กระแสรักษ์โลกและการลงทุนสีเขียว หรือการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ยังเป็นเทรนด์ของโลกแห่งการลงทุน โดยข้อมูลจาก เจพี มอร์แกน ระบุว่าปี 2020 กองทุนเพื่อความยั่งยันในเอเชียเติบโตขึ้น 2 เท่าจากปีก่อน และผลการสำรวจพบว่าในปี 2022 กองทุนเพื่อความยั่งยืนจะเติบโต 2 เท่าอีกครั้ง เหตุผลหลักคือการสนับสนุนของหน่วยงานกำกับดูแลแต่ละประเทศ
สำนักข่าว CBNC รายงานว่า ผลงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ของ เจพี มอร์แกน ระบุว่า ในปีหน้าหรือปี 2022 กองทุนเพื่อความยั่งยืนในเอเชียจะเติบโตขึ้น 2 เท่า หลังจากที่เติบโตอย่างมากในปี 2020 ที่ผ่านมา
Elaine Wu หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) กล่าวกับ CNBC ว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากหน่วยงานกำกับดูแลในเอเชียได้กำหนดให้บริษัทมหาชน หรือบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เปิดเผยข้อมูลด้าน ESG และเชื่อว่ากองทุนเพื่อความยั่งยืนจะเป็นเทรนด์สำคัญในการลงทุนในเอเชีย
เหตุผล 2 ประการหลักที่ทำให้กองทุนเพื่อความยั่งยืนจะกลายเป็นเทรนด์สำคัญ คือ
- หน่วยงานกำกับดูแลในเอเชียออกกฎเกณฑ์กำหนดให้บริษัทมหาชนเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG
- กองทุนขนาดใหญ่ในแต่ละประเทศให้ความสนใจและเริ่มต้นลงทุนเพื่อความยั่งยืนอย่างจริงจัง ยกตัวอย่างเช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญของญี่ปุ่น และสมาคมที่รับเงินบริจาคต่างๆ เริ่มเรียกร้องให้ผู้บริหารจัดการทรัพย์สินยึดหลัก ESG ในการลงทุนด้วย
“กองทุนบำเหน็จบำนาญของญี่ปุ่นได้บูรณาการแนวทางการลงทุนเพื่อความยั่งยืนและธรรมาภิบาลมาตั้งต่ปี 2017 และสร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมด้วย ไม่เพียงแค่ในเอเชียเท่านั้น เราเชื่อว่าในภูมิภาคอื่นทั่วโลกก็จะดำเนินนโยบายด้าน ESG เช่นกัน” Elaine Wu กล่าว
โดยสิ่งที่โลกของการลงทุนจะได้เห็นคือ ตัว E ที่มาจาก Environment หรือสิ่งแวดล้อมจะเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลพบว่า เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน ได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) โดยจีนตั้งเป้าจะบรรลุเป้าหมายนี้ในปี 2060
“นั่นจะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวิธีที่จีนใช้พลังงาน โดยจีนจะต้องลดการพึ่งพาถ่านหินจากประมาณ 60% เหลือประมาณ 2% หรือ 3% และเราจะได้เห็นกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในปี 5 ปีข้างหน้า” Elaine Wu กล่าว
ขณะที่กองทุนเทมาเส็ก (Temasek) และแบล็กร็อก (BlackRock) มีแผนที่จะเป็นพันธมิตรกันจัดตั้งกองทุนภายใต้คอนเซปต์ Decarbonization Partners Funds เพื่อลงทุนในบริษัทเอกชนที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดการผลิตคาร์บอน ในเบื้องต้นทั้งเทมาเส็กและแบล็กร็อกจะเริ่มลงทุนรวม 600 ล้านดอลลาร์ และจะเปิดระดมทุนจากนักลงทุนภายนอก มีเป้าหมายระดมทุนอยู่ที่ 1 พันล้านดอลลาร์
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2021/04/13/esg-investing-jpmorgan-says-asias-sustainability-funds-could-double.html
- https://www.cnbc.com/2021/04/13/singapore-temasek-and-blackrock-commit-600-million-to-reduce.html