ชื่อ-นามสกุล: กานต์ กิตติอำพน
อายุ: 45 ปี
สังกัดพรรค: พลังประชารัฐ
เขตการเลือกตั้ง: กรุงเทพมหานคร เขต 5 ห้วยขวาง วังทองหลาง (ยกเว้นแขวงคลองเจ้าคุณสิงห์)
การศึกษา: ปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
สมาชิกในครอบครัว: หลาน อำพน กิตติอำพน องคมนตรี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ปี 2566 มีการเปิดตัว ‘ผู้สมัครหน้าใหม่-เลือดเก่า’ จากหลายพรรคการเมือง สร้างความคึกคักให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ เป็นทางเลือกสดใหม่ให้หลุดพ้นจากความจำเจด้านการเมือง
ขณะที่อีกด้านของเหรียญ ผู้สมัครเหล่านี้คล้ายว่าจะเป็นสัญลักษณ์แห่ง ‘การเปลี่ยนมือ’ ของตระกูลนักการเมือง ไม่ว่าจะในระดับชาติหรือว่าท้องถิ่น เพราะต่อให้เป็นคนหน้าใหม่ แต่ ‘นามสกุล’ ที่คุ้นเคยยังคงติดอยู่บนป้ายหาเสียงไม่เลือนหายไปไหน
อย่างไรก็ตาม การตัดสินไปก่อนว่าผู้สมัครหน้าใหม่เป็นเพียงตัวแทนรุ่นถัดไปของครอบครัวบ้านเก่าก็คงไม่ยุติธรรมมากนัก หากยังไม่ได้ทำความรู้จักกับผู้สมัคร ศึกษาทัศนคติ และทำความเข้าใจเลนส์ความคิด-ความเชื่อเกี่ยวกับการเมืองของพวกเขาและเธอ
การลงสนามการแข่งขันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของผู้สมัครหน้าใหม่-เลือดเก่าเป็นเช่นไร มีความคิดเห็นอย่างไรกับการต่อสู้บนสนามเลือกตั้งที่ถูกแช่แข็งมายาวนานนับทศวรรษ
เกิดอเมริกา เติบโตและทำงานที่ไทย
กานต์ กิตติอำพล หรือ กานต์ เริ่มเล่าประวัติส่วนตัวให้ฟังพอสังเขปว่าเขาเกิดที่สหรัฐอเมริกา ก่อนกลับมาเรียนในประเทศไทยช่วงชั้นประถมศึกษา ภายหลังจากที่เรียนจบชั้นปริญญาตรีก็ได้เข้าทำงานในหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นทางมาร์เก็ตติ้ง งานสื่อที่บางกอกโพสต์ งานบริหารเกี่ยวกับธุรกิจเครื่องปรับอากาศของที่บ้าน และก่อนที่จะมาลงรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2566 เขาทำงานเกี่ยวกับการจัดการงานอีเวนต์
เขาบอกว่า หากให้ตอบว่าเหตุการณ์ไหนเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เขาเลือกหันเหเส้นทางเดินของชีวิตจากการทำงานภาคเอกชนมาสู่วงการการเมือง เป็นเรื่องที่ตอบยาก สำหรับเขาแล้วมันเป็นความเบื่อหน่ายสะสมจากวงจรการเมืองที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมานานนับทศวรรษ
“เราเห็นการเมืองมาเยอะ เห็นนักการเมืองมาเยอะ รู้สึกว่าเราเบื่อนักการเมืองเก่าๆ แล้วก็ไม่ว่าจะเป็นการหาเสียงหรือว่าการเลือกตั้งกี่ครั้ง อย่างลงพื้นที่ปัจจุบันก็เจอ คือถามตลอดว่าไม่ใช่ว่าเลือกตั้งแล้วเห็นหน้าแค่ตอนมาหาเสียง หลังหาเสียงก็จะหายไป มันก็เป็นอย่างนี้ เลยรู้สึกว่ามันถึงเวลาที่การเมืองมันควรจะผลัดใบไหม ควรเปลี่ยนแล้วเอาคนรุ่นใหม่ คนที่มีอุดมการณ์ใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงหรือว่าสร้างสรรค์การเมืองใหม่”
การพบเจอกับความซ้ำซากของผู้สมัครหน้าเดิม การหาเสียงแบบเดิม และปล่อยปละละเลยผู้คนในพื้นที่เช่นเดิมในการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา จึงเป็นจุดที่ทำให้เขาย้อนกลับมาถามตัวเองว่านี่เป็นเวลาของ ‘คนรุ่นใหม่’ และ ‘การเมืองใหม่’ แล้วหรือไม่
เมื่อคำตอบของเขาคือ ‘ใช่ นี่คือเวลาผลิบานของคนหน้าใหม่’
กานต์จึงลุกขึ้นมาเสนอตัวเป็นผู้แทนประชาชน ด้วยการลงสมัครในสนามการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคพลังประชารัฐ
เป็นครอบครัวข้าราชการ
ตระกูลกิตติอำพนอาจไม่ใช่นามสกุลที่คุ้นหูในวงการการเมืองมากนัก ไม่ได้มีรากพ่อสาแหรกแม่เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรืออดีตรัฐมนตรี ไม่ได้เป็น ‘บ้านใหญ่’ ในพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใด แต่ถ้าหากลองสืบค้นนามสกุลกลับไปแล้วนั้นจะพบว่านี่คือนามสกุลของ อำพน กิตติอำพน องคมนตรีผู้รับตำแหน่งในช่วงปี 2561
แล้วในกรณีนี้ กานต์นับว่านามสกุลของตนเองเป็นนามสกุลการเมืองหรือไม่?
“ไม่เป็นนามสกุลการเมืองครับ” คือคำตอบของกานต์
ก่อนที่จะอธิบายให้ฟังถึงมุมมองของเขาต่อการนิยามคำว่านามสกุลนักการเมือง กานต์ขอแก้ไขความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์เป็นอย่างแรก ตามที่ปรากฏในเว็บไซต์รวบรวมข้อมูลของผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 400 เขต ระบุว่าเขาเป็นลูกชายของ อำพน กิตติอำพน แต่ข้อเท็จจริงแล้วสถานะของเขาคือหลานอา เป็นลูกชายของพี่ชายคนที่ 3 ของอำพนเท่านั้น
โดยคุณพ่อเป็นพี่ชายคนที่ 3 ของอำพน มีอาชีพเป็นทหารเรือ ส่วนทางคุณแม่เป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเรียกได้ว่าครอบครัวของเขาเป็นครอบครัวข้าราชการ อย่างพี่น้องในฝั่งคุณพ่อก็มีตำแหน่งในทางราชการทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นตระกูลที่ทำงานทางด้านการเมือง
“ผมเป็นหลานของ ดร.กบ (อำพน กิตติอำพน) องคมนตรี คุณพ่อเป็นพี่ชายคนที่ 3 คือจริงๆ ต้องมองว่าตระกูลผมเองรับราชการ พี่น้องรับราชการ คุณพ่อก็รับราชการมาทั้งหมด อย่างอากบท่านก็เป็นข้าราชการ ไม่ได้ทำการเมือง ตำแหน่งเป็นทางข้าราชการประจำ”
อุดมการณ์พลังประชารัฐ
การเลือกก้าวออกจากพื้นที่การทำงานด้านการจัดอีเวนต์ที่เป็นคอมฟอร์ตโซนว่ายากแล้ว หากการเลือกพรรคการเมืองที่จะเข้าสังกัดนั้นยากกว่า กานต์ผู้ตัดสินใจขอโอกาสจากประชาชนเข้ามาเป็นผู้แทนในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่นั้นเล่าว่า เขาเลือกทำงานไปพร้อมกับพรรคพลังประชารัฐจากจุดยืนทางการเมือง
เพราะเขาต้องการให้ประเทศไทยก้าวข้ามความขัดแย้งเสียที
“ที่เลือกพรรคพลังประชารัฐ เพราะว่าจุดยืนทางการเมืองที่ต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง ก็จะไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่ผลักดันอยากให้เราเข้ามาทำงาน เพราะว่าที่ผ่านมาบริบททางการเมืองมันมีแต่ความขัดแย้งมาตลอด”
ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งบนท้องถนนหรือว่าเป็นความขัดแย้งในรัฐสภา ทุกพื้นที่มีแต่การโต้คารมระหว่างคนหลายฝ่าย จนบางครั้งก็ลืมกันไปว่าคนที่บอบช้ำจากความไม่ลงรอยกันคือประชาชน ทั้งที่ในความจริงแล้วคนที่ควรได้รับการดูแลมากที่สุดคือพวกเขา ดังนั้นนี่คือเวลาที่ทุกฝ่ายควรจะ ‘ข้าม’ ความขัดแย้ง แล้วมาพัฒนาประเทศกันเสียที
“ปัญหาภายในประเทศหรือปัญหาการเมือง เราจะเห็นมากี่ยุคกี่สมัยมันคือความขัดแย้ง เราเลยรู้สึกว่ามันถึงเวลาที่จะก้าวข้ามความขัดแย้งแล้วมาพัฒนาประเทศไหม เราก็เลยเลือกพลังประชารัฐ เลือกจุดนี้เพราะอุดมการณ์”
คนทำงาน คนรับฟัง คือแบบอย่างในการทำงาน
จากวันที่เคยเห็นนักการเมืองผ่านหน้าจอโทรทัศน์และโทรศัพท์ จนถึงวันที่ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง กานต์บอกว่าหนึ่งสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการทำงานตรงนี้คือการยอมรับว่านักการเมืองก็เป็นเพียงประชาชนธรรมดาคนหนึ่งในสังคม ที่มีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดีปะปนกันไป แต่เราก็สามารถเลือกที่จะนำส่วนไหนมาปรับใช้กับตัวเอง
อย่างนักการเมือง 2 คนที่เป็นแบบอย่างในการทำงานที่ดีของกานต์คือ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ
สำหรับ พล.อ. ประวิตร กานต์เล่าให้ฟังว่าตัวจริงของ พล.อ. ประวิตรเป็นคนใจดี คอยรับฟัง เปิดใจรับฟังทุกคน อย่างที่เห็นตามหน้าข่าวสื่อทุกช่องทางว่าท่านจะเป็นคนที่คอยเชื่อมประสานกับทุกฝ่าย หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐจึงเป็นแบบอย่างให้กับเขาให้รู้จักการรับฟังผู้อื่นเพื่อหาตรงกลางในการแก้ไขปัญหา
“คือตัวจริงลุงป้อมเป็นคนใจดี เป็นคนที่รับฟังทุกคน คอยประสานได้ทุกฝ่ายตามที่เห็นตามข่าว คือด้วยความที่แกเป็นคนที่รับฟังเปิดรับทุกคน คือผมมองว่าปัญหาของเรา ณ ปัจจุบัน คือการรับฟัง ไม่ว่าจะเป็นฝั่งไหน หรือว่าเป็นอายุ บางครั้งคือการรับฟัง”
ส่วน ดร.นฤมลคือคนมอบโอกาสกับกานต์ในการเข้ามาทำงานการเมืองกับพรรคพลังประชารัฐ และได้ทำงานร่วมกันนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การได้คลุกคลีกับคนเก่งที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาประเทศชาติ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีในการเดินรอยตาม และเป็นการเติมพลังใจที่ทำให้เขาก้าวต่อไป
“ถ้าจะให้ตอบ ณ วันนี้พูดถึงก็อาจจะเป็น ดร.นฤมล เพราะตอนเข้ามาท่านก็ให้โอกาสเราเข้ามา ท่านเป็นคนเก่งคนหนึ่งที่ตั้งใจทำงานจริงๆ หลังจากที่เราได้ทำงานร่วมกับท่าน ก็ทำให้เราเห็นถึงความมุ่งมั่น ความตั้งใจที่อยากจะช่วยเรื่องประชาชน เรื่องปากท้อง”
คนรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีโอกาสสร้างผลงาน
สำหรับสนามการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร เขต 5 ห้วยขวาง วังทองหลาง (ยกเว้นแขวงคลองเจ้าคุณสิงห์) เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเขตที่น่าจับตามอง เพราะมีทั้งผู้สมัครหน้าเก่าที่ผ่านการทำงานทั้งระดับท้องถิ่นและจังหวัดมาอย่างโชกโชน ส่วนผู้สมัครหน้าใหม่ที่มีประวัติน่าสนใจก็เรียกได้ว่าไม่น้อยหน้า
ในส่วนของกานต์เอง การเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ก็มีข้อดีตรงที่ว่าเป็นการสร้างบรรยากาศสดใหม่ให้กับคนในพื้นที่ อย่างที่หลายคนก็หน่ายกับผู้สมัครคนเดิม ชื่อเดิม ที่ไม่มีการเปลี่ยนตัวสักที การที่มีผู้สมัครคนใหม่เข้ามาก็เป็นความครึกครื้นที่เพิ่มความอยากมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือกตั้ง
แต่ในขณะเดียวกันคำว่า ‘เฟรช (Fresh)’ ที่แปลว่าความสดใหม่ ก็สามารถแปลว่าความไม่มีประสบการณ์ได้เช่นกัน จึงกลายเป็นข้อเสียไปในตัวว่าการเข้ามาลงรับสมัครเป็นครั้งแรก ตัวกานต์เองก็จะยังไม่มีผลงานการทำงานที่เป็นรูปธรรมสำหรับนำไปสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตพื้นที่ฟัง
แต่กานต์ก็ไม่เคยย่อท้อ และให้คำสัญญาว่าถ้าเขาได้มีโอกาสเข้าไปทำหน้าที่ เขาพร้อมจะลงมือทำงานจริง
“ข้อดีคือเราเฟรช แต่มันก็เป็นข้อเสียในเวลาเดียวกัน คือในความเฟรชเรายังไม่มีผลงาน เรายังไม่ได้สร้างอะไรที่ให้ประชาชนได้เห็น เราต้องได้รับโอกาสตรงนี้ก่อน ทุกคนถึงจะได้เห็นว่าเราทำจริงนะ เราสร้างการเปลี่ยนแปลงจริงนะ เราเข้ามาทำงานจริงนะ”
ความท้าทายในการหาเสียงพื้นที่เมืองหลวง
คนหนุ่ม รุ่นใหม่ ไฟแรง เริ่มต้นการลงพื้นที่หาเสียงในแต่ละวันตั้งแต่ช่วงก่อนตะวันจะพ้นขอบฟ้า เริ่มต้นแนะนำตัวให้กับคนที่มาจับจ่ายใช้สอยในตลาดนัดช่วงเช้า จากนั้นจะเป็นการเดินสายตามบ้านเรือนของประชาชน ก่อนจะลงพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนอีกครั้งในช่วงเย็น อย่างวันนี้ที่กานต์เดินทางไปยังพื้นที่ออกกำลังกายประจำชุมชน
“เดินทั้งวัน ตั้งแต่เช้า ช่วงนี้ตลาดเช้าก็เริ่มตั้งแต่ 6-7 โมง ช่วงบ่ายมีไปตามพวกหมู่บ้าน เจอคนบ้างไม่เจอคนบ้าง แล้วช่วงนี้หน้าร้อน คนไม่ค่อยออกจากบ้าน แล้วเขาเปิดแอร์ก็จะไม่ได้ยินเสียงที่เราทักทาย เลิกอีกทีก็ช่วงเย็น ประมาณสัก 6 โมง ทุ่มหนึ่ง”
การเดินหาเสียงในพื้นที่ชุมชนภายในเขตห้วยขวางและวังทองหลางมีความท้าทายหลายประการ อย่างการเดินไปแนะนำตัวตามบ้านในช่วงสายของวันธรรมดาก็มักจะเจอคนอาศัยอยู่น้อย ส่วนมากก็จะออกจากบ้านไปทำงานกันตั้งแต่เช้า ทำให้ต้องบริหารจัดการเวลาหาเสียงในช่วงเย็นให้ดี เพื่อที่จะได้พบปะกับประชาชนให้เยอะที่สุด
หรือว่าจะเป็นบางพื้นที่ที่เขาและทีมงานไม่สามารถเข้าไปถึงตัวผู้มีสิทธิเลือกตั้งภายในหมู่บ้านได้ เพราะหลายหมู่บ้านเองก็มีการกำหนดเอาไว้เลยว่าไม่อนุญาตให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปในเขตรั้ว เป็นเหตุให้ทางทีมงานต้องปรับแผนเป็นการลุยประชาสัมพันธ์บนโลกออนไลน์แทน
ส่วนนามสกุลเรียกได้ว่าไม่มีผลต่อการหาเสียงของกานต์แม้แต่น้อย อย่างที่เขาบอกว่าในความเป็นจริงแล้วไม่มีคนในพื้นที่รู้จักนามสกุลของเขาเท่าไรนัก
“ไม่มีคนรู้จักนามสกุลผมนะ เอาดีๆ มันก็เลยไม่ได้เป็นแต้มต่อ หรือหลายๆ คนในเขตผมที่ลงกันก็ไม่ได้เป็นคนที่มีนามสกุลดังนะ คนอื่นก็ใหม่หมด”
ยิ้มรับเอาไว้ก่อน
ในการลงพื้นที่หาเสียงแต่ละครั้งไม่ต่างอะไรกับการเปิดกล่องสุ่มหรือกดกาชาปอง ผู้สมัครทุกคนย่อมทราบแก่ใจว่าตนเองไม่สามารถคาดเดาเสียงตอบรับจากคนในชุมชนได้แม้แต่น้อย บ้างอาจต้อนรับด้วยความเต็มใจ บ้างอาจขับไสไล่ส่งหากเป็นพรรคขั้วตรงข้ามกับพรรคในดวงใจ
จนการเตรียมใจเอาไว้อาจเป็นการเตรียมตัวที่ดีที่สุด
อย่างในวันนี้ที่กานต์ได้รับคำถามเชิงลึกจากกลุ่มคุณป้าผู้เดินทางมาออกกำลังกายยามเย็น ที่ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับนโยบายการเพิ่มตัวเลขบัตรประชารัฐของพรรคประชารัฐจาก 200 บาทเป็น 700 บาทหากได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลในสมัยหน้า ว่าเพราะเหตุใดทางพรรคจึงต้องรอให้ตนเองกลับมาเป็นฝ่ายบริหารอีกครั้งก่อนจึงจะปรับเพิ่มได้ ทำไมจึงไม่เริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้
ในฐานะสมาชิกหน้าใหม่ของพรรค กานต์นั่งคุกเข่าเรียบร้อยกับพื้นระหว่างรับฟังชุดคำถามจากกลุ่มผู้สูงอายุ ตั้งใจรับฟัง ไม่มีว่อกแว่ก เพื่อเก็บทุกรายละเอียด มีทีมงานของเขาช่วยอธิบายเรื่องการปรับตัวเลขบัตรประชารัฐที่ไปเกี่ยวเนื่องกับตัวเลขงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปี อันเป็นที่มาของการปรับตัวเลขงบประมาณที่ต้องรอการอนุมัติในสมัยหน้า
เขาเองก็ยังยอมรับว่าในบางจังหวะยังอธิบายข้อมูลเชิงลึกและความเป็นมาของนโยบายได้ไม่คล่องตัวมากพอ และยังเป็นโจทย์ที่เขาต้องนำไปพัฒนาตัวเองเพิ่ม
“ถ้าเรายังตอบไม่ได้ ก็ยิ้มและรับฟังไว้ก่อน แล้วเราก็ไปศึกษาเพิ่มเติม”
ประสบการณ์ทำให้เข้ากับคนง่าย
เขาเล่าว่าตัวเองยังไม่เคยเจอปฏิกิริยาตอบรับที่ไม่น่ารักหรือไม่เป็นมิตร ทุกคนต่างต้อนรับเขาเป็นอย่างดี ส่วนคำอธิบายที่เขาต้องทำความเข้าใจกับทางประชาชนมากที่สุดในเวลานี้ไม่ใช่การสอบถามนโยบาย แต่เป็นเรื่องการอธิบายว่าพรรคพลังประชารัฐไม่ใช่ ‘พรรคลุงตู่’ แล้ว เพราะทาง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ย้ายไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติแล้ว
“เรื่องที่หลายๆ คนเจอก็คือลุงตู่ย้ายพรรคแล้ว พรรคลุงตู่ๆ อะไรอย่างนี้ เราก็มาแก้ความเข้าใจผิด ไม่ใช่ครับ พรรคลุงป้อม ลุงตู่ไปแล้วครับ มันก็ต้องบอกเขา เจอบ่อยมากเพราะคนยังไม่ทราบ”
นอกเหนือจากเรื่องการอัปเดตข้อมูลของพรรคให้ประชาชนรับทราบแล้ว กานต์มองว่าตนเองไม่ได้มีเรื่องน่าหนักใจอะไรให้ต้องกังวล อาจมีจังหวะเก้กังบ้างในการลงพื้นที่วันแรกๆ หรือการสื่อสารที่เขายังอยากพัฒนาให้ตอบโต้ได้คล่องแคล่วกว่านี้ แต่เรื่องการยกมือไหว้หรือทำความรู้จักคนแปลกหน้าไม่มีปัญหาอะไร เพราะตนเองก็ทำงานด้านอีเวนต์ที่ต้องเจอผู้คนหลากหลายมาตลอดอยู่แล้ว
เห็นได้จากการที่กานต์เดินเข้าไปไหว้ประชาชนในพื้นที่ด้วยความสดใส ขยับตัวกระฉับกระเฉง รวมไปถึงพร้อมทรุดตัวคุกเข่าคุยกับเหล่าผู้เฒ่าที่นั่งอยู่บนเก้าอี้ทันที
ปัญหาปากท้อง การสาธารณสุข และทำหมันสัตว์
ถ้าเริ่มนับตั้งแต่การลงพื้นที่อย่างเป็นทางการช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 เดือน กานต์ได้บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่ประชาชนในพื้นที่ร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่อง เรื่องแรกก็คงไม่พ้นปัญหาปากท้องที่อยู่กับคนทุกพื้นที่ ทุกยุคทุกสมัย
เรื่องที่สองเป็นการเข้าถึงการรักษาจากโรงพยาบาลรัฐ ครอบครัวหนึ่งในพื้นที่เล่าให้เขาฟังว่าแม้ทางผู้ป่วยจะมีบัตรเพื่อรักษาพยาบาลฟรี แต่ก็ต้องเป็นการรักษากับโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งในเขตพื้นที่ห้วยขวางและวังทองหลางมีเพียงโรงพยาบาลเอกชนตั้งอยู่โดยรอบ หากบ้านนี้ต้องพาผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือเข้ารับการรักษา ก็ต้องเดินทางข้ามอีกฟากของเมืองไปยังโรงพยาบาลกลางที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
หรือบางปัญหาอาจจะไม่ได้มีคนร้องเรียนเข้ามามาก แต่ก็ไม่ควรปล่อยปละละเลย อย่างสวัสดิการ การดูแลสุนัขและแมว ที่ทางรัฐมีบริการเพียงแค่การให้วัคซีนเท่านั้น แต่ไม่ครอบคลุมถึงการทำหมันสัตว์เหล่านี้
“เราเห็นปัญหาแล้วว่ามีจุกจิกกว่านั้นเยอะ มีพี่คนหนึ่งที่เขาซื้อที่แล้วสร้างเป็นศูนย์รับเลี้ยง ศูนย์พักคอยของสุนัขจรจัด ก็ยืนคุยอยู่พักใหญ่ๆ แกก็อยากได้สวัสดิการ เรื่องนโยบายที่ดูแลสุนัขและแมว การทำหมัน ซึ่งผมก็ไม่เคยรู้มาก่อน ผมเข้าใจมาตลอดว่าทางกรุงเทพฯ ทำหมันสุนัขและแมวให้อยู่แล้ว พอคุยกับเขามันไม่ใช่ ฉีดวัคซีนให้…ใช่ แต่ทำหมันไม่ใช่”
สิ่งที่ไม่เคยเห็นไม่ใช่ว่าไม่มีอยู่จริง บางปัญหาที่เราไม่ได้เจอกับตัวไม่ได้หมายความว่าคนอื่นจะไม่ได้เผชิญกับมันอยู่ ณ ขณะนี้ ดังนั้นยิ่งกานต์ลงพื้นที่มากขึ้น พบเจอปัญหามากขึ้น นั่นยิ่งเป็นเชื้อไฟชั้นดีในการโหมไฟในตัวเขาไม่ให้ยอมแพ้กับการเลือกตั้ง
“เพราะว่าไม่เคยได้จินตนาการเลยว่าลงพื้นที่แล้วจะเป็นอย่างไร จะเจออะไรบ้าง อย่างที่บอกว่านี่เป็นครั้งแรก แต่พอลงไปแล้ว เออ ก็ดีตรงที่ว่าเราได้เห็นปัญหาที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นแรงผลักดันที่ทำให้เราอยากลุกขึ้นมาทำอะไร เราอยากเข้าไปเปลี่ยนแปลง”
ของมูเตลูของกานต์
“ไม่ได้มูเตลูนะ คือผมนับถือศาสนาพุทธ เชื่อว่ามันอยู่ที่ตัวเราทำ จะดีจะร้ายอยู่ที่ตัวเรา ถ้าเราคิดดีทำดีมันก็ดี ถ้าเราทำไม่ดีก็เจออะไรไม่ดี แต่มีไปไหว้พระพิฆเนศตรงห้วยขวางมา คือผู้ใหญ่ก็บอกว่าเหมือนท่านดูแลส่วนนี้ เขตนี้ ก็ไปไหว้ ไปฝากตัว”
เรื่อง: จามาศ โฆษิตวิชญ
ภาพ: พีระพล บุณยเกียรติ