×

ตามรอย ‘กาหลมหรทึก’ สู่สถานที่จริงคดีฆาตกรรมรอยสัก จากตรอกศาลาต้นจันทน์ถึงวัดโพธิ์

26.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • ปราปต์-ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ นักเขียน กาหลมหรทึก เล่าถึงกระบวนการสร้างสรรค์คดีฆาตกรรมต่อเนื่องในนิยายด้วยการพา THE STANDARD ไปเยือนสถานที่จริงอันเป็นที่มาของสถานที่เกิดเหตุในเรื่อง
  • ปราปต์ เลือกเขียนนิยายย้อนไปใน พ.ศ. 2486 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศเปลี่ยนแปลงการเขียนภาษาไทยแบบใหม่ หรือเรียกว่า ยุคอักขรวิบัติ เพื่อเชื่อมโยงกับคำปริศนาจากกลโคลงรูปห้าเหลี่ยมของเขา
  • วัดโพธิ์ คือแกนหลักของเรื่อง ทั้งในแง่แรงบันดาลใจการคิดพล็อต รวมถึงเป็นจุดศูนย์กลางของแผนที่รูปห้าเหลี่ยม ก่อนที่เขาจะเลือกสถานที่เกิดเหตุตามแฉกของรูปห้าเหลี่ยมโดยเริ่มจากตรอกศาลาต้นจันทน์ ทวนเข็มนาฬิกามาจบที่วัดโพธิ์

**บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของหนังสือ, ซีรีส์**

 

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ละครเรื่อง กาหลมหรทึก ได้ออกอากาศฉายเป็นตอนแรก โดยเป็นเรื่องราวที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายสืบสวนสอบสวนในชื่อเดียวกัน ของ ปราปต์-ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ เจ้าของหนังสือที่ได้รับรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด เมื่อ พ.ศ. 2557 ความน่าทึ่งของนิยายเล่มนี้คือ ผู้เขียนเลือกนำวรรณคดีโบราณอย่าง โคลงกลแบบที่น้อยคนจะรู้จักมาแต่งขึ้นใหม่ และเลือกสรรคำไทยมาสร้างปริศนา และเงื่อนปมที่ร้อยเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไทยเข้าด้วยกัน ความซับซ้อนทำให้ผู้อ่านต้องลุ้นไปกับเหตุการณ์ตลอดเวลาราวกับกำลังอ่านนิยายของ แดน บราวน์ และทำให้เกิดปรากฏการณ์จากนิยายที่เหล่าผู้อ่านหยิบโคลงกลอนมาแข่งขันอ่านทำนองเสนาะกันมาแล้ว

 

THE STANDARD มีโอกาสได้พูดคุยกับปราปต์ ในครั้งแรกเป็นบทสนทนาถึงภูมิหลังและตัวตนของเขาบนเส้นทางสายน้ำหมึก (ย้อนอ่านได้ที่ thestandard.co/prapt-chairat-pipitpatanaprapt) ส่วนการพบกันครั้งนี้ เป็นการร่วมเดินทางตามรอยประวัติศาสตร์ พร้อมกับฟังปราปต์เล่าถึงที่มาของการผูกเรื่องของคดีฆาตกรรมต่อเนื่องในเมืองกรุง แน่นอนว่า แค่เล่าให้ฟังคงไม่ได้อรรถรสเท่ากับพาเราไปดูสถานที่เกิดเหตุตามท้องเรื่องจริง ซึ่งก็คือ เขตธนบุรี และเขตพระนคร นี่เอง

 

 

ระหว่างการเดินไปยังสถานที่แรก ท่ามกลางแสงแดดอันแผดจ้า ปราปต์ในเสื้อยืดสีดำ ด้านหลังสกรีนกลโคลงพรหมภักตร์ หนึ่งในโคลงประเภทกลแบบที่จารึกอยู่ในวัดโพธิ์ เริ่มต้นเล่าถึงกระบวนการคิดเรื่องในช่วงแรกให้ฟังว่า ตอนที่ได้พล็อตโคลงกลแบบจากวัดโพธิ์ ที่นำคำมาจัดวางให้เป็นรูปต่างๆ ได้แล้ว เขาก็ลองประดิษฐ์ขึ้นเองบ้าง โดยเลือกทำเป็นรูปห้าเหลี่ยม  

 

ต่อมา ก็ต้องคิดหาคำใบ้ (clue) หรือปมปริศนา เพื่อเชื่อมโยงคำโคลงให้เป็นร่องรอยที่ตำรวจจะใช้ในการสืบสวนคดี ระหว่างค้นข้อมูลประวัติศาสตร์ไทย ปราปต์พบว่า ครั้งหนึ่งรัฐบาลเคยออกนโยบายเปลี่ยนแปลงวิธีการเขียนตัวหนังสือไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเรียกกันว่า ยุคอักขรวิบัติ* ในช่วง พ.ศ. 2485-2487 เป็นความมุ่งหมายที่จะลดการใช้ตัวสะกดและสระของพยัญชนะไทยที่ซ้ำซ้อนกันอยู่ให้เหลือเพียงตัวเดียว

 

“สมมติคำว่า สงฆ์ ก็เป็น สงค์ หากใช้แบบนี้ ความหมายมันก็เปลี่ยน ถ้าคนไม่รู้มาเจอ มันก็จะเป็นการหลอกอีกแบบหนึ่ง ก็เลยรู้สึกว่ามุกนี้มันเอามาใช้ได้”

 

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ปราปต์เลือกจะเขียนเรื่องราวของคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง กาหลมหรทึก ขึ้นในช่วง 70 กว่าปีก่อน

 

เมื่อได้ทั้งแกนเรื่องและช่วงเวลา สุดท้ายคือ การสร้างฉากฆาตกรรม “เราอยากได้สถานที่ให้เหมือนกับนิยาย The Da Vinci Code เลย จึงต้องไปสถานที่จริงๆ คือสมัยนี้มันมี Google Maps แล้วก็จะง่ายหน่อย เราปรินต์แผนที่ แล้วหันตัวห้าเหลี่ยมของเราไปมาว่ามีสถานที่ไหนน่าสนใจบ้าง เมื่อเราได้ตรงนี้ มันก็มีเรื่องราวที่สามารถฉีกกันได้ คือ 5 มุมนี้ไม่ควรจะเหมือนกัน เหยื่อแต่ละตัวก็ไม่ควรจะซ้ำกัน”

 

แผนที่รูปห้าเหลี่ยม กาหลมหรทึก

Photo: แพรวสำนักพิมพ์

 

จุดเริ่มต้น ตรอกศาลาต้นจันทน์

ปราปต์พาเรามาถึง ตรอกศาลาต้นจันทน์ ในย่านวังหลัง ซึ่งอยู่ใกล้กับวัดระฆังโฆสิตาราม ตัวศาลามีลักษณะคล้ายเรือนไทยจำลองยกพื้นอยู่ใต้ต้นไม้ขนาดย่อส่วน ภายในมีพระรูปสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ศาลานี้ชาวบ้านได้รวบรวมทุนสร้างใหม่ขึ้นในช่วงที่มีการขยายถนนอรุณอมรินทร์ แทนศาลศาลาต้นจันทน์ของเดิมที่มีอายุกว่าร้อยปี ในอดีตชาวบ้านย่านวังหลังจะใช้ศาลาต้นจันทน์ เป็นศาลาอเนกประสงค์ประกอบงานพิธีต่างๆ เช่น ทำบุญประจำปี หรือทำบุญวันสงกรานต์ หรือนิมนต์พระมาเทศน์ให้ชาวบ้านฟัง ปัจจุบันศาลาต้นจันทน์ขนาดย่อมนี้เป็นที่กราบไหว้สักการะบูชาของคนในชุมชน

 

ถัดจากศาลจะมีตรอกแคบๆ ตรอกหนึ่ง ปราปต์ได้เลือกตรอกแห่งนี้เป็นที่ตั้งของบ้านนางเรือน แม่ค้าขายดอกไม้และเครื่องบูชาสักการะที่หน้าวัดระฆังฯ ทั้งยังใช้เป็นสถานที่เกิดเหตุคดีเด็กหญิงวาด ลูกสาวของเธอ ปราปต์เล่าถึงการเลือกสถานที่นี้ให้ฟังว่า

 

“ตอนที่วางจุดแผนที่ลงไป สถานที่จริงคือ ตำหนักแดง ที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผมก็เลยเลี่ยงเปลี่ยนมาเป็นตรอกศาลาต้นจันทน์แทน ซึ่งทีแรกเราไม่ได้รู้ถึงขนาดว่าตรอกมีสภาพเป็นอย่างไร ก็อาศัยเข้าไปเดินดูเอา และถึงแม้สถานที่จริงมันจะเปลี่ยนไปหมดแล้ว แต่ก็มีกลิ่นอายบางอย่างที่ทำให้เราจินตนาการต่อได้ แล้วก็เห็นภาพแม่ค้าขายของที่ใช้แก้บน เราก็หยิบมาเขียนเป็นเรื่องของนางเรือน”

 

 

ศาลเจ้าเกียนอันเกง

เราเดินออกจากท่าเรือวัดกัลยาณมิตรฯ มาตามทางเล็กแคบริมแม่น้ำฝั่งขวามือ พลางมองดูวิวเรือลำใหญ่ที่แล่นมาตามลำน้ำไปมาพักหนึ่ง ก็มาเจอกับเสาสีแดงที่แขวนป้ายตัวหนังสือภาษาจีนและไทยว่า ศาลเจ้าเกียนอันเกง หรือศาลเจ้าแม่กวนอิม บริเวณโดยรอบเงียบสงัด มีเพียงชาวบ้านคนสองคนกำลังไหว้เจ้าอยู่ภายในศาล ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมปราปต์ถึงเขียนให้สถานที่นี้เป็นศาลเจ้าร้าง ฉากสำคัญของเรื่องอีกแห่ง

 

แม้ประวัติศาสตร์จะบอกไว้ว่า สมัยที่ผู้คนยังเดินทางด้วยเรือเป็นหลัก พื้นที่แถบนี้คึกคักมาก เพราะเป็นที่อยู่ของชุมชนกุฎีจีน ชุมชนชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่มาตั้งรกรากตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงก่อตั้งกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2310 จนเมื่อมีการทำถนนอรุณอมรินทร์ตัดผ่าน วัฒนธรรมเก่าๆ 200 กว่าปีก็ผันผ่านไป คงเหลือเพียงร่องรอยทางศิลปะพุทธ คริสต์ อิสลาม ผ่านงานไม้แกะสลักและภาพจิตรกรรมฝาผนังของตัวศาลเจ้า โดยชาวจีนฮกเกี้ยนที่ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาเป็นผู้สร้างขึ้น กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ทางสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น เมื่อ พ.ศ. 2511

  

 

ชุมชนกุฎีจีน

ปราปต์พาเราเดินลัดเลาะตามซอยจากศาลเจ้าเกียนอันเกงมาอ้อมด้านหลังโบสถ์ซางตาครู้ส ก็มาถึงชุมชนกุฎีจีน หรือพื้นที่ของชุมชนคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อคราวการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 แต่ปัจจุบันเราไม่ได้เห็นชาวบ้านที่มีหน้าตาเค้าโครงอย่างคนตะวันตกอีกแล้ว คงเหลือแต่เพียงขนมฝรั่งกุฎีจีน ที่เรากำลังยืนมองชาวบ้านกำลังทำขนมอยู่นี้

 

ขนมโบราณที่มีต้นตำรับจากชาติโปรตุเกสนี้ ผสมผสานกับหน้าขนมแบบจีนด้วยการโรยลูกเกด หรือลูกพลับ แต่หลักใหญ่ใจความของปราปต์นอกจากการทำขนม คือการพาเรามาดูเตาอั้งโล่ที่ใช้ทำขนม ซึ่งในหนังสือถูกใช้เป็นอุปกรณ์ในที่เกิดเหตุในคดีของนายผดุงศักดิ์ ที่ร้านขนมบ้านเนื่องนวล แถวแพร่งนรา เขตพระนคร แต่เนื่องจากย่านสามแพร่งในปัจจุบันไม่มีการทำขนมด้วยวิธีโบราณแบบนี้แล้ว เหลือเพียงที่นี่ให้ได้ดูวิธีการอบขนมชนิดนี้เท่านั้น

 

   

 

กุฏิ 11 วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

เป็นเรื่องแปลกที่แทนที่เรามาถึงวัดประยุรฯ หรือวัดรั้วเหล็ก จะได้เข้าไปในอุโบสถเพื่อสักการะพระพุทธรูป แวะชมพระบรมธาตุมหาเจดีย์ เจดีย์สีขาวขนาดมหึมาแบบลังกาวงศ์องค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ หรือพักผ่อนหย่อนใจให้อาหารเต่าที่เขามอ ภูเขาจำลองที่ก่อด้วยศิลาบริเวณสระน้ำหน้าวัด แต่ครั้งนี้เรากลับมายืนอยู่หน้าประตูกุฏิ 11 เขตสังฆาวาส ที่พำนักของพระสงฆ์ ทากำแพงสีเหลืองสดตลอดแนว ซึ่งในหนังสือ กุฏิที่นี่เป็นสถานที่พำนักของ พระมหาสุชีพ จิตฺตทนฺโต คดีรอยสักคำปริศนาลำดับที่ 2

 

ในอดีต การสร้างกุฏิวัดจะสร้างให้พระสงฆ์พำนักอยู่เพียงรูปเดียว แต่ปัจจุบันจะสร้างให้พระอยู่ร่วมกันเป็นคณะ โดยเรียกว่า กุฏิ 1 กุฏิ 2 ซึ่งอาคารแบบนี้ยังพบเห็นได้ในวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ หรือวัดโพธิ์

 

 

ย่านสามแพร่ง

เรานั่งรถต่อมาจากถนนประชาธิปก เขตธนบุรี มาสู่ถนนอัษฎางค์ เขตพระนคร เพื่อมาแวะย่านสามแพร่ง อันเป็นย่านวังเดิม ซึ่งตั้งชื่อตามพระโอรสในรัชกาลที่ 4 คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (แพร่งนรา) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ (แพร่งภูธร) และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ (แพร่งสรรพศาสตร์)

 

ในอดีต วังของถนนแพร่งนราได้มีการทำถนนและสร้างตึกแถวในช่วงการจัดสร้างโรงละครปรีดาลัย ส่วนวังบริเวณแพร่งภูธรและแพร่งสรรพศาสตร์ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ​ รับซื้อที่ดิน และรื้อสร้างวังเดิมให้มีถนนตัดผ่านกลางและสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ตึกแถวสองชั้นทรงชิโน-โปรตุกีส กรอบหน้าต่างและประตูบานเฟี้ยมทาสีเขียว ย่านสามแพร่งจึงกลายเป็นย่านธุรกิจสำคัญในพระนคร ที่มีข้าราชการทั้งชาวจีนและฝรั่งมาอาศัยอยู่บริเวณนี้กันมาก ในขณะที่ปัจจุบันกลายเป็นย่านของอร่อยและการจัดเทศกาลศิลปะ

 

ปราปต์เลือกให้ย่านสามแพร่งเป็นที่ตั้งของร้านขายขนมฝรั่งกุฎีจีนตระกูลเนื่องนวล สถานที่เกิดเหตุคดีนายผดุงศักดิ์ ซึ่งไม่ใกล้ไม่ไกลกันจากย่านสามแพร่งคือ วัดมหรรณพาราม และโรงเรียนมหรรณพาราม โรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรแห่งแรกที่ก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2427 ในหนังสือ โรงเรียนนี้คือสถานที่สอนหนังสือของนายพงษ์ศรี น้องชายต่างแม่ของนายผดุงศักดิ์ และมีใจปฏิพัทธ์ต่อนางวิไล ลูกสาวร้านขนมเนื่องนวล ซึ่งบ้านของเขาก็อยู่ตรงข้ามวัดนี่เอง

 

 

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

เดินออกด้านหลังของย่านสามแพร่ง ปราปต์พาเราเดินผ่านอาคารกระทรวงกลาโหม และสวนสราญรมย์ ก็จะมาถึงวัดโพธิ์ หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สถานที่ที่เป็นแกนหลักของเรื่องทั้งหมด และเป็นจุดศูนย์กลางของแผนที่รูปห้าเหลี่ยม  

 

ขณะเก็บข้อมูล ปราปต์ต้องเดินดูคำโคลงรูปแบบต่างๆ ที่จารึกอยู่บนแผ่นหินอ่อนตามเสาพระระเบียงรอบพระอุโบสถทีละแผ่นๆ ซึ่งมีรูปแบบคำประพันธ์มากมาย เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้มีพระราชประสงค์บูรณะวัดแห่งนี้ให้เป็นแหล่งรวมสรรพตำรา วิทยาการความรู้ต่างๆ ถึง 1,440 แผ่น อันเป็นที่มาของสมญานามมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ

 

ในหมวดความรู้วรรณคดีไทย พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตรวบรวมและเขียนขึ้นใหม่ ทั้งคำประพันธ์ในรูปแบบโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย รวมถึงสุภาษิต และวรรณคดีเรื่องโคลงโลกนิติ และกฤษณาสอนน้องคำฉันท์  

 

 

กลโคลงห้าเหลี่ยม คือปริศนาคำโคลงที่เหล่าสารวัตรใน กาหลมหรทึก จะต้องรวบรวมคำจากรอยสักบนตัวผู้ตายเพื่อนำมาสู่การไขปริศนาคดีและเข้าใกล้ตัวผู้ร้าย ซึ่งปราปต์ก็ได้ลองให้เราเดินไล่อ่านจารึกไปทีละเสาๆ เพื่อตามหากลโคลงต้นแบบที่ปราปต์นำมาใช้สร้างกลโคลงห้าเหลี่ยม ใช้เวลาพักหนึ่ง ก็เจอกับจารึก กลโคลงพรหมภักตร์ ที่บริเวณพระระเบียงพระอุโบสถชั้นนอกฝั่งทิศใต้ ประตูที่ 1

 

กลโคลงพรหมภักตร์เป็นหนึ่งในรูปแบบคำประพันธ์ที่เรียกว่า กลแบบ ซึ่งกวีจะวางคำของโคลงในรูปแบบต่างๆ เช่น รูปพญานาค ดอกบัว รูปยันต์ หรือใช้เส้นลากคำไปมาให้ดูงงงวยอ่านยาก คนไขโคลงได้ถูกต้องจะต้องรู้เท่าทันทั้งรูปแบบฉันทลักษณ์และการบังคับเสียงวรรณยุกต์ อันเป็นการประลองปฏิภาณคนอ่านกับกวี ดังเช่นโคลงชนิดนี้ที่จะต้องใช้วิธีอ่านและการบังคับเสียงวรรณยุกต์เอก โท แบบโคลงสี่สุภาพ โดยยึดคำว่า เรียม เป็นคำเริ่มต้นของทุกบาท ก็จะอ่านได้ว่า

 

          “เรียมหวาดขวันหวั่นว้า     หวาดขวัน

  เรียมโศกศร้อยสุดศัลย              โศกศร้อย

 เรียมจิตรครากเจ็บครัน               จิตรคราก

                 เรียมทุกข์ร้อนยิ่งร้อย                 ทุกข์ร้อนหวาดขวัน”

 

เมื่ออ่านกลโคลงนี้ได้ ก็ลองนำไปถอดกลโคลงห้าเหลี่ยมของปราปต์ดู ใครถอดได้ก็ถือว่าเข้าถึงการอ่านหนังสือเล่มนี้ได้อย่างลึกซึ้ง

 

แต่สำหรับใครที่ไม่ถนัดการอ่านคำประพันธ์ ก็ลองลุกออกจากหน้ากระดาษ​ และใช้วิธีตามรอยไปยังสถานที่จริงดังเช่นที่ปราปต์พาเรามาวันนี้ อาจทำให้เราได้มองเรื่องราวในนิยายต่างออกไป รวมถึงมองสถานที่จริงเหล่านั้นด้วยสายตาแบบใหม่ อันเป็นเสน่ห์ที่นิยายสืบสวนสอบสวนของไทยเล่มนี้มอบให้แก่ผู้อ่าน

FYI
  • ยุคอักขรวิบัติ: นช่วง พ.ศ. 2484 – 2485 ประเทศไทยได้เข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา กองทัพญี่ปุ่นได้บุกเข้ามาตั้งฐานทัพ พร้อมแจ้งแก่รัฐบาลไทยว่าภาษาไทยเรียนรู้ยาก จึงขอให้เปิดโรงเรียนภาษาญี่ปุ่นขึ้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้นจึงเรียกประชุมปราชญ์ราชบัณฑิต พร้อมคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทยปรับปรุงการใช้ภาษาไทยใหม่ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การลดสระและพยัญชนะตัวสะกดที่ซ้ำซ้อนอยู่ คือพยัญชนะ ฃ, ฅ, ฆ, ฌ, ฎ, ฏ, ฐ , ฑ, ฒ, ณ, ศ, ษ, ฬ เช่น ฆ้อง ให้ใช้เป็น ค้อง และสระ ใ, ฤ, ฤๅ, ฦ, ฦๅ เช่น พฤกษา ให้ใช้เป็น พรึกสา โดยนโยบายนี้มีผลบังคับใช้เพียง 2 ปี 3 เดือน
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X