดิม จัดเก็บภาษีเอง และรับประกันสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ที่สำคัญคือห้ามการครอบครองที่ดินและการอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานสำหรับคนนอก
- รัฐบาล J&K จะถูกยุบโดยรัฐบาลกลาง (อินเดีย) ก็ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติจากสภาแห่งรัฐเท่านั้น
ชาวแคชเมียร์ทั่วไปไม่ได้ยอมรับมาตรา 307 มากนัก เพราะยังหวังที่จะได้ลงประชามติกำหนดอนาคตตัวเอง แต่ต่อมาในปี 1951 อินเดียได้จัดการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งรัฐชัมมูและแคชเมียร์ขึ้นเป็นครั้งแรก (J&K Constituent Assembly) จากการเลือกตั้งในครั้งนี้ ซึ่งถูกคว่ำบาตรจากพรรคการเมืองอื่นๆ ทำให้พรรคเนชั่นแนล คอนเฟอเรนส์ (National Conference ชื่อเดิมคือพรรค Muslim Conference) ของ เชค มุฮัมมัด อับดุลลอฮ์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกแห่งรัฐชัมมูและแคชเมียร์ ชนะการเลือกตั้งและกวาดที่นั่งทั้งหมด 75 ที่นั่งในสภาโดยที่ไม่มีคู่แข่งขัน ทำให้มีอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญอินเดีย
ภายหลังการตั้งสภาแห่งรัฐก็ได้มีการลงนามร่วมกันในข้อตกลงเดลี (Delhi Agreement) ในวันที่ 24 กรกฎาคม 1952 ระหว่างนายกรัฐมนตรีอินเดีย ยวาหะร์ลาล เนห์รู กับ เชค อับดุลลอฮ์ โดยมีสาระสำคัญที่ยอมรับร่วมกันดังนี้ ประชาชนของรัฐ J&K จะถือเป็นพลเมืองอินเดีย สภาแห่งรัฐฯ มีอำนาจพิเศษเป็นของตนเอง ห้ามพลเมืองอินเดียที่ไม่ใช่ชาวแคชเมียร์ครอบครองที่ดินในแคชเมียร์ แคชเมียร์จะใช้ธงสัญลักษณ์เป็นของตนเอง ศาลฎีกาอินเดียมีขอบเขตอำนาจครอบคลุมรัฐ J&K อำนาจฉุกเฉินของประธานาธิบดีอินเดียตามรัฐธรรมนูญอินเดียจะใช้ได้กับ J&K ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบและการอนุมัติจากรัฐบาลท้องถิ่นก่อนเท่านั้น
รัฐบาลอินเดียยังคงไม่ไว้ใจ เชค อับดุลลอฮ์ โดยเฉพาะกลัวว่าจะกลับมาฟื้นแนวคิดสนับสนุนการเรียกร้องอิสรภาพให้กับแคชเมียร์อีกครั้ง ในวันที่ 8 สิงหาคม 1953 อับดุลลอฮ์ ถูกปลดออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งรัฐ และถูกคุมขังในเวลาต่อมา ด้วยข้อกล่าวหาว่ากระทำการซึ่งเป็นการต่อต้านและขัดต่อผลประโยชน์ของอินเดีย ดำเนินกิจกรรมที่ต่อต้านอินเดีย ตลอดจนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการบริหารงานของเขาตั้งแต่ปี 1948 ว่าเป็นเผด็จการและมีการคอร์รัปชัน ทั้งนี้การที่เขาถูกปลดนั้นอาจมาจากหลายสาเหตุ ดังนี้
1. ฟื้นแนวคิดเรียกร้องอิสรภาพ เพราะอินเดียตระหนักดีว่าเขาเป็นผู้นำที่ได้รับความนิยมสูงในแคชเมียร์ และอาจนำไปสู่การปลุกกระแสเรียกร้องอิสรภาพในแคชเมียร์มากขึ้นและจะก่อให้เกิดปัญหาตามมา
2. การเพิ่มระดับความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และปากีสถาน ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามเย็น ทั้งนี้อินเดียเกรงว่าสหรัฐฯ จะให้การสนับสนุนปากีสถานมากขึ้นในประเด็นแคชเมียร์ ซึ่งอาจทำให้กระบวนการสร้างความชอบธรรมในการรวมแคชเมียร์เข้ากับอินเดียติดขัดและล่าช้า รัฐบาลอินเดียจึงต้องปลด เชค อับดุลลอฮ์ เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม หรือตัดปัญหาภายในก่อน เพราะอินเดียพบว่า อับดุลลอฮ์มีการติดต่อประสานงานกับบุคคลสำคัญภายนอก ไม่ว่าจะเป็น ฆูลาม อับบาส ในอินเดีย และ เชค มุฮัมหมัด อิบรอฮีม ในแคชเมียร์ในเขตยึดครองของปากีสถาน คนเหล่านี้คืออดีตสมาชิกพรรคมุสลิม คอนเฟอเรนส์ ที่มีบทบาทสำคัญและมีแนวคิดปลดปล่อยแคชเมียร์
3. การที่ชาวฮินดูชาตินิยม ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ เริ่มต่อต้านสถานภาพพิเศษของแคชเมียร์ภายใต้มาตรา 370 แห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย และการเรียกร้องให้รวมแคชเมียร์เข้ากับอินเดีย
ต่อมาในปี 1954 อินเดียใด้เพิ่มเติมข้อกำหนด 35A ภายใต้มาตรา 370 โดยอาศัยคำสั่งประธานาธิบดี และความเห็นชอบของสภาแห่งรัฐ J&K เป็นการนำข้อตกลงเดลี ปี 1952 มาบัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีข้อที่เพิมเติมจากข้อตกลงก่อนหน้านี้ โดยสรุปคือ
- การให้สิทธิพิเศษแก่บุคคลที่มีถิ่นอาศัยถาวรใน J&K เท่านั้น กล่าวคือ สิทธิ์การทำงานราชการท้องถิ่น สิทธิ์การครอบครองอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้หญิงพื้นเมืองหมดสิทธิ์ในการถือครองอสังหาริมทรัพย์ด้วยหากแต่งงานกับชายนอกรัฐ
- รัฐ J&K จะได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญอินเดีย สภานิติบัญญัติของรัฐสามารถออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้ในการจับกุมคุมขังได้เองเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง สามารถออกกฎหมายปฏิรูปที่ดินหรือสามารถเวนคืนที่ดินได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
- ศาลสูงสุดของอินเดียมีขอบเขตอำนาจครอบคลุมรัฐ J&K
- รัฐบาลกลางสามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ แต่ต้องได้รับการยินยอมเห็นพ้องจากรัฐบาลแห่งรัฐ J&K เท่านั้น
- ด้านความสัมพันธ์ทางการเงินการคลังระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นให้ใช้ระเบียบเดียวกับรัฐอื่น
- การตัดสินใจใดๆ ของรัฐบาลกลางที่จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสถานะของรัฐ J&K จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากรัฐบาลแห่งรัฐ J&K เท่านั้น
ในปี 1953 หลังจาก เชค อับดุลลอฮ์ ถูกปลดพ้นจากตำแหน่ง บากชิ ฆูลาม มุฮัมมัด (Bakshi Gulam Muhammad) รองนายกรัฐมนตรีและสมาชิกพรรคเนชั่นแนล คอนเฟอเรนส์ ก็ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งในช่วงหลังเขาไม่เห็นด้วยกับแนวคิดความพยายามแยกตัวเป็นอิสระของอับดุลลอฮ์ เขาจึงเป็นที่ชื่นชอบของพรรคคองเกรส อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษที่เขาตำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สถานภาพพิเศษของแคชเมียร์ตามรัฐธรรมนูญอินเดียถูกกัดกร่อนไปมาก แม้แต่ชื่อเรียกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ถูกปรับเป็น ‘มุขมนตรี’ (Chief Minister) เหมือนรัฐอื่นๆ
แต่ที่สำคัญที่สุด ในปี 1956 ชัมมู-แคชเมียร์ ภายใต้การนำของ บักชิ ฆูลาม มุฮัมมัด และพรรคเนชั่นแนล คอนเฟอเรนส์ของเขา ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งรัฐขึ้นมา โดยไม่ได้มีการจัดทำประชามติใดๆ และในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ยอมรับว่า J&K เป็นส่วนหนึ่งของอินเดียภายใต้มาตรา 370
อินเดียจึงมองว่าแคชเมียร์ได้เป็นส่วนหนึ่งของอินเดียแล้วอย่างสมบูรณ์ตามเจตนารมณ์ของประชาชนชาวแคชเมียร์ผ่านกระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ การยอมรับในสถานะพิเศษ (Special Status) สิทธิในการปกครองตนเอง การประกาศใช้รัฐธรรมนูณของรัฐ J&K ที่รับรองว่าแคชเมียร์เป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย ดังนั้น ในมุมของอินเดียจึงมองว่าไม่จำเป็นต้องทำประชามติอีกต่อไป
ความท้าทายในเชิงกฎหมาย, ข้อกล่าวหา ‘ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ’ ‘ไม่เป็นประชาธิปไตย’ ‘ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ’
การยกเลิกมาตรา 370 ยังคงต้องเป็นประเด็นถกเถียงต่อไปในแง่ของความชอบธรรมทางกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายใน ทั้งนี้ปากีสถานแสดงจุดยืนมาโดยตลอดในการสนับสนุนสิทธิการกำหนดชะตาชีวิตตนเองของชาวแคชเมียร์ (Self-determination) ตามมติที่ 47 ของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ปี 1948 หรือการจัดประชามติให้ชาวแคชเมียร์ได้เลือกว่าจะอยู่กับอินเดียหรือปากีสถาน สถานะของแคชเมียร์ที่ถูกอินเดียยึดครองจึงเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้งแคชเมียร์ก็ยังอยู่ในความควบคุมดูแลของสหประชาชาติที่ยังอยู่ในระหว่างหาทางแก้ไขกันอยู่
ด้วยเหตุนี้ปากีสถานจึงประกาศจะทำทุกวิถีทางเพื่อหยุดยั้งอินเดีย โดยพยายามเรียกร้องนานาชาติให้กดดันอินเดีย โดยเฉพาะการผลักดันเรื่องนี้ในเวทีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติ องค์การความร่วมมือโลกอิสลาม ตลอดจนประเทศสำคัญๆ อย่าง สหรัฐฯ และตุรกี เป็นต้น
ในแง่ความถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมายภายในของอินเดียก็มีประเด็นให้ถกเถียงเพราะการประกาศยกเลิกมาตรา 370 ใช้คำสั่งประธานาธิบดี ในวันถัดมาก็มีการเสนอและผ่านกฎหมายปรับโครงสร้างเขตปกครองของ J&K (J&K Reorganization Bill) ต่อ ‘โลกสภา’ (สภาผู้แทนราษฎร) และต่อ ‘ราชย์สภา’ (วุฒิสภา) อย่างรวดเร็ว ซึ่งโดยปกติการแก้ไขปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมรายละเอียดในรัฐธรรมนูญจำเป็นจะต้องฟังความคิดเห็นของสภานิติบัญญัติแห่งรัฐฯ ก่อน แต่ในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะการยกเลิกมาตรา 370 เกิดขึ้นไม่นานหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน J&K อีกทั้งยังมีการจับกุมและกักบริเวณแกนนำทางการเมืองสำคัญๆ หลายคน
ในข้อกำหนดตามรัฐธรรมนูญ ระบุว่า การตัดสินใจใดๆ ของรัฐบาลกลางที่จะกระทบต่อสถานะของรัฐ J&K จำเป็นจะต้องได้รับความเห็นพ้องจาก ‘สภาร่างรัฐธรรมนูญ’ (Constituent Assembly) ซึ่งสภาฯ นี้ถูกยกเลิกหรือสิ้นสภาพไปแล้วหลังมีสภานิติบัญญัติของรัฐฯ (Legislative Assembly) ที่มาจากการเลือกตั้งในปี 1957 ดังนั้น จึงมีความคิดเห็นที่แตกต่างระหว่างฝ่ายที่มองว่าการยกเลิกมาตรา 370 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะถึงแม้จะไม่มีสภาร่างฯ (ที่กำหนดให้มีขึ้นมาจากการเลือกตั้ง ปี 1950) แต่อย่างไรเสียการยกเลิกมาตรา 370 ก็ยังต้องผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติของรัฐซึ่งทำหน้าที่พิจารณาข้อกฎหมายอยู่แล้ว แต่อีกฝ่ายที่เห็นต่างมองว่าแค่ประธานาธิบดีออกคำสั่งก็ถือว่าเพียงพอแล้วเพราะไม่มีสภาร่างฯ อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงนี้เป็นเพียงความพยายามตีความสนับสนุนความเชื่อมากกว่าดูที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
รวมเหตุผลของการยกเลิกสถานพิเศษเขตปกครองตนเองชัมมู-แคชเมียร์ และรวบอำนาจสู่ส่วนกลาง
หากลองรวบรวมเหตุผลของการยกเลิกมาตรา 370 ในช่วงนี้ อาจสรุปทั้งเหตุผลที่เปิดเผยและเหตุผลที่วิเคราะห์คาดการณ์จากข้อมูลหลายๆ ด้าน ได้ดังนี้
1. อันที่จริงการต่อต้านและความพยายามเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 370 มีมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1950 โดยชาวฮินดู ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในพื้นที่ และเป็นประเด็นที่พรรค BJP ซึ่งเป็นรัฐบาลอยู่ขณะนี้ใช้หาเสียงมาตลอด แต่ที่ผ่านมาบริบทต่างๆ ยังไม่เอื้อพอให้ยกเลิก ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ภายในแคชเมียร์ การเมืองภายในประเทศที่พรรค BJP ยังไม่มีฐานความนิยมมากพอ การเมืองระหว่างประเทศในยุคสงครามเย็น และยุคหลังเหตุการณ์ 9/11 ที่มหาอำนาจสหรัฐฯ ยังต้องพึ่งปากีสถาน แต่กระนั้นก็มีกระบวนการทำให้แคชเมียร์กลายเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียดังที่ได้กล่าวมาอยู่เรื่อยๆ
2. เหตุผลของพรรค BJP และกลุ่มที่สนับสนุนการยกเลิกมาตรา 370 มองว่า มาตรานี้เป็นตัวถ่วงความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ทำให้ไม่มีการลงทุนจากภายนอกเพราะข้อห้ามเรื่องการครอบครองที่ดิน, เป็นเขตปกครองตนเองที่มีปัญหาความรุนแรงและกลุ่มติดอาวุธมากมาย, เป็นอุปสรรคต่อการบูรณาการกับอินเดีย, มาตรานี้ทำให้รัฐ J&K มีอภิสิทธิ์กว่ารัฐอื่นๆ และมาตรานี้ยังลิดรอนสิทธิของผู้หญิงที่แต่งงานกับคนนอกซึ่งจะถูกตัดสิทธิ์ในการถือครองอสังหาริมทรัพย์
3. กระแสชาตินิยมและชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรค BJP โดยเฉพาะความนิยมในตัวนายกรัฐมนตรีโมดีที่เพิ่มสูง ทำให้รัฐบาลของเขากล้าที่จะยกเลิกมาตรานี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่เขาใช้หาเสียงในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เหตุการณ์ก่อการร้ายในแคชเมียร์ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกจากจะทำให้เกิดการเผชิญหน้ากับปากีสถานแล้วยังปลุกกระแสชาตินิยมอิงศาสนาที่เอื้อให้โมดีซึ่งมีฐานเสียงจำนวนมากเป็นฮินดูชาตินิยม ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าท่ามกลางความไม่พอใจของชาวแคชเมียร์และปากีสถาน แต่ก็มีบรรยากาศของการเฉลิมฉลองในอินเดีย ชัมมู และลาดักห์
4. เหตุผลอีกประการที่อาจเป็นตัวเร่งให้อินเดียประกาศยกเลิกมาตรา 370 คือ ท่าทีและความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับปากีสถาน ซึ่งเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีอิมรอน ข่าน ได้เดินทางเยือนสหรัฐฯ และพบปะกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นครั้งแรก โดยทรัมป์ได้ขอให้ปากีสถานเป็นตัวกลางประสานให้กลุ่มตาลีบันมาร่วมเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลอัฟกานิสถาน เพราะสหรัฐฯ ต้องการจบสงครามในอัฟกานิสถานให้ได้ แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถเอาชนะด้วยกำลัง (แม้ทรัมป์จะบอกว่าทำได้แต่ไม่อยากทำ เพราะจะทำให้คนเสียชีวิต 10 ล้านคน) ปากีสถานได้ขอให้สหรัฐฯ ช่วยแก้ปัญหาแคชเมียร์ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน จากนั้นทรัมป์ได้พูดกับอิมรอน ข่าน ว่าเขาเพิ่งได้พบกับนายกรัฐมนตรีโมดี เมื่อสองสัปดาห์ก่อน และได้คุยประเด็นนี้กัน โดยโมดีถามเขาว่า “คุณอยากเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยหรือเป็นผู้ตัดสินปัญหานี้หรือไม่ ทรัมป์ตอบกลับไปว่า “ถ้าผมช่วยได้ผมก็ยินดีทำหน้าที่เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยให้”
ไม่นานอินเดียก็ได้ออกมาปฏิเสธและบอกว่าไม่เคยขอให้สหรัฐฯ มาเป็นตัวกลาง เพราะที่ผ่านมาอินเดียยืนยันว่าปัญหาแคชเมียร์ต้องพูดคุยกันแบบทวิภาคีระหว่างอินเดียกับปากีสถานเท่านั้น ทั้งนี้อินเดียอาจไม่พอใจและกังวลต่อท่าทีของสหรัฐฯ ว่าอาจต่อรองกับปากีสถานเรื่องแคชเมียร์แลกความช่วยเหลือจากปากีสถานกรณีอัฟกานิสถานได้ แต่หากมองอีกด้านจากสถานการณ์ขณะนี้ อาจเป็นโอกาสของทรัมป์ที่จะใช้อินเดียเป็นแรงกดดันปากีสถานให้ร่วมมือกับสหรัฐฯ กรณีอัฟกานิสถานเพื่อแลกบทบาทของสหรัฐฯ ในการไกล่เกลี่ยสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอินเดียกับปากีสถาน
อย่างไรก็ตาม คงเป็นเหตุผลหลายๆ อย่างประกอบกันที่ทำให้อินเดียเลือกประกาศยกเลิกมาตรา 370 ในช่วงเวลานี้
ผลกระทบและแนวโน้มที่ต้องจับตา
นับจากนี้ไปคงเกิดผลกระทบตามมามากมาย โดยอาจสรุปเฉพาะผลกระทบและแนวโน้มบางประการที่สำคัญๆ ดังนี้
1. การยกเลิกสถานะพิเศษในการปกครองตนเองของ J&K และทำให้กลายเป็นดินแดนสหภาพที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง ส่งผลให้ J&K สูญเสียอำนาจท้องถิ่นที่เคยมีมาตลอด 70 ปี และเป็นการผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย คนแคชเมียร์หรือตัวแทนทางการเมืองในรัฐฯ ไม่มีส่วนร่วมในกระบวนดังกล่าว อาจนำไปสู่การประท้วงต่อต้านอย่างรุนแรงเหมือนในอดีตที่แคชเมียร์เคยมีประวัติการประท้วงหนักมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่สมัยก่อนและหลังยุคอาณานิคม โดยเฉพาะในช่วงปลายทศวรรษ 1980
2. การยกเลิกมาตรา 370 และสิทธิการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ดังที่กล่าวมา จะเปิดโอกาสให้คนนอกสามารถซื้อที่ดินและเข้าไปพำนักอาศัยใน J&K ได้เสรี ซึ่งเป็นข้อกังวลที่สำคัญของคนแคชเมียร์ว่ารัฐบาลกำลังจะกลืนอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่หรือจะนำไปสู่ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่จะทำให้มุสลิมกลายเป็นชนกลุ่มน้อยในอนาคต ทั้งนี้ปัจจุบันรัฐ J&K เป็นรัฐเดียวในอินเดียที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม มีความเป็นไปได้ที่อินเดียจะผลักดันการสร้างชุมชนหรือนิคมใหม่ๆ ในแคชเมียร์สำหรับคนที่ไม่ใช่มุสลิมมากขึ้น
3. การยกเลิกมาตรา 370 จะทำให้หลายอย่างในแคชเมียร์เปลี่ยนไปและเปิดทางให้รัฐบาลกลางเข้ามาควบคุมในหลายๆ ด้าน เช่น การแทรกแซงทางการเงิน การบังคับใช้ธงชาติอินเดียเท่านั้น การเลือกตั้ง ระบบการปกครองท้องถิ่น และด้านการศึกษา เป็นต้น
4. ความเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจนำไปสู่การเกิดขึ้นของคลื่นนักต่อสู้รุ่นใหม่ในแคชเมียร์ ซึ่งอาจจะมีทั้งนักเคลื่อนไหวทางการเมืองแนวสันติ ไปจนถึงกลุ่มติดอาวุธที่จะปฏิบัติการต่อต้านอินเดียมากยิ่งขึ้น
5. การยกเลิกมาตรา 370 จะถูกนำไปเป็นประเด็นการเมืองภายในระหว่างฝ่ายรัฐบาลที่อ้างว่าเป็นผลงานชิ้นประวัติศาสตร์เพื่อเรียกคะแนนนิยมจากกลุ่มชาตินิยมอิงศาสนา กับฝ่ายค้านที่มองว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและขัดรัฐธรรมนูญ
6. ความตึงเครียดระหว่างอินเดียกับปากีสถานและจีน มีความสุ่มเสี่ยงสูงที่จะเกิดการเผชิญหน้า ด้วยเหตุผลหลายประการ
6.1 ปากีสถานแสดงจุดยืนชัดเจนโดยประณามอินเดีย ลดความสัมพันธ์ทางการทูต เรียกทูตปากีสถานประจำกรุงนิวเดลีกลับ ขับทูตอินเดียออกนอกประเทศ ออกมาตรการยุติความสัมพันธ์ทางการค้า ทบทวนข้อตกลงต่างๆ ที่ทำร่วมกับอินเดีย และคาดว่าจะมีมาตรการตอบโต้อื่นๆ ตามมา โดยในด้านการทหาร กองทัพยืนยันพร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือชาวแคชเมียร์เต็มที่
6.2 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอินเดียมักยืนยันว่าแคชเมียร์เป็นส่วนหนึ่งของอินเดียและอ้างกลับไปถึงการลงนามในข้อตกลงเข้าร่วมกับอินเดียของมหาราชาฮาริ สิงห์ ในวันที่ 26 ตุลาคม 1947 (Instrument of Accession) ซึ่งอาณาบริเวณของแคชเมียร์ในข้อตกลงนั้นครอบคลุมไปถึงแคชเมียร์ในฝั่งของปากีสถานที่เรียกว่า Azad Kashmir ด้วย รวมไปถึงแคชเมียร์ในส่วนที่มีข้อพิพาทกับจีนหรือที่จีนครอบครองอยู่ในขณะนี้ กล่าวคือเขตอักไซซิน (Aksai Chin อินเดียก็อ้างสิทธิ์ในพื้นที่นี้เช่นกัน) ซึ่งหลังจากอินเดียผ่านกฎหมายปฏิรูปโครงสร้างแคชเมียร์ แยก J&K เป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 J&K ทางตะวันตก แผนที่ของอินเดียจะคลุมอาซาดแคชเมียร์ในฝั่งปากีสถาน และอีกส่วนทางตะวันออกหรือลาดักห์คลุมไปถึงอักไซซินในฝั่งของจีน หมายความว่าอินเดียยังยึดตามข้อตกลงปี 1947 จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้จีนและปากีสถานไม่พอใจอย่างมากจนอาจทำให้สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่าง 3 ประเทศนี้ลุกเป็นไฟในอนาคต
6.3 มีความเป็นไปได้สูงว่าความไม่พอใจต่อการยกเลิกมาตรา 370 อาจนำไปสู่เหตุรุนแรงโดยกลุ่มติดอาวุธในแคชเมียร์หรือกลุ่มที่มีฐานในปากีสถานที่จะเข้ามาปฏิบัติการในอินเดีย ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์โจมตีของกลุ่มติดอาวุธหรือกลุ่มก่อการร้ายในอินเดีย รัฐบาลอินเดียมักจะกล่าวหาว่ากลุ่มก่อเหตุได้รับการสนับสนุนจากปากีสถาน จนทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันเหมือนเหตุการณ์ก่อการร้ายที่เมืองปุรวามาใน J&K เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งอินเดียตอบโต้โดยส่งเตรื่องบินรบข้ามไปโจมตีในฝั่งปากีสถาน ปากีสถานก็ตอบโต้และยิงเครื่องบินของอินเดียร่วงในที่สุด ดังนั้น หากเกิดเหตุก่อการร้ายขึ้นอีกในจังหวะนี้หรือในเร็วๆ นี้ จากความไม่พอใจการตัดสินใจของอินเดีย จะยิ่งทำให้สถานการณ์สุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าทำสงครามระหว่างกัน
7. กรณีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของ J&K สะเทือนไปถึงมหาอำนาจนอกภูมิภาคและองค์การระหว่างประเทศด้วย สหรัฐฯ จะมีท่าทีอย่างไรในขณะที่ด้านหนึ่งก็ต้องการความช่วยเหลือจากปากีสถาน อีกด้านหนึ่งก็ต้องเอาใจอินเดียตามยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก และต้องการหนุนอินเดียคานอำนาจกับจีน จีนจะวางตัวหรือช่วยปากีสถานหรือไม่อย่างไรในฐานะหนึ่งในสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพราะปากีสถานกำลังผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่ UNSC นอกจากนี้ปากีสถานยังเรียกร้องให้นานาประเทศและ OIC ช่วยกดดันอินเดีย แต่สังเกตว่าโลกมุสลิมหลายประเทศยังสงวนท่าที ยกเว้นตุรกีที่แสดงจุดยืนสนับสนุนปากีสถาน
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์สำคัญอีกหน้าหนึ่งของปัญหาแคชเมียร์ที่ดำเนินมามากกว่า 7 ทศวรรษ และมีแนวโน้มว่าสถานการณ์อาจลุกลามบานปลายเพราะมีหลายมิติที่สลับซับซ้อนและซ้อนทับกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดินแดน การเมืองภายในรัฐฯ การเมืองภายในประเทศของทั้งอินเดียและปากีสถาน การเมืองระหว่างประเทศ ศาสนา และกระแสชาตินิยม ความรุนแรง การก่อการร้าย ความมั่นคง และสิทธิมนุษยชน ตลอดจนบทบาทของมหาอำนาจภายนอก
น่าเสียดายที่ดินแดนอันงดงามอย่างแคชเมียร์กลับต้องเจอกับมรสุมความขัดแย้งและความรุนแรงอย่างไม่รู้จบ ความงดงามของแคชเมียร์ถูกเปรียบเปรยโดยชาวยุโรปว่าเป็น ‘สวิตเซอร์แลนด์แห่งดินแดนตะวันออก’ นักกวีผู้หนึ่งได้เขียนไว้ว่า “หากโลกนี้มีสวรรค์ มันต้องเป็นที่นี่อย่างแน่นอน”
อุรฟี ชีราซี นักกวีแห่งเปอร์เซียได้กล่าวว่า “หากนำวิหคที่ถูกย่างจนไหม้เกรียมมายังดินแดนแคชเมียร์ มันจะกลับมีชีวิตอีกครั้งหนึ่งและโบยบินต่อไป”
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- Kashmir: The View from Srinagar” International Crisis Group, ICG Asia Report N’41, 21 November 2002, www.crisisgroup.org/library/documents/report_archive/A400831_21112002.pdf
- อะหมัดอัรชัฏ จินารง , แคชมีร์ เหยื่อแห่งอธรรม (นนทบุรี: บริษัท ออฟเซ็ท เพรส จำกัด , 2543)
- “Behind the Kashmir Conflict; Abuses by Indian Security Forces and Militant Groups Continue” Human Rights Watch ,1999, http://www.hrw.org/reports/1999/kashmir/index.htm
- “Kashmir: The View from New Delhi” International Crisis Group, ICG Asia Report N’69, 4 December 2003, www.crisisgroup.org/home/getfile.cfm?id=1039&tid=2408&type=pdf&l=1
- Victoria Schofieled , Kashmir in Conflict: India, Pakistan and the Unending War (New Delhi: Viva Books Private Limited, 2004)
- “Kashmir:Learning from the past” International Crisis Group, ICG Asia Report N’70, 4 December 2003, Available at www.crisisgroup.org/library/documents/asia/070_kashmir_learning_from_the_past.pdf
- Maya Chadda, “Minority Rights and Conflict Prevention: Case Study of Conflicts in Indian Jammu and Kashmir,Punjab and Nagaland”, Minority Right Group International
- www.minorityrights.org/admin/Download/pdf/IndiaMacro2006.pdf
- www.bbc.com/news/world-asia-india-49079716
- www.aljazeera.com/news/2019/08/kashmir-special-status-explained-articles-370-35a-190805054643431.html
- www.rediff.com/news/2000/jun/26mukh1.htm
- qz.com/india/1682124/a-timeline-of-jammu-kashmirs-modern-history-and-article-370/