เป็นไปตามความคาดหมาย เมื่อ โจ ไบเดน ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต ตัดสินใจเลือก คามาลา แฮร์ริส สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จากรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นผู้สมัครรองประธานาธิบดีคู่กายเขา ส่งผลให้เธอเป็นสตรีชาวอเมริกันผิวสีและอเมริกันเอเชียคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นแคนดิเดตรองประธานาธิบดีของพรรคการเมืองใหญ่ในสหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้ไบเดนเคยประกาศตั้งแต่สมัยยังหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารี) ว่าเขาจะเลือกผู้หญิงมาเป็นรองประธานาธิบดีอย่างแน่นอน ยิ่งเมื่อเกิดเหตุวิสามัญฆาตกรรมของชายผิวดำที่ชื่อ จอร์จ ฟลอยด์ และการประท้วงของกลุ่ม Black Lives Matter ทั่วประเทศ ก็ยิ่งทำให้มีแรงกดดันต่อไบเดนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ารองประธานาธิบดีของเขาควรจะเป็นผู้หญิงผิวดำ ถึงขนาดที่อดีตตัวเต็งคนหนึ่งอย่าง เอมี โคลบูชาร์ ส.ว. จากมลรัฐมินนิโซตาซึ่งเป็นผู้หญิงผิวขาว ต้องออกมาให้สัมภาษณ์ว่าไบเดนควรจะเลือกผู้หญิงผิวสี และเธอขอถอนตัว ไม่ขอรับการพิจารณาเป็นตัวแทนพรรคในการเป็นผู้สมัครในตำแหน่งรองประธานาธิบดีอีกต่อไป
สื่อมวลชนของสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ว่ามีนักการเมืองหญิงผิวดำหลายคนที่อยู่ในข่ายที่ไบเดนจะพิจารณา เช่น วาล เดมมิงส์ ส.ส. จากเมืองออร์แลนโด มลรัฐฟลอริดา, เคชา แลนซ์ บอททอมส์ นายกเทศมนตรีมหานครแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย และซูซาน ไรซ์ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติของ บารัก โอบามา แต่คนที่เป็นเต็งหนึ่งในขณะนี้คือ คามาลา แฮร์ริส ส.ว. จากมลรัฐแคลิฟอร์เนีย
แฮร์ริสเกิดที่เมืองโอ๊กแลนด์ ทางตอนกลางของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย แม่ของเธอเป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดียที่อพยพมาตั้งรกรากที่สหรัฐฯ ตั้งแต่เรียนปริญญาเอก ส่วนพ่อเป็นนักเศรษฐศาสตร์ผิวดำจากจาเมกาที่อพยพมาใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐฯ ตั้งแต่เรียนปริญญาโท เธอสำเร็จการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 1989 ซึ่งหลังจากสำเร็จการศึกษา เธอก็ได้มาทำงานเป็นผู้ช่วยอัยการเขตของเขตอะลาเมดาและซานฟรานซิสโกตามลำดับ ก่อนที่เธอจะตัดสินใจลงเล่นการเมืองเอง และชนะเลือกตั้งจนได้เป็นอัยการประจำเขตซานฟรานซิสโกในปี 2003 ก่อนที่เธอจะขยับไปเล่นการเมืองในระดับมลรัฐ และได้รับเลือกเป็นอัยการสูงสุดของมลรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2010 และสมาชิกวุฒิสภาจากมลรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2016
แฮร์ริสถือเป็นนักการเมืองที่มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะมาเป็นรองประธานาธิบดีให้ไบเดน เธอมีประสบการณ์การทำงานในกระบวนการยุติธรรมมากว่า 30 ปี ซึ่งจะเป็นจุดแข็งที่มีประโยชน์อย่างมากที่จะช่วยให้รัฐบาลของไบเดนผลักดันการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตามข้อเรียกร้องของกลุ่ม Black Lives Matter ให้ประสบความสำเร็จ เธอมีประสบการณ์การเมืองในระดับชาติจากการที่เธอเป็นสมาชิกวุฒิสภามา 4 ปี และผ่านการทำหน้าที่กรรมาธิการด้านงบประมาณ ยุติธรรม และความมั่นคงมาแล้ว นอกจากนี้เธอยังมีอายุเพียง 56 ปี ถือว่าไม่มากเกินไปสำหรับรัฐบาลของไบเดน โดยไบเดนจะมีอายุ 78 ปี หากเขาชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี
ในแง่ทางการเมืองโดยเฉพาะผลต่อการเลือกตั้งนั้น การเลือกแฮร์ริสมาเป็นรองประธานาธิบดีน่าจะมีผลดีหลายอย่างต่อทีมไบเดน อย่างแรก การเลือกแฮร์ริสน่าจะทำให้ทั้งชุมชนคนเอเชียและชุมชนคนผิวดำพึงพอใจและตื่นเต้นที่จะออกมาโหวตให้กับไบเดนและเธอ ด้วยความที่เธอจะสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้หญิงผิวดำ/เอเชียที่จะได้รับตำแหน่งผู้นำสูงสุดหมายเลขสองของประเทศ
นอกจากนี้ตัวเธอได้ลงแข่งเลือกตั้งขั้นต้นกับไบเดนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้คนอเมริกันทั่วประเทศรู้จักเธอค่อนข้างดี ทีมงานของไบเดนไม่ต้องเสียเวลาพาเธอออกสื่อเพื่อแนะนำตัว ในระหว่างที่หาเสียงขั้นต้น แฮร์ริสก็ได้แสดงให้เห็นว่าเธอเป็นนักการเมืองฝีปากกล้าที่มีความสามารถในการปราศรัยหาเสียงและดีเบตแข่งกับนักการเมืองคนอื่น อันที่จริงไบเดนเองก็เคยถูกเธอตอกหน้าหงายระหว่างการดีเบตครั้งหนึ่ง เพราะไบเดนเคยโหวตต่อต้านนโยบายการบังคับให้เด็กผิวขาวและเด็กผิวดำมาเรียนรวมกันโดยอาศัยการใช้รถโรงเรียนไปรับนักเรียนจากหลายๆ ชุมชนมาเรียนรวมกัน (Mandatory School Busing) ซึ่งแฮร์ริสได้ดีเบตไว้อย่างกินใจว่าที่เธอได้มีโอกาสไปเรียนในโรงเรียนดีๆ ของคนขาวก็เป็นเพราะนโยบายนี้ที่ไบเดนเคยต่อต้าน
ในทางกลับกัน มีความเป็นไปได้ว่าประวัติการทำงานสายยุติธรรมอาจจะกลายเป็นจุดอ่อนของแฮร์ริส โดยเฉพาะประวัติช่วงที่เธอทำงานเป็นอัยการของเขตซานฟรานซิสโก เพราะในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่อัยการเขตนั้น เธอมีแนวโน้มที่จะส่งฟ้อง/ลงโทษคนผิวดำอย่างรุนแรงไม่แพ้การทำหน้าที่ของอัยการผิวขาว ซึ่งว่ากันตามจริง การที่เธอแพ้การเลือกตั้งขั้นต้นก็เพราะถูกโจมตีอย่างหนักในเรื่องนี้ โดยคู่แข่งใช้สโลแกนที่ว่า Kamala is a cop! ในการกล่าวหาเธอ
แฮร์ริสใช้หลักการ ‘โหดต่ออาชญากรรม’ (Tough on Crime) ในการทำหน้าที่อัยการเขต เธอออกนโยบายหลายอย่างที่ ‘โหด’ ราวกับเป็นอัยการจากพรรครีพับลิกัน เช่น เธอออกนโยบายให้ตำรวจจับและดำเนินคดีคนไร้บ้านที่ออกมาเร่ขอเงินผู้คนที่เดินผ่านไปมาบนทางเท้า (Panhandling) ซึ่งอัยการเขตคนก่อนเคยมีนโยบายว่าการกระทำแบบนี้เป็นอาชญากรรมระดับต่ำมาก และห้ามตำรวจจับคนไร้บ้านเหล่านี้, นโยบายดำเนินคดีกับผู้มียาเสพติดในครอบครองตั้งแต่การทำความผิดครั้งแรกโดยไม่ให้โอกาสยอมความในชั้นสอบสวน และนโยบายให้ตำรวจไปจับและดำเนินคดีผู้ปกครองที่บุตรหลานขาดเรียนโดยไม่มีเหตุอันควร (Truancy) โดยที่อัยการเขตคนก่อนใช้นโยบายส่งนักสังคมสงเคราะห์เข้าไปวิเคราะห์ปัญหาว่าเกิดจากอะไร แทนที่จะเป็นการจับกุมตามนโยบายของแฮร์ริส
นโยบายเหล่านี้ของแฮร์ริสทำให้สถิติการจับกุมและดำเนินคดีของเมืองซานฟรานซิสโกพุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่เป็นคนดำกับคนฮิสแปนิก ตัวแฮร์ริสเองภูมิใจกับสถิตินี้มาก และมักนำไปอ้างถึงบ่อยๆ ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าเธอเป็นอัยการที่ทำให้เมืองซานฟรานซิสโกกลับมาปลอดภัย ไม่เหมือนอัยการคนก่อนๆ ที่ ‘ซอฟต์’ กับบรรดาอาชญากร
สถิติของแฮร์ริสในเรื่องนี้เป็นอุปสรรคที่ทำให้ทีมงานของไบเดนลังเลที่จะเลือกเธอมาเป็นผู้สมัครรองประธานาธิบดี เพราะการเลือกแฮร์ริส ทำให้ทีมไบเดนอาจต้องรองรับแรงกระแทกจากกลุ่ม Black Lives Matter เพราะกลุ่มอาจจะมองได้ว่าไบเดนไม่จริงใจกับการปฏิรูประบบยุติธรรม เพราะไบเดนไปเลือกเอาคนที่เคยเป็นฟันเฟืองหนึ่งของระบบที่มีปัญหามาเป็นผู้นำหมายเลขสอง แต่ในทางกลับกัน การเลือกแฮร์ริสก็อาจจะช่วยปกป้องไบเดนจากการโจมตีของทรัมป์ว่าไบเดนและเดโมแครตเป็นพวกซอฟต์ ไม่เอาจริงเอาจังกับการปราบอาชญากรรมจนนำไปสู่ภาวะอนารยะ
จากนี้แฮร์ริสจะเดินสายหาเสียงและขึ้นเวทีปราศรัยเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ โดยเธอมีกำหนดจะดีเบตกับ ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีคนปัจจุบันและแคนดิเดตรองประธานาธิบดีคู่กายทรัมป์ในการเลือกตั้งสมัยหน้าที่เมืองซอลต์เลกซิตี้ รัฐยูทาห์ ในวันที่ 7 ตุลาคม ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งบททดสอบครั้งสำคัญและทำให้ทั่วโลกรู้จักเธอมากขึ้น
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์