×

ลาก่อนชีวิตอับเฉาของผู้หญิงในซีรีส์เกาหลีที่ไม่ได้ทำให้แม่บ้านดูเท่านั้น

โดย bluesherbet_
28.10.2020
  • LOADING...
ซีรีส์เกาหลี แม่บ้าน

HIGHLIGHTS

10 mins read
  • สิ่งที่อยู่ในละครคือสิ่งที่แม่บ้านเกาหลีคาดหวังว่าจะได้ดู ยุคแรกๆ ที่แม่บ้านเกาหลียังอยู่เหย้าเฝ้าเรือน รับใช้แม่สามี ละครเกาหลีแนวดราม่ารันทด ชีวิตรักที่พลัดพราก เรื่องราวของลูกสะใภ้ผู้แสนซื่อสัตย์ ตลอดจนละครพีเรียดแนวชิงรักหักสวาท นางสนมตบตีกันแย่งเป็นคนโปรดของพระราชา ฯลฯ ล้วนแต่เป็นที่ชื่นชอบของเหล่าแม่บ้าน แต่ในวันที่ผู้หญิงเกาหลีลุกขึ้นมาทำงาน รู้จักที่จะเคารพตัวเอง ละครเหล่านั้นก็เริ่มจะเอาต์เสียแล้ว
  • เมื่อโลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ‘ละคร’ ก็ไม่ได้ทำให้ ‘แม่บ้าน’ ดูเพียงอย่างเดียวแล้ว ผู้หญิงเกาหลีสมัยนี้ เติบโต แข็งแกร่ง พร้อมสู้ในแวดวงการงาน สิ้นสุดยุคสมัยแห่งความเพ้อฝัน แล้วมาคุยกันในเรื่องโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น
  • บทบาทของผู้หญิงในละครโบยบินสูงกว่าที่คิด เธอคือหมอ ทนาย อัยการ ตำรวจ ทหาร เจ้าของธุรกิจ นักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางสังคม นักวิจัย ฯลฯ ไม่ถูกพันธนาการด้วยบทบาท ‘เมีย’ และ ‘แม่’ อีกต่อไป เธอฝันถึงเจ้าชายขี่ม้าขาวน้อยกว่าแต่ก่อน แต่รับรู้ความเจ็บปวดและเป็นกำลังใจให้กันและกันในฐานะผู้หญิง

เมื่อไม่นานมานี้ที่เกาหลีใต้มีข่าว รยูโฮจอง ส.ส. หญิงอายุน้อยที่สุด วัย 28 ปี จากพรรคฝ่ายค้าน ถูก ส.ส. ชายฝั่งรัฐบาล 2 คนเปิดประเด็นวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม เนื่องจากเธอสวมเดรสสีชมพูจุดแดงเข้าประชุมสภา หลังภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก ปรากฏว่าชาวเน็ตเกาหลีพากันโจมตีเธอสนุกปาก บ้างก็ว่าเธอ “แต่งตัวเหมือนผู้หญิงบาร์” บ้างก็ว่า “สงสัยหล่อนมาสภาเพื่อหาผู้ชายจ่ายค่าเหล้า”


ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อค่ะ เรื่องราวจบลงตรงที่ ส.ส. หญิงทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านพากันออกมาปกป้อง ส.ส. รยูโฮจอง โดยย้ำว่า ในเมื่อไม่มีกฎห้ามสวมกระโปรงในสภา แล้วเหตุใดจะต้องกะเกณฑ์ให้ ส.ส. หญิงสวมสูทกับกางเกงสแล็กเท่านั้น ด้านกระแสในโลกออนไลน์ สาวๆ เกาหลีต่างพากันซื้อ ‘เดรสชมพูจุดแดง’ จนสำนักข่าวต้องพาดหัวข่าวว่า ‘เดรสราคา 88,000 วอน (ประมาณ 2,000 กว่าบาท) ของ ส.ส. รยูโฮจอง ตอนนี้ต่อให้มีเงินก็ซื้อไม่ได้ เพราะขายหมดเกลี้ยง’


นอกจากนี้ชาวเน็ตยังเชื่อมโยงกับกรณีปี 2003 ที่ ส.ส. ยูชีมิน ซึ่งเป็นผู้ชาย สวมกางเกงผ้าฝ้ายลำลองสีขาวเข้าสภาแทนที่จะสวมชุดสูทสีเข้ม โดยเขาให้เหตุผลว่า “เนื่องจากสภาเป็นพื้นที่สำหรับทำงาน ผมก็เลยแต่งตัวที่สะดวกต่อการทำงาน” ในครั้งนั้น ส.ส. ยูชีมิน ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก ทำไมยูชีมินทำได้ แต่รยูโฮจองทำไม่ได้ เพราะเธอเป็นผู้หญิงอย่างนั้นหรือ?


ใช่ค่ะ! และนี่คือประเทศเกาหลีใต้ ประเทศที่ ส.ส. หญิงสวมเดรสสีสดใสไปสภาก็ถูกผู้ชายรุมด่า แต่กลับมี ส.ส. หญิงจากพรรคขั้วตรงข้ามเข้ามาปกป้อง


ประเทศที่รัฐบาลกำหนดโควตารับพนักงานหญิงเข้าบริษัท แต่บางบริษัทยอมที่จะจ่ายค่าปรับให้รัฐ เพราะอยากรับแต่พนักงานผู้ชายที่ไม่ต้องลาออกไปเลี้ยงลูก หรือเอาเวลาที่ควรจะทำงานล่วงเวลาไปดูแลลูก


ประเทศที่มีการล่วงละเมิดทางเพศและกดขี่ผู้หญิงในที่ทำงาน จนสาวๆ ออกมาทำแคมเปญ ‘Me Too’ บอกเล่าความทุกข์ระทมที่ต้องเจอ แต่ผู้ชายกลับมองว่าเพ้อเจ้อ คิดไปเองหรือเปล่า


ประเทศที่แค่ไอดอลหญิงอ่านนิยาย คิมจียอง เกิดปี 82 ก็ถูกกลุ่มต่อต้านเฟมินิสม์ผลักไสเหมือนเธอก่ออาชญากรรม แต่ คิมจียอง เกิดปี 82 ก็ขึ้นแท่นหนังสือขายดีตลอด


ประเทศที่มีประธานาธิบดีนับถือคริสต์คาทอลิกเคร่งครัด แต่ด้วยการต่อสู้ของสตรีก็สามารถยกเลิกกฎหมายห้ามทำแท้งลงได้


ประเทศที่ผู้ชายบางคนมองผู้หญิงอ่อนแอ โง่เง่า ไม่รู้จักมิตรภาพที่แท้จริง เพียงเพราะพวกเธอไม่เคยเกณฑ์ทหาร…


แม้จะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่าการต่อสู้เพื่อผู้หญิงก็ยังมีเพียงแต่ผู้หญิงด้วยกันเท่านั้นที่เข้าใจ ปลอบประโลมกันและกัน

 

การประท้วง Me Too ชาวเกาหลี

การประท้วง Me Too

การประท้วง Me Too

 

ไอรีน Red Velvet และหนังสือ คิมจียอง เกิดปี 82 ที่มีเนื้อหาสนับสนุนเฟมินิสม์ 

ไอรีน Red Velvet และหนังสือ คิมจียอง เกิดปี 82 ที่มีเนื้อหาสนับสนุนเฟมินิสม์ 

 

เกิดเป็นผู้หญิง (เกาหลี) แท้จริงแสนลำบาก
เปิดบทความมาได้ดราม่ามาก แต่จะว่าไปผู้หญิงเกาหลียุคนี้เริ่มลืมตาอ้าปากได้มากขึ้นแล้วนะคะ แม้จะมีแนวคิดปิตาธิปไตยใหญ่เบิ้มๆ กดทับอยู่ แต่พวกเธอก็ได้รับการศึกษาและตระหนักถึงสิทธิของตัวเอง เมื่อรวมกลุ่มได้หนักแน่นพอ สภาก็เริ่มผ่านร่างกฎหมายที่ให้ความเป็นธรรมกับสตรี แต่ก็นั่นแหละค่ะ กว่าจะผ่านสักฉบับก็แสนยากเย็น เพราะจากจำนวน ส.ส. เกาหลีใต้ทั้งหมด 300 คน มี ส.ส. ที่เป็นผู้หญิงเพียงแค่ 57 คนเท่านั้นเอง

 

ซีรีส์ Kim Soo Ro (ด้านขวา: องค์หญิงสุรีรัตนา)

 

ถ้าบอกว่าผู้หญิงเกาหลีรันทดมาตลอดประวัติศาสตร์ก็อาจจะไม่จริง แต่ถ้าบอกว่าผู้หญิงเกาหลีรันทดมานานโคตรๆ อันนี้จริงแท้แน่นอนค่ะ เพราะย้อนไป 2,000 ปีก่อน สังคมเกาหลีก็เคยแฟร์กับผู้หญิงอยู่ องค์หญิงสุรีรัตนา (ฮอฮวังอก) จากแคว้นอโยธยา อินเดีย เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาอภิเษกกับ คิมซูโร ปฐมกษัตริย์แห่งแคว้นคายา มีโอรสด้วยกันถึง 10 พระองค์ กษัตริย์จึงอนุญาตให้โอรส 2 พระองค์ใช้นามสกุลฮอของมารดา กลายเป็นต้นกำเนิดสายตระกูลฮอแห่งเมืองคิมแฮ



เขยิบมาอีกหน่อย ใครที่เคยดูซีรีส์ Queen Seon Deok ก็จะเห็นว่า ในยุคชิลลา องค์หญิงต็อกมาน ได้ครองราชย์เป็นจักรพรรดินีตามกฎ ‘กระดูกศักดิ์สิทธิ์’ (คล้ายๆ การจัดอันดับว่าใครเลือดบริสุทธิ์กว่าก็ได้ครองราชย์ ซึ่งเป็นได้ทั้งหญิงชาย) ส่วนตัวร้าย พระนางมีชิล ก็มีสวามีถึง 7 คน เป็นยุคที่สมาทานความคิด Polyandry ได้ด้วย หากผู้หญิงมีอำนาจมากพอ 

 

องค์หญิงต็อกมาน (จักรพรรดินีซอนต็อก) และ พระนางมีชิล แห่งอาณาจักรชิลลา

 

ผู้ชายอาศัยเรี่ยวแรงที่มีมากกว่าออกรบ ล่าสัตว์ แล้ววันหนึ่งก็ค่อยๆ ด้อยค่า ศาสนาผีที่มีสตรีเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมหลัก ด้วยการรับเอาพุทธศาสนาเข้ามา ในยุคโครยอที่พุทธศาสนารุ่งเรืองสุดๆ ผู้ชายสามารถเข้าถึงนิพพานได้ด้วยการบวช ส่วนผู้หญิงเป็นได้เพียงโยมอุปัฏฐาก

 

แต่นั่นยังไม่ดราม่าเท่ายุคโชซอนที่รับเอาแนวคิด ‘ขงจื๊อใหม่’ (Neo-Confucianism) ที่ผลักผู้หญิงไปอยู่ชายขอบสุดๆ โดยหัวใจที่ชาวโชซอนรับมาปฏิบัติคือ ซัมกังโอรยุน (삼강오륜) พันธะ 3 ประการ-สัมพันธ์ 5 ประการ อันประกอบไปด้วย พันธะระหว่างกษัตริย์กับราษฎร, พันธะระหว่างพ่อแม่กับบุตร, พันธะระหว่างสามีและภรรยา ซึ่งแน่นอนว่าผู้อยู่ในสถานะต่ำกว่าต้องปรนนิบัติรับใช้ด้วยความภักดี ทางด้านความสัมพันธ์ 5 ประการก็ยังวางหน้าที่ไว้อย่างรัดกุมว่า พ่อแม่ควรปฏิบัติต่อลูกอย่างนี้ ภรรยาควรปฏิบัติกับสามีอย่างนี้ ฯลฯ


ในสังคมปิตาธิปไตย ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วมักเปลี่ยนไปใช้นามสกุลสามี แต่ผู้หญิงเกาหลีใช้นามสกุลเดิม เพราะถูกมองว่าไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะเข้ามาเป็น ‘สมาชิก’ หรือครอบครอง ‘สมบัติ’ ของบ้านนั้นๆ ด้วยซ้ำค่ะ ชีวิตผู้หญิงจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อเธอให้กำเนิดบุตรชายและเลี้ยงดูบุตรให้ประสบความสำเร็จ เคยเห็นธนบัตร 50,000 วอนของเกาหลีใต้ไหมคะ บนนั้นมีรูปสตรีคนหนึ่ง เธอคือ ‘ชินซาอิมดัง’ ปี 2009 ตอนธนบัตรตีพิมพ์ครั้งแรกคนฮือฮากันมาก ประเทศชายเป็นใหญ่อย่างเกาหลีใต้เชิดชูสตรีให้อยู่บนธนบัตรราคาแพงที่สุดเลยหรือ แต่สาเหตุที่ชินซาอิมดังถูกยกย่องก็เพราะเธอเป็นแม่ที่เลี้ยงลูกได้ดี โดยลูกชายของเธอก็คือนักปราชญ์อีอี (นามปากกา ยูลกก) คนที่อยู่บนธนบัตร 5,000 วอนนั่นเอง

 

จนถึงที่สุดแล้ว สตรีที่ได้รับการยกย่องก็ยังไม่พ้นภารกิจ ‘เมียและแม่ที่ดี’ จนในปี 2017 จึงมีซีรีส์ Saimdang, Light’s Diary ออกมาแก้เกม โดยเขียนบทละครให้อยู่ในธีม Herstory ผ่านมุมมองเฟมินิสม์ และวางให้ซาอิมดังเป็นสตรีที่มีไฟฝันงานศิลป์อันยิ่งใหญ่

 

ซีรีส์ Saimdang, Light Diaryซีรีส์ Saimdang, Light Diary

 

ชินซาอิมดังบนธนบัตร 50,000 วอน (แม่)

ชินซาอิมดังบนธนบัตร 50,000 วอน (แม่)

 

ละครแม่บ้าน รันทดให้สุด
สิ่งที่คนไทยเรียกติดปากว่า ‘ซีรีส์เกาหลี’ จริงๆ แล้วมีน้อยเรื่องนะคะที่จัดอยู่ในหมวด ‘ซีรีส์’ (ฉายเป็นซีซัน) กว่า 90% ที่คนไทยดูกัน คนเกาหลีเรียกว่า ทือรามา (드라마) ก็คือดราม่า หรือละครนี่แหละค่ะ แล้วพอพูดถึง ‘ละคร’ คำว่า ‘แม่บ้าน’ ก็มักตามมาทันที ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตั้งแต่คนเกาหลีมีโทรทัศน์เป็นเครื่องใช้ประจำบ้าน ‘ละครแม่บ้าน’ ก็ผลิตขึ้นมาเพื่อสร้างความสุขและประโลมใจพวกเธอ (จากนี้ไปเราจะขออนุญาตเรียก ‘ซีรีส์เกาหลี’ ว่า ‘ละคร’ นะคะ) สิ่งที่อยู่ในละครก็คือสิ่งที่แม่บ้านเกาหลีคาดหวังว่าจะได้ดู ยุคแรกๆ ที่แม่บ้านเกาหลียังอยู่เหย้าเฝ้าเรือน รับใช้แม่สามี ละครเกาหลีแนวดราม่ารันทด ชีวิตรักที่พลัดพราก เรื่องราวของลูกสะใภ้ผู้แสนซื่อสัตย์ ตลอดจนละครพีเรียดแนวชิงรักหักสวาท นางสนมตบตีกันแย่งเป็นคนโปรดของพระราชา ฯลฯ ล้วนแต่เป็นที่ชื่นชอบของเหล่าแม่บ้าน แต่ในวันที่ผู้หญิงเกาหลีลุกขึ้นมาทำงาน รู้จักที่จะเคารพตัวเอง ละครเหล่านั้นก็เริ่มจะเอาต์เสียแล้ว 

 

จางอ๊กจอง (Jang Ok-Jung) และ ทงอี (Dong Yi)จากซ้ายไปขวา: จางอ๊กจอง (Jang Ok-Jung) และ ทงอี (Dong Yi)

 

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ติดตามละครพีเรียดเกาหลีเกิน 20 ปี ก็น่าจะสังเกตได้ว่าแม้เรื่องราวจะดำเนินขึ้นในยุคโชซอนเหมือนเดิม แต่ ‘ผู้หญิงในละครพีเรียด’ ยุคหลังๆ ไม่เหมือนเดิมแล้วนะคะ เรื่องราวของ ‘สนมเอกจางฮีบิน’ ถูกรีเมกมากถึง 9 ครั้ง โดยครั้งที่ 1-7 เป็นแนวชิงรักหักสวาท แต่การรีเมกครั้งที่ 8 เมื่อปี 2010 ‘ทงอี’ นางเอกผู้ดำเนินเรื่องคนใหม่ เธอมาพร้อมกับอาชีพ ‘สืบจากศพ’

 

ส่วนการรีเมกครั้งที่ 9 เมื่อปี 2013 จางอ๊กจอง นางเอกของเรื่อง ที่แต่เดิมถูกวางคาแรกเตอร์เป็นหญิงร้ายมาตลอด 50-60 ปี เธอมาในมาดใหม่ ‘แฟชั่นนิสต้า’ ตัดเย็บเสื้อผ้าพัสตราภรณ์ในวังหลวง ใช่แล้วค่ะ พระสนมในสมัยโชซอนตัวจริงอาจจะนั่งๆ นอนๆ มีบ่าวไพร่รอบตัว แต่ถ้าเป็นละครยุคใหม่ อย่างไรเสียผู้หญิงก็ต้อง ‘ฉลาดและมีงานทำ’


ลาก่อนชีวิตอับเฉา
จุดเปลี่ยนที่ทำให้ผู้หญิงในวังต้องมีงานทำ ก็มาจากซีรีส์ยอดฮิต แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง เมื่อปี 2003 นั่นเองค่ะ เธอเป็นแม่ครัวรสมือเลิศ ที่แม้จะถูกใส่ร้าย เนรเทศไปอยู่เกาะเชจูอันแสนทุรกันดาร แต่เธอก็ยังคัมแบ็กในวังอีกครั้งในมาด หมอหญิงผู้แสนเก่งกาจ จากนั้นก็จุดประกายให้ผู้หญิงในละครพีเรียดเกาหลีมีงานทำกันรัวๆ ไม่ว่าจะเป็น ชินยุนบก นักวาดรูป (ชินยุนบกตัวจริงในประวัติศาสตร์ เป็นผู้ชายค่ะ แต่เขาวาดภาพผู้หญิงได้พลิ้วหวานมากๆ จนมีข่าวลือว่าหรือจะเป็นผู้หญิงปลอมตัวมา ในละครจึงสร้างให้เธอเป็นผู้หญิงเสียเลย)

 

สนมซองอึยบิน แห่ง Yi San ก็เป็นช่างเขียนในวังเช่นกัน, จองอี เจ้าแม่เครื่องปั้นเซรามิก, แฮซู เมกอัพแห่งวังหลวงโครยอ ไปจนถึงอาชีพที่ติ๊ต่างขึ้นมาอย่าง อาลักษณ์หญิง กูแฮรยอง ซึ่งแน่นอนว่าในยุคโชซอนจริงๆ ไม่มีทางที่ผู้หญิงจะเข้าไปเป็นอาลักษณ์หลวงได้ แม้แต่โอกาสทางการศึกษาก็ยังถูกปิดกั้น แต่ก็นะ คนดูสมัยนี้เขาชอบ ‘นางเอกฉลาดๆ’ นี่นา

 

แดจังกึม (Dae Jang Geum), ชินยุนบก (Painter of the Wind) และ สนมซองอึยบิน (Yi San)  

จากซ้ายไปขวา: แดจังกึม (Dae Jang Geum), ชินยุนบก (Painter of the Wind) และ สนมซองอึยบิน (Yi San)

 

จองอี (Goddess of Fire), แฮซู (Moon Lover) และ กูแฮรยอง (Historian Rookie Goo Hae Ryung)จากซ้ายไปขวา: จองอี (Goddess of Fire), แฮซู (Moon Lover) และ กูแฮรยอง (Historian Rookie Goo Hae Ryung)

 

มาที่ละครยุคปัจจุบัน พ้นจากยุคดราม่าแม่ผัวลูกสะใภ้ ผู้หญิงเกาหลีก็ใฝ่ฝันอยากจะมีชีวิตรักแสนหวานราวกับเจ้าหญิงซินเดอเรลลาดูสักครั้ง ใครที่ชอบแซวผู้หญิงโก๊ะๆ ว่าทำตัวเหมือน ‘นางเอกซีรีส์เกาหลี’ แสดงว่าคุณยังติดอยู่ในวังวนของซีรีส์เกาหลีช่วงนี้ค่ะ นางเอกสุดโก๊ะกังได้พบรักกับผู้ชายในฝัน ตัวอย่างเช่น Lover in Paris สาวถังแตกสะดุดรักมหาเศรษฐี ณ กรุงปารีส, Full House สาวถูกเพื่อนหลอกขายบ้านหลังใหญ่ หมดเนื้อหมดตัว แต่กลับพบรักกับซูเปอร์สตาร์ที่มาซื้อบ้าน และที่ฮิตสุดๆ อีกเรื่อง My Name is Kim Sam Soon สาวอ้วนปากร้ายวัย 30 ที่มีเจ้านายสุดหล่อ มาตกหลุมรักหัวปักหัวปำ พล็อตซีรีส์ช่วงนี้ชวนฝันเหลือเกิน แต่ก็เป็นนิมิตหมายแรกๆ ที่ผู้หญิงเกาหลีกล้าเดินออกมาจากเงามืด กล้าที่จะใฝ่ฝันถึงผู้ชายดีๆ สักคน 

 

Lover in Paris, Full House, My Name is Kim Sam Soon

จากซ้ายไปขวา: Lover in Paris, Full House, My Name is Kim Sam Soon

 

แต่เดี๋ยวนี้จะเที่ยวไปทักผู้หญิงทำตัวหน่อมแน้มว่าเหมือนนางเอกซีรีส์เกาหลีไม่ได้แล้วนะคะ โลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ‘ละคร’ ก็ไม่ได้ทำให้ ‘แม่บ้าน’ ดูเพียงอย่างเดียวแล้ว ผู้หญิงเกาหลีสมัยนี้ เติบโต แข็งแกร่ง พร้อมสู้ในแวดวงการงาน สิ้นสุดยุคสมัยแห่งความเพ้อฝัน แล้วมาคุยกันในเรื่องโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น


ในปี 2014 มีละครเกาหลีที่เราชอบมากๆ เรื่องหนึ่งชื่อ Misaeng เรื่องราวของผู้ชายคนหนึ่งที่ไม่ประสาโลกสุดๆ ชีวิตของเขารู้แค่วิธีเล่นหมากล้อม แต่กลับจับพลัดจับผลูเข้าไปเป็นพนักงานในออฟฟิศสุดโหด บทที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือนางเอกค่ะ เทียบกับพระเอกแล้วเธอเป็นสาวที่ทำงานคล่องสุดๆ แต่กลับถูกผู้ชายในออฟฟิศดูถูกว่า “ผู้หญิงไม่ต้องสอนงานมาก เดี๋ยวก็ลาออกไปแต่งงานเลี้ยงลูกแล้ว” ในขณะที่หัวหน้าหญิงอีกคนตั้งปณิธานแม่นมั่นว่าจะไต่เต้าเป็นพนักงานระดับสูงของบริษัทไปพร้อมกับเป็นแม่ที่ดีด้วย แต่พยายามเท่าไรก็ไม่เคยพอ หากเธอทุ่มให้อย่างหนึ่งก็มักจะบกพร่องในอีกอย่างหนึ่งเสมอ ทั้งที่สังคมไม่ได้คาดหวังให้มนุษย์เงินเดือนผู้ชายทุ่มเทกับหน้าที่ ‘พ่อ’ ขนาดนั้น นี่คือยาพิษที่ผู้หญิงเกาหลีกลืนกินไปทุกวันโดยที่ผู้ชายไม่รู้

 

Misaeng

Misaeng

 

ผ่านมาอีกแค่ไม่กี่ปี บทบาทของผู้หญิงในละครโบยบินสูงกว่าที่คิด เธอคือหมอ ทนาย อัยการ ตำรวจ ทหาร เจ้าของธุรกิจ นักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางสังคม นักวิจัย ฯลฯ ไม่ถูกพันธนาการด้วยบทบาท ‘เมีย’ และ ‘แม่’ อีกต่อไป เธอฝันถึงเจ้าชายขี่ม้าขาวน้อยกว่าแต่ก่อน แต่รับรู้ความเจ็บปวดและเป็นกำลังใจให้กันและกันในฐานะผู้หญิง เราเองยังเคยพูดติดตลกไว้ว่า แม้แต่ซีรีส์แนวผัวมีเมียน้อย เมียก็คบชู้ประชด อย่าง A World of Married Couple ที่ดังเป็นพลุแตกได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะผู้หญิงเกาหลีสมัยนี้มีการศึกษา มีหน้าที่การงานสูง ผู้หญิงอย่าง หมอจีซอนอู ก็เลยกล้าแบล็กเมลผัว กล้าเล่นชู้กลับ (ความจริงเป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรทำตามนะคะ) ไม่รู้ว่าเรื่องนี้เราจะต้องขอบคุณไปไกลถึงม็อบโรงเรียนสตรีซุนซอง ปี ค.ศ. 1899 เลยหรือเปล่า ที่เรียกร้อง ‘อนุญาตให้ผู้หญิงได้เข้าโรงเรียน’ ถือเป็นการเคลื่อนไหวของเฟมินิสม์ระลอกแรกในเกาหลี โดยมีความเชื่อว่าสตรีเกาหลีถูกอำนาจกดไว้มานาน หากอยากให้พวกเธอออกจากกรงขังตรงนั้น ต้องหว่านเมล็ดพันธุ์การศึกษาให้กับผู้หญิง… ถ้าไม่มีก้าวแรก ป่านนี้จีซอนอูอาจยังไม่มีเอเนอจี้ไปไฟต์กับสามีก็ได้

 

A World of Married Couple และการชุมนุมโรงเรียนสตรีซุนซอง ปี 1899

จากซ้ายไปขวา: A World of Married Couple และการชุมนุมโรงเรียนสตรีซุนซอง ปี 1899

 

การเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในวงการบันเทิงเกาหลี ปัจจุบันมีการตั้งประเด็นถึงความไม่เท่าเทียมในชื่ออาชีพและบทบาท อย่างเช่นคำว่า ‘พระเอก’ และ ‘ผู้กำกับชาย’ คนเกาหลีจะเรียก จูอินกง (주인공 – ตัวเอก), คัมดก (감독 – ผู้กำกับ) เฉยๆ แต่พอเป็นผู้หญิงกลับเรียกว่า ยอจูอินกง (여주인공 – ตัวเอกหญิง), ยอกัมดก (여감독 – ผู้กำกับหญิง) นั่นเพราะผู้หญิงเข้ามาทำงานแถวหน้า มีสปอตไลต์โดดเด่น มันดูเป็นเรื่องแปลกกว่าหรืออย่างไร ในอนาคตเราคงจะได้เห็นคำนิยามกลางๆ ที่สะท้อนความเท่าเทียมกันในสังคมมากขึ้น

 

และเผื่อว่าใครอยากดูละครที่สะท้อนให้เห็นถึงพลังหญิง เหล่านี้คือ Woman Empowering Dramas 5 ละครเพื่อนหญิงพลังหญิง เสริมพลังหัวใจฟู

 

1.Search: WWW (tvN, 2019)

 

Search: WWW (tvN, 2019)

 

ละครแนว ‘เพื่อนหญิงพลังหญิง’ ที่เราให้ยืนหนึ่งในหลายมิติ โดดเด่นทั้งพล็อตสดใหม่ทันสมัย เนื้อหาที่ให้คุณค่าผู้หญิงวัยทำงาน การเคารพความเห็นซึ่งกันและกัน ไม่เหยียดเพศ ไม่มีแม้แต่การกดคุณค่าของเพศหญิงในท้องเรื่องเลย Search: WWW เป็นเรื่องราวของผู้หญิง 3 คนที่ทำงานอยู่ในเว็บท่ายักษ์ใหญ่ (Web Portal Company) เชื่อหรือไม่ว่าแค่ ‘คำเสิร์ชยอดนิยม’ ที่เราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน สร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมขนาดไหน สามารถสั่นคลอนการทำงานของนักการเมืองได้ ทำให้ดาราคนหนึ่งเครียดจนคิดฆ่าตัวตายได้ แต่อีกมุมหนึ่งก็สร้างเรื่องดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมได้เช่นกัน เด็กธรรมดาคนหนึ่งที่หายตัวไปสามารถกลับสู่อ้อมอกครอบครัวได้อย่างปลอดภัย หลังขึ้นคำเสิร์ชยอดนิยม แล้วจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ ‘เว็บท่า’ ได้รับดีลขอให้ปกปิดการทำงานสกปรกบางอย่างของรัฐบาล แลกกับค่าตอบแทนก้อนใหญ่

 

3 สาวนางเอกของเรื่องคือคีย์หลักของการตัดสินใจต่างๆ ในองค์กร แบทามี สาววัย 38 ปี เธอเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง และสนุกกับความสำเร็จในสายอาชีพ เมื่อวันหนึ่งมีความรักเข้ามาทักทาย เธอจึงอยากให้ความสำคัญรองลงมา, ชาฮยอน สาวทำงานมาดเท่ ที่เบื้องหลังมีมุมอ่อนไหว เธอให้ความสำคัญกับทุกคำค้นในอินเทอร์เน็ต แต่วันหนึ่งกลับไปตกหลุมรักนักแสดงหนุ่มที่ไม่มีแม้แต่ข้อมูลของเขาในเว็บเสิร์ชเอนจินเลย, ซงกาคยอง ผู้บริหารสาวเก่งที่แต่งงานเข้าครอบครัวเศรษฐีใหญ่ อุดมการณ์ของเธอจะถูกโค่นด้วยอิทธิพลมืด หรือเธอจะยืนหยัดเพื่อความถูกต้อง

 

2. Be Melodramatic (JTBC, 2019)

 

Be Melodramatic (JTBC, 2019)

 

ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นละคร Coming of Age ของหนุ่มสาวที่อายุเข้าวัย 30 แต่พอได้ลองสัมผัสแล้ว เราว่าเป็นปัญหา ‘หมดไฟ’ ทำงานที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน


เนื้อหาเรื่องเกี่ยวกับ 3 สาว 1 หนุ่ม (และอีก 1 หนูน้อย) ที่เช่าบ้านอยู่ด้วยกัน พวกเขากำลังเข้าสู่วัย 30 และกำลังทบทวนว่าเส้นทางที่ตัวเองฝ่าฟันมานั้นกำลังหลงทางหรือเปล่า จะถอยหลังกลับไปก็กังวลว่าจะสายเกิน จะเดินไปข้างหน้าก็กลัวจะพบทางตัน แต่อย่างไรสองเท้าก็ยังไม่หยุดเดินแม้จะหมดไฟ เป็นเรื่องราวของผู้คนที่สัมผัสประสบการณ์ Toxic ในชีวิต จนคิดจะเติมความหวานให้ชีวิตอย่างไรมันก็ยังจืด

 

ตัวละครหลักประกอบด้วย อิมจินจู นักเขียนบทละคร หลังจากถูกแฟนหนุ่มที่คบกันมานานบอกเลิก เธอก็หันหลังให้กับความรัก เธอซื้อกระเป๋าแพงใบหนึ่ง และเฝ้ามองมันเพื่อเพิ่มพลังให้ตัวเอง หลังออกจากตำแหน่งนักเขียนผู้ช่วยของเจ้าแม่ซีรีส์โรแมนติก บทละครของจินจูก็ไปเข้าตาผู้กำกับหนุ่มคนหนึ่ง ถึงเขาจะขี้โอ่ แต่ความดื้อดึงของเขาก็ทำให้เธอประทับใจเหลือเกิน, ฮันจีอึน อดีตดาวมหาวิทยาลัยที่หล่นตุ้บจากฟ้าเพียงชั่วข้ามคืนเพราะไปท้องกับผู้ชายที่มาจีบ เธอกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวและทำงานเป็นธุรการในกองถ่ายที่ดูแคลนผู้หญิงเหลือเกิน ในขณะที่ ‘พ่อของลูก’ ต่อมากลายเป็นดาราตลกชื่อดัง กลับเอาเรื่องชีวิตรักของเขาโม้ออกทีวีไปทั่ว แต่ไม่เคยแม้แต่จะรับผิดชอบลูกเมีย, อีอึนจอง ผู้กำกับสารคดีสาวแกร่ง เธอเคยประสบความสำเร็จท่วมท้น และมีแฟนหนุ่มที่ดี แต่หลังจากความตายได้พรากคนรักไป เธอก็ใช้ชีวิตอย่างคนเสียศูนย์ จินตนาการถึงความหวานในวันเก่า สมาชิกคนสุดท้าย อีฮโยบง น้องชายแท้ๆ ของอึนจอง เขาร้องเพลงและเล่นดนตรีเก่ง แต่พยายามแค่ไหนสปอตไลต์ก็ส่องไม่ถึงสักที เขาจึงเป็นได้แค่นักร้องไกด์ไลน์เท่านั้น


3. Avengers Social Club (tvN, 2017)

Avengers Social Club (tvN, 2017)

 

ละครที่ดูจากชื่อเรื่องและโปสเตอร์แล้วหลอกให้เราคิดว่าเป็นแนวดราม่าล้างแค้นสุดเข้มข้นแน่ๆ (ชื่อเกาหลีคือ 부암동 복수자들 ‘เหล่าผู้แก้แค้นแห่งย่านพูอัมดง’) แต่จริงๆ แล้วตลกและน่ารักสุดๆ

 

อีโยวอน สลัดคราบเจ้าแม่ดราม่าน้ำตาแตก มารับบท คิมจองฮเย คุณหนูลูกเศรษฐี ที่ได้แต่งงานกับสามีนักธุรกิจ เธอกลายเป็นแม่บ้านแต่งตัวสวยไปวันๆ และไม่ได้มีลูกกับสามี จนอยู่มาวันหนึ่ง สามีได้พาเด็กหนุ่ม ม.6 เข้ามาที่บ้านหน้าชื่นตาบาน แนะนำเธอว่านี่คือ ‘ลูกชายแท้ๆ’ ของเขา การแก้แค้นสามีก็เลยเริ่มขึ้น ณ บัดนั้น แต่ความเป็นคนโก๊ะกัง เธอก็เลยแก้แค้นแบบโก๊ะๆ ค่ะ

 

แต่ไม่ใช่ คิมจองฮเย คนเดียวที่ดำเนินการล้างแค้น เธอยังไปดึงเอา ฮงโดฮี แม่ค้าขายปลาในตลาด และ อีมีซุก แม่บ้านของสามีนักวิชาการที่ชอบทำร้ายร่างกายมาร่วมทีมด้วย ไปๆ มาๆ แม้แต่ อีซูกยอม เด็กหนุ่มที่เป็นลูกชายแท้ๆ ของสามีเธอก็เผยความลับว่า เขาเองกลับมาบ้านหลังนี้เพราะอยากล้างแค้นพ่อ เรื่องนี้แม้จะไม่ได้เฟมินิสม์จ๋า แต่ก็ปลุกใจ ‘แม่บ้านเกาหลี’ มากมาย ปกติแม่บ้านฟูลไทม์ที่รับเงินเดือนจากสามีมักยอมถูกสามีทำร้ายร่างกายหรือปล่อยให้มีเมียน้อย เพราะรู้สึกว่าชีวิตผูกติดกับเขาไปแล้ว ใครที่เป็นแบบนี้ได้มาดูก็คงมีแรงฮึดสู้ขึ้นมาเหมือนกัน 

 

4. Into The Ring (KBS, 2020)

 

Into The Ring (KBS, 2020)

 

ละครเกาหลีที่บอกเราว่า ‘การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน’ เรื่องนี้นำแสดงโดย นานะ วง After School


ดูจากลุคแล้วอย่างไรก็เหมือนไอดอลมากกว่านักการเมืองใช่ไหมคะ ใช่แล้ว ละครวางคาแรกเตอร์ให้เป็นอย่างนั้น ในเรื่องเธอรับบทเป็น กูเซรา (ออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า กุมแกรา (꿈깨라) แปลว่า ตื่นจากฝันเสียเถอะ หรือ ฝันไปเถอะ) เธอเป็นสาวที่เกิด โต และเล่าเรียนอยู่ในเขตมาวอน แม้จะอายุ 29 ปี แต่ชีวิตก็ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันสักที กูเซรา เป็นผู้หญิงโผงผาง เธออดทนกับความอยุติธรรมไม่ได้ ดังนั้นเมื่อเห็นสิ่งไม่ถูกต้อง เธอจะส่งเรื่องร้องเรียนไปที่ ‘สำนักงานเขต’ เสมอ จนวันหนึ่งเธอได้จับพลัดจับผลูรับเลือกตั้งเข้ามาเป็นสมาชิกสภาเขต ได้รู้ความเน่าเฟะมากมายที่ซ่อนไว้ใต้พรม


เราชอบที่วางให้มีคาแรกเตอร์เพื่อนนางเอก 2 คน คนหนึ่งว่าอย่างไรว่าตามกัน ซัพพอร์ตเพื่อนตลอดแม้จะไม่มีความรู้การเมือง ส่วนเพื่อนอีกคนเป็นคุณแม่ลูกหนึ่ง เธอใช้ชีวิตระแวดระวัง ไม่กล้าพุ่งชนความถูกต้อง จนวันหนึ่งที่ถูก ‘การเมืองพุ่งชนอย่างจัง’ จะมีโรงงานอุตสาหกรรมมาตั้งข้างโรงเรียนลูก เธอเลยลงสังเวียนสู้เต็มที่ ละครเรื่องนี้ชี้ให้เห็นค่าการต่อสู้ของคนตัวเล็กๆ ที่คุณอาจรู้สึกว่าเขา ‘เพ้อเจ้ออะไรอยู่’ แต่ถ้าวันหนึ่งการเรียกร้องของเขาสำเร็จ คุณเองก็จะเป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลประโยชน์ด้วย ไม่ว่าคุณจะถูกดูแคลนว่าเป็นผู้หญิง อายุน้อย หรือไม่มีเส้นสาย แต่เมื่อถึงเวลา เราก็ไม่อยากให้คุณออมมือกับความอยุติธรรม


5. Good Casting (SBS, 2020)

 

Good Casting (SBS, 2020)

 

เรื่องนี้อาจไม่ใช่แนวเฟมินิสม์จ๋า แต่ถ้าคุณชอบละครแนวเกิร์ลแก๊ง นี่คือสิ่งสร้างเสียงฮาได้เป็นอย่างดี


Good Casting คือชื่อปฏิบัติการของสายลับสาวที่ทำงานบ้งตลอดไม่สมชื่อเท่าไร แพกชานมี สายลับสาวสุดห้าวมุทะลุ, อิมเยอึน สายลับน้องใหม่คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว และ ฮวังมีซุน อดีตสายลับรุ่นเก๋าที่คร่ำหวอดทั้งวงการรัสเซียและเกาหลีเหนือ แต่ปัจจุบันกำลังจะแพ้สังขารตัวเอง มาเอาใจช่วยให้เหล่าเจ๊ๆ ทำภารกิจสำเร็จกันค่ะ

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X