×

“Put on a happy face” ตั้งคำถามกับสุขภาพกายและใจของนักแสดงผ่านบทบาท Joker ของ วาคีน ฟีนิกซ์

10.10.2019
  • LOADING...
Joker

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • นับตั้งแต่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ Joker ฉบับผู้กำกับ ท็อดด์ ฟิลลิปส์ ก็ได้รับเสียงชื่นชมทางบวกจากผู้ชมและนักวิจารณ์ไปทั่วโลก โดยเฉพาะการแสดงของ วาคีน ฟีนิกซ์ ในบทบาท ‘อาเธอร์ เฟล็ก’ ที่เขาตีความตัวละครได้อย่างร้าวลึกและเต็มไปด้วยรายละเอียด 
  • ท่ามกลางเสียงชื่นชมก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากว่าที่จะได้ผลงานการแสดงในระดับนี้ นักแสดงอย่าง วาคีน ฟีนิกซ์ นั้นก็ต้องแลกมาซึ่งการทำการบ้านในระดับที่อาจจะส่งผลต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ 
  • กุ๊กไก่-รังสิมา อิทธิพรวณิชย์ แอ็กติ้งโค้ชผู้อยู่เบื้องหลังงานการแสดงชั้นเยี่ยม เช่น ซีรีส์ เลือดข้นคนจาง, ภาพยนตร์ อนธการ The Blue Hour ฯลฯ จะมาช่วยตั้งคำถาม พร้อมไขรายละเอียดเกี่ยวกับการแสดงที่หลายคนกำลังประทับใจอยู่ในเวลานี้ 

การแสดงของ วาคีน ฟีนิกซ์ ผ่านบทบาท ‘อาเธอร์ เฟล็ก’ ในภาพยนตร์ Joker กำลังได้รับกระแสชื่นชมไปทั่วโลก พร้อมๆ กับความเป็นห่วงในแง่ของตัวภาพยนตร์ที่อาจจะกระตุ้นความรู้สึกลบหรือแม้กระทั่งพฤติกรรมเลียนแบบให้กับผู้ชมได้ 

 

แต่บทความนี้อยากชวนให้มองในทางกลับกันว่าในการทำงานการแสดงนั้นเราควรระมัดระวังอะไรบ้างที่อาจจะส่งผลกระทบกับอารมณ์และจิตใจของนักแสดง สะท้อนผ่านการทำงานของ วาคีน ฟีนิกซ์ ควบคู่ไปกับการมองตัวละคร อาเธอร์ เฟล็ก

 

Joker

 

การอยู่ท่ามกลางสปอตไลต์ Need to be somebody

ภาพยนตร์ภาคแยกนอกจักรวาลแบทแมนของ DC เลือกเล่าให้ ‘อาเธอร์ เฟล็ก’ อยากมีอาชีพเป็นนักแสดงเดี่ยวไมโครโฟน อาชีพที่วัดความสำเร็จโดยการได้รับเสียงหัวเราะจากคนดู

 

และนั่นหมายความว่าการได้รับเสียงหัวเราะ = ได้รับการยอมรับ

 

ท่ามกลางคำสอน คำแนะนำ หรือโควตคมๆ มากมายที่บอกให้เรายอมรับตัวเองแล้วจะมีความสุขและความสงบในชีวิต แต่ถ้ามองลงไปถึงแก่นอาชีพดารานักแสดง หลายคนมองว่าความสำเร็จวัดจากการเป็นที่นิยม เป็นที่รัก เป็นที่ยอมรับของคนดูในฐานะนักแสดงเจ้าบทบาท นักแสดงฝีมือดี (อย่างที่เราเห็นสื่อหรือเพจภาพยนตร์ต่างๆ มีการจัดลำดับเปรียบเทียบว่าใครเป็นโจ๊กเกอร์ที่ดีที่สุด) ขณะเดียวกัน หนทางกว่าที่จะทำให้นักแสดงคนหนึ่งเป็นที่นิยมได้ ‘นักแสดงอาจต้องเอาความเจ็บปวดของตัวเองแลกกับความสุขของคนดู’ 

 

เวลาเรียนการแสดง เราจะพูดเสมอว่าเราต้องเล่นจริงในระดับที่คนดูเหมือนยืนเสือกเรื่องราวของคนคนหนึ่งในร้านกาแฟ

 

ยิ่งเล่นจริงเท่าไร รู้สึกจริงเท่าไร ยิ่งทำให้คนดูรู้สึกได้มากเท่านั้น 

ยิ่งแสดงได้เจ็บปวดแค่ไหน ยิ่งทำให้คนดูชื่นชอบ

ยิ่งเป็นตัวละครลึกลงเท่าไร ยิ่งได้รับคำชื่นชม

 

Joker

 

แล้วความเจ็บปวดของนักแสดงมาจากไหน

วิธีการเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครมีหลากหลายวิธี บางคนก็ใช้การเทียบเคียงบางสิ่งบางอย่างในชีวิตจริงของตัวเอง เช่น ถ้าต้องเล่นเป็นตัวละครที่ต้องร้องไห้เพราะหมาที่เลี้ยงไว้ตาย เขาก็อาจจะใช้วิธีจินตนาการให้เห็นภาพว่าสัตว์เลี้ยงที่เขารักตาย ซึ่งถ้านักแสดงไม่เลี้ยงสัตว์ก็อาจจะจินตนาการว่าคนที่เป็นที่รักของเขาตาย เป็นต้น

 

และนั่นคือการชำแหละหัวใจตัวเองออกมาใช้ เป็นการยอมเอาความเจ็บปวดในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของตัวเองออกมาแผ่ ซึ่งถ้าตัวละครมันมีความใกล้ตัวตนของนักแสดงทั้งในเรี่องทัศนคติและเหตุการณ์ในชีวิตก็จะถูกดึงออกมาใช้ง่ายหน่อย (แต่ก็อาจจะอันตรายถ้าไม่ระมัดระวังในการใช้งาน เพราะจะแยกไม่ออกว่าอันไหนคือเรื่องจริง อันไหนคือละคร)

 

โดยเฉพาะกับตัวละครโจ๊กเกอร์ที่มีความสุดโต่งไปเสียทุกทาง ทั้งท่าเดิน เสียงหัวเราะ และความคิดจากก้นบึ้งในใจ ที่เชื่อว่าการที่โลกไม่สงบสุขมันคือความตลก การเห็นคนเจ็บปวดมันคือความสนุก ซึ่งสำหรับการแสดงของ วาคีน ฟีนิกซ์ หลายคนที่ได้ดูแล้วคงยอมรับว่าเขาสามารถทำให้ผู้ชมรับรู้ถึงความรู้สึกเจ็บปวด ผิดหวัง สุข หรือสมหวังได้เพียงการกะพริบตา ซึ่งการจะเป็นได้ถึงขั้นนี้ นักแสดงต้องเรียนรู้ที่จะเป็นตัวละคร อาเธอร์ เฟล็ก แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งสำหรับนักแสดงแล้ว นั่นคือการทำการบ้านโดยลองลงไปใช้ชีวิตในแบบเดียวกับตัวละคร หรือที่เรียกกันว่าเทคนิคแบบ Method Acting

 

Joker

 

อะไรคือ Method Acting…

การแสดงแบบ Method นั้นหมายถึงการแสดงแบบไม่ได้แสดง แต่กลายเป็นตัวละครนั้นโดยสมบูรณ์ เป็นเทคนิคการแสดงแบบ ‘เปลี่ยนชีวิตประจำวันของเราให้กลายเป็นตัวละคร’ โดยการที่นักแสดงเลือกที่จะไม่ใช้ชีวิตแบบตัวเองเลยระยะหนึ่ง คือตั้งแต่เริ่มออกแบบตัวละครจนกระทั่งถึงช่วงถ่ายทำ (โดยส่วนใหญ่ประมาณ 6 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น)

 

เคยได้ยินหลักจิตวิทยาที่บอกว่าทำอะไรติดกัน 21 วันแล้วจะกลายเป็นนิสัยใหม่ของเราไหม… แต่สิ่งที่ วาคีน ฟีนิกซ์ ทำในภาพยนตร์เรื่องนี้คือการเข้าไปลองใช้ความคิดเป็นนิสัยและพฤติกรรมแบบ อาเธอร์ เฟล็ก ก่อนจะเป็นโจ๊กเกอร์ติดกันนานกว่า 2 เดือน!

 

Joker

 

โจ๊กเกอร์คือคนจิตเภท นักแสดงต้องคิด ต้องใช้ชีวิตแบบคนจิตป่วย

ฮีธ เลดเจอร์ โจ๊กเกอร์เวอร์ชัน The Dark Knight เข้าคาแรกเตอร์โจ๊กเกอร์โดยการขังตัวเองในโรงแรม 6 สัปดาห์ ไม่พูดคุยกับใคร เขียนไดอะรีในฐานะโจ๊กเกอร์ พยายามเชื่อมทัศนคติของโจ๊กเกอร์ด้วยการลองดูข่าวที่เกิดขึ้นในทีวี แล้วคิดว่าข่าวร้ายนี้มันมีความน่าสนุกอย่างไรบ้าง (อันนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งในการทำการบ้านของเขา)

 

จาเร็ด เลโต ไม่คุยกับเพื่อนนักแสดงคนไหนเลยระหว่างการถ่ายทำ เขาจะแยกตัวไปอยู่อย่างโดดเดี่ยวในช่วงระหว่างที่ไม่ได้มีฉากของเขาในกองถ่าย และหาจุดเข้าสู่การเป็นคาแรกเตอร์ด้วยการมอบของขวัญแปลกๆ ให้เพื่อนนักแสดง เช่น การเอาหมูที่ตายแล้วมาวางบนโต๊ะก่อนถ่ายทำ เป็นต้น

 

วาคีน ฟีนิกซ์ เมื่อเขาทำการบ้าน สำรวจตัวละคร หาข้อมูลเรื่องจิตวิทยา และหาเรเฟอเรนซ์ท่าเดิน แรงจูงใจ รวมถึงลักษณะของตัวละครได้แล้ว เขาก็เลือกที่จะลดน้ำหนักลง 52 ปอนด์ (24 กิโลกรัม) เพื่อเข้าคาแรกเตอร์ การลดน้ำหนักทำให้เขาเจอการเคลื่อนไหวของตัวละครที่ไม่เคยเจอมาก่อนในร่างกายเดิมของเขา (การเคลื่อนไหวแบบมีเซนส์ของการเต้นเบรกแดนซ์) 

 

ซึ่งเขาพบว่าการโหมลดน้ำหนักมันยังส่งผลต่อจิตใจของเขาอย่างมากด้วย เขาเจอความรู้สึก ‘ไม่อิ่มเต็ม’ ของตัวละครอาเธอร์ (โจ๊กเกอร์) ที่โหยหาการเป็นที่ยอมรับจากความรู้สึกโหยหาอาหาร 

 

นอกจากนี้เขายังฝึกการแต่งหน้าเป็นตัวตลกแบบโจ๊กเกอร์ด้วยตนเอง ซึ่งอันนี้เราพอจะจินตนาการได้เลยว่าไม่ใช่แค่การแต่งหน้าแบบส่องกระจกทั่วไปแน่นอน แต่เขาจะลองสวมคาแรกเตอร์เป็นอาเธอร์ก่อนการแต่งหน้า โดยลองแต่งซ้ำๆ ตามสภาพจิตใจที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปของตัวละคร 

 

Joker

 

แล้วมันน่ากลัวอย่างไร

การเข้าสู่การแสดงนั้นอาจกระทบถึงความรู้สึกทางจิตใจได้ถ้าไม่ระมัดระวัง เรื่องราวมีความใกล้เคียงกับเรื่องชีวิตในตัวเองมากเกินไป ความคิด พฤติกรรม หรือแบ็กกราวด์ของตัวละครอาจจะเผลอไปกระทบกับแผลเปราะบางในจิตใจ

 

นักแสดงบางคนแบกตัวละครกลับไปบ้านจนบางทีแยกไม่ได้ว่าสิ่งที่กำลังตัดสินใจอยู่นั้นใช้ทัศนคติของตัวเองหรือตัวละครกันแน่ หรือบางคนก็จะเกิดอารมณ์เศร้าแบบตัวละครอย่างไม่มีเหตุผลในชีวิตจริง เพราะจินตนาการเรื่องเดิมบ่อยๆ ซ้ำๆ สมองเราอาจจะโง่จนเชื่อว่าเป็นความรู้สึกจริงโดยไม่รู้ตัว 

 

ยกตัวอย่างในประเทศไทยที่ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวว่า ใบเฟิร์น-พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์ ต้องไปพบจิตแพทย์ หลังจากรับบทเป็น ‘นิรา’ สาวข้ามเพศที่มีอารมณ์แค้นรุนแรงในละครเรื่อง ใบไม้ที่ปลิดปลิว 

 

ถ้านักแสดงคนนั้นวางความสำเร็จของชีวิตว่าคือการได้รับการยอมรับจากผู้อื่นเป็นหลัก นั่นก็อาจจะอันตรายได้ เพราะอาชีพต้องอยู่ท่ามกลางสปอตไลต์อยู่แล้ว เป็นเป้าสนใจให้คนวิพากษ์วิจารณ์ถึงอยู่แล้ว

 

Joker

 

Put on a happy face 

ประโยคที่เขียนด้วยลิปสติกบนกระจกก่อนออกรายการของเมอร์เรย์สะท้อนการเป็นดาราในสังคมเราอยู่บ้าง คล้ายกับการเป็นคนของประชาชน ต้องการเป็นที่รัก ที่ไม่สามารถแสดงด้านมืดของจิตใจออกมาในที่สาธารณะได้ เพราะความกดดันที่ว่าการทำผิดพลาดเพียงครั้งเดียวอาจจะเปลี่ยนแปลงความนิยมในตัวเขาไปตลอดกาล

 

ในขณะเดียวกัน แฟชั่นการขายข่าวของอุตสาหกรรมบันเทิงบางสำนักก็สะท้อนให้เราเห็นในฉากที่เมอร์เรย์เลือกหยิบเอาคลิปที่อาเธอร์ขึ้นโชว์ครั้งแรกมาล้อเลียนในรายการ นี่ก็ไม่ต่างกับ Cyber Bullying ในสมัยนี้เลยที่ขอแค่ขายข่าวได้ แต่อาจข้ามความใส่ใจในฐานะบุคคล

 

Joker

 

…แล้วถ้าอย่างนั้น เราสามารถจะอยู่ในอาชีพนักแสดงโดยไม่ต้องอยู่กับเรื่องน่ากลัวเหล่านี้ได้ไหม 

ได้! มันมีกระบวนการที่เรียกว่า De Role หรือการออกจากตัวละครอยู่ด้วย ซึ่งนักแสดงสามารถทำได้เองหรือพูดคุยกับเพื่อนก็ได้ ซึ่งในต่างประเทศ นักแสดงมักจะมีจิตแพทย์ประจำที่คอยดูแลสอบถามและสังเกตความรู้สึกของเขาว่าหลังจากจบการถ่ายทำ นักแสดงยังมีความรู้สึกใดจากการเป็นตัวละครติดค้างอยู่ในร่างกายและจิตใจหรือไม

 

อย่าว่าแต่นักแสดงเลยที่ติดบทกลับมาบ้าน คนทำงานอาชีพอื่นก็มีการติดบทบาทจากที่ทำงานกลับมาบ้านเหมือนกัน การ De Role ออกจากตัวละคร ถ้าเทียบกับการทำงานคือการไม่เอาเรื่องงานกลับมาบ้านนั่นเอง

 

ซึ่งการจะออกจากตัวละครมันมีวิธีแตกต่างกันมากมาย เช่น การค่อยๆ จินตนาการแบบถอดหน้ากากออกเป็นตัวเอง การพูดคุยกับคนอื่น การนั่งสมาธิ การตั้งสติอย่างชัดเจนทุกครั้งก่อนจะเข้าบทบาท ฯลฯ

 

ซึ่ง วาคีน ฟีนิกซ์ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าไม่ต้องเป็นห่วงผม ผมยังมีสุขภาพจิตดีอยู่ พอถ่ายทำเสร็จเขาก็กลับมากินทุกอย่างที่ขวางหน้าและออกจากตัวละครได้แล้ว

 

Joker

 

สุดท้ายนี้อยากลองแนะนำวิธีการเป็นนักแสดงได้อย่างมีสุขภาพจิตที่ดีที่คนทั่วไปอาจจะลองนำไปปรับใช้เพื่อการ De Role ตนเองออกจากบทบาทการทำงานก่อนกลับบ้านก็ได้

  • มองว่าการเป็นนักแสดงคืออาชีพหนึ่ง ไม่ใช่เป็น Somebody
  • มั่นคงกับตัวเองเข้าไว้ ที่สามารถเป็นได้ทั้งคนดีและคนที่สามารถทำผิดพลาดได้
  • มองเห็นว่าเสียงภายนอกไม่ได้แข็งแรงเท่ากับเสียงภายในใจตัวเอง
  • ใส่หน้ากากได้ ถอดหน้ากากให้เป็น
  • คอยสังเกตและรับรู้ความรู้สึกของตนเองอย่างสม่ำเสมอในระหว่างพักช่วงการแสดง
  • ยอมรับว่าอาชีพนักแสดงเป็นอาชีพที่ต้องใช้งานร่างกายและอารมณ์ความรู้สึกตัวเองค่อนข้างมาก ซึ่งถ้ารู้จักใช้ให้เป็น อาชีพนี้คือโอกาสให้เราได้สำรวจตนเอง มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนอื่น และรู้วิธีการจัดการอารมณ์อันละเอียดอ่อนของตัวเองได้มากขึ้น

 

ภาพ: www.imdb.com

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์ 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising