วันนี้ (7 เมษายน) กัณวีร์ สืบแสง สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเมียนมาทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศไทย ขอส่งกลับทหารเมียนมาและครอบครัว 617 คนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบในเมืองเมียวดี กลับทางท่าอากาศยานแม่สอด หรือสนามบินแม่สอด จังหวัดตาก
กัณวีร์เปิดเผยว่า ไทยต้องตัดสินใจอย่างระมัดระวังที่จะเปิดสนามบินแม่สอดส่งกลับทหารเมียนมาที่แพ้สงคราม แม้ทำได้ตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ IHL แต่อาจส่งผลให้เกิดความรุนแรงและการอพยพของผู้ลี้ภัยจากเมียวดี เพราะสถานการณ์ที่อ่อนไหวบริเวณชายแดนจากกรณีทหารเมียนมาขอให้ส่งเชลยศึกและครอบครัวรวมจำนวน 617 คนที่แพ้สงครามกับกองกำลังชาติพันธุ์ติดอาวุธบริเวณเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง เมียนมา กลับพื้นที่ส่วนกลางประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นพื้นที่การดูแลของทหารเมียนมา โดยผ่านการใช้ท่าอากาศยานแม่สอด จังหวัดตากนั้น ซึ่งไทยสามารถพิจารณาปรับใช้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกับการร้องขอส่งกลับเชลยศึกเมียนมาผ่านพรมแดนไทย
“หลายคนถามว่าทำได้ไหมและควรจะเป็นอย่างไร ถึงแม้ผมยังไม่ได้ทำงานเต็มร้อยในกรรมาธิการของสหภาพรัฐสภาโลกด้านการส่งเสริมการเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ แต่ขออนุญาตให้ความเห็นตรงนี้ว่า ตามกฎหมายด้านนี้ ‘ทำได้’ เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายก็เพื่อให้ความคุ้มครองต่อ ‘เชลยศึก’ (Prisoners of War: POWs) ให้ถูกละเมิดให้น้อยที่สุดและให้การละเมิดจบโดยเร็วที่สุด โดยการที่กำหนดว่า หลังการปะทะและสงครามเสร็จสิ้นแล้ว สมควรจะต้องส่งกลับเชลยศึกโดยเร็วที่สุดโดยปราศจากความล่าช้าทุกประการ คือเราควรเห็นว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่สำคัญตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ต้องปรับใช้ในยามสงคราม”
กัณวีร์ยอมรับว่า ยังมีข้อกังวลอีกมากหากไทยอนุญาต แต่ตามกรอบกฎหมายระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรมสามารถทำได้ทั้งการถูกมอบอำนาจโดย ‘ฝ่ายที่ชนะ’ และการเป็น ‘ประเทศที่เป็นกลาง’ ในการดูแลและการส่งกลับเชลยศึก กฎหมายนี้จะใช้เฉพาะเมื่อสงครามเกิดทั้งสงครามระหว่างประเทศ (International Armed Conflict) และสงครามที่ไม่ใช่ระหว่างประเทศ (Non-International Armed Conflict) เพียงเท่านั้น
“หากไทยถูกร้องขอให้ช่วยในฐานะประเทศที่เป็นกลาง (Neutral Country) เราก็ควรทำให้เป็นไปตามเจตจำนงและเจตนารมณ์แห่งกฎหมายระหว่างประเทศฉบับนี้เสีย และที่สำคัญที่สุดคือ เชลยศึกผู้ถูกส่งกลับแล้วต้องไม่กลับไปเป็นกองกำลังอีก นี่คือหลักการที่สำคัญของกฎหมายนี้”
ส่วนข้อกังวลที่ว่า ทหารพ่ายศึกจะถูกดำเนินคดีใดๆ หรือไม่ กัณวีร์ระบุว่า ต้องแยกออกเป็น 2 เรื่อง คือ
- ระเบียบปฏิบัติและกฎหมายภายในกองทัพเมียนมา ก็ว่ากันไปตามกฎและระเบียบภายใน ซึ่งใครก็คงไม่สามารถไปแทรกแซงได้
- ในขณะที่ไทยต้องรับผิดชอบดูแลเชลยศึกใดๆ ก็ตาม หากมีข้อกังวลอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับเจ้าตัวเชลยศึกเองและเป็นการร้องขอใดๆ ตามหลักการร้องขอด้านมนุษยธรรม ไทยก็มีสิทธิเด็ดขาดในการพิจารณาตามหลักการของไทย รวมถึงจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะเรื่องหลักการไม่ส่งกลับ (Non-Refoulement) ซึ่งก็คงต้องว่าไปเป็นรายกรณี
“สถานการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นอีก จึงขออนุญาตเสนอให้ไทยทำระเบียบปฏิบัติประจำ (รปจ.) หรือ Standard Operation Procedures หรือ SOPs ด้านนี้รอไว้ได้เลยครับผม แต่อย่างไรก็ตาม ต้องคอยดูสถานการณ์ดีๆ และต้องระมัดระวังไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือต่อการสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงด้วย และเป็นเรื่องที่ไทยจะต้องเตรียมตัวรับมือ”
กัณวีร์ระบุอีกว่า นี่จึงเป็นการตัดสินใจที่ยากสำหรับรัฐบาลไทย และต้องระมัดระวังไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือต่อการสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยจะต้องเตรียมตัวรับมือ นอกจากมีผู้ลี้ภัยที่อยู่ประชิดชายแดนกว่า 6 แสนคนแล้ว สถานการณ์ในเมียวดีจะกระทบโดยตรงกับไทย ซึ่งน่าเสียดายที่ข้อเสนอการเปิด Safety Zone ระยะ 5 กิโลเมตรชายแดนเมียนมายังไม่เกิดขึ้น แต่ก็อยากผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เช่นเดียวกับระเบียงมนุษยธรรมและระเบียงสันติภาพที่ต้องเริ่มทำได้แล้ว