“เราอยากเห็นฮ่องกงเป็นอิสระจากการถูกปกครองโดยเผด็จการ”
นี่คือความในใจส่วนหนึ่งของ โจชัว หว่อง แกนนำเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง จากบทความที่เขาเขียนถึงสถานการณ์และอนาคตของฮ่องกง ให้กับ The Economist ซึ่งลงเผยแพร่ในเว็บไซต์เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา โดย THE STANDARD ได้ถอดความเป็นภาษาไทยตั้งแต่ต้นจนจบ
การกดขี่ข่มเหงทางการเมืองยังคงดำเนินต่อไปในฮ่องกง สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของเรากำลังจะถูกทำลายลง โลกต้องไม่อยู่นิ่งเฉย
ภายในระยะเวลา 30 ชั่วโมง กลุ่มอันธพาลได้โจมตีแกนนำจัดการประท้วง ขณะที่ตำรวจได้จับกุมสมาชิกสภานิติบัญญัติและนักเคลื่อนไหวที่เรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งรวมถึงผม สิทธิในการประท้วงของพวกเราถูกลิดรอน ขณะที่ทางการฮ่องกงออกคำสั่งห้ามการเดินขบวนอย่างสงบในวันที่ 31 สิงหาคม
ในเวลาเดียวกัน ดูเหมือนรัฐบาลกำลังทดสอบปฏิกิริยาของสาธารณชนต่อแนวคิดที่ว่า ฮ่องกงอาจฟื้นกฎหมายฉุกเฉินฉบับเก่าที่ล้าสมัย เพื่อมอบอำนาจที่กว้างขวางแก่หัวหน้าคณะบริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกงในการเซนเซอร์สื่อ ควบคุมตัวผู้ชุมนุม และบังคับใช้กฎอัยการศึกในหลายพื้นที่ของเมือง โดยที่ไม่ต้องรับความช่วยเหลือจากกองทัพปลดปล่อยประชาชน (กองทัพจีน)
ขณะเดียวกัน ทหารและยานหุ้มเกราะของจีนก็ประจำการใกล้กับชายแดนระหว่างฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่ และเตรียมพร้อมที่จะเคลื่อนกำลังเข้าสู่ฮ่องกงภายในเวลา 10 นาที
ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้ชาวฮ่องกงหวาดกลัวจนยอมจำนน แต่ทางการคิดจริงหรือว่าเราจะยอมปิดปากและสงบเงียบ ไม่คิดหรือว่าเราจะออกมาต่อสู้?
เราประณามวิธีการสร้างความหวาดกลัวในลักษณะที่เหยียดหยาม และการใช้วาทศิลป์แบบยุคสหภาพโซเวียตที่ตราหน้าเราว่า เป็นสายลับที่ถูกซื้อโดยมหาอำนาจต่างชาติ วันแล้ววันเล่า ทางการกำลังรุกคืบไปสู่ทางเลือกสุดท้ายของพวกเขาทีละนิด
แต่ประชาชนจะต่อสู้ต่อไป เพราะการดิ้นรนต่อสู้นี้มีเป้าหมายเพื่ออนาคตของฮ่องกง เราไม่ต้องการเห็นฮ่องกงเพลิดเพลินกับเสรีภาพบนกระดาษ ขณะที่สถานภาพการปกครองตนเองของฮ่องกงกำลังปิดซ่อนการทำงานของรัฐเผด็จการ
นี่คือเป้าหมายเพื่ออนาคตของเรา คนหนุ่มสาวต่างเตรียมพร้อมที่จะต่อสู้แบบถวายชีวิต ผู้ประท้วงวัยรุ่นจำนวนมาก ซึ่งบางคนยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม ทิ้งคำสั่งเสียและพินัยกรรมในกระเป๋าที่แบกไปแนวหน้าของพื้นที่ชุมนุม ความพยายามในการเรียกร้องเสรีภาพถูกเขียนด้วยหยดเลือดของพวกเขา บางคนฆ่าตัวตาย บางคนตกเป็นเหยื่อความทารุณของตำรวจ เป็นเหยื่อความโหดร้าย และถูกโจมตีโดยแก๊งอันธพาลตามอำเภอใจ
แคร์รี ลัม หัวหน้าคณะบริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เคยสร้างความบาดหมางด้วยการพูดว่า เยาวชนไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับสังคม เราขอถามเธอกลับว่า ใครกันแน่ที่ไม่ให้เยาวชนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในสังคม? ใครกันที่ห้ามเยาวชนเลือกตั้งผู้สมัครเข้าสู่เวทีการเมืองแบบประชาธิปไตย
ใครเป็นคนตัดสินใจเพิกเฉยต่อเจตจำนงของประชาชน และผลักดันร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่คนไม่ชอบตั้งแต่แรก?
คำตอบคือ รัฐบาลที่ไม่ได้รับเลือกตั้งมาแบบประชาธิปไตย คนหนุ่มสาวคัดค้านเมื่อมีการตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆ มากกว่ากลุ่มคนที่ถูกมองว่าเป็นเสาหลักของสังคมเราในอนาคตเสียอีก ถึงแม้พวกเขาจะต้องอยู่ใช้ชีวิตกับผลลัพธ์ที่ตามมาอีกยาวนานก็ตาม
ทางเดียวที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพกลับคืนมาก็คือ จีนจะต้องอนุญาตให้เราจัดการเลือกตั้งอย่างเสรีและยุติธรรมในฮ่องกง ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ข้อเรียกร้องของการเคลื่อนไหวต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน พวกเขาต้องแสดงให้เห็นถึงการปฏิรูปการเมือง ซึ่งรวมถึงการอนุญาตให้พวกเราเลือกผู้บริหารและเลือกสมาชิกทั้งหมดในสภานิติบัญญัติ เพราะสิทธิในการเลือกตั้งตามหลักสากลภายใต้การปกครองแบบหนึ่งประเทศ สองระบบ เป็นคำมั่นสัญญาที่จีนมอบให้ฮ่องกงตอนที่อังกฤษส่งมอบคืนเกาะในปี 1997
ความเดือดดาลไม่ใช่แค่มีต่อร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเท่านั้น แต่ยังเป็นความโกรธแค้นต่อรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งละเลยเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ประชาคมนานาชาติสามารถช่วยเหลือประชาชนฮ่องกงได้ โดยข้อแรก เราขอให้มีการกดดันรัฐบาลจีนให้ถอนทหารออกจากบริเวณชายแดนฮ่องกง เพราะกองกำลังกึ่งทหารของจีน ทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นโดยไม่จำเป็น
จีนจะถูกรุมประณาม หากส่งรถถังเข้ามาในเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับความเต็มใจในการยึดมั่นข้อตกลงระดับทวิภาคี และอาจส่งผลให้อเมริกายกเลิกสถานภาพพิเศษของฮ่องกงภายใต้กฎหมายของสหรัฐฯ
มีกลุ่มคนบางพวกที่จงรักภักดีต่อปักกิ่ง ผู้ซึ่งยินยอมคล้อยตามระบอบเผด็จการแบบลืมหูลืมตา โดยสนับสนุนให้จีนส่งทหารเข้ามาปราบปรามการเคลื่อนไหวของเรา มันชัดเจนว่า พวกเขาเต็มใจเสี่ยงกับการสูญเสียศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย
ข้อสอง ผู้นำนานาชาติในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะต้องสร้างความกระจ่างกับรัฐบาลจีนว่า พวกเขาควรปฏิบัติตามเงื่อนไขและเจตนาในปฏิญญาร่วมระหว่างจีนกับอังกฤษฉบับปี 1984 ที่ปูทางไปสู่การส่งมอบฮ่องกงคืนสู่การปกครองของจีนในปี 1997
ข้อสาม เราขอให้ทุกคนสนับสนุนข้อเรียกร้องที่มีต่อรัฐบาลฮ่องกงในการตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจ เรายังเรียกร้องให้ยุติการจำหน่ายอุปกรณ์ควบคุมผู้ชุมนุมให้กับตำรวจฮ่องกง ซึ่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พวกเขาแสดงให้เห็นว่าชอบใช้ความรุนแรง
สุดท้าย เราเรียกร้องให้นักการเมืองในอเมริกาสนับสนุนและผ่านกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของฮ่องกงโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตลอดจนจับตาการฝ่าฝืนหลักการ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ และออกมาตรการคว่ำบาตรผู้ที่ปฏิเสธมอบสิทธิแก่ชาวฮ่องกง
ผมไม่ใช่ตัวแทนของการประท้วงในฮ่องกงครั้งนี้ เพราะการเคลื่อนไหวต่อต้านการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นใหญ่กว่ามาก และมีการจัดชุมนุมที่ใหญ่กว่าการเคลื่อนไหวปฏิวัติร่มเมื่อปี 2014
การจับกุมผู้ประท้วงไม่อาจหยุดความมุมานะของเราได้ เรายังเหลือน้ำตาและความอดทนอีกมากสำหรับการต่อสู้อีกหลายเดือน ซึ่งการกวาดล้างไม่ใช่แค่คุกคามผู้ที่ออกมาชุมนุมตามท้องถนนเท่านั้น แต่ยังคุกคามต่อทุกภาคธุรกิจ การศึกษา สาธารณสุข รวมถึงการคมนาคมขนส่งของฮ่องกง
ฮ่องกงทั้งเมืองจะยืนหยัดเป็นหนึ่งเดียวในการต่อต้านรัฐบาล ทุกๆ วัน คณะบริหารของลัมโหมกระพือเปลวเพลิงด้วยการคุกคาม ไม่มีใครเชื่อในความพยายามของเธอที่จะจัดการเจรจา
ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย การต่อต้านที่ยาวนานเช่นนี้มักลงเอยด้วยการที่ผู้นำลงจากตำแหน่งทางการเมือง แต่เนื่องจากเราไม่ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตย ลัมจึงยังอยู่ในตำแหน่งและยืนดูจากบนตึก ขณะที่มีการห้ำหั่นกันอยู่ข้างนอก
เมืองของเรากลายเป็นสถานที่ที่ไม่น่าอยู่ บนแนวหน้าระหว่างเสรีภาพกับเผด็จการ แต่หลังเราพิงฝา หากเราถูกขู่จนกลัวในตอนนี้ เราก็จะไม่มีโอกาสได้พูดอีกต่อไป หลังแนวกีดขวางนั้น เราอยากเห็นฮ่องกงเป็นอิสระจากการถูกปกครองโดยเผด็จการและรัฐบาลหุ่นเชิด
เราอยากมีบ้านที่เคารพในเสรีภาพของพลเรือน ที่ซึ่งเด็กๆ ไม่ต้องถูกสอดส่อง ละเมิดสิทธิมนุษยชน เซนเซอร์ทางการเมือง และกักขังหน่วงเหนี่ยว เรายืนหยัดร่วมกับประชาชนในโลกเสรี และหวังว่าคุณจะยืนเคียงข้างเราในการแสวงหาความยุติธรรมและเสรีภาพ
ปัจจุบัน โจชัว หว่อง เป็นเลขาธิการพรรค Demosisto ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย เขาถูกทางการควบคุมตัวเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา จากบทบาทการเป็นแกนนำประท้วง ก่อนจะได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมา
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: