×

สว. 67 : คำนูณ สิทธิสมาน คนที่มาจากรัฐประหารไม่ได้เลวทั้งหมด ฉากชีวิตหลังพ้น สว. เข้าวัดปฏิบัติธรรม สู่สัปปายะอย่างแท้จริง

12.06.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • คำนูณ สิทธิสมาน ยอมรับว่า ‘สว. ชุดที่ 12’ ที่เป็นสมาชิกอยู่ด้วย เป็น สว. ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบมากที่สุด แค่เห็นหน้าก็ด่าไว้ก่อน โดยที่ไม่พิจารณาว่าเขาพูดอะไร 
  • ฝากรัฐบาลเศรษฐาช่วยสานต่อกฎหมายขายฝาก เชื่อประชาชนคือคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด
  • ภูมิใจกับตำแหน่ง สว. ชี้คนที่มาจากรัฐประหารไม่ได้เลวทั้งหมด ใจหายเมื่อต้องพ้นวาระ ฉากชีวิตหลังจากนี้ เข้าวัดปฏิบัติธรรม เข้าสู่สัปปายะอย่างแท้จริง

THE STANDARD ร่วมบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านการสนทนาพิเศษกับสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดที่ 12 ชุดที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘สว. ชุดพิเศษ’ ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงผลงาน 5 ปีที่ผ่านมา และก้าวต่อไป หลังเข้าสู่ช่วงพ้นวาระ

 

การสนทนาครั้งที่ 4 เป็นการสนทนาพิเศษกับ คำนูณ สิทธิสมาน นักกฎหมาย

อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้ที่เคยผ่านการทำหน้าที่ สว. มาตั้งแต่ปี 2551 ตั้งแต่ชุดที่ 10 – ปัจจุบัน เป็นอีกคนที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม สว. ตัวตึง และปรากฏอยู่บนหน้าพื้นที่ข่าวมาตลอด 

 

แม้คำนูณจะดำรงตำแหน่ง สว. ครบวาระ 5 ปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่เขายังคงเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ที่อาคารรัฐสภา เข้าร่วมการประชุมเช่นปกติ เนื่องจากต้องรักษาการไปจนกว่าจะได้ สว. ชุดใหม่ 

 

สว. วัย 69 ปี ปรากฏตัวที่ศูนย์บริการ Call Center วุฒิสภา ชั้น 2 ภายในสัปปายะสภาสถาน ด้วยการสวมชุดทำงานปกติที่ไม่ได้ทางการมากนัก แต่มีความ Smart Casual สวมกางเกงสีเทาเข้ม แมตช์ด้วยเสื้อเชิ้ตสีฟ้าอ่อน สวมสูทสีดำทับ โดยไม่ได้ผูกเนกไท 

 

พร้อมทั้งเซอร์ไพรส์ด้วยการสะพายกระเป๋าที่ห้อยพวงกุญแจลาบูบู้สีครีม (Soymilk) ตุ๊กตาที่ฮิตที่สุดในเวลานี้ มากไปกว่านั้นยังสวมใส่ชุดที่มีลักษณะคล้ายจีวรพระที่ลูกชายมอบให้ มาพูดคุยเปิดใจทุกเรื่อง ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของเขา ต่อ THE STANDARD

 

คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ยิ้มเขิน

หลังถูกถามถึงพวงกุญแจลาบูบู้สีครีม (Soymilk) ที่สวมใส่ชุดที่มีลักษณะคล้ายจีวรพระที่ลูกชายมอบให้

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

 

“มีลาบูบู้ด้วย แต่ทำไมชุดเป็นจีวรพระคะ” THE STANDARD กล่าวทักทาย ก่อนเริ่มต้นการสัมภาษณ์พิเศษอย่างเป็นทางการ 

 

“ลูกชายให้มา ส่วนชุดเขา (ลูกชาย) ก็ให้มาเช่นกัน 1-2 ปีผ่านมา เขาเห็นพ่อเริ่มเข้าวัด มุ่งหาธรรมะ จึงได้เลือกชุดนี้ให้” คำนูณอมยิ้ม และตอบด้วยอาการเขินเล็กน้อย ก่อนจะมุ่งหน้ามายังโซฟา ซึ่งเป็นจุดที่สัมภาษณ์ และเริ่มต้นการพูดคุยอย่างเป็นทางการ

 

แม้ถูกวิจารณ์เชิงลบมากที่สุด แต่ยังทำหน้าที่ได้ดี

 

คำนูณเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการ ‘ยอมรับ’ และขออยู่กับความเป็นจริงว่า ‘สว. ชุดที่ 12’ ที่เขาร่วมเป็นสมาชิกด้วยนี้ เป็น สว. ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบมากที่สุด โดยมีเหตุผลเพียงข้อเดียวคือ สว. ชุดนี้มาจากการแต่งตั้งของ คสช. 

 

เหนือไปกว่านั้นคือ สว. ชุดนี้ยังมีอำนาจพิเศษที่ได้ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ที่แม้แต่ สว. ในอดีตหรือ สว.ในอนาคตก็คงไม่มีอำนาจนี้อีกแล้ว และตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สว. ชุดที่ 12 ทำหน้าที่หลายๆ ด้านได้ดี แต่ไม่กล้าพูดว่าดีมากหรือไม่ รวมถึงไม่กล้าที่จะให้คะแนนตัวเองด้วย 

 

คำนูณอธิบายเพิ่มเติมถึงหน้าที่หลักว่า สว. มีหน้าที่กลั่นกรองร่างกฎหมายที่ถูกส่งต่อมาจากสภาผู้แทนราษฎร หากจะกล่าวถึงการกลั่นกรองร่างกฎหมายแล้ว เชื่อว่า สว. ทุกชุด รวมถึงชุดที่ 12 นี้ ทำได้ดีตามปกติ และได้รับการยอมรับเช่น สว. ในอดีตที่ผ่านมา

 

เนื่องด้วยคุณสมบัติของบุคคลที่เข้ามารับตำแหน่ง สว. รัฐธรรมนูญได้ระบุไว้ว่า เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความเป็นผู้ใหญ่ อายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่ก็เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เชี่ยวชาญด้านต่างๆ โดยเฉพาะกฎระเบียบหรือเทคนิคต่างๆ ในการทำหน้าที่

 

คำนูณ สิทธิสมาน ขณะให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD

ที่ศูนย์บริการ Call Center วุฒิสภา ชั้น 2 ภายในสัปปายะสภาสถาน

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

ตัวอย่างเช่น ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 และวาระ 3 ต่อที่ประชุมวุฒิสภาในวันที่ 18 มิถุนายนนี้ หลายคนมองว่า สว. เป็นกลุ่มคนอายุมาก เป็นอนุรักษนิยม และจะรับไม่ได้กับร่างกฎหมายนี้ ทุกคนเหมือนอยากฟังเสียงคัดค้าน แต่ปรากฏว่าสุดท้ายก็ผ่านฉลุย โดยที่บรรยากาศการทำงานของ สว. และภาคประชาชนก็เป็นไปค่อนข้างดี

 

สว. ก็เป็นมนุษย์ แต่เผอิญเป็นมนุษย์ที่เข้ามาสู่ระบบการเมืองโดยไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน เห็นหน้าผมหรือเห็นหน้า สว. ชุดนี้ก็ด่าไว้ก่อน โดยที่ไม่ดูว่าเขาพูดอะไร 

 

ส่วนการทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เรื่องนี้ต้องยอมรับว่าบุคคลเหล่านั้นผ่านกระบวนการสรรหามาแล้ว 1 รอบ โดยที่ สว. ไม่ได้มีสิทธิเลือก ทำได้เพียงให้ความเห็นหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น และหลายครั้ง สว. ก็ไม่ได้ให้ความเห็นชอบ

 

ส่วนหน้าที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐบาล ทั้งการตั้งกระทู้ถามสด การยื่นญัตติ หรือการอภิปราย โดยภาพรวมเราก็ทำหน้าที่ได้ดีพอสมควร

แม้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเมื่อเดือนมีนาคม 2567 ในช่วงรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน

 

คำนูณ สิทธิสมาน เข้าร่วมการประชุมสมาชิกวุฒิสภา เพื่อร่วมอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่ลงมติตามมาตรา 153 ของวุฒิสภา

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

คำนูณทราบดีถึงสิ่งที่สังคมตั้งคำถามขึ้นมาว่า ทำไมรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นผู้ที่แต่งตั้ง สว. ชุดนี้ ถึงไม่ถูกยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายเลย 

 

“เราเคยมีความพยายามยื่นญัตติแล้ว แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากเพื่อนสมาชิก เนื่องจากการยื่นขอเปิดอภิปรายแต่ละครั้งนั้นต้องใช้เสียงสนับสนุน 1 ใน 3 ซึ่งเราก็เข้าใจดีถึงสาเหตุที่เพื่อนสมาชิกไม่ได้ลงชื่อ”

 

หรืออีกด้านหนึ่งคือกำกับดูแลการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะในการทำงานช่วง 4 ปีแรก รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งเป็นบุคคลเดียวที่แต่งตั้ง สว. เข้ามา หลายคนก็ยังมีความเห็นอกเห็นใจรัฐบาล และเชื่อว่ารัฐบาลเผชิญศึกหนักมากมายพอสมควรแล้ว

 

“การทำงานของ สว. ภายใต้รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ และรัฐบาลเศรษฐาแตกต่างกันหรือไม่” THE STANDARD ถาม 

 

คำนูณกล่าวว่า ไม่ได้แตกต่างกัน เพราะทั้งสองรัฐบาล ไม่ว่าจะรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ หรือรัฐบาลเศรษฐา หากไม่ได้อยู่ในช่วงการเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งสองรัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ สว. มากนักอยู่แล้ว

 

คำนูณ สิทธิสมาน (คนที่สวมหน้ากากอนามัย) กำลังสนทนากับเพื่อนสมาชิกวุฒิสภาระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

“ช่วงที่มีการเลือกนายกรัฐมนตรี ทุกพรรคแม้กระทั่งพรรคก้าวไกลมาพบพวกเรา มีการพูดคุยกัน แม้กระทั่งรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ก็เช่นกัน แต่ พล.อ. ประยุทธ์ อาจมีความสัมพันธ์มากกว่า เนื่องจาก สว. บางคนเป็นเพื่อนท่านด้วย”

 

แต่เมื่อผ่านพ้นการเลือกนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ทั้งสองรัฐบาลไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวหรือสั่งการแสดงความใกล้ชิดใดๆ ก็ไม่ได้ทำให้มีปัญหาและอุปสรรคใดๆ เมื่อเราได้พบกันในการประชุมร่วมกันกับ สส. ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ทุกอย่างเป็นไปตามปกติ เป็นเรื่องของมนุษยสัมพันธ์ มีการทักทายพูดคุยกันตามปกติ

 

ฝากรัฐบาลเศรษฐาช่วยสานต่อ ‘กฎหมายขายฝาก’

 

คำนูณบอกเล่าผลงานที่เขาภาคภูมิใจที่สุดในการได้เข้ามาเป็น สว. คือ การได้มีโอกาสและมีส่วนร่วมในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ผ่านร่างกฎหมาย และบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2562 

 

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในใจของผมมาไม่ต่ำกว่า 50 ปี ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นกฎหมายที่เอารัดเอาเปรียบคนยากคนจน โดยเฉพาะชาวนาชาวไร่อย่างเห็นได้ชัดเจน” 

 

กฎหมายดังกล่าวนี้เป็นกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ว่าด้วยการขายฝาก ซึ่งให้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้อย่างมหาศาล ในมุมมองของตนเองนั้น เห็นว่าเป็นการกระทำนิติกรรมอำพรางของการกู้ยืมเงินอย่างหนึ่ง

 

คำนูณอธิบายให้เห็นภาพอีกว่า ชาวนาที่เป็นคนจน ต้องสูญเสียที่ดินไปจำนวนมหาศาล แต่การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการขายฝากนั้นเป็นเรื่อง ‘ยากแสนเข็ญ’ แม้จะตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและพยายามแก้ไข แต่ก็ยังไม่สำเร็จ และมีเหตุให้กฎหมายมีอันเป็นไปทุกครั้ง

 

จนมาถึงเมื่อครั้งที่ตนเองเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ที่มี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ได้พูดคุยกันว่า มีกฎหมายอะไรบ้างที่เราต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลง โดยตนเองได้เสนอเรื่องนี้เข้าไป ซึ่งบวรศักดิ์ได้ขานรับและดำเนินกระบวนการสำเร็จภายใน 2 ปีในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ 

 

คำนูณ สิทธิสมาน ระหว่างทำหน้าที่ภายในห้องประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

โดยมีการเปลี่ยนแปลงการขายฝากให้เป็นกฎหมายพิเศษ เมื่อเข้าไปดำรงตำแหน่ง สว. กระทู้แรกที่ตั้งถามนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับพระราชบัญญัติขายฝากฉบับใหม่ที่ให้มีการปรับเปลี่ยนการเสียภาษีขายฝาก 

 

โดยผลักภาระการจ่ายภาษีนี้ให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่ซื้อฝากฝ่ายเดียว จึงตั้งกระทู้ถามสดเป็นกระทู้แรกของวุฒิสภาว่า เรื่องนี้รัฐบาลพิจารณาไปถึงไหนแล้ว และรัฐบาลจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

 

ตอนนั้น สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังขณะนั้นได้เข้ามาตอบ โดยตอบแบ่งรับแบ่งสู้ ก็รับปากไป และจนถึงบัดนี้ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม 

 

จึงขอฝากไปยังรัฐบาลว่า ขอให้รัฐบาลช่วยพิจารณาเรื่องภาษีภาระที่คนยากคนจนนำที่ดินมาฝากขาย เมื่อได้รับเงินจากผู้ซื้อฝากต้องเสียภาษีก่อน เนื่องจากเป็นเงินได้ประเภทหนึ่ง มันดูโหดร้ายกับเขา 

 

“ไหนๆ รัฐบาลชุดนี้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ถ้าท่านทำเรื่องนี้ได้จะเป็นคุณูปการอย่างยิ่ง เรื่องนี้ทำได้โดยไม่ต้องออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ โดยใช้อำนาจฝ่ายบริหารของกระทรวงการคลังออกประมวลรัษฎากรได้

 

เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับพรรคหรือฝ่ายใด สุดท้ายแล้วคนที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้คือประชาชน และมีประชาชนที่เจ็บปวดจากการขายฝากที่ต้องสูญเสียที่ดินไปแล้วจำนวนมาก หากเราไม่ได้เกิดมาเป็นลูกคนรวย และมีพื้นเพอยู่ต่างจังหวัด เราจะเข้าใจปัญหาได้ดี และเรื่องนี้รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ทันที

 

คำนูณ สิทธิสมาน ที่มีรัฐสภาหมื่นล้านเป็นฉากหลัง

ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

 

คนที่มาจากรัฐประหารไม่ได้เลวทั้งหมด 

 

“รู้สึกภาคภูมิใจกับตำแหน่งนี้ไหม และรู้สึกอย่างไรกับคำว่า สว. เป็นทายาท คสช. ที่มาจากการทำรัฐประหาร” THE STANDARD ถาม

 

คำนูณตอบว่า ส่วนตัวก็มีความภาคภูมิใจกับตำแหน่ง สว. และภายใต้ข้อจำกัดหลายอย่าง แต่ยังสามารถทำหน้าที่ได้ดีในระดับหนึ่ง แม้จะไม่สามารถอธิบายตัวเองต่อสังคมได้ และในหลายๆ กรณีก็ไม่ได้ประสงค์ที่จะอธิบายตัวเองกับสังคมเช่นกัน 

 

“เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องของฐานคิด เมื่อเรามีแนวคิดที่ต่างกันแล้ว หรือมีอคติต่อกัน ก็ค่อนข้างที่จะยาก ผมก็เข้าใจได้ ผมไม่โทษคนที่วิพากษ์วิจารณ์ทุกคน เมื่อเข้าสู่อำนาจล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสียทั้งนั้น”

 

บัตรประจำตัวในฐานะสมาชิกวุฒิสภาของคำนูณ สิทธิสมาน

ซึ่งเป็นสมาชิกลำดับที่ 15 จากจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งสิ้น 250 คน 

ภาพ: ณาฌารัฐ​ ภักดีอาสา 

 

ส่วนคำว่า ทายาท คสช. ที่มาจากการทำรัฐประหารนั้น เราไม่ปฏิเสธ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่มาจากการทำรัฐประหารเป็นคนเลวเสียทั้งหมด หรือไม่มีอะไรดี เข้ามาเพียงเพราะแสวงหาอำนาจหรือสืบทอดอำนาจ ตนเองเข้าใจ แต่ไม่ได้มองเช่นนั้น ทุกอย่างมีเหตุและมีผลของสิ่งที่เกิดขึ้น

 

“ก่อนเกิดรัฐประหารแต่ละครั้งมีเหตุของมันอยู่ หลังเกิดรัฐประหารแต่ละครั้งก็มีผลของมันอยู่ และผมคิดว่าทุกฝ่ายมีจุดแข็งและจุดอ่อน ฝ่ายนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งก็มีจุดแข็ง แต่ถามว่ามีจุดอ่อนไหมก็ต้องตอบว่ามี ถามว่ามีการคอร์รัปชันไหมก็ต้องตอบว่ามี หรือมีการใช้อำนาจในลักษณะที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน หรือเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนกลุ่มก็ต้องตอบว่ามี”

 

แต่ถามว่าการแก้ไขปัญหาโดยการทำรัฐประหารเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเช่นกัน การรัฐประหารเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2475 แต่ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องรักษาไว้ แต่ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมมาตลอด เมื่อมีวิกฤตทางการเมืองเกิดขึ้น ก็เลือกใช้การรัฐประหารเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหา

 

คำนูณ สิทธิสมาน ขณะกำลังให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD

ที่ศูนย์บริการ Call Center วุฒิสภา ชั้น 2 ภายในสัปปายะสภาสถาน

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

“ถามว่าการรัฐประหารจะหมดไปไหม ก็คงไม่มีใครตอบได้ การที่เราจะพูดว่าทุกคนต้องหันหน้าเข้าหากันก็เป็นสิ่งที่พูดง่าย แต่ในทางปฏิบัติจริงความสลับซับซ้อนของสังคมมันมีมากกว่านั้น” 

 

“จากวันนี้ไปทุกฝ่ายก็ต้องลด ละ และยอมรับความเป็นจริง ส่วนตัวไม่คิดว่าการมาจากการเลือกตั้งจะเป็นการตอบคำถามทั้งหมด ในต่างประเทศคนที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือองค์กรที่สำคัญก็ใช่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่เรื่องนี้อยู่ที่การออกแบบที่มีการคานและดุลกัน”

 

‘เสียใจ’ เมื่อคำวิจารณ์ลามถึง ‘คนในครอบครัว’ 

 

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา สว. อยู่กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนที่เห็นต่างบนโลกออนไลน์มาโดยตลอด และมากไปกว่านั้น คำวิจารณ์เหล่านั้นยังลามและส่งผลกระทบไปถึงคนในครอบครัวด้วย

 

คำนูณกล่าวว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ติดอยู่ในใจของเขามาโดยตลอด และส่วนตัว ‘รับไม่ค่อยได้’ และรู้สึกเสียใจที่การทำหน้าที่ของเขาไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะตัวเขา แต่ส่งผลกระทบไปถึงคนในครอบครัวด้วย

 

คำนูณ สิทธิสมาน เหม่อมองฟ้าที่มีรัฐสภาหมื่นล้านเป็นฉากหลัง

ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

แต่ครอบครัวก็เข้าใจเรา และให้กำลังใจว่า ไม่ใช่ความผิดของเรา แต่ถามว่าเป็นปมหรือไม่ ก็ยอมรับว่ายังค้างคาอยู่ในใจ และเชื่อว่า สว. ทุกคนที่ได้รับผลกระทบเรื่องนี้มีความเจ็บปวดเหมือนกัน 

 

หากจะมีอะไรที่พูดกับสังคมที่เห็นต่างได้ ก็ขอความกรุณาอย่าเอาครอบครัวมาปะปนด้วยเลย เขาไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นอะไรด้วย ขอให้จำกัดการวิพากษ์วิจารณ์อยู่ที่ตัวผมและเพื่อน สว. กราบละ อย่าลามไปถึงครอบครัวเลย เรื่องแบบนี้ใครไม่เจอด้วยตัวเองก็จะไม่รู้สึก 

 

คำนูณกล่าวอีกว่า เวลาจะวิพากษ์วิจารณ์อะไรไม่ใช่แค่กรณีนี้ แต่ในทุกกรณีสังคมไทยควรจะเพิ่มความมีเหตุมีผลให้มากขึ้น ต้องพิจารณาว่าเขาพูดอะไรเสียก่อน ไม่ใช่ว่าแค่เห็นหน้าก็เริ่มวิจารณ์โดยที่ยังไม่รู้ว่าเขาพูดอะไรบ้าง หากเราต้องการยกระดับและพัฒนาสู่สังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เราควรมีเหตุมีผล การให้ความสำคัญกับเนื้อหาก็เช่นกัน

 

“ลูกๆ ว่าอย่างไรบ้าง” THE STANDARD ถาม

 

คำนูณกล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้น “พ่อเจ็บกว่าลูก” แต่ขอไม่ลงรายละเอียด เชื่อว่าทุกอย่างเป็นการเติบโตทางความคิด ทางพัฒนาการของมนุษย์ หลายสิ่งหลายอย่างก็ยากที่จะกลับไปแก้ไขอะไรได้

 

“เขาเกิดมาก็เป็นลูกผมแล้ว การทำงานของผมเอง ผมก็ทำตามปกติ และไม่คาดคิดว่าวันหนึ่งครอบครัวจะต้องรับผลกระทบไปด้วย ก็รู้สึกเสียใจและหวังว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก ทำให้เราระมัดระวังการพูดและการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น”

 

คำนูณกล่าวว่า ตนเองไม่ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตลอด โดยที่การวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าทัวร์ลงจะมีนานๆ หน และช่วงที่โดนหนักมากที่สุดคือช่วงที่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หรือมีอีเวนต์การเมือง เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ​

 

สว. เลือกนายกฯ ไม่ควรเกิดขึ้นอีก

 

คำนูณมองว่า การให้อำนาจ สว. โหวตนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ควรเกิดขึ้นอีกแล้ว แม้เราจะผ่านการทำประชามติพร้อมกับรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่มาตรการนี้เป็นมาตรการพิเศษ และใส่ไว้เพียงครั้งเดียว เชื่อว่าหากไม่มีมาตรการนี้คนก็จะวิพากษ์วิจารณ์ สว. น้อยกว่านี้มาก เพราะคนส่วนใหญ่ก็จะพูดถึงแค่การโหวตนายกรัฐมนตรี โดยที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องอื่นๆ 

 

“ภูมิใจกับผลลัพธ์การเลือกนายกรัฐมนตรีทั้งสามครั้งไหม” THE STANDARD ถาม

 

คำนูณกล่าวว่า ไม่ได้คิดว่าเป็นความภาคภูมิใจอะไร แต่นี่เป็นการทำหน้าที่ อย่างการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรก มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตจากพรรคพลังประชารัฐ และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากพรรคอนาคตใหม่ ในขณะนั้นพรรคพลังประชารัฐก็มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว แต่บังเอิญเป็นเสียงที่ก้ำกึ่ง และมีเสียงของ สว. เข้ามามีส่วนสนับสนุน จนทำให้มี สส. เข้ามาสนับสนุนเพิ่ม 

 

ส่วนการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นแคนดิเดตจากพรรคก้าวไกล เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก ที่ผ่านมาที่รัฐสภาเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตัดอำนาจ สว. ตนเองก็ลงมติเห็นด้วยมาตลอด เพราะเราจะไม่เห็นด้วยกับการให้อำนาจ สว. เลือกนายกรัฐมนตรี และเราควรลงมติตามเสียงส่วนใหญ่ของ สส. 

คำนูณ สิทธิสมาน อภิปรายระหว่างประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

แต่การเลือกครั้งนี้ ตนเองมีข้อแม้บางประการคือ การที่พรรคก้าวไกลมีนโยบายเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตนเองไม่ได้เห็นว่ามาตรา 112 แตะต้องไม่ได้ แต่การแก้ไขมาตรา 112 ตามนโยบายของพรรคก้าวไกลที่เคยเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ปี 2564 โดยที่ประธานรัฐสภาไม่ได้บรรจุระเบียบวาระไว้ตลอดทั้งปี มีลักษณะที่จะเป็นการขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ 

 

ตนเองจึงได้แสดงจุดยืนว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 ตามแบบของพรรคก้าวไกล เท่าที่ติดตามมาอย่างละเอียดพบว่ามีหลักการ 2 ข้อ

 

  1. การเสนอแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เป็นการลดการคุ้มครองสถานะขององค์พระมหากษัตริย์จากเด็ดขาดเป็นการคุ้มครองอย่างมีเงื่อนไข 

 

  1. การแก้ไขลดโทษการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ของบุคคลทุกระดับในสังคม จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระมหากษัตริย์), จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)

 

หากมีการแก้ไขลดโทษการหมิ่นประมาทลงแล้วจะเกิดอะไรขึ้น คนในสังคมก็จะวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น การหมิ่นประมาทกลายเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพียงแค่ยอมเสียค่าปรับ แล้วสุดท้ายจะก่อให้เกิดสังคมอีกรูปแบบหนึ่งหรือไม่

 

ขณะที่การเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ตนเองก็เลือกเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะเห็นว่าเป็นเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร

 

คำนูณ สิทธิสมาน ก่อนการประชุมรัฐสภาเพื่ออภิปรายนโยบายรัฐบาล

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

“หากอุปสรรคที่พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาล เพียงเพราะมีนโยบายเสนอแก้ไขมาตรา 112 ในช่วงหาเสียง พรรคเพื่อไทยก็เห็นด้วยกับการแก้ไข ทำไมเศรษฐาจึงถูกเลือก และพิธาไม่ถูกเลือก” THE STANDARD ถาม 

 

คำนูณอธิบายว่า เพราะพรรคเพื่อไทยไม่มีร่างนโยบายอย่างชัดเจนว่าจะแก้หรือไม่แก้มาตรา 112 แต่พรรคก้าวไกลโชว์นโยบายตลอดการหาเสียง โดยที่ตนเองไม่ทราบว่านี่เป็นการได้เปรียบหรือเสียเปรียบ แต่ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลได้ปรากฏหลักฐานเรื่องนี้อย่างชัดเจน 

 

หากพรรคก้าวไกลไม่มีนโยบายนี้ หรือยังคงมีนโยบายนี้แต่ไม่ใช่ตามหลักการของร่างเมื่อปี 2564 หรือตามที่หาเสียงไว้ในปี 2566 ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องพิจารณากันในรายละเอียดต่อไป 

 

“หากพรรคก้าวไกลตัดมาตรา 112 ออก สว. จะเลือกพิธาไหม” THE STANDARD ถาม 

 

คำนูณตอบว่า ถ้าพรรคก้าวไกลประกาศอย่างเป็นทางการและชัดเจน ตนเองเชื่อว่าจะมีผลต่อการตัดสินใจของ สว. หลายๆ คน แต่สุดท้ายแต่ละคนจะตัดสินใจอย่างไร ตนเองไม่ทราบ เพราะเหตุการณ์ไม่ได้เกิดขึ้น แต่เท่าที่ติดตามอย่างละเอียด โดยเฉพาะสัตยาบันในช่วงแรก พรรคก้าวไกลก็ยังเก็บมาตรา 112 ไว้ แม้กระทั่งการอภิปรายในห้องประชุมสภา มีคนเสนอให้พรรคก้าวไกลนำนโยบายมาตรา 112 ออก แต่พรรคก้าวไกลก็ยังยืนหยัดที่จะทำเรื่องนี้

 

คำนูณ สิทธิสมาน ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

ไม่กังวล แต่ใจหาย

 

“หลังหมดวาระ มีสิ่งที่กังวลต่อบ้านเมืองอีกไหม” THE STANDARD ถาม 

 

“ตอนนี้พยายามที่จะไม่กังวลอะไรเลย” คำนูณตอบ พร้อมอธิบายเพิ่ม

 

ขณะนี้ตนเองอายุ 69 ปีเต็ม กำลังอยู่ในปีที่ 70 ต้องพบแพทย์เป็นประจำทุก 3-4 เดือน ด้วยจำนวนแพทย์ที่ไม่ต่ำกว่า 2 คน สังขารเริ่มถดถอย แต่สมองสติปัญญายังโอเค แต่ไม่ฉับไวเท่าเดิม และเมื่อเราดูอายุแล้วก็คิดว่าถึงเวลาอันสมควรที่จะปล่อยวางเรื่องบ้านเมืองให้เป็นการตัดสินใจของคนรุ่นต่อไปให้ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

 

“ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจในโลกนี้อีกมากมาย มีหนังสือหลายเล่มที่เราซื้อไว้แต่ยังไม่ได้อ่าน การเมืองไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของเรา”

 

เพียงแต่เราสนใจการเมือง และอยู่ในการเคลื่อนไหวของการเมืองมาตลอดตั้งแต่อายุ 18 ปี แม้เป็นสื่อมวลชนก็เป็นคนเขียนเรื่องการเมืองและรัฐธรรมนูญ เป็นศิษย์ของอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ หรือแม้แต่อาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้รับความรู้อะไรมากมาย สนใจเรื่องการออกกฎหมาย การพิจารณากฎหมาย และรัฐธรรมนูญ 

 

 

การที่วันหนึ่งเราจะต้องปล่อยวางไป ผมเป็นปุถุชนคนธรรมดา มันก็ยาก

 

คำนูณ สิทธิสมาน ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

“ใจหายไหม” THE STANDARD ถาม 

 

คำนูณไม่ปฏิเสธว่าในใจลึกๆ ของเขาก็มีความรู้สึก ‘ใจหาย’ การได้เข้ามาเป็น สว. ได้เรียนรู้อะไรมากมาย บางเรื่องที่เราไม่รู้ก็สามารถยกหูไปถามสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้เลย ข้าราชการรัฐสภาพร้อมให้ความคิดเห็นที่เป็นกลาง ซึ่งย่นการทำงานไปได้มาก 

 

“แล้ววันหนึ่งเราต้องเดินออกไป ถามว่าใจหายไหม ก็ใจหาย ถามว่าเสียดายไหม เสียดาย แต่นี่คือความเป็นจริงของชีวิต ความเป็นจริงของสังคม เราก็ต้องก้าวเดินต่อไป อยู่บ้านเฉยๆ ก็เฉา ก็คงหากิจกรรมที่จะทำ ให้ได้มีการบริหารจัดการตัวเอง และยังสามารถใช้งานสมองได้อยู่”

 

ขณะเดียวกัน เราเองไม่ได้มีทรัพย์สินเงินทองที่แม้จะอยู่เฉยๆ โดยที่ไม่ต้องหาเงินแล้ว ก็สบายแล้ว ก็อยู่ในแบบที่พออยู่ได้ ประกอบกับคนในครอบครัวก็เริ่มเติบโต มีชีวิตของตัวเอง คิดว่าเผชิญหน้ากับความเป็นจริง เดินหน้าต่อไปบนวิถีชีวิตที่เราจะเลือก หรือเราจะแสวงหา

 

เข้าวัดปฏิบัติธรรม หนทางหลังพ้นวาระ

 

“หมดวาระแล้วไปไหนต่อ จากนี้มีแผนอยากทำอะไร” THE STANDARD ถาม 

 

คำนูณกล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมา ตนเองได้เริ่มเข้าวัด ไปปฏิบัติธรรม โดยมีสาเหตุเนื่องจากต้นปีและท้ายปี 2566 ลูกชายทั้งสองคนได้บวชพระที่วัดป่าแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ซึ่งได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่ในแวดวงการเมืองคนหนึ่ง

 

ทำให้ระหว่างที่ลูกชายทั้งสองคนบวช ตนเองได้มีโอกาสเข้าไปที่วัดแห่งนี้ ได้ฟังธรรม ได้ทำวัตร สวดมนต์เย็น ได้ตักบาตร รู้สึกว่าสบายใจขึ้น ปลอดโปร่ง ได้พบอะไรหลายๆ อย่างที่นั่น เป็นสถานที่ที่เป็นสัปปายะในทางพุทธศาสนาอย่างแท้จริง 

 

คำนูณ สิทธิสมาน ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD ที่มีรัฐสภาหมื่นล้านเป็นฉากหลัง

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

จึงมีความตั้งใจและพูดภาวนาไว้ว่า เมื่อพ้นตำแหน่ง สว. แล้ว จะขอไปอยู่ที่วัดนั้น ซึ่งมีบุคคลนักการเมืองมากมายที่ได้ไปอยู่ นี่ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่เลือกเดินหลังพ้นวาระ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้อยู่เต็มเวลา เพราะเรายังมีภารกิจด้านครอบครัวต้องดูแลด้วย แต่ก็ได้พูดคุยกับครอบครัวไว้แล้ว

 

ได้คุยกับลูกๆ ไว้ว่า พ่อจะขอไปอยู่วัดเป็นระยะๆ นะ ไปอยู่ค้างสักคืนสองคืน นี่คือทางหลักที่จะเลือกเดิน

 

ส่วนทางอื่นๆ ก็ไปสมัครงานที่องค์กรหนึ่งไว้ ซึ่งเป็นงานประจำกึ่งงานนโยบาย ซึ่งเราคิดว่าโดยประสบการณ์ของเราพอจะทำได้ แต่เราไม่ทราบว่าท้ายที่สุดแล้วเราจะถูกเลือกหรือไม่ ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ

 

คำนูณ สิทธิสมาน นั่งใต้ต้นไทร ซึ่งปลูกไว้สำหรับให้ร่มเงาและสร้างความร่มรื่น

บริเวณสวนริมแม่น้ำเจ้าพระยา อาคารรัฐสภา

ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

ถึงประชาชนและ สว. ชุดใหม่

 

คำนูณในฐานะบุคคลที่ดำรงตำแหน่ง สว. มาแล้ว 3 สมัย ซึ่งยาวนานเกือบ 2 ทศวรรษ และตามรัฐธรรมนูญปี 2560 จากนี้เขาไม่สามารถกลับไปดำรงตำแหน่งได้อีก ได้กล่าวถึงบุคคลที่จะเข้ามาเป็น สว. ชุดที่ 13 ว่า ไม่ว่าท่านจะมาด้วยวิธีการแบบไหน อย่างไร เมื่อเข้ามาแล้ว ท่านเป็นผู้แทนปวงชนตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะมีประสบการณ์ทางการเมืองหรือไม่ ก็เชื่อว่าข้าราชการประจำในสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาช่วยเหลือท่านได้ ท่านตั้งหลักได้เร็วอย่างแน่นอน

 

“ผมขออนุญาตมองโลกในแง่ดี ตั้งความหวังและให้ความเชื่อมั่นแก่ สว. ชุดใหม่ ขอให้เข้ามาทำงานอย่างเต็มสติปัญญา ความรู้ความสามารถที่มี หากเห็นว่ากระบวนการเลือก สว. ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นั้นมีจุดแข็งหรือจุดอ่อนอย่างไร ก็เป็นสิทธิของท่านที่จะเสนอแนะให้ดีขึ้นด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้ ผมเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุด สว. ชุดใหม่จะมีความหลากหลายมากกว่า สว. ชุดของผม”

 

คำนูณ สิทธิสมาน ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

คำนูณกล่าวทิ้งท้ายถึงประชาชนว่า สิ่งที่ตนเองได้ทำลงไปในฐานะสมาชิกวุฒิสภา ก็พยายามทำดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัด ไม่ได้มีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง แต่ก็เข้าใจว่าในช่วงที่สังคมมีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2548 ย่อมก่อให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างกัน 

 

หากมีสิ่งใดที่กระทำไปแล้วก่อให้เกิดความไม่พอใจหรือไม่ถูกใจ ก็ต้องขอความกรุณา และกราบขออภัย ให้เข้าใจในมุมมองทางการเมืองของผมด้วย

 

“บ้านเมืองเป็นของเราทุกคน เป็นของผมด้วย เป็นของท่านด้วย การเมืองจะมีพลวัต จะมีการเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่หยุดนิ่ง เราจะมีสิ่งที่เป็นบทเรียนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพื่อนำไปสู่การแก้ไขให้ดีขึ้นในอนาคตต่อไป” คำนูณกล่าว และจบการสนทนากับ THE STANDARD

 

คำนูณ สิทธิสมาน ยืนอยู่ที่ระเบียงริมน้ำ เห็นฉากหลังเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา

ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising