×

กกร. มองเศรษฐกิจไตรมาส 4 ยังเสี่ยงสูง ชงรัฐเร่งออกมาตรการช่วยภาคธุรกิจ-แรงงาน

07.10.2020
  • LOADING...
กกร. มองเศรษฐกิจไตรมาส 4 ยังเสี่ยงสูง ชงรัฐเร่งออกมาตรการช่วยภาคธุรกิจ-แรงงาน

วันนี้ (7 ตุลาคม) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีข้อสรุปข้อเสนอของภาคเอกชน ผ่านผลการประชุมในวันนี้ว่า เมื่อเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกว่าช่วงการล็อกดาวน์ ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 ขณะที่ช่วงไตรมาส 4 มองว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น จากปัจจัยต่างประเทศ อย่างสถานการณ์โควิด-19 ที่เร่งตัวขึ้นในเดือนกันยายน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวมากนัก เช่น สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, อิตาลี, สเปน, สหราชอาณาจักร, รัสเซีย, อินเดีย และหลายแห่งในเอเชีย 

 

ทั้งนี้ สถานการณ์ต่างประเทศจะกระทบธุรกิจส่งออกของไทย การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศในระยะต่อไป ส่วนปัจจัยในประเทศ มีปัจจัยกดดัน ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในวงกว้างทยอยหมดอายุลง

ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง จากดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นในภาวะที่ตลาดกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง โดยกังวลการระบาดของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงแรงกดดันจากปัจจัยการเมืองทั้งฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป นอกจากนี้ ความผันผวนเพิ่มขึ้นจากปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ สำหรับในช่วงที่เหลือของปี ค่าเงินบาทยังมีแรงหนุนแข็งค่าจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล

อย่างไรก็ตาม หากไม่เกิดการระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย หรือควบคุมโรคในวงจำกัดได้ ที่ประชุม กกร. มองว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 จะฟื้นตัวได้ต่อไป แต่ยังคงต้องการการสนับสนุนจากมาตรการของรัฐที่ต่อเนื่องและตรงจุด

ทั้งนี้ ทาง กกร. คงกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 โดยมองการขยายตัวเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ติดลบ 7-9% ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะติดลบ 8-10% ถือว่ามีมุมมองที่ดีขึ้นจากก่อนหน้านี้มองว่าจะติดลบ 10-12% เงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 1-1.5%

อย่างไรก็ตาม กกร. เสนอให้มีการต่ออายุมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น มาตรการชะลอการคืนเงินกู้ โดยให้ครอบคลุมตามความเหมาะสมของผู้ประกอบการแต่ละประเภท การขอยืดมาตรการค่าน้ำ ค่าไฟ (รวมถึง Minimum Change) การลดเก็บภาษีน้ำมันเครื่องบิน และเร่งรัด Soft Loan ของสายการบิน

– มาตรการช่วยสนับสนุนภาครัฐในการ Reskill -Upskill ให้แรงงาน เพื่อตอบโจทย์อนาคตของประเทศไทย โดยเอกชนยินดีให้ความร่วมมือ เช่น Smart Farming, Wellness & Healthcare, Coding Program, Data Analytics, การค้าออนไลน์เป็นต้น โดยเป็นหลักสูตรระยะสั้น

– มาตรการทางเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน สำหรับภาคธุรกิจท่องเที่ยว อาทิ รักษาการจ้างงานเดิมของสถานประกอบกิจการโรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยวทั่วประเทศ, ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขและแนวทางการดำเนินการของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน, ปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการสำหรับการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย ตามมาตรการที่รัฐบาลได้อนุมัติออกมาแล้วให้สะดวกขึ้น โดยยังคงเงื่อนไขด้านความปลอดภัย

– ข้อเสนอของภาคเอกชนต่อ กรอ. โดย กกร. และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ ร่วมกันจัดทำข้อเสนอด้านเศรษฐกิจ โดยนำประเด็นดังกล่าวหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในประเด็นที่สำคัญต่างๆ อาทิ ด้านการค้า การลงทุน การจ้างงาน SMEs โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เป็นต้น ก่อนจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ซึ่งจะเป็นข้อเสนอที่ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน

– การค้ำประกันเงินกู้ของ บสย. เพื่อช่วยเหลือ SMEs โดยทาง กกร. หารือร่วมกับ บสย. ในแนวทางการจัดทำโปรแกรม Add on coverage for Soft Loan Plus โดยขยายระยะเวลากู้เพิ่มจากโครงการ Soft Loan ของ ธปท. ที่มีระยะเวลา 2 ปี ให้ขยายได้เพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 10 ปี เพื่อช่วยค้ำประกันให้ผู้กู้ ซึ่งทาง บสย. จะมีการหารือร่วมกับธนาคารต่างๆ ในรายละเอียดการดำเนินการ นอกจากนี้ยังมีโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่ดำเนินการในปัจจุบัน ได้แก่ บสย. SMEs ไทยชนะ, บสย. SMEs พลิกฟื้นการท่องเที่ยว, บสย. Soft Loan พลัส, Start up & Innobiz และ SMEs เพิ่มพูน ซึ่งจะช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

– การปฏิรูปกฎหมาย กกร. ได้มีการเชิญ ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา มาบรรยายพิเศษเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของกฎหมายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคเอกชน โดยเฉพาะ พ.ร.บ. ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. …. ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม ลดการรับโทษทางอาญาในกรณีทำผิดเล็กๆ น้อยๆ ร่วมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน ซึ่ง กกร. ได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปกฎหมาย และการออกกฎหมายเพื่อให้เกิดแนวทางการใช้กฎหมาย เพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น (Better Regulation for Better Life)

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X