×

สู้ไม่ไหว ก็ล้มซะเลย! Johnson & Johnson ให้บริษัทลูกยื่น ‘ล้มละลาย’ ในคดีแป้งฝุ่นก่อมะเร็ง

17.10.2021
  • LOADING...
Johnson & Johnson

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 เป็นข่าวใหญ่โตอย่างมาก เมื่อมีผู้หญิงกว่า 1,000 คนรวมตัวกันฟ้อง Johnson & Johnson หรือ J&J ในข้อหาปิดบังความเสี่ยงในการก่อมะเร็งของแป้งเด็กที่บริษัทผลิต ทั้งยังมีการโฆษณาว่าปลอดภัยต่อการใช้งาน หลังจากที่มีผู้หญิงชื่อว่า ฟ็อกซ์ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งรังไข่ในปี 2015 จากแร่ใยหินที่ปนเปื้อนอยู่ในแป้งเด็กของ J&J  

 

ล่าสุด Johnson & Johnson หันไปพึ่งศาลล้มละลาย เพื่อพยายามแก้ไขชดเชยหนี้สินทางกฎหมายมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่เกี่ยวข้องกับคดีแป้งฝุ่นนี้ โดยใช้กฎหมายล้มละลายของสหรัฐอเมริกาที่เรียกว่า ‘Chapter 11’ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการปรับและฟื้นฟูโครงสร้างองค์กร โดยลูกหนี้อย่าง J&J จะดําเนินธุรกิจต่อไปได้ และสามารถพักชำระหนี้ได้ชั่วคราว แต่จะจ่ายชําระหนี้แก่เจ้าหนี้ไปตามแผนกำหนดการที่ศาลกำหนดให้ ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยให้บริษัทมีสภาพคล่องมากขึ้น

 

โดย J&J ได้ตั้งบริษัทย่อยชื่อว่า LTL Management LLC มาเพื่อยื่นขอการคุ้มครองป้องกันการล้มละลาย หรือ ‘Chapter 11’ และเพื่อชดเชยให้แก่ผู้เสียหายอย่างเป็นธรรมทุกฝ่ายทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยบริษัทย่อยนี้มีทรัพย์สินมากถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ (3.3 แสนล้านบาท) และหนี้สินสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ (3.3 แสนล้านบาท) ตามเอกสารของศาล ส่วนทาง J&J บริษัทแม่ไม่ได้ยื่นขอล้มละลาย

 

ไมเคิล อุลล์มันน์ รองประธานบริหารของ Johnson & Johnson กล่าวว่า “เรากำลังดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับคดีแป้งฝุ่นนี้ และเรายังคงยืนหยัดอยู่บนมาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์แป้งฝุ่นต่างๆ ของเรา โดยเราเชื่อว่าการแก้ไขปัญหานี้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นั้น จะเป็นประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด”

 

ทางด้านทนายที่สู้คดีกับ J&J มองว่า J&J เป็นบริษัทที่ทำกำไรได้มหาศาล แต่กลับพยายามใช้ศาลล้มละลายเพื่อแก้ปัญหาคดีแร่ใยหินในแป้ง แทนที่จะต่อสู้คดีไปทีละคดีในศาลต่างๆ ทั่วประเทศ โดย โจเซฟ แซทเทอร์ลีย์ ทนายความของโจทก์ในแคลิฟอร์เนียกล่าวในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับแป้งฝุ่นกับ J&J ว่า “นี่คือบริษัทที่มีมูลค่าตลาด 4.72 แสนล้านดอลลาร์ (15 ล้านล้านบาท) ณ เดือนสิงหาคมปีนี้ ไม่มีทางที่การดำเนินคดีโดยมีลูกหนี้เป็นบริษัทแม่อย่าง J&J จะส่งผลต่อสถานะทางการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ น่าขำมากกับการกระทำในการแยกบริษัทเพื่อใช้กฎหมาย Chapter 11 นั้น”

 

การใช้กฎหมาย Chapter 11 ของ J&J นั้นเป้าหมายคือ บริษัทจะจัดตั้งกองทุนทรัสต์ที่ใหญ่พอที่จะชดใช้ค่าเสียหายในทุกกรณีทั้งในปัจจุบันและในอนาคต และบริษัทจะบังคับให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อแร่ใยหินทั้งหมดยื่นขอค่าชดเชยในกองทุนทรัสต์นี้แทนการสู้คดีกันในศาล 

 

“น่ารังเกียจ” แอนดี้ เบิร์ชฟิลด์ ทนายความของโจทก์ในรัฐแอละแบมา ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่กล่าวหาว่าแป้งฝุ่นของ J&J ก่อให้เกิดมะเร็งรังไข่กล่าวในแถลงการณ์ “พวกเขาอ้างว่าผลิตภัณฑ์ของตนปลอดภัย และพยายามกลบเรื่องนี้โดยการยื่นล้มละลาย”

 

กลยุทธ์ที่ J&J ใช้ เป็นที่รู้จักในแวดวงกฎหมายว่า Texas Two Step เนื่องจากภายใต้กฎหมายที่เป็นมิตรต่อธุรกิจในรัฐนั้น บริษัทสามารถดำเนินการแยกกิจการตัวเองออกเป็นสองกิจการ โดยบริษัทส่วนหนึ่งยังมีการดำเนินงานและมีสินทรัพย์เกือบจะทั้งหมด ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะแบกหนี้สินจากคดีแร่ใยหินทั้งหมด จากนั้นบริษัทแร่ใยหินจะยื่นฟ้องล้มละลาย และบังคับให้ทุกคนฟ้องร้องเพื่อเจรจาตกลงกัน

 

บริษัท Georgia-Pacific ยักษ์ใหญ่ด้านไม้แปรรูปเป็นหนึ่งในบริษัทแรกๆ ที่ใช้กลยุทธ์นี้ในการทำให้บริษัท Bestwall ที่แยกออกมาล้มละลายในปี 2017 และในปัจจุบันบริษัทก็ยังคงต่อสู้กับเหยื่อแร่ใยหินโดยใช้กฎหมาย Chapter 11 อยู่

 

Johnson & Johnson ต่อสู้กับคดีเกือบ 35,000 คดี ที่กล่าวหาว่าแป้งเด็กและผลิตภัณฑ์แป้งโรยตัวอื่นๆ ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง ตามรายงานในเดือนกรกฎาคม มีจำนวนคดีเพิ่มขึ้น 28% จากปีที่แล้ว และยังมีคดีใหม่ปรากฏขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ

 

เมื่อต้นปีนี้ J&J ถูกบังคับให้จ่ายเงินประมาณ 2.5 พันล้านดอลลาร์ (8.3 หมื่นล้านบาท) ให้กับผู้หญิง 20 คน หลังจากที่ศาลฎีกาของรัฐมิสซูรีและศาลฎีกาสหรัฐฯ ได้รับคำตัดสินของคณะลูกขุนในเซนต์หลุยส์ว่า แป้งเด็กของ J&J ปนเปื้อนด้วยแร่ใยหิน นำมาสู่การก่อให้เกิดมะเร็ง

 

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของ J&J ได้กล่าวว่า “บริษัทมีเหตุผลทางกฎหมายที่เข้มแข็งสำหรับโต้แย้งต่อความสูญเสียนั้น”

 

J&J ได้ถูกตัดสินคดีไปแล้วบางคดี ในระหว่างการฟ้องร้องที่ดำเนินมานานกว่า 7 ปี เรื่องแป้งเด็ก ซึ่งบริษัทได้ถอนตัวออกจากตลาดสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว โดยการรับมือกับคดีแป้งฝุ่น J&J จะจัดตั้งทรัสต์มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ (6.6 หมื่นล้านบาท) เพื่อชำระหนี้ตามจำนวนเงินที่ศาลล้มละลายกำหนดให้ชำระกับบริษัทที่แยกออกมาสำหรับคดีแป้งฝุ่น และจะโอนค่าสิทธิ (Royalty Payments) มูลค่า 350 ล้านดอลลาร์ (1.1 หมื่นล้านบาท) ไปยังบริษัทดังกล่าว

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising