×

กกร. หวั่น ‘ค่าไฟแพง-ดอกเบี้ยขาขึ้น-บาทแข็ง’ กระทบส่งออกไทย จี้รัฐลดค่า Ft งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. แก้ปัญหาต้นทุนค่าไฟฟ้า

01.02.2023
  • LOADING...
กกร.

กกร. กังวลต้นทุนค่าไฟ-ดอกเบี้ยขาขึ้น-บาทแข็ง กระทบความสามารถในการแข่งขันส่งออกไทย จี้รัฐปรับลดค่า Ft งวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม แก้ปัญหาค่าไฟแพง พร้อมคงคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้โต 3-3.5% ขณะที่ส่งออกขยายตัวได้ 1-2%

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. ในวันนี้ (1 กุมภาพันธ์) มีมติคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ว่าจะขยายตัวได้ในกรอบ 3-3.5% ขณะที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวได้ 1-2% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.7-3.2% 

 

โดยที่ประชุมมีมุมมองว่าการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดของจีนเริ่มส่งผลให้เศรษฐกิจมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน โดยดัชนีเศรษฐกิจของจีน ทั้งในฝั่งภาคการผลิตและภาคบริการกลับมาขยายตัวได้ในเดือนมกราคม โดยเฉพาะในภาคบริการที่สะท้อนการเดินทางท่องเที่ยวของชาวจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีน 

สอดคล้องกับการประเมินล่าสุดของ IMF ที่คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ 5.2% ในปี 2566 สูงกว่าประมาณการเดิมที่ 4.4% ขณะที่เศรษฐกิจโลกปี 2566 มีแนวโน้มเติบโต 2.9% สูงกว่าประมาณการเดิมที่ 2.7% 

 

ทั้งนี้ คาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย ประกอบกับกิจกรรมการผลิตที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจะช่วยพยุงภาคการส่งออกสินค้าในระยะข้างหน้า ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง

 

ในส่วนของค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็วและมากกว่าสกุลภูมิภาค มองว่าแม้การแข็งค่าดังกล่าวจะมีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุน อาทิ ดุลบัญชีเดินสะพัดที่กลับมาเกินดุลในไตรมาสที่ 4/65 มุมมองของนักลงทุนที่เป็นบวกต่อการเปิดประเทศของจีน และค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าหลังจากตลาดคลายความกังวลต่อการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) แต่เงินบาทที่แข็งค่าราว 15% ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา และแข็งค่าถึง 5% ในช่วงเดือนมกราคม ซึ่งมากและเร็วกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาคอย่างชัดเจน เป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทยในภาวะที่ความต้องการสินค้าชะลอตัว

 

เกรียงไกรระบุว่า แม้เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มจะได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว แต่ก็มีความเสี่ยงจากภาคการส่งออกเช่นกัน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้คาดว่าอาจมากกว่า 22.5 ล้านคนที่ประเมินไว้เดิม จากนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปและสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนจะปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนในไตรมาสที่ 2 อย่างไรก็ตาม การส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงต้นปี และต้องติดตามปัจจัยที่มีผลกระทบอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการแข็งค่าของเงินบาท การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งแม้ว่าจีนจะฟื้นตัวได้เร็ว แต่อาจไม่เพียงพอที่จะทดแทนความต้องการสินค้าจากประเทศหลักอื่นๆ

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังแสดงความกังวลในเรื่องต้นทุนการผลิตที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะราคาค่าไฟฟ้า รวมถึงแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องท่ามกลางค่าเงินบาทที่แข็งค่า อาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคผ่านราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคบริการ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ภาครัฐต้องมีมาตรการสนับสนุนเพื่อเตรียมความพร้อมด้านแรงงานให้เพียงพอรองรับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวหลังจากจีนเปิดประเทศ

 

เกรียงไกรกล่าวอีกว่า จากการหารือร่วมกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พร้อมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในด้านพลังงานวานนี้ (31 มกราคม) เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนได้ช่วยลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยใช้พลังงานเชื้อเพลิงอื่นมาทดแทนไปส่วนหนึ่งแล้ว เพื่อทำให้การคำนวณค่า Ft ในรอบถัดไปมีอัตราที่ลดลง โดยที่ประชุมเสนอให้ปรับลดค่า Ft งวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 เนื่องจากมีปัจจัยหนุนในด้านการเพิ่มขึ้นของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และราคาก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มลดลง

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบในแนวทางการจัดตั้ง กรอ. พลังงาน และให้สำนักงาน กกร. จัดทำโครงสร้างรูปแบบการทำงาน เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบเพื่อพิจารณาจัดตั้งต่อไป และระหว่างการจัดตั้ง กรอ. พลังงาน ขอให้มีคณะทำงานด้านพลังงานเฉพาะกิจเพื่อบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาและสร้างความเข้าใจในด้านพลังงาน รวมถึงหารือมาตรการระยะสั้น-กลาง-ยาว โดยมีตัวแทน 3 ฝ่าย จากสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน, สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และ กกร.

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising