×

อังคณาขอหลักประกันนโยบายปราบยาเสพติด ไม่ซ้ำรอยละเมิดสิทธิมนุษยชนที่คนผิดลอยนวล

โดย THE STANDARD TEAM
12.09.2024
  • LOADING...

วันนี้ (12 กันยายน) ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ วาระคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายโดยชื่นชมรัฐบาลที่กำหนดนโยบายให้ผู้เสพยาเสพติดเป็นผู้ป่วย ซึ่งทำให้ผู้เสพยาเสพติดได้รับโอกาสในการดำเนินชีวิต และได้รับการบำบัดโดยสมัครใจแทนการลงโทษจำคุก

 

อังคณาระบุว่า กรณีนี้อาจทำให้จำนวนนักโทษลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ผู้ต้องขังคดียาเสพติดในเรือนจำจะลดลง แต่คนเหล่านี้ไม่ได้หายไปไหน และแม้สมัครใจรับการรักษาแทนการจำคุก แต่ที่จริงแล้วก็ไม่ค่อยได้ไปบำบัดรักษา คนเหล่านี้ยังอยู่ในสังคม อยู่ในครอบครัว

 

อังคณาเห็นว่าเป็นความท้าทายมาก เพราะปัญหายาเสพติดที่เกิดขึ้นในชุมชนเป็นภาระของครอบครัวและชุมชนอย่างมาก เนื่องจากชุมชนขาดศักยภาพในการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ขณะที่กรมคุมประพฤติเองก็มีข้อจำกัดในด้านงบประมาณและบุคลากร ทั้งการทำงานด้านการสืบเสาะหรือติดตามการบำบัดรักษา

 

สำหรับกรณีที่รัฐบาลระบุว่าจะร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการปราบปรามยาเสพติด อังคณามีความกังวลว่ารัฐบาลจะสร้างหลักประกันได้อย่างไรว่าความร่วมมือดังกล่าวจะไม่เป็นการปราบปรามโดยเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน ซึ่งปรากฏในรายงานของสหประชาชาติว่า ประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน ทั้งการค้า และการบังคับสูญหาย ซึ่งทำในนามของการปราบปรามยาเสพติดและการปราบปรามการก่อการร้าย

 

“จะมีหลักประกันได้อย่างไรว่าการแก้ปัญหายาเสพติดจะไม่ซ้ำรอยนโยบายในช่วงสงครามยาเสพติดที่ผ่านมา” อังคณากล่าว

 

อังคณากล่าวต่อไปว่า เนื่องจากภายหลังการดำเนินนโยบายนั้นมีคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นเป็นจำนวน 2,604 คดี และมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 2,873 ราย ประกอบด้วยคดีฆาตกรรมที่ผู้ตายมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด และไม่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด รวมถึงไม่ทราบสาเหตุ นอกจากนั้นยังมีคนถูกบังคับให้สูญหายอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ยังมีการระบุว่า มีคนหายมากกว่า 10 กรณี จากกรณีคนหายในประเทศไทยทั้งหมด 77 กรณี โดยส่วนมากเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคเหนือและภาคอีสาน

 

“วันนี้คดีการเสียชีวิตของคนนับพันหมดอายุความโดยไม่มีใครต้องรับผิดหรือรับโทษ จนชาวบ้านบอกว่า มีคนตาย มีคนหาย แต่ไม่มีคนผิด” อังคณาระบุ

 

อังคณายังกล่าวถึงการพลิกฟื้นความเชื่อมั่นโดยยึดหลักนิติธรรม ด้วยการตั้งคำถามว่า รัฐบาลจะสร้างหลักนิติรัฐ นิติธรรม หรือความโปร่งใสได้อย่างไร ในเมื่อประเทศไทยยังมีวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด และประชาชนไม่เคยเข้าถึงสิทธิที่จะทราบความจริงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ

 

“การลอยนวลพ้นผิดคือการใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อประชาชนโดยไม่มีผู้ใดรับผิด การลอยนวลพ้นผิดจึงเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรมของประเทศ และเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะหลักนิติรัฐคือการรับประกันว่าประชาชนทุกคนจะมีความเท่าเทียมกันทางกฎหมาย รัฐจะปกป้องผู้ไร้อำนาจจากผู้มีอำนาจ แต่ถ้าความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายถูกทำลายลง รัฐจะสร้างความเท่าเทียมหรือพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนได้อย่างไร ในเมื่อประชาชนทำผิดต้องถูกลงโทษ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดแทบไม่มีใครถูกลงโทษ”

 

อังคณาเห็นว่าการพลิกฟื้นความเชื่อมั่นที่สำคัญไม่ใช่แค่การพูด แต่คือการที่รัฐต้องทำให้ประชาชนเท่าเทียมกันทางกฎหมายอย่างแท้จริง รัฐต้องไม่ปกป้องคนผิด ไม่ปล่อยให้มีการฆ่านอกกระบวนการยุติธรรม และการอุ้มหาย รัฐบาลต้องยุติวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของประเทศไทย ตนอยากได้ยินคำมั่นจากรัฐบาลในประเด็นนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X