×

9 พ.ค. นี้ จับตา ดาวพฤหัสฯ ใกล้โลกที่สุดในรอบปี มองได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ

โดย THE STANDARD TEAM
03.05.2018
  • LOADING...

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. เปิดเผยว่า ในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ ดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี

 

 

โดยในช่วงรุ่งเช้าวันที่ 9 พฤษภาคม ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏบนท้องฟ้ายาวนานตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดินจนถึงรุ่งเช้า สว่างสุกใส สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศอย่างชัดเจนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวคันชั่งตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) สามารถสังเกตเห็นด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน และจะตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เวลาประมาณ 6.00 น. ในเช้าวันที่ 10 พฤษภาคม  

 

หากสังเกตด้วยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก จะเห็นดวงจันทร์บริวารหลักทั้ง 4 ดวงของดาวพฤหัสบดี เรียกว่า ‘ดวงจันทร์ของกาลิเลียน’ คือ ไอโอ ยูโรปา แกนิมีด และคัลลิสโต รวมถึงแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดีด้วย แต่หากใช้กล้องโทรทรรศน์ที่มีหน้ากล้องตั้งแต่ 8 นิ้ว กำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะมองเห็นจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดีอย่างชัดเจน โดยคืนวันที่ 9 พฤษภาคม จะสังเกตเห็นจุดแดงใหญ่ได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00-20.00 น. แล้วจะปรากฏอีกครั้งในเวลาประมาณ 2.00-6.00 น. ของวันที่ 10 พฤษภาคม

 

ตามปกติแล้วดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์หรือใกล้โลกมากที่สุดเป็นประจำทุกปี ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2561 และครั้งต่อไปในวันที่ 10 มิถุนายน 2562 ขนาดปรากฏของดาวพฤหัสบดีช่วงที่โคจรมาใกล้โลกในแต่ละปีมีความแตกต่างกันไม่มากนัก เนื่องจากดาวพฤหัสบดีอยู่ไกลจากโลกค่อนข้างมาก ทั้งนี้ ในวันดังกล่าวยังมีปรากฏการณ์สุริยุปราคาบนดาวพฤหัสบดีด้วย โดยดวงจันทร์ยูโรปาจะโคจรผ่านหน้าดาวพฤหัสบดีเกิดเป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาบนดาวพฤหัสบดี ช่วงเวลาประมาณ 18.20-20.36 น. จึงเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าติดตามอย่างมาก

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X