สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนยังมีมุมมองต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่รุนแรงมากนัก
โดยในกรณีฐาน หากการแพร่ระบาดของโอมิครอนเป็นไปอย่างรวดเร็วแต่มีความรุนแรงลดลงตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ภาครัฐสามารถบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่มีการล็อกดาวน์ ควบคู่กับการเร่งระดมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่ประชาชนเพื่อรับมือกับการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ๆ ตลอดจนการปรับตัวของผู้คนตามวิถีปกติใหม่ และการระมัดระวังป้องกันตนเองขั้นสูงสุด (Universal Prevention) คาดว่าจะกระทบกับ Sentiment ทางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวจะจำกัดเพียงระยะสั้นหรือราวไตรมาสแรกของปี 2565
ทั้งนี้ กกร. ยังมองว่าภาคการส่งออกของไทยมีโอกาสที่จะยังเติบโตได้ต่อเนื่องในปีนี้ หากสามารถป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดมีผลกระทบรุนแรงต่อซัพพลายเชนของภาคการผลิตได้ ขณะที่ภาคท่องเที่ยวคาดว่าจะได้รับผลกระทบในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นต่อการเดินทางระหว่างประเทศ ส่วนในประเทศมีการยกระดับการเตือนภัยโควิดเป็นระดับ 4 และขอความร่วมมือชะลอการเดินทางข้ามจังหวัดและการเคลื่อนย้ายของคน
อย่างไรก็ดี คาดว่าผลจากโอมิครอนจะกระทบการท่องเที่ยวในประเทศไม่มากเหมือนปีที่แล้ว เนื่องจากความรุนแรงของโรคที่ลดลง และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวไทยเริ่มปรับตัวได้กับสถานการณ์การระบาดของโควิดและยังให้ความสนใจกับการท่องเที่ยวในประเทศในระดับสูง ส่วนนักเดินทางต่างชาติคาดการณ์ว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นในปลายไตรมาส 1 โดยตลอดทั้งปีประเมินจำนวนนักเดินทางเข้าประเทศประมาณ 5-6 ล้านคน
ในภาพรวมที่ประชุม กกร. จึงคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 3-4.5% ขณะที่ประมาณการการส่งออกในปี 2565 ว่าจะขยายตัวในกรอบ 3-5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะยังอยู่ในกรอบ 1.2-2%
สำหรับสถานการณ์ราคาสินค้าอาหารบางรายการที่ปรับตัวแพงขึ้นในช่วงนี้ ยอมรับว่ามีความกังวลและจับตาดูอยู่ เนื่องจากค่าครองชีพที่แพงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งจะกระทบต่อกำลังซื้อในประเทศ
อย่างไรก็ดี ในกรณีของเนื้อหมูรับทราบมาว่าได้มีการเร่งเติมอุปทานเข้าไปในระบบแล้ว โดยคาดว่าภายใน 3-4 เดือน สถานการณ์น่าจะกลับสู่ภาวะปกติได้ แต่ในระยะสั้นที่คนหันไปบริโภคโปรตีนทางเลือกอื่นๆ ก็จะทำให้เนื้อสัตว์อื่นๆ มีราคาสูงขึ้นได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ที่ประชุม กกร. ยังมีประเด็นข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอีก ดังนี้
- กกร.เห็นถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องปฏิรูปกฎหมายทั้งระบบให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หรือ Regulatory Guillotine ตามผลการศึกษาและข้อเสนอของ TDRI ที่มีกว่า 1,000 ประเด็น โดยขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ ดังนี้
- ให้ภาครัฐเร่งนำผลการศึกษาและข้อเสนอของ TDRI ไปดำเนินการแก้ไขและยกเลิกกฎหมายกฎระเบียบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายลำดับรองที่ไม่ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา
- ให้จัดตั้งหน่วยงานหรือมอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ Regulatory Guillotine โดยเฉพาะ มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเต็มเวลาและมีจำนวนที่เพียงพอ
- ให้นำแนวคิดเรื่อง Omnibus Law ซึ่งแก้ไขกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับปัญหาและอุปสรรค (Issue-based) ในคราวเดียว เช่น ปัญหากฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยว โดยออกเป็น Omnibus Law ฉบับเดียวแทนการแก้ไขกฎหมายแบบเดิมที่แก้ไขเป็นรายฉบับ ทำให้ขาดความสอดคล้องกัน ซึ่งแนวคิด Omnibus Law นี้ ประเทศอินโดนีเซียได้เริ่มใช้และประสบผลสำเร็จมาแล้วตั้งแต่ปี 2021
- กกร. เสนอให้กระทรวงการคลังขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 2 ปี โดยขอพิจารณาออก พ.ร.ก.ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภทเพิ่มเติมอีกหนึ่งฉบับ เพื่อลดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินลงอีก 90% ตามมาตรา 55 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับประชาชนและผู้ประกอบการทั่วประเทศในทุกภาคส่วนในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
- กกร. เสนอว่าการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนควรมีกลไกหรือนโยบายสนับสนุนการสร้างรายได้ควบคู่กับมาตรการช่วยเหลือด้านอื่นๆ เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างรอบด้าน และสร้างความเข้มแข็งทางการเงินให้กับครัวเรือนอย่างยั่งยืน
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP