×

รักษาตัวชั้น 14 ทำลายกระบวนการยุติธรรมอย่างไร? ทวีแจงละเอียด ยันทำตามกฎหมาย-ความเห็นแพทย์อย่างรอบคอบ

โดย THE STANDARD TEAM
04.04.2024
  • LOADING...
กระบวนการยุติธรรม

วันนี้ (4 เมษายน) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 32 สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 วาระพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ซึ่งสมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้านได้เข้าชื่อกันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ต่อเนื่องเป็นวันสุดท้าย

 

พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวชี้แจงประเด็นการพักโทษเป็นกรณีพิเศษ โดยระบุว่า ผู้อภิปรายและสมาชิกอีกจำนวนหนึ่งอาจจะมีความเข้าใจไม่ตรงกัน ทำให้ท่านพูดอย่างไรก็จะโยงไปที่โรงพยาบาลตำรวจ ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ บัญญัติไว้ว่า การนำตัวไปรักษานอกห้องขังมิให้ผู้ต้องขังนั้นพ้นจากการควบคุม และถ้าผู้ต้องขังนั้นไปเสียจากสถานที่รับตัวไปรักษา ให้ถือว่ามีความผิดหนีที่คุมขัง

 

ดังนั้นถ้าสมาชิกมองว่าสถานที่ซึ่ง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปรักษาตัว เป็นที่เลวร้าย เลือกปฏิบัติ ตนเองก็ไม่รู้จะใช้คำพูดอะไร เพราะการไปพักรักษาตัวก็มีเกณฑ์ตามกฎกระทรวง ตั้งแต่การจัดสถานที่ควบคุมพิเศษ ซึ่งตรงกับนิยามตามกฎหมาย ทักษิณจึงอยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว

 

พ.ต.อ. ทวี ย้ำว่า ตนเองไม่ได้เป็นผู้ออกกฎกระทรวง และหากจะหาผู้รับผิดชอบ แต่วันนี้เวลาที่จะอภิปราย รัฐธรรมนูญ มาตรา 53 ระบุว่า รัฐต้องดูแลและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่ตนเองจะเสียใจว่าคนปัจจุบันมาใช้ตรรกะวิบัติ ข้าราชการตั้งแต่ปลัดกระทรวงยุติธรรม รองปลัดกระทรวงฯ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตนเองก็ไม่ได้เปลี่ยนตัวด้วยซ้ำ

 

“ต้องเรียนว่าถ้าใช้ตรรกะวิบัติหรือปฏิบัติไม่ชอบ ถ้าอดีตนายกฯ ทักษิณเข้ามาวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ผมเองเคารพท่าน แต่ก็ยังมีความวิตก ทำไมท่านเข้ามาในรัฐบาลที่ยึดอำนาจจากท่านไป ท่านมีความกล้าหาญมาก ทำไมท่านไม่รอเวลา เพราะตอนนั้นก็รู้แล้วว่าการเลือกตั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยกำลังจะจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคอื่นๆ ทำไมท่านไม่เข้ามาตอนที่มีรัฐบาลใหม่ ผมไม่ได้ถามเหตุผลท่าน แต่ถ้าในมุมมองของผม ผมถือว่าท่านมีสปิริตสูงมาก”

 

พ.ต.อ. ทวี กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลปัจจุบันได้แถลงนโยบายเพื่อปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ห่างมาเกือบเดือน ทักษิณก็ไปอยู่โรงพยาบาลแล้ว เมื่อมีผู้อภิปรายว่าการไปอยู่โรงพยาบาลเป็นการทำลายล้างกระบวนการยุติธรรม จะทำลายล้างได้อย่างไร เพราะในเมื่อทั้งกฎหมายและกฎกระทรวงระบุว่านี่คือเรือนจำ การกล่าวหาว่าเป็นที่คุมขังทิพย์จึงไม่เป็นธรรม

 

ทั้งนี้ ในกฎหมายยังระบุว่า เมื่อเวลาเจ็บป่วยให้ส่งแพทย์โดยเร็ว แล้วไม่ได้เขียนให้เอาตัวกลับมาด้วยซ้ำ หากจะกลับมาก็ต้องเป็นเรื่องของแพทย์ และหากแพทย์ให้ส่งตัวไปก็ไม่มีใครขัดแพทย์เลย แต่ที่สำคัญคือการถูกคุมขัง ท่านสูญเสียเสรีภาพ มีผู้คุมและตำรวจ ส่วนการจัดที่คุมขังพิเศษก็เป็นเรื่องของโรงพยาบาล อาจจะมีเหตุผลอย่างไรไม่ทราบ เพราะในกฎหมายราชทัณฑ์กำหนดไว้เพียงไม่ให้หนี และไม่ให้ก่อเหตุร้าย

 

“ทุกท่านที่ดึงไปอยู่ในโรงพยาบาลบอกเป็นเรื่องเลวร้าย ขัดหลักนิติธรรม ผมได้พูดกับ สว. แล้ว การฉีกรัฐธรรมนูญ การยึดอำนาจ อันนั้นสิ ในทัศนะของผม ที่ธำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นั่นคือการทำลายระบบ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ผมพูดเสมอว่าตัวเองไม่อยากเห็นคนพูดว่า ‘คนจงทำในสิ่งที่ฉันพูด แต่สิ่งที่ฉันพูดฉันไม่ทำ’ ถ้าเป็นลักษณะนี้จะเกิดความเสียหาย”

 

พ.ต.อ. ทวี ยังได้ชี้แจงเรื่องความเห็นของแพทย์ มีแพทย์ 2 คนที่จะรายงานมายังอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นผู้มีความรอบคอบมาก จึงส่งเรื่องกลับไปยังโรงพยาบาลราชทัณฑ์ว่าอาการลักษณะนี้สามารถนำตัวกลับมาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้หรือไม่ ซึ่งได้คำตอบว่าอยู่ที่ดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา อธิบดีกรมราชทัณฑ์จึงได้ทำหนังสือถามกลับไปที่แพทย์โรงพยาบาลตำรวจ พร้อมส่งไปให้แพทย์อีกหลายคนมีความเห็นกลับมาอีก กระทั่งเสนอเรื่องมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นชอบ และส่วนตัวก็เชื่อว่าเรื่องอาการเจ็บป่วยไม่มีใครรู้ดีกว่าแพทย์

 

“ผมมาเป็นรัฐมนตรีผมก็สงสัย มาถึงยังไม่ทันได้นอนเลย ทำไมต้องมาอยู่ในชั้น 14 ผมก็มาดูว่ามันเป็นความเห็นของแพทย์” พ.ต.อ. ทวี กล่าว

 

ต่อมา วาโย อัศวรุ่งเรือง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ใช้สิทธิพาดพิง พร้อมตั้งคำถามว่า ต่อไปผู้สูงอายุและผู้ป่วยทุกคนในเรือนจำจะได้รับการพิจารณาและได้สิทธิในการรักษาตัวเช่นเดียวกันหรือไม่ โดย พ.ต.อ. ทวี ตอบว่า จะนำไปปฏิบัติ และขอให้สมาชิกช่วยตรวจสอบด้วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X