หลายฝ่ายจับตามองว่า ‘ดินแดนคาลินินกราด’ ของรัสเซียอาจกลายเป็นจุดเผชิญหน้าแห่งใหม่ของรัสเซียกับสหภาพยุโรป (EU) ในปัญหาขัดแย้งยูเครน หลังเกิดความตึงเครียดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในบริเวณรอบๆ ดินแดนที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์บนชายฝั่งทะเลบอลติกแห่งนี้
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
ชนวนเริ่มต้นมาจากการที่ลิทัวเนีย ซึ่งมีพรมแดนติดกับคาลินินกราดทางเหนือได้สั่งห้ามขนส่งสินค้าที่ชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซียผ่านทางลิทัวเนียเข้าสู่คาลินินกราด ซึ่งเรื่องนี้ทำให้มอสโกไม่พอใจเป็นอย่างมาก แต่ลิทัวเนียยืนยันว่าทำตามมาตรการคว่ำบาตรของ EU ซึ่ง EU ก็สนับสนุนลิทัวเนียอย่างเต็มที่
ความขัดแย้งรอบใหม่นี้อาจยกระดับความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับ EU และอาจนำไปสู่การเผชิญหน้ากัน ณ จุดใดจุดหนึ่ง
คาลินินกราด สำคัญอย่างไร
ก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญเคยเตือนแล้วว่า คาลินินกราดอาจกลายเป็นชนวนความตึงเครียดใหม่ระหว่างมอสโกกับยุโรป หลังรัสเซียเริ่มรุกรานยูเครนในปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
คาลินินกราดเป็นดินแดนกว้างใหญ่ทางตะวันตกสุดของรัสเซีย และเป็นดินแดนเพียงแห่งเดียวที่ห้อมล้อมด้วยรัฐสมาชิก EU โดยมีลิทัวเนียคั่นกลางระหว่างคาลินินกราดกับเบลารุส ซึ่งเป็นชาติพันธมิตรสำคัญของรัสเซีย ขณะที่ทางใต้ของคาลินินกราดมีชายแดนประชิดกับโปแลนด์ทางเหนือ ส่วนฝั่งตะวันตกอยู่ติดกับทะเลบอลติก ด้วยเหตุนี้จึงมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ เนื่องจากเป็นทางออกสู่ทะเลที่สำคัญของรัสเซีย
ในอดีตรัสเซียยึดดินแดนคาลินินกราดมาจากนาซีเมื่อปี 1945 จากนั้นได้ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตตามข้อตกลงพอตสดัม และปัจจุบันคาลินินกราดเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือของกองเรือบอลติกรัสเซียด้วย
เป็นเวลาหลายสิบปีที่ดินแดนคาลินินกราดถูกแปลงเป็นพื้นที่ทางทหารของรัสเซีย และปิดไม่ให้ชาวต่างชาติเข้า อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ ดินแดนดังกล่าวได้เปิดรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น หลังเป็นหนึ่งในเมืองที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก (World Cup) ปี 2018
การทำสงครามรุกรานยูเครนเป็นเหตุให้ EU ตัดสินใจคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งลิทัวเนียก็ขานรับนโยบายโดยสั่งห้ามไม่ให้มีการลำเลียงสินค้าในรายชื่อคว่ำบาตรผ่านดินแดนของลิทัวเนียเข้าสู่คาลินินกราดทางบก ทำให้รัสเซียจำเป็นต้องเดินทางอ้อมผ่านทะเลแทน
สำหรับสินค้าที่ถูก EU คว่ำบาตรไม่ให้ส่งออกไปยังรัสเซียนั้น ประกอบด้วยเครื่องจักรก่อสร้าง, เครื่องมือกล และอุปกรณ์อุตสาหกรรมอื่นๆ รวมถึงสินค้าหรูบางประเภทด้วย
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลินของรัสเซียออกมาตอบโต้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (20 มิถุนายน) ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการปิดล้อมรัสเซียอย่างชัดเจน ซึ่งรัสเซียก็ขู่ว่าจะตอบโต้การกระทำนี้
RIA Novosti สื่อทางการของรัสเซียรายงานโดยอ้างคำพูดของ นิโคไล ปาตรูเชฟ เลขาธิการสภาความมั่นคงรัสเซียว่า รัสเซียจะตอบโต้การกระทำที่เป็นปรปักษ์นี้ และจะมีมาตรการออกมาในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะส่งผลลบต่อประชาชนลิทัวเนีย
โดยในระหว่างนี้ กระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียได้เรียกอุปทูตลิทัวเนียเข้าพบ และแจ้งว่าหากเส้นทางขนส่งสู่คาลินินกราดยังถูกบล็อกอยู่ รัสเซียก็มีสิทธิที่จะดำเนินมาตรการตอบโต้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ
RIA Novosti รายงานด้วยว่า กองเรือทะเลบอลติกของรัสเซียในคาลินินกราดได้เริ่มซ้อมยิงจรวดและปืนใหญ่ โดยมีทหารเข้าร่วมราว 1,000 นาย พร้อมหน่วยปืนใหญ่และขีปนาวุธ
หลังจากนี้คาลินินกราดอาจทวีความสำคัญมากขึ้นอีกสำหรับรัสเซีย เนื่องจากสวีเดนและฟินแลนด์เป็นสองชาติล่าสุดที่แสดงความจำนงต้องการสมัครเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ซึ่ง ดมิทรี เมดเวเดฟ รองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติรัสเซียเคยกล่าวไว้ในเดือนพฤษภาคมว่า แผนเข้าเป็นสมาชิก NATO ของสองประเทศนี้จะปิดประตูการเจรจาเกี่ยวกับสถานะปลอดนิวเคลียร์ของบอลติก
โดยที่ผ่านมารัสเซียคัดค้านมาตลอดกับการให้มีรัฐสมาชิก NATO อยู่รอบๆ คาลินินกราด เพราะหวั่นเกรงว่าจะมีการเคลื่อนย้ายระบบอาวุธยุทโธปกรณ์หรือการเข้ามาติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานทางทหารของ NATO ใกล้ชายแดนรัสเซีย ซึ่งรัสเซียก็ใช้เป็นข้ออ้างในการเคลื่อนย้ายขีปนาวุธ Iskander ที่ติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ไปประจำการในคาลินินกราด
แต่ที่ผ่านมา รัสเซียไม่เคยยอมรับว่ามีอาวุธนิวเคลียร์ในคาลินินกราด แม้ว่าในปี 2018 สมาคมนักวิทยาศาสตร์อเมริกันจะออกรายงานว่ารัสเซียได้ปรับปรุงบังเกอร์เก็บอาวุธนิวเคลียร์ในดินแดนดังกล่าว โดยวิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียม
จากนี้จึงน่าจับตาต่อว่า รัสเซียจะตอบโต้ลิทัวเนียหรือชาติยุโรปอย่างไร และคาลินินกราดจะกลายเป็นพื้นที่เผชิญหน้าทางทหารตามที่ผู้เชี่ยวชาญคาดไว้หรือไม่
ภาพ: การซ้อมรบรหัส Zapad-2009 ในคาลินินกราด: Konstantin Zavrazhin / Getty Images (28 กันยายน 2009)
อ้างอิง: