×

เริ่มฟื้น! กกร. ปรับเพิ่ม GDP ปีนี้อีกครั้งเป็น 0-1% หลังจัดการวัคซีนดีขึ้น-มาตรการรัฐช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ จี้รัฐบาลเร่งพิจารณาเข้าร่วม CPTPP

11.10.2021
  • LOADING...
GDP

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนกันยายนมาอยู่ในกรอบ 0 ถึง 1.0% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ -0.5 ถึง 1 % ตามปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจที่เริ่มมีมากขึ้น

 

ประธาน กกร. ประเมินว่า สถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อในปัจจุบันทรงตัวถึงลดลง เนื่องจากแผนการจัดหาและจัดสรรวัคซีนที่ชัดเจนและมีการกระจายวัคซีนไปต่างจังหวัดมากขึ้น ขณะที่ภาครัฐเริ่มผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยเปิดดำเนินการได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยต้องจับตามองมาตรการผ่อนคลายที่จะออกมากลางเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายนต่อไป

 

ขณะเดียวกัน มาตรการที่รัฐบาลได้ออกมาในช่วงนี้ เช่น โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ที่จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ, โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 ที่ขยายสิทธิ์เพิ่มอีก 2 ล้านสิทธิ์ จะเป็นแรงเสริมภาคการท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซัน และเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยเสริมให้ภาพรวมเศรษฐกิจปลายปีน่าจะดีขึ้น 

 

อย่างไรก็ดี ยังมองว่ารัฐบาลควรมีมาตรการเสริม ทั้งช้อปดีมีคืน และเติมเงินให้คนละครึ่ง เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น นอกจากนั้น แผนการเปิดประเทศที่รัฐบาลประกาศไว้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างประเทศ แม้ว่าเวลา 2 เดือนที่เหลือ จำนวนนักท่องเที่ยวอาจจะมีไม่มากในปีนี้ แต่จะส่งผลดีและสร้างความเชื่อมั่นในระยะต่อไป ซึ่ง กกร. กำลังรวบรวมประเด็นข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับมาตรการการเงิน การคลัง และภาษี และส่งหนังสือเพื่อขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีภายในสัปดาห์นี้

 

ด้านปัจจัยลบที่ยังต้องจับตา คือ สถานการณ์น้ำท่วมของประเทศ แม้ว่าหลายพื้นที่จะเริ่มมีระดับน้ำที่ลดลงบ้าง แต่ยังคงมีพื้นที่เฝ้าระวังหลายแห่ง ซึ่งสร้างความเสียหายต่อภาคการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานและภาคกลาง โดยเบื้องต้นประเมินว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะกระทบเศรษฐกิจประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท หรือราว 0.1% ของ GDP

 

นอกจากนี้ ปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี กระทบต้นทุนการผลิต การขนส่ง การเดินทางของภาคธุรกิจ และประชาชนในวงกว้าง ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้ต้นทุนนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซพุ่งขึ้นในอัตราเร่ง การอ่อนค่าของเงินบาท แม้ส่งผลดีต่อธุรกิจส่งออก แต่ธุรกิจและอุตสาหกรรมหลายสาขาได้รับผลกระทบตามมา 

 

แม้ว่าคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จะมีมติลดเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนน้ำมันดีเซล เพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร แต่ก็เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และคาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังอยู่ในขาขึ้น ซึ่งรัฐต้องวางแผนบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมและกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

 

สำหรับความท้าทายหลังจากนี้ กกร. มองว่าจะต้องติดตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่เร่งตัวขึ้นอย่างมาก อันเนื่องจาก 1. เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง 2. อุปทานตึงตัว และ 3. การลดกำลังการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่นโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด รวมถึงทำให้อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภค (CPI) ทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวทั่วโลกปรับตัวขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 

 

ซึ่งเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจตัดสินใจลดการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเร็วกว่าที่ประเมินไว้ ส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกรวมถึงค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนไปในทิศทางอ่อนค่าได้ในระยะต่อไป

 

จากปัจจัยข้างต้นทั้งหมด ที่ประชุม กกร. จึงปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ดีขึ้นมาอยู่ในกรอบ 0.0 ถึง 1.0% แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์น้ำท่วม และตัวเลขการติดเชื้อหลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ไปอีกระยะ ส่วนการส่งออก กกร. คาดว่าจะขยายตัว 12 ถึง 14% จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดี ภายใต้เงื่อนไขค่าระวางเรือที่ไม่สูงจนเกินไป สามารถควบคุมการระบาดในกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรมได้ และการฉีดวัคซีนให้แรงงานได้ทั่วถึง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1.0 ถึง 1.2%

 

โดย กกร. ได้มีประเด็นข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องไปยังภาครัฐเพิ่มเติม ดังนี้

 

  1. ความคืบหน้า CPTPP ของประเทศไทย กกร. ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าร่วมการเจรจา CPTPP โดยทาง กกร. จะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาของภาคเอกชน และเร่งรัดการพิจารณา เนื่องจากปัจจุบันทางจีน สหราชอาณาจักร และไต้หวัน ได้มีเจตจำนงเข้าร่วมเจรจากับ CPTPP อย่างชัดเจนแล้ว 

 

และหากไทยยังล่าช้าไปกว่านี้ อาจทำให้ต้องเจรจาตามเงื่อนไขของประเทศทั้งสามเพิ่มเติม จากเดิมที่จะต้องเจรจากับ 11 ประเทศที่เป็นสมาชิก CPTPP ในปัจจุบัน และทำให้ไทยเสียโอกาสในการแข่งขันทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ กกร. ได้เคยทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ถึงจุดยืนของภาคเอกชนและผลการศึกษาของภาคเอกชน เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาของภาครัฐไปแล้ว

 

โดย กกร. จะขอให้กระทรวงการต่างประเทศ โดยคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จัดประชุมเสวนา เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมโดยเร็ว รวมถึงนำเสนอผลการศึกษาของภาคเอกชน เพื่อสร้างความเข้าใจในภาพรวมของการเข้าร่วมเจรจา CPTPP ของไทย ต่อไป

 

  1. แนวทางการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) กกร. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ควรเสนอแนวทางให้รัฐบาลดำเนินการแต่งตั้งให้มีตัวแทนภาคเอกชน (กกร.) ร่วมในกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และคณะกรรมการชุดย่อยอื่นๆ รวมถึงพิจารณาเลื่อนการบังคับใช้มาตราที่เกี่ยวกับบทลงโทษ (หมวดที่ 6 และ 7) ออกไปเป็นเวลาอีก 3 ปี และพิจารณาแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เหมาะสมและไม่อุปสรรค

 

  1. ผลักดันและสนับสนุนการผลิตและบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยภาคเอกชนจะขอให้กรมบัญชีกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เป็นภาคบังคับ และผลักดันให้บัญชีสินค้าที่ได้รับการรับรองฉลากอีโค่พลัสอยู่ในบัญชีรายชื่อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกรมควบคุมมลพิษ เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการผลิตและจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ได้รับการรับรองอีโค่พลัส และสนับสนุนให้ภาคเอกชนที่ผลิตและจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้รับการลดหย่อนภาษี 2 เท่า

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising