×

จุรินทร์ นัดหารือสหรัฐฯ ตัด GSP 1 พ.ย. นี้ พร้อมเร่งเจาะตลาดใหม่เป็นรายรัฐ-รายมณฑล

โดย THE STANDARD TEAM
30.10.2019
  • LOADING...
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

วันนี้ (30 ตุลาคม) จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ว่าวันนี้ตนได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ประสานงานกับเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และทูตแรงงานเพื่อที่จะได้นัดหมายไปหารือกับ USTR ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งได้รับรายงานมาแล้วว่าจะมีการนัดหมายเข้าพบเพื่อหารือกันในวันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ส่วนผลเป็นอย่างไรก็จะรายงานมาให้ทราบต่อไป 

 

ประการที่สอง คือในส่วนของการเตรียมการสำหรับแก้ไขปัญหาในเรื่องของการตลาดก็จะมี 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งในภาพรวมทั้งหมดก็มีการเตรียมการมาก่อนหน้านี้แล้วในการบุกตลาดใหญ่ทั่วโลก 10 กลุ่มตลาดใหญ่ ซึ่งมีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ. พาณิชย์) โดยก่อนหน้าที่จะทราบว่ามีการตัดสิทธิ์ GSP สินค้าไทย โดย 10 ตลาดใหญ่ก็อย่างที่ตนได้รายงานให้ทราบแล้วว่าตลาดสำคัญ โดยเฉพาะประเทศใหญ่ที่มีประชากรมสก มีศักยภาพสูง เช่น จีน, อินเดีย, สหรัฐอเมริกา การดำเนินการจะลงลึกถึงหลายมณฑล เช่น ในจีน หรือรายรัฐในสหรัฐอเมริกา จึงได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ทำรายละเอียดมาว่ารัฐไหนมีความต้องการสินค้าบริการอะไรของเรา และเราสามารถเจาะตลาดได้ในรูปแบบไหนอย่างไร ควรจะไปขายอะไร ดำเนินการลงลึกถึงรายละเอียด และตนจะทำหน้าที่ในการนำทัพเอกชนร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ไปบุกตลาดทั้ง 10 ตลาด +3 ประเทศใหญ่ดังที่กล่าวมาแล้ว

 

จุรินทร์กล่าวต่อไปว่า สำหรับหมวดสินค้าที่ถูกตัด GSP มี 500 กว่ารายการด้วยกันนั้น แต่มีภาระภาษีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4-5 โดยประมาณ 500 กว่ารายการมีผลกระทบที่แตกต่างกัน เช่น บางรายการของพวกเคมีภัณฑ์ มีภาระภาษีจาก 0% เป็น 0.01% ซึ่งเกือบจะเรียกได้ว่าไม่กระทบเลย แต่บางรายการก็เสียภาษี 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ตนได้มอบให้ปลัดกระทรวงจัดตั้งวอร์รูมในเรื่องนี้ขึ้นมาใน กรอ. พาณิชย์ เพื่อหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนที่ได้รับผลในเรื่องของภาษีที่ต้องจ่ายในการนำเข้าสินค้าไปยังสหรัฐฯ เฉพาะตัวที่ได้รับผลกระทบสำคัญๆ 

 

โดยให้หารือและข้อสรุปร่วมกันว่ากระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือคลี่คลายปัญหานี้อย่างไร ชดเชยอย่างไร หรือเจาะตลาดอื่น หรือเข้าไปดูแลช่วยเหลืออย่างไร และจะจับมือร่วมกันทำตัวเลขเก่าให้คงเดิมหรือเพิ่มขึ้นได้อย่างไร ตนจะเชิญประชุมอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่วอร์รูมได้ข้อสรุปมาแล้ว นี่คือสิ่งที่ขอเรียนให้ทราบความคืบหน้า

 

จุรินทร์ยังบอกด้วยว่า สำหรับการประชุมอาเซียนซัมมิต มีการประชุมกัน โดยถ้าเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและ RCEP หรือ มีอาเซียน +สหรัฐฯ +จีน อินเดีย ตนจะเป็นประธานในที่ประชุมเวทีนี้ต้องดูความเหมาะสม เพราะเป็นเวทีอาเซียน แต่กรณี GSP นี้เป็นประเด็นเฉพาะไทยกับสหรัฐฯ ไม่ใช่อาเซียนกับสหรัฐฯ สำหรับการนำเข้าหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดง เป็นสิ่งที่ทางสหรัฐฯ เรียกร้องมานานแล้ว แต่เที่ยวนี้เป็นเรื่องแรงงาน ไม่ใช่เรื่องที่ใช้ในการตัดสิทธิ์ในรอบนี้ อย่างไรก็ตาม เราต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลักถ้าปล่อยให้มีการนำเข้าเนื้อแดงที่มีสารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐฯ จะกระทบกับสุขอนามัยของผู้บริโภคเราหรือไม่อย่างไร 

 

สำหรับการประชุมครั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคมจนถึงวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2562 มีหลายวง ทั้งวงรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ทั้งวงรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน +จีน +อินเดีย +ออสเตรเลีย +นิวซีแลนด์ +เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งการประชุมวันศุกร์นี้กับ USTR (ผู้แทนการค้า) จะตรงประเด็นที่สุดและเร็วที่สุดแล้ว

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X