×

คำพิพากษาและอนาคตของ ‘ซูเปอร์ลีก’

22.12.2023
  • LOADING...
European Super League

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • คำถามคือซูเปอร์ลีกมีอนาคตจริงๆ หรือไม่? เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและยังตอบได้ยาก เพราะแม้แต่คำพิพากษาของศาลยุติธรรมยุโรปที่มีต่อเรื่องนี้ยังถูกตีความได้อย่างหลากหลาย
  • หลังศาลอ่านคำพิพากษา สโมสรฟุตบอลระดับชั้นนำแทบทุกทีมออกมาแสดงจุดยืนเหมือนกันคือไม่ขอเข้าร่วมกับรายการซูเปอร์ลีก ไม่ว่าจะเป็นแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (สโมสรแรกๆ ที่ออกมาแสดงจุดยืน และได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก แม้ว่าตอนต้นเรื่องจะเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อการก็ตาม), แมนเชสเตอร์ ซิตี้, เชลซี, บาเยิร์น มิวนิก, แอตเลติโก มาดริด ฯลฯ
  • วันนี้เรื่องซูเปอร์ลีกอาจจะเป็นเรื่องไกลตัวเพราะท่าทีและจุดยืนของสโมสรฟุตบอล รวมถึงแฟนบอลค่อนข้างไปในทางไม่เห็นชอบ แต่หากมองกลับไปที่จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดแล้ว เราจะพบว่านี่คือ ‘ก้าวที่สอง’ ของซูเปอร์ลีก

ทันทีที่ศาลยุติธรรมยุโรปเผยแพร่คำตัดสินคดีที่ทางด้านโจทก์อย่างบริษัทยูโรเปียนซูเปอร์ลีก (ESLC) และ A22 บริษัทเอเจนซีที่ดูแลด้านสิทธิประโยชน์ ฟ้องต่อจำเลยอย่างสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (UEFA) และสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ก็เกิดกระแสฮือฮาขึ้นมาพอสมควร

 

เพราะศาลตัดสินว่าการที่ UEFA และ FIFA พยายามขัดขวางการก่อตั้งการแข่งขัน ‘ซูเปอร์ลีก’ เมื่อเดือนเมษายน 2021 ด้วยการขู่ใช้มาตรการการลงโทษที่รุนแรงเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายการแข่งขันของสหภาพยุโรป

 

ในการตีความชั้นแรกของแทบทุกคนจึงเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือนี่เป็นการประทับตราว่า ‘ซูเปอร์ลีก’ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และก็เป็นสิ่งที่ทางด้านฟากของ ESLC และ A22 มั่นใจถึงขั้นประกาศชัยชนะของพวกเขา

 

A22 มีการนำเสนอรูปแบบการแข่งขันแบบใหม่ของซูเปอร์ลีกทันที ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบเดิมเมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว โดยจะมีการแบ่งออกเป็น 3 ดิวิชันด้วยกัน คือสตาร์ (16 ทีม), โกลด์ (16 ทีม) และบลู (32 ทีม) ซึ่งจะมีระบบการเลื่อนชั้น-ตกชั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นจุดสลบของซูเปอร์ลีกแบบเดิมที่สมาชิกก่อตั้งจะอยู่ในลีกถาวร

 

แบร์นด์ ไรชาร์ต ซีอีโอแห่ง A22 ยืนยันว่าทุกฝ่ายไม่ว่าจะสโมสรหรือแฟนฟุตบอลจะมีส่วนร่วมกับซูเปอร์ลีก 2.0 ได้อย่างอิสระเสรีและโปร่งใส การแข่งขันจะดีขึ้น

 

แต่คำถามคือซูเปอร์ลีกมีอนาคตจริงๆ หรือไม่?

 

 

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและยังตอบได้ยาก เพราะแม้แต่คำพิพากษาของศาลยุติธรรมยุโรปที่มีต่อเรื่องนี้ยังถูกตีความได้อย่างหลากหลาย

 

ในมุมของ ESLC และ A22 พวกเขาก็เชื่อว่าพวกเขาได้รับชัยชนะ ซูเปอร์ลีกสามารถถือกำเนิดขึ้นใหม่ได้อย่างถูกต้อง

 

ในมุมขององค์กรอย่าง UEFA กลับมองว่าการประกาศชัยชนะของซูเปอร์ลีกเป็นเรื่องที่ไร้สาระ อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน ประมุขลูกหนังยุโรป เปรียบเทียบว่าไม่ต่างอะไรจากการได้กล่องของขวัญคริสต์มาสที่ข้างในไม่มีของขวัญอะไรเลย

 

อย่างไรก็ดี ทางด้าน มิเกล เดลานีย์ หัวหน้าข่าวฟุตบอลจาก The Independent ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สื่อข่าวที่เกาะติดเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ได้มีการสรุปประเด็นที่สำคัญเอาไว้ ซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่มีการรายงานข่าวออกไปในครั้งแรกที่อาจทำให้เกิดการเข้าใจผิด

 

ประการแรก ‘ศาลตัดสินจากข้อเท็จจริงในขณะนั้น’

 

ในความหมายคือในการพิจารณาคดีที่ใช้ระยะเวลายาวนานกว่า 943 วัน นับจากที่เริ่มมีการฟ้องร้องเอาความกันในเดือนพฤษภาคม 2021 คณะผู้พิพากษาตัดสินคดีนี้จากเอกสารและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น

 

หลังจากเกิดการก่อกบฏซูเปอร์ลีก ทางด้าน UEFA ได้มีการออกกฎใหม่เป็นที่เรียบร้อยในปี 2022 หรือพูดง่ายๆ คือมีการดักทางซ้อนเอาไว้แล้ว และกฎนี้ไม่ขัดต่อกฎหมายของสหภาพยุโรปอย่างแน่นอน

 

ประการต่อมาคือ ‘UEFA ยังสามารถจัดการแข่งขันของตัวเองได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องยกเลิกการแข่งขัน’

 

ประเด็นนี้คือการที่รายการที่จัดกันอยู่เดิมอย่างยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก, ยูฟ่ายูโรปาลีก และน้องใหม่อย่างยูฟ่ายูโรปาคอนเฟอเรนซ์ลีก ไม่ได้มีความผิด สามารถดำเนินการต่อไปตามเดิมได้

 

และประการสุดท้ายคือ ‘ซูเปอร์ลีกยังต้องมีการรับรองการแข่งขันและกระบวนการ’

 

ตรงนี้สำคัญที่สุด เพราะซูเปอร์ลีกต่อให้อยากจัดการแข่งขันก็ต้องได้รับการรับรองจาก UEFA รวมถึงสมาคม/สหพันธ์ฟุตบอลจากชาติต่างๆ ด้วย

 

 

เซเฟรินในฐานะผู้นำของ UEFA ยืนยันว่าตอนนี้ถ้า A22 อยากจะเดินหน้าจัดการแข่งขันของตัวเองบ้างก็ทำได้ จะไม่ขัดขวางเลย

 

แต่คำถามสำคัญจริงๆ อยู่ที่จะมีใครที่เข้าร่วมด้วยบ้าง?

 

ตลอดทั้งวันพฤหัสบดีหลังศาลอ่านคำพิพากษา สโมสรฟุตบอลระดับชั้นนำแทบทุกทีมออกมาแสดงจุดยืนเหมือนกันคือไม่ขอเข้าร่วมกับรายการซูเปอร์ลีก ไม่ว่าจะเป็นแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (สโมสรแรกๆ ที่ออกมาแสดงจุดยืน และได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก แม้ว่าตอนต้นเรื่องจะเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อการก็ตาม), แมนเชสเตอร์ ซิตี้, เชลซี, บาเยิร์น มิวนิก, แอตเลติโก มาดริด ฯลฯ

 

เช่นกันกับองค์กรอย่างพรีเมียร์ลีก, บุนเดสลีกา ฯลฯ ที่แสดงออกชัดเจนว่า ‘ไม่เอาด้วย’ กับซูเปอร์ลีก

 

แม้กระทั่งรัฐบาลอังกฤษก็แสดงจุดยืนว่าไม่ต้องการให้เกิดการแยกตัว (Breakaway) ไปอีก และพร้อมที่จะดำเนินการทางกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการก่อกบฏในแบบเดียวกับปี 2021 อีก

 

ในแง่ของความสวยงามแล้ว ฟุตบอลไม่ได้เป็นแค่เกมกีฬา แต่ฟุตบอลคือวัฒนธรรม คือสิ่งที่ร้อยรัดสังคมและชุมชนเข้าด้วยกัน เป็นมรดกล้ำค่าที่ไม่ควรจะถูกทำให้เสียหายด้วยเรื่องของการเงิน

 

นั่นทำให้มีการแซวกันว่าสุดท้ายแล้วซูเปอร์ลีกอาจจะเหลือเพียงแค่ 2 สโมสรที่ยืนหยัดอย่างหนักแน่น คือเรอัล มาดริด และบาร์เซโลนา ส่วนยูเวนตุส อดีตผู้ร่วมก่อตั้งซึ่งประกาศถอนตัวไปเมื่อปีกลายยังไม่มีการแสดงจุดยืนที่ชัดเจน

 

เราก็จะได้ดู ‘เอลกลาสิโก’ ในซูเปอร์ลีกทุกสัปดาห์

 

อย่างไรก็ดี อย่าได้มองข้ามหรือประมาทซูเปอร์ลีกเป็นอันขาด เพราะในอดีตก็เคยมีการแยกตัวจัดการแข่งขันรายการใหม่ขึ้นมาโดยที่ไม่ได้ให้น้ำหนักหรือคุณค่าของวัฒนธรรมทางเกมลูกหนังอะไรเลยด้วยซ้ำ

 

รายการที่ว่าก็คือพรีเมียร์ชิปหรือพรีเมียร์ลีกในปัจจุบัน ซึ่งมีแกนนำในการจัดตั้งเป็นทีมฟุตบอลระดับชั้นนำของอังกฤษ 5 ทีมที่พยายามจะหาทางทำให้สโมสรได้รับเงินส่วนแบ่งรายได้ที่มากขึ้น พูดง่ายๆ คือต้องการแยกตัวเพื่อ ‘หาเงิน’ ให้ได้มากขึ้นกว่าเดิม

 

ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกเองแม้จะไม่เคยมีการแยกตัวแต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงชื่อและรูปแบบการแข่งขันใหม่ จากรายการที่คัดเฉพาะ ‘แชมป์’ ก็กลายเป็นมีทีมอันดับรองลงไปมาร่วมด้วย

 

มันเป็นการบอกทางอ้อมว่าเรื่องเกมฟุตบอลที่สวยงาม มรดกทางวัฒนธรรม หรือความผูกพันความรู้สึกของแฟนฟุตบอลอาจเป็นแค่คำหวาน

 

เงินทองจากการเข้าร่วมการแข่งขันสิของจริง

 

Mundo Deportivo สื่อจากสเปนรายงานว่ามีสโมสรที่ ‘ตอบรับ’ เข้าร่วมการแข่งขันซูเปอร์ลีก

 

  • พีเอสวี ไอนด์โฮเฟน (เนเธอร์แลนด์)
  • ฟายนอร์ด (เนเธอร์แลนด์)
  • เบนฟิกา (โปรตุเกส)
  • ปอร์โต (โปรตุเกส)
  • เรดสตาร์ เบลเกรด (เซอร์เบีย)
  • อันเดอร์เลชต์ (เบลเยียม)
  • สโมสรจากอิตาลีหลายแห่ง (ไม่ระบุชื่อ)

 

โดยมีรายงานจากแหล่งอื่นระบุเพิ่มเติมว่า ยูเวนตุส, นาโปลี, กาลาตาซาราย, เบซิคตัส ก็ ‘เอาด้วย’

 

 

วันนี้เรื่องซูเปอร์ลีกอาจจะเป็นเรื่องไกลตัว เพราะท่าทีและจุดยืนของสโมสรฟุตบอล รวมถึงแฟนบอลค่อนข้างไปในทางไม่เห็นชอบ แต่หากมองกลับไปที่จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดแล้ว เราจะพบว่านี่คือ ‘ก้าวที่สอง’ ของซูเปอร์ลีก

 

อย่างน้อยพวกเขาก็ได้รับการรับรองว่าสามารถจัดการแข่งขันได้โดยไม่ผิดและไม่มีสิทธิ์จะถูกแบน

 

และอย่างน้อยก็พอมีสโมสรที่พร้อมจะเข้าร่วมด้วย

 

เพราะการเข้าร่วมซูเปอร์ลีก – ซึ่งมีแบ็กอัพทางการเงินที่แข็งแกร่งอย่างเจพี มอร์แกน – เป็นการการันตีรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นมา ซึ่งจะเยียวยาและบรรเทาสถานการณ์ทางการเงินของหลายสโมสรที่ไม่สู้ดีนัก

 

หลายปีที่ผ่านมา ลีกฟุตบอลหลายแห่งประสบปัญหาเรื่องรายได้อย่างมาก มีเพียงแค่พรีเมียร์ลีกของอังกฤษชาติเดียวที่อู้ฟู่กว่าใคร เรียกได้ว่าต่อให้เป็นทีมท้ายตารางก็มีรายได้มากกว่าแชมป์ในลีกระดับท็อปของชาติคู่แข่ง

 

ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ พรีเมียร์ลีกนี่แหละคือ ‘ซูเปอร์ลีก’ ที่แท้จริง และระยะห่างระหว่างพวกเขากับลีกอื่นก็เป็นสิ่งที่น่ากังวลมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ดังนั้นแม้ในตอนนี้ไม่มีใครบอกได้ว่าซูเปอร์ลีกจะเกิดขึ้นจริงไหม หรือหากเกิดขึ้นจริงจะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่อย่าได้มองข้ามโอกาสที่มันจะเกิดขึ้นเพราะสโมสรและลีกอื่นๆ มองเป้าหมายเดียวกันว่านี่คือโอกาสที่พวกเขาจะได้ลืมตาอ้าปากบ้าง

 

ความรู้สึกคนเรามันเปลี่ยนแปลงกันได้

 

หลักการก็เช่นกัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising