×

ตูน บอดี้สแลม กับนิยาม ‘วิ่งเพื่อสุขภาพ 3+1’ ที่ถูกตีความใหม่

01.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ‘วิ่งเพื่อสุขภาพ’ ประโยคสุดคลาสสิกที่คนส่วนเข้าใจพื้นฐานด้านวิธีออกกำลังกายอย่างง่ายที่สุด ถูกที่สุด กำลังถูกนำมาใช้สื่อสารด้านสุขภาพและสาธารณสุขของคนไทยผ่านการวิ่งของตูน บอดี้สแลม
  • มองให้ลึกซึ้งขึ้น การออกวิ่งผ่านโครงการ ‘ก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ’ นั้นประกอบขึ้นจากความตั้งใจหลัก 3 ข้อของตูน บอดี้สแลม ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่สะท้อนมาจากจุดเริ่มต้นด้านสุขภาพคือ หนึ่ง อยากให้โรงพยาบาลรัฐภายในประเทศมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น สอง ให้กำลังใจบุคลากรด้านสาธารณสุข ทั้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน และสุดท้ายคือสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยลุกขึ้นมาใส่ใจสุขภาพของตัวเองให้มากขึ้นด้วยการออกกำลังกาย วิธีใดก็ได้ที่ตนเองถนัด ไม่ใช่เพียงแต่การวิ่ง
  • เมื่อบวกเพิ่มกับเป้าหมายแท้จริงของเงินบริจาคที่ต้องการเห็นภาพ ‘การร่วมด้วยช่วยกัน’ ของคนไทยผ่านยอดบริจาคที่ ‘ต่อคน’ ไม่จำเป็นต้องมาก แต่อยากให้เกิดขึ้นจาก ‘จำนวนคน’ ในปริมาณเยอะๆ นั่นยิ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้โครงการนี้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น

     เช้าวันนี้ ‘ตูน บอดี้สแลม’ อาทิวราห์ คงมาลัย เริ่มต้นออกวิ่งไปแล้วเมื่อเวลา 6 นาฬิกา 9 นาที ซึ่งเชื่อว่ามันจะเป็นเช้าที่แตกต่างจากทุกวันของคนในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา รวมไปถึงคนไทยที่ตั้งใจรอเชียร์การวิ่งครั้งใหม่ที่ทั้งฝันใหญ่และไกลกว่าเดิมกับโครงการ ‘ก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ’

 

 

     แต่สิ่งที่ THE STANDARD มองว่าการออกวิ่งของนักร้องนำจากวงดนตรีร็อกได้ ‘ก้าว’ ไปไกลและแตกต่างไปจากนิยามคำว่า ‘วิ่งเพื่อสุขภาพ’ แบบเดิมๆ นั่นคือการวิ่งที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่สุขภาพรวมถึงความสุขของตนเอง แต่การวิ่งของเขายังก่อร่างสร้างนิยามใหม่ กลายเป็น ‘วิ่งเพื่อสุขภาพ 3+1’ ที่เน้นการสื่อสารกับคนทั้งประเทศให้หันมาใส่ใจสุขภาพของตนเอง รวมไปถึงการสร้างปัจจัยแวดล้อมด้านสาธารณสุขผ่านการร่วมด้วยช่วยกันด้วยการ ‘ออกวิ่ง’ เพียงครั้งเดียว!

 

 

  1. สื่อสารความตั้งใจที่อยากให้ปัจจัยทางด้านสาธารณสุขภายในโรงพยาบาลของรัฐในประเทศไทยนั้นดีขึ้น

     “โครงการนี้มันตั้งต้นจากความสุขจริงๆ คือถ้าผมเครียดเมื่อไร มันจะผิดทันที ฉะนั้นมันต้องมีความสุขที่เราได้ทำก่อน ผมก็เลยรู้สึกว่าจำนวนไม่ใช่ปัญหาถ้าโรงพยาบาลจะเยอะขึ้น เราเองต่างหาก ถ้าจะช่วยในจำนวนขนาดนี้ เราต้องหาวิธีการที่มันมีประสิทธิภาพมากที่สุด และช่วยเหลือคนได้อย่าง… เกิดความเปลี่ยนแปลง

     “ต้องยอมรับว่าเงินที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในโรงพยาบาลศูนย์ มันต้องใช้เงินเป็นจำนวนหลายสิบล้านต่อหนึ่งโรงพยาบาล เพราะอุปกรณ์ต่างๆ ก็จะแพงขึ้นเป็นเงาตามตัว อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ซับซ้อนต่างๆ หรือห้องผ่าตัด ฉะนั้นต่อหนึ่งโรงพยาบาลต้องใช้เงินเยอะมาก ถ้าเราอยากจะทำให้เห็นภาพที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นหน้าเห็นหลังจริงๆ

     “อย่าง 11 โรงพยาบาลที่เราตั้งใจอยากให้ทุกคนได้ช่วยเหลือกันในครั้งนี้ ผมเองมีโอกาสได้ลงไปทุกที่ ไปพบปะกับคุณหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งสำคัญนะครับ

     “ผมขอเล่าย้อนไปสักหน่อย มีโรงพยาบาลศูนย์บางแห่งท่านน่ารักนะครับ ท่านก็บอกว่าโรงพยาบาลท่านน่ะ โอเค ยังพออยู่ได้ ครั้งนี้ยังไม่ต้องมาช่วยท่าน แต่มันมีโรงพยาบาลศูนย์ตรงนี้ ของจังหวัดนี้ ที่ต้องการความช่วยเหลือก่อน ท่านก็จะชี้นำ เพราะผู้อำนวยการโรงพยาบาลแต่ละแห่งท่านก็จะลิงก์กันอยู่ตลอด ฉะนั้นการลงไปในพื้นที่มันเหมือนเป็นการเก็บข้อมูลให้ผมได้นำมาพูดกับทุกคนได้อย่างถูกต้อง

 

     “ทุกคนเคยเห็นโรงพยาบาลของรัฐกันอยู่นะครับ ความหนาแน่น ความอะไรก็น่าจะเคยชิน หรือบางอย่างที่เราไม่เคยเห็นเราก็ได้เข้าไปเห็น โรงพยาบาลบางแห่งพอขึ้นลิฟต์ไปก็เจอเตียงเลย คือทุกพื้นที่เป็นวอร์ดรักษาคนทั้งหมด เปิดลิฟต์ออกมาก็เจอเลย มีคนเอาม่านง่ายๆ มากั้นไว้ หรือคนไข้นอนข้างบน แม่หรือญาติคนไข้นอนข้างล่าง นอนเบียดกันอย่างหนาแน่น พอเห็นอย่างนี้แล้วผมรู้สึกว่ามันน่าจะสบายกว่านี้ได้

     “ผมว่ามันไม่ใช่สบายแค่คนป่วยหรือญาติคนป่วย แต่ยังรวมไปถึงคุณหมอ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่ต้องทำหลากหลายหน้าที่อยู่ตรงนั้น ท่านก็จะได้ทำหน้าที่อย่างสบายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้ามีเตียงที่เพิ่มมากขึ้น หรือมีอุปกรณ์ที่รองรับคนได้อย่างทันที รวดเร็ว ไม่ต้องมารอกัน”

 

 

  1. สื่อสารกำลังใจจากก้าววิ่งและยอดเงินบริจาคจากคนไทย เพื่อส่งต่อกำลังใจไปถึงแพทย์ พยาบาล และบุคลากรด้านสาธารณสุขจากทุกฝ่ายที่ล้วนแล้วแต่ทำงานหนัก

     “ผมอยากให้โครงการที่เราทำกันได้อะไรกลับมาหลายๆ ส่วนมากกว่าได้แค่เงินบริจาคเพียงอย่างเดียว นั่นคือนอกจากอาจจะทำให้ใครหลายๆ คนอยากลุกขึ้นมาออกกำลังกาย ดูแลตัวเองกันมากขึ้น แต่เราใช้การวิ่งครั้งนี้เป็นกระบอกเสียงในการบอกผ่านกำลังใจจากพี่น้องคนไทยไปสู่แพทย์ พยาบาล รวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศเลยนะครับ ไม่ใช่เฉพาะแค่ 11 โรงพยาบาลที่เขาต้องทำงานหนัก ทำงานท่ามกลางความกดดัน ท่ามกลางความไม่พร้อมในหลายๆ อย่าง หรือแม้กับความคาดหวังจากผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยเอง ผมอยากให้โครงการนี้ได้สะท้อนเสียงและกำลังใจจากพวกเราไปถึงกลุ่มคนเหล่านี้”  

 

 

  1. สื่อสารให้การออกวิ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจ ปลุกให้คนไทยลุกขึ้นมาออกกำลังกาย เพราะเขาเล็งเห็นจากต้นเหตุว่าคนไทยสุขภาพดีตั้งแต่แรก นั่นย่อมหมายถึงว่าโรงพยาบาลจะมีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการน้อยลง แพทย์เบาแรงขึ้น เตียงคนไข้จะว่างขึ้น เครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ก็จะถูกใช้งานน้อยลง นั่นหมายความว่าผู้ป่วยจะยิ่งเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

     “ผมเน้นย้ำเสมอ ผมใช้การวิ่งครั้งนี้เป็นเครื่องมือสื่อสารที่เราอยากจะให้ทุกคนออกมาช่วยกันคนละเล็กคนละน้อยมากกว่า ‘การวิ่ง’ เป็นอีกแค่เครื่องมือหนึ่งที่เราอยากให้ทุกคนหันมามอง และเผื่อว่าใครบางคนเห็นการวิ่งครั้งนี้แล้วไปเป็นแรงบันดาลใจให้เขาลุกขึ้นมาออกกำลังกาย ดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง จะได้ช่วยลดคนเจ็บป่วย ที่จะต้องเข้ามาใช้โรงพยาบาลได้อย่างยั่งยืน

     “สุดท้ายเงินบริจาคจะมากน้อยแค่ไหน แต่ภาพที่ผมอยากจะเห็นตรงปลายทางก็คือคนไทยออกมาดูแลตัวเอง มีโภชนาการที่ดี ได้ออกกำลังกายที่ดี ถูกต้อง เหมาะสม และเพียงพอ ผมว่าตรงนี้อาจจะเป็นสิ่งที่แก้ปัญหาโรงพยาบาลล้น หรือเกิดการใช้ทรัพยากรของโรงพยาบาลไปอย่างสิ้นเปลืองอย่างไม่จำเป็นได้ ภาพสุดท้ายที่ผมอยากจะเห็นคือเห็นคนไทยทุกคนออกมาออกกำลังกายและมีสุขภาพดีกันถ้วนหน้า ก็จะเป็นสิ่งที่สวยงามที่สุดสำหรับพวกเราที่ช่วยกันทำโครงการนี้ขึ้นมาครับ”  

 

 

    ลึกซึ้งยิ่งไปกว่านั้น เป้าหมายของตัวเลขบริจาค 700 ล้านที่ดูเหมือนจะมาก แท้จริงแล้วร็อกเกอร์หนุ่มย้ำเสมอว่าไม่ได้ต้องการเงินมากๆ จากคนน้อยๆ แต่เขาต้องการเงินน้อยๆ จากคนจำนวนมากๆ ซึ่งนั่นหมายความถึง ‘การร่วมด้วยช่วยกัน’ ของคนไทยทุกภาคส่วน จากคนที่มีกำลังมากที่สุดถึงคนที่มีกำลังน้อยที่สุด

     “เราอยากจะได้เงินบริจาคเป็นจำนวนมากสักหน่อย เพื่อที่เราจะนำไปสนับสนุนโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งโรงพยาบาลศูนย์แต่ละโรงต้องการเงินจำนวนมาก เพราะเครื่องมือเครื่องใช้ที่เขาอยากได้ค่อนข้างซับซ้อนและมีราคาแพง การที่เราจะได้เงินที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม มันจำเป็นต้องใช้เงินในจำนวนเป็นหลักหลายสิบล้านหรือร้อยล้านต่อโรงพยาบาลหนึ่งโรง ซึ่งก็ตรงกับคำพูดล่าสุดที่เขาพูดไว้ก่อนออกวิ่งเมื่อช่วงเช้าวันนี้ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

     “มันเลยมีตัวเลขกลมๆ ในดวงใจที่ผมคิด เป็นตัวเลขในอุดมคติที่ผมฝันไว้คือจำนวน 700 ล้านอย่างที่ผมเคยพูด เงินจำนวน 700 ล้านนี้ผมอ้างอิงจากไหน ผมอ้างอิงจากจำนวนคนไทยทุกคน เรามีกันอยู่ 70 กว่าล้านคน ซึ่งผมต้องการเงินจากพวกพี่ๆ คนละ 10 บาทเท่านั้นเอง คนละ 10 บาทที่พี่ๆ จะไม่เดือดร้อน เงิน 10 บาทที่บางทีพี่ๆ ไปซื้อขนมสักชิ้น ซื้อน้ำหวานสักขวดหนึ่งยังไม่ได้เลย แล้วจะไปช่วยชีวิตใครได้ หลายคนคงสงสัย แต่ลองเอามากองไว้ ลองเอามันมากองรวมกัน มันจะกลายเป็นเงินจำนวนมาก มันจะกลายเป็นพลัง ผมอยากให้เห็นค่าของการมารวมกัน ร่วมกัน พลังจากเงินก้อนเล็กๆ นี้แหละที่มันมีพลังจริงๆ  

     “ผมเคยสังเกตตามโรงพยาบาล จะมีป้ายบริจาคอยู่ทุกโรงพยาบาลเลย เราก็จะเห็นชื่อนายคนนั้นคนนี้ที่มีนามสกุลใหญ่ๆ โตๆ บริจาคล้านนึง คุณหญิงคนนั้นบริจาคสองล้าน แต่ตอนนี้ผมว่าถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะได้ขึ้นบอร์ดแบบนี้บ้าง เรามีกันคนละสิบบาท แต่เราขึ้นบอร์ดแบบนั้นได้ เรามารวมกัน เรามีไม่เยอะ แต่เราก็ทำประโยชน์ได้เหมือนกัน มันเลยเป็นที่มาของตัวเลข 700 ล้าน”

     ฉะนั้นถ้าจะบอกว่าการก้าวคนละก้าวครั้งนี้ เป็นการก้าวที่ฝันใหญ่ และเป็นก้าวที่สร้างนิยามใหม่ๆ จุดประกายใหม่ๆ ให้กับแนวทางการวิ่งเพื่อสุขภาพในอนาคต THE STANDARD ก็คิดว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องถูกขยายและถูกพูดถึงให้บ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ

FYI
  • คนทั้งประเทศสามารถคลิกเข้าไปติดตามความเคลื่อนไหวทั้งบรรยากาศสด อัพเดตเส้นทางการวิ่ง เลือกช่องทางบริจาคทั้งหมดซึ่งมีวิธีอยู่มากมาย และสำคัญที่สุดคือ ติดตามยอดเงินบริจาคแบบเรียลไทม์นาทีต่อนาทีได้ที่เว็บไซต์ www.kaokonlakao.com/ ส่วนข่าวสารใหม่ๆ ติดตามได้ทางเพจหลักทางเฟซบุ๊ก ‘ก้าว’ www.facebook.com/kaokonlakao และทางช่อง GMM25
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising