วานนี้ (28 มีนาคม) จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความถึงกรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิด สถานบันเทิง ครบวงจร ผ่านเฟซบุ๊ก ‘จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์’ ระบุว่า
“ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ผมขอขอบคุณคณะกรรมาธิการ คณะอนุกรรมาธิการทุกฝ่าย ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันศึกษาและนำเสนอข้อมูลในที่ประชุมวันนี้
“ผมขอชี้แจงผลสรุปการศึกษาโดยคณะกรรมาธิการ แยกเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้ครับ
“โครงสร้างหน่วยงานภาครัฐที่ควบคุมและกำกับดูแลสถานบันเทิงครบวงจรจะประกอบด้วย
- คณะกรรมการนโยบายการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร: กำหนดนโยบาย และประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆ พิจารณาอนุญาต ระงับ หรือเพิกถอนใบอนุญาต
- คณะกรรมการบริหารสำนักงานกำกับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร: พิจารณาประเด็นที่เกี่ยวกับการบริหารสำนักงานกำกับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (กธบ.) บริหารกองทุนป้องกันและฟื้นฟูผลกระทบ
- สำนักงานกำกับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (กธบ.): ตรวจสอบ ควบคุม และติดตามสถานบันเทิงครบวงจร ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และรับผิดชอบงานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายฯ และคณะกรรมการบริหาร
“กำหนดรูปแบบโครงสร้างธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ประกอบด้วย
- รูปแบบการจัดตั้ง: รัฐให้ใบอนุญาตแก่เอกชนในระยะเวลาที่กำหนดและพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งมีจำนวนจำกัด
- ใบอนุญาต: ในระยะแรกมีเพียงประเภทการลงทุนใหญ่มาก ที่ครอบคลุมทั้งธุรกิจคาสิโนและธุรกิจอื่นๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร
- สถานที่และจังหวัดที่อนุญาต: ต้องมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และใกล้แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ห่างจากเขตชุมชนและสถานที่สำคัญทางศาสนา
- แรงงานและการจ้างงาน: ต้องมีแผนการฝึกฝนแรงงานไทยให้มีทักษะการทำงานเฉพาะทางในธุรกิจคาสิโน
- กำหนดอัตราส่วนพื้นที่ธุรกิจคาสิโนต่อพื้นที่ธุรกิจอื่นๆ: โดยพื้นที่หรือจำนวนเครื่องเล่น หรือพิจารณาทั้งสองส่วนประกอบกัน เพราะรายได้จากธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรไม่ควรได้จากธุรกิจคาสิโนเพียงอย่างเดียว
“ตั้งภาษีสำหรับคาสิโนโดยเฉพาะ
“การจัดเก็บภาษีและรายได้จากสถานบันเทิงครบวงจร แบ่งเป็น
- ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต: เป็นแบบเฉพาะเจาะจง ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่อนุญาต
- ภาษีสรรพสามิต: เก็บจากผู้ประกอบการโดยคิดเป็นร้อยละจากรายได้ขั้นต้นจากการเล่นพนัน (GGR)
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล: เก็บจากผู้ประกอบการโดยคิดจาก GGR แทนกำไรสุทธิ
- ค่าธรรมเนียมการเข้าใช้บริการ: เก็บค่าธรรมเนียมสำหรับผู้เข้าใช้บริการสัญชาติไทย เช่น ในญี่ปุ่น และสิงคโปร์
“สร้างมาตรฐานการพนันอย่างมีความรับผิดชอบ
“ผลกระทบของสถานบันเทิงครบวงจร และการป้องกันและเยียวยาผลกระทบที่มีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ การเปิดสถานบันเทิงครบวงจรจึงต้องมาพร้อมกับนโยบายการเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
- กำหนด Negative List เพื่อป้องกันบุคคลที่ครอบครัวขอให้จำกัดการเข้าพื้นที่คาสิโน บุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 ปี บุคคลที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายเสพติดการพนัน เป็นต้น
- ป้องกันกลุ่มเปราะบางเข้าใช้บริการ ผ่านการเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าใช้บริการแก่บุคคลที่มีสัญชาติไทย ในอัตราที่เหมาะสมกับฐานรายได้ของคนไทย (สิงคโปร์ที่จัดเก็บที่อัตรา 4,500 บาทต่อวัน ญี่ปุ่นที่อัตรา 1,300 บาทต่อวัน)
- ออกมาตรฐานการพนันอย่างมีความรับผิดชอบ ให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตาม เช่น ควบคุมพื้นที่เข้าออกคาสิโน ตรวจสอบตัวตนของลูกค้า (KYC) ก่อนเข้าพื้นที่คาสิโน ต้องหยุดผู้เล่นที่เสียเงินมากกว่าระดับที่กำหนด ต้องหยุดผู้เล่นที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายเสพติดการพนัน หรือผู้เล่นที่แสดงอาการขาดสติหรือมึนเมา การรักษามาตรฐานของเครื่องเล่นไม่ให้มีการถ่วงน้ำหนัก และดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบข้าง
“รายได้ส่วนหนึ่งเพื่อการป้องกันและฟื้นฟู
“รัฐจะแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งจากสถานบันเทิงครบวงจร เข้ากองทุนป้องกันและฟื้นฟูผลกระทบจากการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร โดยมีเป้าหมายเพื่อ
- สนับสนุนการป้องกันการเล่นการพนันผิดกฎหมาย และการแก้ไขปัญหาการติดการพนัน
- สนับสนุนการสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม และจารีตประเพณีอันดีของประชาชน
- สนับสนุนการศึกษา และการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ที่ได้รับการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ
- ช่วยเหลือด้านสวัสดิการแก่เด็ก คนชรา ผู้พิการ และบุคคลเปราะบางในสังคม
- สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปราบปรามอาชญากรรม การรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ
- สนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อการป้องกันและปราบปรามการพนันผิดกฎหมาย
- ส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาแรงงาน และการพัฒนาฝีมือแรงงาน
- ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม”
อ้างอิง:
- เฟซบุ๊ก จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์