หลังจาก THE STANDARD POP ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ ครูสอนภาษาอังกฤษเจ้าของโรงเรียน Angkriz และพิธีกรรายการ ถกถาม เกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสอย่างถูกกฎหมายกับพาร์ตเนอร์ที่ประเทศอังกฤษ ในรายการ THE INTERVIEW Pride Month เราจึงอยากหยิบเอาบางช่วงบางตอนที่น่าสนใจมาให้ทุกท่านได้อ่านกันอีกครั้ง
รายการในครั้งนี้เน้นน้ำหนักไปที่การพูดถึงประเด็นการสมรสเท่าเทียม ความเท่าเทียมทางเพศ และการโอบรับเพศหลากหลายในสังคมผ่านมุมมองของลูกกอล์ฟ ที่เต็มไปด้วยมิติของการปลดล็อกในฐานะคนที่เติบโตมากับสังคมที่ไม่ยอมรับตัวตนของเขามากเพียงพอ และแรงใจที่อยากให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่ตอบรับกับโลกที่มีความหลากหลายให้มากขึ้น
สามารถรับชมรายการ THE INTERVIEW Pride Month ลูกกอล์ฟ คณาธิป ในวันที่ ‘การสมรส’ ไม่จำเป็นต้องผ่านด่าน ได้ที่
รายการนี้เริ่มต้นด้วยคำถามง่ายๆ เกี่ยวกับความสำคัญของการสมรสหรือการแต่งงานของกลุ่ม LGBTQIA+ ที่น่าจะทำให้หลายคนเข้าใจหัวอกของพวกเขามากขึ้น ซึ่งลูกกอล์ฟตอบคำนี้ไว้ส่วนหนึ่งว่า การแต่งงานมันสำคัญสำหรับคนที่เขาอยากไปต่อกับชีวิตคู่ พร้อมพูดเพิ่มเติมอีกว่า
“แล้วนี่แต่งมาแล้ว เซ็นใบทะเบียนสมรสเรียบร้อยแล้ว มีใบเลย ที่บอกว่าคุณคือคู่สมรสกันอย่างถูกกฎหมาย สังคมยังไม่เห็นล่มสลายเลย และสังคมก็มีความหลากหลาย ก็มีคนตั้งหลายศาสนาที่ประเทศอังกฤษ ยังไม่เห็นความล่มสลายของสังคมเลย”
แค่เดินไปที่สำนักงานเขตหรืออำเภอ การแต่งงานระหว่างชายและหญิงก็สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเรียบง่าย แต่สำหรับ LGBTQIA+ หลายๆ กลุ่มพวกเขาไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ลูกกอล์ฟคือหนึ่งในคนที่อยากไปต่อกับชีวิตคู่ และตัดสินใจไปจดทะเบียนสมรสในต่างประเทศ เล่าถึงความรู้สึกหลังจรดปลายปากกาลงบนใบทะเบียนสมรสไว้ว่า
“พอมันมีแง่กฎหมายตรงนี้ มันทำให้เรารู้สึกปลอดภัย แล้วรู้สึกธรรมดา มันเป็นความรู้สึกนี้เอง ความรู้สึกที่กฎหมายเปิดประตูให้เราไปต่อกับชีวิตคู่ในแบบที่ธรรมดา อ๋อ มันเป็นอย่างนี้เอง คนที่ไม่ต้องผ่านด่าน”
ท่ามกลางแรงผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ก็ย่อมมีแรงต้านเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะจากหญิง ชาย หรือคนในกลุ่ม LGBTQIA+ เอง หลายครั้งที่เกิดการถกเถียงก็จะเกิดการเปรียบเทียบกับหลายๆ ประเทศ บ้างบอกว่าสิ่งที่เราเป็นอยู่ในตอนนี้ทั้งแง่ของการรับรู้และยอมรับเพศหลากหลายมันดีแล้ว ‘จะเอาอะไรอีก?’ โดยเปรียบเทียบกับประเทศที่มีกฎหมายลงโทษกลุ่ม LGBTQIA+ อยู่ ซึ่งลูกกอล์ฟก็พูดถึงประเด็นนี้ไว้ได้น่าสนใจว่า
“การเปรียบเทียบในสิ่งสิ่งหนึ่งเพื่อให้เกิดการพัฒนา เราควรเปรียบเทียบกับประเทศที่มันดีกว่าไหม
“ถ้าคุณไปประเทศอื่นๆ ที่เขายังเฆี่ยนหรือปาหินกันอยู่ถ้าเป็นกะเทย ประเทศไทยเป็นสวรรค์ไง แต่คำถามคือคุณจะใช้การเปรียบเทียบนี้ไปเรื่อยๆ ทำไมนะ ในเมื่อนั่นมันไม่ใช่สังคมที่ควรจะเป็นหรือเปล่า”
เมื่อปี 2564 เว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่คำวินิจฉัยเกี่ยวกับคดีที่ถูกเรียกว่า ‘คดีสมรสเท่าเทียม’ โดยมีใจความโดยสรุปว่า การอนุญาตให้ชายและหญิงสมรสกันเท่านั้น ได้ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เพราะการสมรสมีไว้เพื่อสร้างครอบครัวและดำรงเผ่าพันธุ์ พร้อมมีข้อความตอนหนึ่งว่า ในเอกสารที่กล่าวว่า ‘การสมรสระหว่างบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศอาจไม่สร้างความผูกพันอันละเอียดอ่อนได้’
ซึ่งลูกกอล์ฟก็ได้แสดงความคิดเกี่ยวกับใจความบางส่วนของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้ว่า
“เพียงเพราะมันเป็นกฎหมายที่ถูกตราขึ้นมาโดยคนกลุ่มหนึ่ง ที่ไร้ซึ่งความลื่นไหลทางเพศ หรือความเข้าใจทางเพศของโลกที่มันเปลี่ยนไปแล้ว และไร้ซึ่งการพยายามที่จะอัปเดตข้อมูลใหม่ๆ เพื่อให้ประเทศเรามันไปอยู่ในโลกนี้ได้ เพียงแค่ว่ามันเป็นกฎหมายหรือคำพิพากษามาแล้ว ไม่ได้หมายความว่ามันยุติธรรม”