×

ก้าวคนละก้าวของ ‘ตูน บอดี้สแลม’ สะท้อนปัญหาอะไรในสาธารณสุขไทย

11.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • นพ. พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ สะท้อนความเห็นถึงต้นตอปัญหาที่ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งอยู่ในสภาพ ‘ขาดแคลน’ ว่า เป็นเพราะการพัฒนาด้านการแพทย์ของไทยกำลังเติบโตแบบพุ่งทะยาน โดยใช้ระบบสาธารณสุขในประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นต้นแบบ ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องดี แต่ขณะเดียวกันการพัฒนาก็เรียกร้องงบประมาณที่สูงตามไปด้วย
  • ดร. บุญวรา สุมะโน นักวิชาการ TDRI มองการวิ่งของ ตูน บอดี้สแลม ว่า คนไทยใจดี ชอบช่วยเหลือคนอื่น แต่ไม่ตั้งคำถามกับการทำความดี ทำให้ปัญหาหลายๆ อย่างยังไม่ถูกแก้ หรือแก้ไม่ตรงจุดสักที
  • ตูน บอดี้สแลม เปิดใจในการวิ่งครั้งแรกว่า “เป้าหมายในฝันของผม คือทำให้โครงการนี้ไปช่วยบอกต่อ ไปช่วยกระตุ้นเตือนให้กับคนในพื้นที่อีกหลายๆ จังหวัด หลายๆ อำเภอ ให้เขาหันกลับไปมองโรงพยาบาลหลังบ้านเขาว่ามีปัญหานี้อยู่หรือเปล่า และถ้าเขาเป็นคนที่มีพลังประมาณหนึ่ง ก็อาจจะริเริ่มทำอะไรสักอย่างเพื่อโรงพยาบาลหลังบ้านเขา อันนี้คือปลายทางในฝันที่อยากให้เกิดขึ้นมาก”

 

 

     เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ตูน บอดี้สแลม สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการออกวิ่งเป็นระยะทาง 400 กิโลเมตรในโครงการ ‘ก้าวคนละก้าว เพื่อโรงพยาบาลบางสะพาน’ ซึ่งการวิ่งครั้งนั้นสามารถระดมทุนจากคนไทยทั้งประเทศเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลในการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ได้สูงถึง 85 ล้านบาท

     ในปีนี้ตูนกำลังจะออกวิ่งอีกครั้งด้วยก้าววิ่งที่ไกลขึ้น จากใต้สุดที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา สู่เหนือสุดที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย รวมระยะทางกว่า 2,191 กิโลเมตร ใช้เวลาวิ่งเกือบ 2 เดือน โดยตั้งเป้าจะได้เงินบริจาคไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท เพื่อนำไปบริจาคให้กับโรงพยาบาลศูนย์จำนวน 11 แห่งทั่วประเทศ

     ตั้งแต่ยังไม่เริ่มออกสตาร์ทก้าวแรก ดูเหมือนว่าการกลับมาอีกครั้งของโครงการ ‘ก้าวคนละก้าว’ จะเต็มไปด้วยคำถามมากมายจากหลายฝ่าย ตั้งแต่การจัดสรรงบประมาณ และการบริหารจัดการงบสาธารณสุขที่มีปัญหาหรือไม่ โดยเปรียบเทียบกับงบกลาโหมที่เพิ่มขึ้นทุกปี เรื่อยไปจนถึงคำถามทำนองว่าทำไมต้องบริจาค ในเมื่อนี่เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ใช่หน้าที่ของประชาชน ซึ่งดูจะเป็นคำถามหนักอึ้งสำหรับคนคนเดียวที่จะตอบได้

     ขณะที่ พญ. พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาชี้แจงว่ากิจกรรม ‘ก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ’ ของ ตูน บอดี้สแลม เป็นตัวอย่างประชารัฐ ที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมวางแผนพัฒนาและสนับสนุน โรงพยาบาลของรัฐเพิ่มเติมจากงบประมาณที่ได้รับในแต่ละปี

     ทำไมงบกลาโหมจึงเพิ่มขึ้นทุกปี? เราขอยกคำถามใหญ่นี้ไปวิเคราะห์ครั้งหน้าแล้วโฟกัสเรื่องการบริหารงบสาธารณสุขก่อน

 

 

     บริจาคดีไหม? เราคงไม่แตะคำถามนี้ เพราะขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองเรื่องนี้อย่างไร

     คำถามสำคัญที่เราให้ความสนใจคือ จะทำอย่างไรให้ทุกก้าววิ่งของตูนเป็นก้าวที่คุ้มค่าที่สุด? เผื่อว่าปีหน้า ตูน บอดี้สแลม จะได้หยุดพักเหนื่อยแล้วไม่ต้องออกไปวิ่งเพื่อใครอีก

 

มาตรฐานทางการแพทย์สูง งบประมาณต่ำ ปัญหาสาธารณสุขไทยที่ใครก็แก้ลำบาก

     จากมุมมองของแพทย์ที่ปฏิบัติงานในชนบท นพ. พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ อดีตเลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน สะท้อนความเห็นถึงต้นตอปัญหาที่ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งอยู่ในสภาพ ‘ขาดแคลน’ จนเป็นที่มาของโครงการระดมเงินบริจาคต่างๆ มากมาย เป็นเพราะการพัฒนาด้านการแพทย์ของไทยกำลังเติบโตแบบพุ่งทะยาน โดยใช้ระบบสาธารณสุขในประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นต้นแบบ ทั้งเรื่องยา เทคโนโลยี การผ่าตัด หรือวิธีการรักษาใหม่ๆ

     ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องดีที่คนไข้ไทยจะได้รับบริการสุขภาพในมาตรฐานที่สูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันการพัฒนาก็เรียกร้องงบประมาณที่สูงตามไปด้วย เมื่อรวมกับปัจจัยที่คนในประเทศมีความแตกต่างทางด้านรายได้สูง ระบบสาธารณสุขไทยจึงต้องพัฒนาไปในทิศทางของหลักประกันสุขภาพที่ออกแบบมาให้คนจนมีสิทธิ์เข้าถึงบริการได้ ทำให้หลายครั้งงบประมาณไม่เพียงพอกับความต้องการ จนเกิดปัญหาขาดแคลนในหลายๆ โรงพยาบาล

     เมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบสแกนดิเนเวียที่หลายประเทศได้ชื่อว่าประชาชนมีความสุขที่สุดในโลก จะเห็นได้ว่าประเทศเหล่านั้นใช้ระบบรัฐสวัสดิการที่เก็บภาษีในอัตราที่สูง โดยรัฐมีหน้าที่ดูแลความจำเป็นขั้นพื้นฐาน งบประมาณจึงจัดสรรให้กับบริการสาธารณสุขได้ค่อนข้างมาก ต่างจากประเทศไทยที่อัตราภาษีต่ำกว่า จึงเป็นเรื่องยากที่จะจัดสมดุลมาตรฐานทางการแพทย์ให้พอเหมาะพอดีกับงบประมาณที่จำกัด

     ดังนั้นในมุมมองส่วนตัวจึงคิดว่าการบริจาคถือเป็นโมเดลที่ดีในการช่วยเหลือโรงพยาบาลที่มีความขาดแคลน เพราะเป็นการดึงทรัพยากรจากคนที่มีมาก นำมาจุนเจือให้กับคนที่มีน้อยกว่า ซึ่งวิธีนี้คือความสมัครใจที่ต่างจากการตั้งกำแพงภาษีที่ทุกคนอาจจะไม่เต็มใจ

 

 

     “ถามว่าถ้าไม่มีเงินบริจาคมาช่วย โรงพยาบาลรัฐจะอยู่รอดไหม ก็อาจจะพอรอด แต่มันคงเป็นไปแบบกระท่อนกระแท่น ยกตัวอย่างโรงพยาบาลบางแห่งที่มีเครื่องมือแพทย์เก่าๆ แต่รัฐยังไม่สามารถจัดหาของใหม่มาทดแทนได้ แพทย์ก็ทนใช้ไปได้แหละ แต่ก็ไม่สามารถให้บริการในแบบที่มีคุณภาพได้ คืออาจจะต้องรอคิวนานหน่อย เครื่องมือไม่พร้อม รักษาได้ไม่เต็มที่ แต่ถ้ามีการบริจาคเพื่อซื้อเครื่องมือใหม่ๆ บุคลากรในโรงพยาบาลก็ทำงานสะดวกขึ้น คนไข้ก็ได้รับบริการที่มีมาตรฐานมากขึ้นเช่นกัน”

 

บริจาคเป็นเรื่องดี แต่ควรมีการตั้งคำถาม

     ด้าน ดร. บุญวรา สุมะโน นักวิชาการ TDRI ผู้เขียนบทความ เงินบริจาค V การจัดการภาษี : กรณีดราม่า ‘พี่ตูน’ วิ่ง เห็นอะไรในสังคมไทย? ในเว็บไซต์ gmlive.com ยืนยันจุดยืนว่าการบริจาคถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะต่อให้มีการจัดเก็บและจัดสรรงบประมาณรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ไม่ได้หมายความว่าเงินบริจาคจะหายไปหรือไม่จำเป็นเลย

     กรณีประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีการจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูง และขึ้นชื่อเรื่องการจัดสรรสวัสดิการให้ประชาชนอย่างอังกฤษ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ แคนาดา นิวซีแลนด์ และไอร์แลนด์ ที่จัดเก็บภาษีถึงร้อยละ 40 แต่ก็ถือเป็นประเทศที่มีอันดับการบริจาคเงินสูงกว่าไทย ดังนั้นประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าจะบริจาคดีไหม เพราะลำพังงบประมาณอย่างเดียวคงไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศทุกด้านได้ แต่อยู่ที่ว่าบริจาคไปทำไมมากกว่า

 

     “กรณีของพี่ตูนสะท้อนสังคมไทยในระดับหนึ่งว่า คนไทยใจดี ชอบช่วยเหลือคนอื่น แต่เราไม่ค่อยทำความดีโดยคาดหวังว่ามันจะเกิดผลอะไร เราทำความดีเพื่อให้รู้สึกดีแล้วจบแค่นั้น ซึ่งมันไม่สามารถไปต่อให้ไกลกว่านั้นได้ อีกอย่างคือเราไม่ค่อยตั้งคำถามกับการทำความดี คือคนจะถามน้อยมากว่าบริจาคแล้วเอาไปทำอะไรบ้าง เวิร์กจริงไหม มีวิธีอื่นหรือเปล่า แต่ส่วนใหญ่ให้แล้วก็ให้เลย

     “เมื่อไม่ตั้งคำถามกับการทำความดี ปัญหาหลายๆ อย่างก็เลยยังไม่ถูกแก้ หรือแก้ไม่ตรงจุดสักที แต่ถ้ามีคนช่วยกันตั้งคำถามและร่วมกันตรวจสอบ บางทีอะไรหลายๆ อย่างในประเทศอาจจะมีการแก้ปัญหาที่ดีขึ้น”

     ดร. บุญวรา ยังขยายความเพิ่มเติมกับ THE STANDARD ว่า โดยธรรมชาติของเงินบริจาคถือเป็นโมเดลที่ขาดความยั่งยืนในตัวของมันเองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นในต่างประเทศจึงมีโมเดลจัดการกับเงินบริจาคอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนกว่า เช่น Social Impact Bonds ที่ระดมเงินบริจาคจากประชาชนทั่วไป โดยมีองค์กรกลางนำเงินเหล่านั้นมาบริหารจัดการ และแจกจ่ายให้องค์กรการกุศลต่างๆ ที่ทำงานตรงกับเป้าหมายที่องค์กรวางไว้ หลังจากนั้นยังมีการตรวจสอบ ติดตามผลลัพธ์โดยองค์กรดังกล่าว

     ถ้าสุดท้ายผลลัพธ์ของโครงการประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ รัฐบาลก็จะเอาเงินมาคืนให้กับผู้บริจาคในตอนแรก ซึ่งผู้บริจาคส่วนใหญ่จะเลือกให้นำเงินนั้นไปขยายผลของโครงการต่อ หรือนำไปทำโครงการอื่นๆ ทำให้เงินบริจาคมีความยั่งยืน ทำซ้ำได้เรื่อยๆ

     “เราไม่ได้โจมตีพี่ตูนเลยนะ แต่การจะบริจาคเงินให้กับโรงพยาบาลศูนย์อย่างน้อยก็ควรจะมีกลไกบางอย่างที่จะไปติดตามว่าเงิน 700 ล้านที่ตั้งใจไว้ ภายในกี่ปีจะต้องเกิดผลอะไรบ้าง แต่ถ้าให้แล้วจบเลย เดี๋ยวปีหน้าพี่ตูนก็ต้องออกมาวิ่งอีกรอบ เพราะมันง่ายเกินไป เดี๋ยวก็จะมีคนอื่นๆ มาหาพี่ตูนให้วิ่งอีก”

 

โรงพยาบาลศูนย์ VS. โรงพยาบาลชุมชน ฟังก์ชันที่แตกต่างกัน

     หลายคนตั้งคำถามในช่วงเวลาที่ผ่านมาเมื่อได้ยินเรื่องราวของโครงการก้าวคนละก้าวครั้งใหม่ว่า ทำไมต้องเป็นโรงพยาบาลศูนย์ ที่จะว่าไปแล้วนับเป็นโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในทุกๆ ด้านมากกว่าโรงพยาบาลชุมชนที่มีขนาดเล็กกว่า

     สำหรับโรงพยาบาลในประเทศไทย สังกัดกระทรวงสาธารณสุข สามารถแบ่งได้เป็น

     โรงพยาบาลปฐมภูมิ หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ. สต.) สามารถรองรับคนไข้เจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ได้ รักษาโรคพื้นฐานที่ไม่ร้ายแรง หรือแม้แต่ทำคลอดแบบง่ายๆ ได้

     โรงพยาบาลประจำอำเภอ และโรงพยาบาลประจำจังหวัด รองรับคนไข้ได้มากกว่าด้วยจำนวนเตียงที่มากกว่า มีเครื่องมือทันสมัย แต่ไม่ซับซ้อน เช่น เครื่องเอกซ์เรย์ มีจำนวนแพทย์มากกว่า รพ. สต.

     โรงพยาบาลศูนย์ เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่แบ่งตามเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข 13 เขต ในหนึ่งแห่งสามารถรองรับผู้ป่วยจากจังหวัดต่างๆ ได้ประมาณ 4-6 จังหวัด ตามจำนวนประชากรในพื้นที่นั้นๆ มีแพทย์เฉพาะทาง อุปกรณ์ทางการแพทย์ทันสมัย สามารถรักษาโรคที่มีความซับซ้อนหรือเรื้อรัง เช่น มะเร็ง หรือโรคที่ต้องผ่าตัด

     ซึ่งในมุมมองของ นพ. พงศ์เทพ คิดว่าการบริจาคให้กับโรงพยาบาลเล็กหรือใหญ่ล้วนมีประโยชน์ไม่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของผู้บริจาคเองมากกว่า

     “เวลาคนบริจาคเราอย่าไปถามว่าทำไมเขาต้องให้ใคร เพราะมันแล้วแต่ความสมัครใจของเขา แล้วจริงๆ ช่วยใครก็ดีทั้งนั้น เพราะถือว่าช่วยระบบสาธารณสุขเหมือนกัน คราวที่แล้วคุณตูนช่วยโรงพยาบาลบางสะพาน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กไปแล้ว คราวนี้ก็มาช่วยโรงพยาบาลใหญ่บ้าง ก็วิน-วินด้วยกันทุกฝ่าย”

     ต่างจาก ดร. บุญวรา ที่มองว่าหากอยากให้เกิดประโยชน์สูงสุดคงต้องมองว่าปัญหาที่ทำให้โรงพยาบาลศูนย์ต้องรับภาระผู้ป่วยเป็นจำนวนมากจนเกิดภาวะขาดแคลนคืออะไร เป็นเพราะโรงพยาบาลขนาดเล็กขาดแคลนเครื่องมือแพทย์หรือบุคลากร จนทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ถูกส่งตัวไปรวมกันที่โรงพยาบาลศูนย์หรือไม่ หรือเป็นเพราะงบป้องกันส่งเสริมยังไม่เพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้ประชาชนเจ็บป่วยได้

 

 

     “ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ถ้าเลือกแค่เฉพาะโรงพยาบาลศูนย์ 11 แห่ง แล้วส่วนที่เหลือล่ะ ซึ่งส่วนตัวมองว่าภาระหน้าที่ของเขาก็คงไม่ได้น้อยไปกว่า 11 แห่งที่มีปัญหา แต่เขาอาจจะบริหารจัดการเงินได้ดีกว่าหรือเปล่า อย่างนี้อาจจะเหมือนกับว่าคนทำดีแต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ ทั้งที่เขาก็อาจจะต้องการเงินเหมือนกัน แต่ไม่มีตัวเลขโชว์ออกมาว่าเขาขาดทุน เพราะเขาบริหารดีกว่า แล้วเราจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร

     “ย้ำอีกครั้งว่า เงินบริจาคนั้นดี พี่ตูนจะวิ่งระดมเงินมาเท่าไหร่เอาไปให้ใครก็ย่อมดี แต่จะทำดีทั้งทีต้องหวังผลด้วย จะหยุดแค่การทำดีทำไม ถ้าคุณทำให้ดีกว่าได้” ดร. บุญวรา กล่าวทิ้งท้าย

     ไม่ว่าจะอย่างไร THE STANDARD เชื่อว่าก้าววิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นของ ตูน บอดี้สแลม น่าจะเป็นก้าววิ่งที่คิดมาเป็นอย่างดีแล้ว สังเกตจากการเปิดใจผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ของทีมงาน THE STANDARD ว่า ก่อนหน้าที่จะเริ่มโครงการได้เข้าพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอคำปรึกษาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหลังจากนี้คงต้องติดตามและร่วมบริจาคเพื่อให้กำลังใจกับทุกก้าวของเขาต่อไป

     หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้นอาจจะใช้โอกาสนี้ลองมองไปรอบๆ ตัวของคุณเพื่อค้นหาว่ายังมีความขาดแคลนใกล้ๆ ตัวปรากฏอยู่หรือไม่ แล้วถ้าพอจะทำอะไรได้ก็ยื่นมือให้ความช่วยเหลือตามความสามารถที่แต่ละคนมี เหมือนที่ตูนเคยให้สัมภาษณ์ถึงเป้าหมายในการวิ่งครั้งแรกไว้ว่า

     “เป้าหมายในฝันของผม คือทำให้โครงการนี้ไปช่วยบอกต่อ ไปช่วยกระตุ้นเตือนให้กับคนในพื้นที่อีกหลายๆ จังหวัด หลายๆ อำเภอ ให้เขาหันกลับไปมองโรงพยาบาลหลังบ้านเขาว่ามีปัญหานี้อยู่หรือเปล่า และถ้าเขาเป็นคนที่มีพลังประมาณหนึ่ง ก็อาจจะริเริ่มทำอะไรสักอย่างเพื่อโรงพยาบาลหลังบ้านเขา อันนี้คือปลายทางในฝันที่อยากให้เกิดขึ้นมาก”

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

อ้างอิง:

 

FYI

ช่องทางการบริจาค (เริ่มบริจาคได้ตั้งแต่วันนี้)

  1. บัญชีรับบริจาค: ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขารัชโยธิน

ชื่อบัญชี มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในพระราชูปถัมภ์ฯ (โครงการก้าวคนละก้าว) เลขที่บัญชี 111-393-5263 (กระแสรายวัน)

  1. SMS: บริจาคครั้งละ 10 บาท พิมพ์ T แล้วกดส่งมาที่ 4545099 (เฉพาะเครือข่าย AIS, DTAC และ TrueMove H ไม่หักค่าใช้จ่าย) หมายเหตุ: ทุกยอดเงินบริจาคไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
  2. พร้อมเพย์: โอนเงินผ่านพร้อมเพย์ไปที่เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของมูลนิธิฯ 0994000005261 (โอนฟรีไม่มีค่าธรรมเนียม)

ติดตามรายละเอียดของโครงการได้ที่ Facebook ก้าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X