บริษัทที่มีความเสี่ยงสูงผิดนัดชำระหนี้ซ้ำในปี 2024 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากรายงานล่าสุดของ JPMorgan Chase & Co.
รายงานจากทีมยุทธศาสตร์ที่นำโดย เนลสัน แจนต์เซน ระบุว่า 35% ของกรณีผิดนัดชำระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ในปี 2024 มาจากบริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้ซ้ำ ซึ่งเป็นสถิติสูงสุด ขณะที่อัตราการผิดนัดชำระหนี้ในตลาดเงินกู้ที่มีการใช้เลเวอเรจ (Leveraged Loan) อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี
อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัทที่มีอันดับเครดิตต่ำ โดยเฉพาะในตลาดเงินกู้ที่มีการใช้เลเวอเรจ ซึ่งบริษัทเหล่านี้กู้เงินในอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในบางกรณีหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นดอกเบี้ย แม้ว่า Fed จะลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีที่ผ่านมา แต่ก็ส่งสัญญาณว่าจะชะลอการลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2025
ตลาดเงินกู้ยังมีสัดส่วนของบริษัทที่มีอันดับเครดิตต่ำมากกว่าตลาดพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield Bond) เนื่องจากบริษัทเอกชน (Private Equity) หันมาใช้แหล่งเงินทุนดังกล่าวมากขึ้นในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยใกล้ศูนย์ ส่งผลให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้ในตลาดเงินกู้สูงกว่าตลาดพันธบัตรอย่างมาก โดยช่องว่างระหว่างทั้งสองตลาดในปีนี้กว้างที่สุดในรอบ 24 ปี
อัตราการผิดนัดชำระหนี้แบบถ่วงน้ำหนักในตลาดพันธบัตร High Yield ของสหรัฐฯ อยู่ที่ 1.47% ขณะที่อัตราเดียวกันในตลาดเงินกู้สูงถึง 4.49% ณ สิ้นปี
บริษัทที่มีภาระหนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ ใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า ‘การบริหารหนี้สิน’ (Liability Management) เพื่อปรับโครงสร้างเงินทุน โดยเฉพาะในกรณีที่เผชิญกับความเสี่ยงของการถึงกำหนดชำระหนี้หรือวิกฤตเงินสด รายงานระบุว่า 70% ของปริมาณการผิดนัดชำระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ในปี 2024 มาจากการปรับโครงสร้างหนี้ในภาวะวิกฤต (Distressed Exchange) ซึ่งเป็นสถิติสูงสุด
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้ลดภาระหนี้ลงอย่างมีนัยสำคัญเสมอไป ซึ่งอาจทำให้บริษัทเหล่านี้กลับมาผิดนัดชำระหนี้อีกครั้ง ส่งผลให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการฟื้นตัวของหนี้ในระดับที่ต่ำลงกว่าเดิม
อ้างอิง: