จากแพลตฟอร์มแชตสู่อาณาจักรธุรกิจ Kakao เติบโตอย่างก้าวกระโดด ครอบคลุมหลากหลายบริการจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังความสำเร็จกลับเต็มไปด้วยปัญหา ทั้งการผูกขาดตลาด การเข้าซื้อกิจการอย่างก้าวร้าว และมรสุมทางกฎหมาย
เหตุการณ์ ‘เซิร์ฟเวอร์ล่ม’ เมื่อสองปีก่อนตอกย้ำถึงอิทธิพลมหาศาลของ Kakao ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้าน จนเกิดความโกลาหลไปทั่วประเทศ แต่ถึงอย่างนั้น การใช้ชีวิตโดยปราศจาก Kakao ก็ยังเป็นเรื่องยากสำหรับชาวเกาหลีใต้
Kakao เคยเป็นสัญลักษณ์แห่งนวัตกรรม ด้วยบริการที่ครอบคลุมและใช้งานง่าย แต่ภาพลักษณ์ดังกล่าวกำลังมัวหมองจากการรุกซื้อกิจการอย่างไม่หยุดยั้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เปลี่ยน Kakao ให้กลายเป็น ‘ยักษ์ใหญ่’ ที่ครอบครองธุรกิจตั้งแต่สตรีมมิงเพลง เกม ไปจนถึง Start-up จองร้านเสริมสวย
จาก Start-up สู่ ‘จักรวรรดิ’ ธุรกิจ
เพียงปีที่แล้ว Kakao ควบรวมกิจการ 6 บริษัท ใช้เงิน 1.4 ล้านล้านวอน ข้อมูลจาก CEO Score ระบุว่า Kakao มีบริษัทในเครือ 128 แห่ง ณ เดือนพฤษภาคม มีสินทรัพย์รวม 35.1 ล้านล้านวอน ขึ้นแท่นอันดับ 15 ของกลุ่มธุรกิจในเกาหลีใต้
Kim Beom Su ผู้ก่อตั้ง Kakao หรือที่รู้จักกันในชื่อ Brian Kim ร่ำรวยขึ้นตามการเติบโตของบริษัท โดย Forbes จัดอันดับให้เขารวยเป็นอันดับ 6 ของเกาหลีใต้ ด้วยทรัพย์สินสุทธิ 4.5 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนเมษายน
แต่ความสำเร็จนี้กลับนำมาซึ่งปัญหา Kim ถูกจับกุมในข้อหา ‘ปั่นหุ้น’ จากการเข้าซื้อกิจการ SM Entertainment ค่ายเพลง K-Pop ชั้นนำเมื่อปีที่แล้ว ซึ่ง Kakao ชนะการแย่งชิงกับ HYBE ต้นสังกัดของวง BTS สร้างความตกตะลึงให้กับแฟนๆ และผู้คนในวงการ
ทางการกล่าวหาว่า Kim จงใจปั่นหุ้น SM Entertainment เพื่อขัดขวางไม่ให้ HYBE ซื้อหุ้น Kim ปฏิเสธข้อกล่าวหา และอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีหลังได้รับการประกันตัว
‘เสียงวิพากษ์วิจารณ์’ ที่ดังขึ้น
นอกจากนี้ Kakao ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากพฤติกรรมการผูกขาด โดยเฉพาะจากผู้ประกอบการรายย่อยและคนขับแท็กซี่ ประธานาธิบดี Yoon Suk Yeol ประณามบริการเรียกรถแท็กซี่ของ Kakao ว่า ‘ผิดศีลธรรม’ และกล่าวหาว่า Kakao เอาเปรียบผู้ขับขี่ด้วยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสูง
หน่วยงานกำกับดูแลสั่งปรับ Kakao Mobility 72.4 พันล้านวอน ฐานละเมิดกฎหมาย เช่น การบังคับให้ผู้ขับขี่แชร์เส้นทาง Kakao Mobility ปฏิเสธข้อกล่าวหาและเตรียมฟ้องร้องกลับ
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบันวิจัยของรัฐมองว่า กลยุทธ์การซื้อ Start-up ของ Kakao จำกัดการแข่งขัน แต่ก็ช่วยเพิ่มสวัสดิการของผู้บริโภคด้วยการขยายตลาด “เป็นเรื่องปกติที่แพลตฟอร์มอย่าง Kakao จะทำเงินจากการดึงผู้คนเข้าสู่ธุรกิจ”
อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของ Kakao ‘ผันผวน’ กำไรจากการดำเนินงานลดลง 26% ในไตรมาสแรก ก่อนจะฟื้นตัว 18% ในไตรมาสที่ 2 และลดลงอีก 3% ในไตรมาสที่ 3 เหลือ 1.31 แสนล้านวอน ขณะที่รายได้ลดลง 4% เหลือ 1.9 ล้านล้านวอน
ราคาหุ้น Kakao ร่วง 34% ในปีนี้ แย่กว่า NAVER คู่แข่ง ที่ลดลง 21% และดัชนี KOSPI ที่ลดลง 3%
‘ความพยายาม’ ในการ ‘พลิกฟื้น’
Shina Chung ซีอีโอคนใหม่พยายามนำพา Kakao กลับสู่เส้นทางแห่งความสำเร็จนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในเดือนมีนาคม โดยมุ่งเน้นธุรกิจหลักคือ KakaoTalk และ AI และขายธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก
Chung เปิดเผยว่า ธุรกิจเกมขายหุ้นในบริษัทเทคโนโลยีอุปกรณ์สวมใส่เพื่อมุ่งเน้นที่เกม ส่วนธุรกิจคอนเทนต์ถอนตัวจากฝรั่งเศส อินโดนีเซีย และไต้หวัน เพื่อให้ความสำคัญกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น
นักวิเคราะห์มองว่า Kakao เริ่มลดขนาดพอร์ตธุรกิจ แต่ยังต้องทำอีกมาก Angela Hong นักวิเคราะห์จาก Nomura กล่าวว่า “เรายินดีกับการลดการจ้างงานและต้นทุนแรงงาน รวมทั้งคาดหวังว่าการปรับลดขนาดองค์กรและการรวมธุรกิจจะดำเนินต่อไป แต่ยังไม่ตรงกับความคาดหวังของนักลงทุน”
Chung วัย 49 ปี เคยทำงานที่ Boston Consulting Group, eBay และ NAVER ก่อนร่วมงานกับ Kakao ในปี 2014 เธอนำการปฏิรูปเพื่อเพิ่มความโปร่งใส เช่น การแต่งตั้งกรรมการอิสระและลดขั้นตอนการตัดสินใจ
Kakao กล่าวว่า Chung ‘เปลี่ยนแปลง’ Kakao ให้เป็นบริษัท AI ผ่านการปรับโครงสร้างองค์กร และพูดคุยกับพนักงาน แต่นักวิเคราะห์มองว่ายังไม่เพียงพอ
Oh Dong Hwan นักวิเคราะห์จาก Samsung Securities กล่าวว่า “เธอต้องแสดงให้เห็นถึงวิธีการและเปิดตัวบริการใหม่ๆ รวมถึงแก้ไขความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและกฎหมาย”
Kakao กำลังเดินอยู่บนเส้นทางที่ท้าทาย ท่ามกลางแรงกดดันจากหลายฝ่าย ความสำเร็จในอนาคตขึ้นอยู่กับการปรับตัวและนำพาธุรกิจฝ่ามรสุมครั้งนี้ไปให้ได้
ภาพ: Koshiro K / Shutterstock
อ้างอิง: