×

หอการค้าไทย พบดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมิถุนายนปรับตัวดีขึ้น ผลพวงรัฐบาลคลายล็อก

โดย THE STANDARD TEAM
03.07.2020
  • LOADING...

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายน 2563 โดยพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมแทบทุกรายการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินการผ่อนคลายให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้ (Reopen) ในระยะที่ 1-4 ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนนี้

 

ประกอบกับการที่รัฐบาลออกมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งมาตรการด้านการเงินและการคลัง เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลสูงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการว่างงานในอนาคตที่เกิดจากผลกระทบเชิงลบจากโควิด-19

 

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนมิถุนายน ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 41.6 (พฤษภาคม: 40.2), ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมปรับขึ้นมาอยู่ที่ 47.6 (พฤษภาคม: 46.6) และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 58.6 (พฤษภาคม: 57.7)

 

อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) และอยู่ในช่วงของระดับต่ำสุดในรอบ 21 ปี แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เพราะมีความกังวลในวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานถดถอยลง ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคลดลงในที่สุด

 

การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการในเดือนนี้ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 เป็นต้นมา โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 48.2 เป็น 49.2 แต่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงอยู่ในช่วงของระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ทำการสำรวจในรอบ 21 ปี 9 เดือน การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมน่าจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยจากวิกฤตโควิด-19 ทั่วโลก อาจส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต ซึ่งเป็นปัจจัยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอย่างต่อเนื่อง

 

แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้นทุกรายการจากมาตรการผ่อนคลายให้ธุรกิจเปิดดำเนินการได้หลายสถานประกอบการมากขึ้น และมีมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่อง แต่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังทรงตัวต่ำและอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 21 ปีหลายรายการ 

 

นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมยังปรับตัวอยู่ในช่วงของระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ทำการสำรวจ 21 ปี 9 เดือน ดังนั้นคาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายอย่างมากไปอย่างน้อย 3-6 เดือนนับจากนี้เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลายตัวลงและมีการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจอย่างกว้างขวาง พร้อมกับรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising