คืนวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ ดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี 2023 สามารถสังเกตบนท้องฟ้าได้ตลอดคืน
นี่คือปรากฏการณ์ Jupiter Opposition หรือการที่ดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์ หากวาดเส้นตรงสมมติจากแนวบนของระบบสุริยะจะเห็นดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัสบดี อยู่ในแนวเดียวกัน ทำให้เป็นช่วงเวลาที่ดาวพฤหัสบดีจะอยู่ใกล้โลกที่สุดในปี 2023 ด้วยระยะห่างราว 595 ล้านกิโลเมตร
ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏให้เห็นทางทิศตะวันออกตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า และปรากฏเป็นวัตถุสว่างอันดับสามบนท้องฟ้ายามค่ำคืน รองจากดวงจันทร์และดาวศุกร์ (ขึ้นตอน 03.00 น.) โดยหากมีกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว ที่มีกำลังขยายตั้งแต่ 30 เท่าขึ้นไป จะสามารถเห็นดวงจันทร์กาลิเลียนทั้ง 4 ได้แก่ ไอโอ, ยูโรปา, แกนีมีด และคัลลิสโต ได้เช่นกัน
การสังเกตด้วยตาเปล่าจะเห็นดาวพฤหัสบดีเป็นจุดสว่างบนท้องฟ้ายามค่ำคืน แต่หากต้องการมองดาวพฤหัสบดีให้เห็นรายละเอียดต่างๆ เช่น จุดแดงใหญ่ แถบเมฆ หรือเหล่าดวงจันทร์ต่างๆ สามารถรับชมได้จากจุดกิจกรรมของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติในจังหวัดเชียงใหม่, นครราชสีมา, ฉะเชิงเทรา, สงขลา และขอนแก่น ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น. ของวันที่ 3 พฤศจิกายน
สำหรับปรากฏการณ์ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดจะเกิดขึ้นในทุกๆ 13 เดือน จากช่วงเวลาที่โลกและดาวพฤหัสบดีใช้โคจรรอบดวงอาทิตย์ ก่อนมาเรียงตัวพบกันในจุด Opposition ของวงโคจร โดยครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 7 ธันวาคม 2024 และจะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 10 มกราคม 2026
ภาพ: NASA, ESA, and A. Simon (NASA Goddard)
อ้างอิง: