×

John Motson บทอำลา 50 ปี ตำนานเสียงแห่งเกมลูกหนัง

16.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • จอห์น มอตสัน (John Motson) บรรยายเกมมากกว่า 2,500 แมตช์ออกโทรทัศน์ กับอีก 10 ฟุตบอลโลก 10 ฟุตบอลยูโร 29 นัดชิงเอฟเอคัพ และอีก 200 นัดของทีมชาติอังกฤษ
  • เขาเป็นเหมือนสัญลักษณ์หนึ่งของวงการฟุตบอลโทรทัศน์ อยู่กับคนอังกฤษมายาวนานมากกว่า 50 ปี เรียกว่ามีสถานะไม่ต่างจาก ‘สมบัติของชาติ’
  • ​​มอตสันยืนยันว่า 50 ปีที่ผ่านมาเขาพอใจแล้ว และหลังจากนี้ถึงเวลาที่เขาจะได้นั่งพักผ่อนอยู่ที่บ้านกับครอบครัว และใช้เวลาทบทวนไปกับเรื่องราวของความหลังตลอดครึ่งร้อยปีที่ผ่านมา

ถ้าใครเป็นแฟนฟุตบอลอังกฤษและเคยได้ชมรายการ Match of the Day รายการฟุตบอลระดับตำนานของโลก ผมเชื่อว่าเราน่าจะเคยได้ผ่านตากับภาพของผู้ชายสูงวัยรูปร่างท้วมนิดๆ ผมสีดอกเลา ถือไมโครโฟนอันใหญ่ และบางครั้งก็สวมเฮดโฟนอันที่ใหญ่กว่า ภายใต้ชุดขนแกะสีน้ำตาล ยืนรายงานข่าวฟุตบอลอยู่ข้างสนาม บอกเล่าเรื่องราวและแสดงความคิดเห็นโต้ตอบกับพิธีกรในสตูดิโอ

 

นั่นเป็นภาพที่เราจดจำ จอห์น มอตสัน (John Motson) ตำนานคอมเมนเตเตอร์ฟุตบอล หรือผู้บรรยายเกมคนนี้ได้เป็นอย่างดี

 

เช่นกันกับน้ำเสียงที่มีเสน่ห์ นุ่มแต่หนักแน่น ใช้คำพูดไม่มากแต่คมกริบ เพราะทุกประโยคผ่านการร้อยเรียงมาเป็นอย่างดีด้วยความสามารถ สัญชาตญาณ และประสบการณ์ เรียกว่าใช้คำน้อยแต่ได้มาก

 

สำหรับชาวอังกฤษ มอตสัน หรือ มอตตี้ (Motty) เป็นเหมือนสัญลักษณ์หนึ่งของวงการฟุตบอลโทรทัศน์ เขาอยู่กับคนอังกฤษมายาวนานมากกว่า 50 ปีแล้วครับ เรียกว่ามีสถานะไม่ต่างอะไรจาก ‘สมบัติของชาติ’ หรือหากพูดให้ถูกกว่านั้น มอตตี้คือ ‘เสียงแห่งเกมลูกหนัง’ ที่ทุกคนรักและหลงใหล

 

เพียงแต่บนโลกนี้ไม่มีอะไรที่จะคงอยู่ตลอดไปครับ

 

ในวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา มอตสันจะทำหน้าที่เป็นครั้งสุดท้ายในคู่ระหว่างคริสตัล พาเลซ และเวสต์บรอมวิช อัลเบียน ที่สนามเซลเฮิร์สท์ ปาร์ค ในเกมนัดสุดท้ายของพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้พอดี โดยเสียงบรรยายเกมของเขาจะนำมาใช้ในรายการฟุตบอลยอดนิยมอันดับหนึ่งตลอดกาล Match of The Day ​และหลังจากนั้นจะไม่มีเสียงของ จอห์น มอตสัน ในเกมฟุตบอลอีกต่อไป

 

ก่อนที่เสียงแห่งเกมลูกหนังจะเงียบงันไปตลอดกาล ผมขอเล่าเรื่องตำนานของมอตสันให้ฟังสักหน่อย เพื่อเป็นการสดุดีเป็นครั้งสุดท้ายสำหรับตำนานคนหนึ่งของวงการคนนี้

 

และยังมีคำถามที่น่าสนใจอยู่บ้างว่า อะไรที่ทำให้คนคนหนึ่งสามารถทำงานแบบเดียวกันมาเป็นเวลาครึ่งศตวรรษ ไม่เบื่อบ้างหรือ ไม่เหนื่อยบ้างหรือ ไม่คิดเปลี่ยนใจบ้างเลยหรือ

 

เมื่ออ่านจบผมคิดว่าเราน่าจะได้อะไรกลับมาจากเรื่องราวของเขากันบ้างครับ 🙂

 

 

ความกล้าเมื่อฟ้าลิขิต

แต่ละคนมีจุดเริ่มต้นเส้นทางชีวิตที่แตกต่างกัน บางคนอาจจะเริ่มต้นทุกอย่างอย่างที่ตั้งใจจะให้เป็นแบบนั้น บางคนอาจจะไม่มีทางเลือกในเวลาของการเริ่มต้น ขณะที่บางคนการเริ่มต้นมันเป็นเรื่องของความบังเอิญ

 

มอตสันเป็นตัวอย่างหนึ่งของคนที่ ‘จับพลัดจับผลู’ ได้ทำงานในวงการฟุตบอลครับ ในสมัยเด็กๆ เจ้าหนูมอตตี้มีความฝันอยากจะเป็น ‘นักข่าวหนังสือพิมพ์’ พอเรียนจบในระดับไฮสคูล ซึ่งในยุคสมัยนั้น (ช่วงประมาณปี 1960) หนทางที่ดีที่สุดที่จะได้เป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ระดับแนวหน้าได้ก็คือการทำงานกับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นก่อน

 

บาร์เน็ต เพรส เป็นสถานที่ทำงานแห่งแรกของมอตสัน และที่นี่ก็เป็น ‘โรงเรียนวิชาชีพ’ แห่งแรกของเขาด้วยครับ เขาใช้เวลาในการร่ำเรียนวิชางานข่าวอยู่ 4 ปีด้วยกัน

 

หลังจากนั้นเขาได้โอกาสในการย้ายไปทำงานให้กับสถานีวิทยุ BBC ในเมืองเชฟฟิลด์ ในปี 1968 ซึ่งเป็นเวทีที่ใหญ่กว่า ​ระหว่างนั้นเองที่เริ่มมีคนมาถามเขาว่าสนใจที่จะลองเป็นคอมเมนเตเตอร์บรรยายเกมทางวิทยุดูบ้างไหม

 

ถึงจะไม่ใช่สิ่งที่เขาคิดจะทำในทีแรก แต่มอตสันไม่ปฏิเสธโอกาสนั้นครับ และความกล้าที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ นั่นเองที่กลายเป็นการเปิด ‘ประตู’ ให้เขาได้ก้าวเดินสู่เส้นทางใหม่ของชีวิต ทางที่เขาเองก็ไม่คิดว่าเขาจะใช้เวลาในการเดินทางในเส้นทางสายนี้เป็นเวลาครึ่งศตวรรษ

 

อย่างที่บอกครับว่าชีวิตคนเรามันมีเรื่องราวของการจับพลัดจับผลูเกิดขึ้นได้เสมอ สำหรับมอตสันการทดลองบรรยายเกมของเขา 2-3 นัดนั้น ทำให้เขาได้รับการทาบทามจากรายการ Match of the Day รายการฟุตบอลยอดนิยมโดยที่เขาไม่ทันได้ตั้งตัว

 

เวลานั้น Match of the Day เสีย เคนเนธ โวลสเทนโฮล์ม ผู้บรรยายจอมเก๋าระดับตำนานไป ทำให้ต้องการผู้บรรยายหน้าใหม่ตาม แบร์รี เดวิส และ เดวิด โคลแมน สองผู้บรรยายเลือดใหม่ของ BBC ที่เข้ามาก่อนหน้า

 

เช่นเคยครับ มอตสันไม่ปฏิเสธ และมันเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของเขาทันที

 

คำแนะนำจากร็อด สจวร์ต

ถึงเส้นทางของเขาจะดูคล้ายสวยหรูเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เบื้องหลังของความสวยงามนั้นมีหนามแหลมที่ทิ่มแทง สำหรับคนอ่อนประสบการณ์ การทำงานในเวทีใหญ่ระดับประเทศไม่ใช่เรื่องที่รับมือได้ง่าย

 

มันมีความกดดัน ความคาดหวัง จากทั้งคนอื่นและจากทั้งหัวใจตัวเอง โดยเฉพาะสำหรับคนที่ชื่นชอบในความสมบูรณ์แบบอย่างมอตตี้ เขาใส่ทั้งพลังตัวพลังใจลงไปในการทำงานเต็มที่เสมอ และกลายเป็นดาบสองคม เพราะมันทำให้เขาแบกรับบางอย่างมากเกินไป

 

ความกลัวที่จะผิดและพลาดทำให้มอตสันนอนไม่หลับ “ในช่วงแรกๆ ผมจะมีอาการวิตกก่อนเกมอย่างมาก และทำให้ผมนอนไม่หลับบ่อยๆ” เขาต่อสู้กับเงามืดในหัวใจอยู่นานครับ และไม่มีวี่แววว่าจะชนะมันได้

 

จนกระทั่งวันหนึ่งมอตสันได้มีโอกาสไปเล่นฟุตบอลที่จัดขึ้นในบ้านย่านเอปปิง ของ ร็อด สจวร์ต นักร้องเสียงแหบเสน่ห์คนดัง ที่เชิญคนรู้จักมาดวลเพลงแข้งกัน ก่อนจะพากันไปหาอะไรดื่มเพื่อพักผ่อนและแลกเปลี่ยนบทสนทนากับเรื่องราวในชีวิตในผับใกล้ๆ

 

เรื่องราวมากมายของแต่ละคนเดินทางออกจากหัวใจผ่านปากเข้าที่หูของกันและกัน และไม่รู้ด้วยฤทธิ์แอลกอฮอล์หรืออะไร ทำให้มอตสันเอ่ยปากถามแหบเสน่ห์อย่างตรงไปตรงมา ​“คุณเคยประหม่าหรือเปล่าเวลาขึ้นเวทีไปร้องเพลง”

 

ร็อด สจวร์ต ตอบกลับมาอย่างรวดเร็ว “ประหม่า? ทำไมผมต้องประหม่าด้วย ก็การร้องเพลงคืองานของผม”

 

คำตอบของร็อด สจวร์ตเหมือนจะไม่มีอะไร เรียบง่ายมากครับ แต่สำหรับมอตสันมันเปลี่ยนความคิดของเขาไปทั้งชีวิต ​“ผมเริ่มคิดถึงการบรรยายเกมฟุตบอลว่ามันเป็นงานที่ผมทำ แล้วทำไมผมถึงจะต้องไปคิดอะไรเยอะแยะกับเรื่องนี้ด้วย”

 

จริงอยู่ที่แม้จะทำงานมานานขนาดไหน แต่มืออาชีพตัวจริงอย่างมอตตี้เองก็วิตกบ้างว่าเขาจะเตรียมการได้ดีหรือเปล่า จะมีอะไรผิดพลาดหรือเปล่า แต่มันก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนที่ทำงานด้วยความใส่ใจ สิ่งที่แตกต่างออกไปคือเขาไม่กลัวที่จะทำอีก

 

ถูกก็ดีไป ผิดก็แก้ไข ไม่มีอะไรมากกว่านั้น ที่สำคัญ มันดีกว่าการกลัวแล้วไม่กล้าจะทำอะไรเลย

 

 

50 ปีผ่านมา สิ่งที่เปลี่ยนแปลงและสิ่งที่ไม่เปลี่ยนไป

จากวัยหนุ่มสาว มอตสันผ่านการทำงานกับ BBC มายาวนานกว่า 50 ปี ระยะเวลาครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากครับ ซึ่งมอตสันถือว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รู้ได้เห็นในความเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง

 

ในวันที่เขาได้เริ่มงานกับรายการ Match of the Day ในอังกฤษมีสถานีโทรทัศน์เพียง 3 แห่งเท่านั้นคือ BBC One, BBC Two และ ITV และในแต่ละฤดูกาลจะมีการถ่ายทอดสดเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้นคือเกมเอฟเอคัพนัดชิงชนะเลิศ

 

มาถึงวันนี้มีสถานีโทรทัศน์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย มีเพย์ทีวี มีทีวีออนไลน์ และการถ่ายทอดสดเกมฟุตบอลนั้นมีให้ชมครบทุกนัด ทุกลีก ทุกถ้วยบนโลกใบนี้ แต่สำหรับมอตสันเขามองว่า 50 ปีที่ผ่านมาในโลกของเขานั้นมีแค่ 2 อย่างที่เปลี่ยนไป เดาดูไหมครับว่าอะไร?

 

ผมไม่คิดว่าจะมีใครเดาได้ถูกแน่ๆ

 

คำเฉลยคือ อย่างแรกยุคนี้มีคอมเมนเตเตอร์เต็มไปหมด ซึ่งไม่เหมือนในวันแห่งการเริ่มต้นของเขาเลย

 

“สมัยที่ผมเริ่มทำงาน มีคอมเมนเตเตอร์อยู่แค่ 6 คนเท่านั้น อยู่ที่ BBC กับ ITV ที่ละ 3 คน แต่ในสมัยนี้ที่ไหนก็มีไม่ว่าจะทีวี วิทยุ หรือแม้แต่วิทยุท้องถิ่น คิดรวมๆ แล้วน่าจะมีเกิน 100 คน และผมไม่สงสัยเลยว่าทุกคนก็อยากจะเหนือคนอื่นทั้งนั้น”

 

การแข่งขันที่รุนแรงคือสิ่งที่แตกต่างไปจากในอดีต แต่สำหรับคนที่มาจากอดีตในยุคที่ไม่ได้มีโอกาสเปิดกว้างแบบนี้ การที่เขาได้เป็น 1 ใน 6 ของคนที่ทำงานด้านนี้ก็นับว่าเป็นความสำเร็จ เหมาะสมกับตำแหน่ง ‘ยอดยุทธ์’ แล้ว

 

ส่วนอย่างที่สองคือจำนวนกล้องที่ใช้สำหรับการถ่ายทอดสดที่มีเพิ่มจากอดีตอย่างมากมายมหาศาล เพราะในขณะที่สมัยก่อนภาพรีเพลย์ก็ไม่มี ทำให้ผู้บรรยายต้องมีสมาธิกับเกมสูงมากเพื่อไม่ให้พลาดจังหวะสำคัญในเกม

 

ตรงข้ามกับเกมสมัยใหม่ที่มีกล้องใช้จับทุกเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวในทุกมุมของสนาม แม้กระทั่งการจับตานักฟุตบอลระดับสตาร์ในทุกการเคลื่อนไหวก็ยังมีเลย ไม่นับมุมกล้องพิเศษอื่นๆ อีกมากมาย

 

แต่ถึงโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน สำหรับมอตสันมันยังมีสิ่งที่เขาไม่คิดเปลี่ยนไป

 

อย่างแรกคือเขาไม่สนใจเทคโนโลยีใดๆ ทั้งนั้น ไม่ต้องตามหา John Motson บน Facebook, Twitter, Instagram, Pinterest, LinkedIn หรือโซเชียลมีเดียไหนๆ ครับ เขาไม่มีสักอย่าง

 

มอตสันไม่ค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตด้วย เพราะเขาใช้ไม่เป็น

 

​สิ่งที่เขาทำในการเตรียมตัวก่อนการทำงานบรรยาย เป็นวิธีการของผู้บรรยายสมัยดั้งเดิมเมื่อร่วมร้อยปีที่แล้ว ปากกา (ที่ภรรยาซื้อให้) สมุดโน้ต กระดานสีขาวอันเล็กๆ คือสิ่งที่เขาพกติดตัวเอาไว้เพื่อใช้จดบันทึกทุกอย่าง

 

ขณะที่ก่อนจะถึงเกมในวันเสาร์ มอตสันจะโทรศัพท์เพื่อพูดคุยกับผู้จัดการทีมของทีมที่จะลงสนาม หรือหากไม่เป็นผู้จัดการทีมก็ต้องเป็นใครก็ได้ที่เขารู้จัก โดยเป็นการโทรไปเพื่อสอบถามว่าจะมีใครที่ลงสนามบ้างในเกมนี้

 

กระบวนการตรงนี้อาจจะใช้เวลามาก เพราะแต่ละทีมมีผู้เล่นเกิน 25 คน แต่ในฐานะผู้บรรยาย มอตสันเชื่อว่าทุกคนควรที่จะมีอะไรติดไว้ในหัวบ้างว่าทีมนี้จะมีใครลงเล่นบ้างและจะมีการจัดทีมอย่างไร

 

มอตสันยังค้นคว้าเพิ่มด้วยการนั่งดูดีวีดีเกมการแข่งขันย้อนหลังของทีมในคู่ที่เขาจะบรรยาย หรือบางครั้งเขาก็ไปนั่งดูเกมกลางสัปดาห์ด้วยตัวเองเท่าที่จะทำได้เพื่อเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด

 

สิ่งที่เขาบันทึกก็เช่น นักเตะคนไหนเล่นตำแหน่งไหนบ้าง ระบบการเล่นเป็นแบบไหน ใครเตะมุม เตะฟรีคิก เตะจุดโทษ ไปจนถึงตัวสำรองมีใครบ้าง

 

ในการทำเช่นนั้น ที่ทำได้เพราะมอตสันไม่เคยคิดว่าตัวเองไปทำงานครับ แต่เขาเปลี่ยนงานให้เป็นชีวิต และมันเป็นเหตุผลที่เขาไม่เคยไปจากเกมฟุตบอลเลยตลอด 50 ปีที่ผ่านมา

 

 

บทสนทนาในความทรงจำ

​ถ้าถามเขาว่า เขาคิดว่าตัวเองเป็นคนโชคดีไหมที่ได้ทำงานตรงนี้มาอย่างยาวนาน คำตอบจากมอตสันนั้นชัดเจนทุกครั้ง เขารู้ว่าตัวเองเป็นคนโชคดีแค่ไหนกับงานตรงนี้

 

งานที่ทำให้เขาได้ไปชมเกมฟุตบอลมากมายทั่วโลก ได้เห็นความสวยงามของเกมฟุตบอลในระยะที่ใกล้กว่าแฟนบอลทั่วไป และมากกว่านั้นคือมันเป็นงานที่ทำให้เขาได้มีโอกาสพบและพูดคุยกับเหล่ายอดผู้จัดการทีมมากมาย รวมถึงเหล่ามหาบุรุษอย่าง เซอร์อัลฟ์ แรมซีย์ ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษชุดแชมป์โลกปี 1966, บิล แชงค์ลีย์ บิดาแห่งแอนฟิลด์, ไบรอัน คลัฟ อัจฉริยะลูกหนังปากกรรไกรแห่งน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ และ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน บรมกุนซือแห่งโอลด์แทรฟฟอร์ด

 

แน่นอนว่าคนแรกในหมู่ยอดคนข้างต้นที่มอตสันต้องสัมภาษณ์ย่อมหนีไม่พ้น เซอร์อัลฟ์ แรมซีย์

 

มันเป็นบทสัมภาษณ์ที่เขายอมรับว่ายากที่สุดครั้งหนึ่งเลย เพราะต้องสัมภาษณ์หลังจากที่อังกฤษไม่ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายฟุตบอลโลกในปี 1974 ที่ประเทศเยอรมนีตะวันตก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น 8 ปีพวกเขาเป็นแชมป์โลก!

 

คำถามที่มอตตี้ต้องถามกุนซือระดับนั้นว่า “คุณคิดว่าคุณจะได้ทำงานต่อไปหรือไม่” แค่คิดก็สยองแล้วครับ

 

หรืออย่าง เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อดีตผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ครั้งหนึ่งก็เคยใช้ไม้ตาย ‘ไดร์เป่าผม’ ใส่มอตตี้มาแล้ว หลังจากที่โดนถามเรื่องสถิติการโดนลงโทษของ รอย คีน หลังไปโดนใบแดงในเกมนัดหนึ่งเมื่อปี 1995

 

วันนั้นเฟอร์กี้เดือดถึงขั้นยุติการสัมภาษณ์ทันที โดยบอกว่ามอตสันไม่มีสิทธิ์จะถามเรื่องนี้ แต่หนึ่งสัปดาห์ถัดมาทุกอย่างก็กลับมาเป็นปกติในความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสอง

 

คนที่ถือเป็นไม้เบื่อไม้เมากับเขามากที่สุดคือ ‘คลัฟจี้’​ ไบรอัน คลัฟ กุนซือปากกรรไกรที่มีความสามารถในการพูดจาเชือดเฉือน ทิ่มแทง จิกกัด ด่าเจ็บแสบ เป็นที่หนึ่งในใต้หล้า แต่ก็เป็นคนที่พูดแล้วใครๆ ก็อยากฟัง

 

ครั้งหนึ่งมอตสันเคยถามโปรดิวเซอร์รายการว่า เขาควรจะเตรียมตัวหรือเตรียมคำถามอะไรเป็นพิเศษไหมในการสัมภาษณ์คลัฟ เพราะเขาอยากให้งานออกมาดีที่สุด คนสนใจอยากจะฟังมากที่สุด

 

คำตอบของโปรดิวเซอร์ทำให้มอตตี้ถึงบางอ้อ “ต่อให้คุณเอาสมุดโทรศัพท์มากางให้เขาอ่าน คนก็ยังจะฟังเขาด้วยความสนใจอยู่ดี”

 

เพียงแต่ความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของคลัฟ อีกด้านหนึ่งก็เป็นความท้าทายของมอตสันว่าเขาจะสัมภาษณ์ได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ ซึ่งมันก็มีทั้งออกมาดีและแย่ปะปนกันไป

 

แต่อย่างน้อยมันคือสิ่งที่เขาทำแล้วมีความสุข “ผมสนุกกับงานด้านนี้มากพอๆ กับการที่ผมได้ไปตระเวนชมเกมฟุตบอลเลย” มันคือความทรงจำมากมายที่ต่อให้เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

 

เสียงนกหวีดสุดท้าย

มากกว่า 2,500 แมตช์ที่เขาบรรยายเกมออกโทรทัศน์ กับอีก 10 ฟุตบอลโลก 10 ฟุตบอลยูโร 29 นัดชิงเอฟเอคัพ และอีก 200 นัดของทีมชาติอังกฤษ มันเป็นตัวเลขที่มหัศจรรย์สำหรับผู้บรรยายคนหนึ่ง

 

​“ผมมีช่วงเวลาที่วิเศษ” มอตสันยอมรับ “ผมไม่คิดว่าจะมีอะไรที่ดีไปกว่านี้อีกแล้วสำหรับผม เพราะผมบ้าฟุตบอลมาตั้งแต่เด็ก และการที่ได้ทำงานที่ได้ดูฟุตบอล แถมยังได้ตระเวนไปตามรายการใหญ่ๆ ต่างๆ สำหรับผมมันคือรางวัลชีวิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว”

 

ก็น่าจะจริงครับ เพราะถึงมันอาจจะไม่ใช่งานที่ทำให้เขาได้เงินมากมายในระดับมหาเศรษฐี แต่ผมคิดว่ามอตสันเป็นหนึ่งในคนที่น่าอิจฉาที่สุดในโลกครับ ​ได้ทำอะไรที่รัก และใช้เวลาทั้งชีวิตกับมัน เป็นหนึ่งในสิ่งที่คนค่อนโลกฝันอยากจะมีชีวิตแบบนี้

 

เพียงแต่ทุกอย่างมีเวลาของมัน มอตสันเองก็มีเวลาจำกัดในโลกของฟุตบอล และเวลาของเขากำลังจะหมดลงครับ

 

เราได้ยินเสียงของเขาอีกครั้งใน Match of the Day สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และน่าจะได้เห็นการปรากฏตัวเป็นครั้งสุดท้ายจริงๆ ในนัดชิงเอฟเอคัพสัปดาห์หน้า

 

โดยที่ BBC ได้จัดเตรียมรายการพิเศษ Motty: The Man Behind The Sheepskin ให้กับมอตตี้ ในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ด้วยครับ

 

ทุกคนจะได้ชมเรื่องราวของชายผู้เป็นเสียงของเกมฟุตบอล ย้อนรอยการบรรยายในตำนาน ตอบคำถามถึงสิ่งต่างๆ ที่เขาพบเจอตลอดระยะเวลาการทำงาน 50 ปี และความทรงจำที่แสนดีในวันวาน

 

​“ผมรู้สึกซาบซึ้งอย่างมากที่ BBC อุทิศช่วงเวลาของค่ำวันนั้นเพื่อผม” มอตสันยืนยันว่า 50 ปีที่ผ่านมาเขาพอใจแล้ว และหลังจากนี้ถึงเวลาที่เขาจะได้นั่งพักผ่อนอยู่ที่บ้านกับครอบครัวและใช้เวลาทบทวนไปกับเรื่องราวของความหลังตลอดครึ่งร้อยปีที่ผ่านมา

 

​มันคงมากพอที่ชายวัย 72 ปีจะใช้ชีวิตพร้อมรอยยิ้มในทุกวันที่ลืมตาขึ้นมา

 

ขอบคุณสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างและทุกความทรงจำ

 

ขอให้มีความสุขในวันเวลาที่เหลือนะ เราจะไม่มีวันลืม The Voice of Football​

 

อ้างอิง:

FYI
  • เกมแรกที่มอตสันได้บรรยายคือเกมระหว่างเอฟเวอร์ตันปะทะดาร์บี เมื่อปี 1969
  • ส่วนเกมที่แจ้งเกิดเขาอย่างเป็นทางการคือการบรรยายเกมเอฟเอคัพ ปี 1972 นัดรีเพลย์​คู่ระหว่างเฮียร์ฟอร์ดกับนิวคาสเซิล
  • ประโยคคำบรรยายที่เปลี่ยนชีวิตเขาคือ “Radford again. Oh, what a goal! What a goal! What a goal! Radford the scorer”
  • มอตสันประกาศการอำลาวงการของเขาเมื่อเดือนกันยายนปีกลาย โดยหลังจากนั้นจนถึงสิ้นสุดฤดูกาลถือเป็น Farewell Tour ของเขา โดยเกมสุดท้ายจริงๆ ที่จะได้ปรากฏตัวคือเกมเอฟเอคัพ รอบชิงชนะเลิศ ระหว่างเชลซีและแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
  • เกมสุดท้ายที่เขาบรรยายทางวิทยุคือเกมระหว่างอาร์เซนอลและวัตฟอร์ด เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่วนกับ Match of the Day เขาจะทำหน้าที่เป็นเกมสุดท้ายในสุดสัปดาห์นี้
  • ตลอดชีวิตการทำงาน จอห์น มอตสัน มีคู่แข่งคนสำคัญคือ แบร์รี เดวิส ที่เคยร่วมงานกันใน BBC นั่นเอง
  • นักฟุตบอลที่มอตสันคิดว่าเก่งที่สุดที่เคยเห็นคือ พอล แกสคอยน์ (แต่เขาก็เสียดายที่ได้เห็น บ็อบบี้ มัวร์ และ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน ในช่วงปลายชีวิตการเล่นแล้ว) ส่วนนักเตะต่างชาติที่เก่งที่สุดสำหรับเขาคือ เอริก คันโตนา
  • เหตุการณ์ที่ตลกที่สุดในชีวิตการทำงาน 50 ปีของมอตสันคือ เกมหนึ่งที่สนาม เบสบอล กราวด์ ของดาร์บี ในปี 1970 วันนั้นผู้ตัดสินเป่าจุดโทษ แต่ว่าสนามมันมีแต่โคลนมองไม่เห็นจุดโทษ กรรมการต้องวัดระยะเองให้ได้ 12 หลา แล้วให้คนเอาสีมาแต้มทาเป็นจุดโทษ
  • เกมที่เขาประทับใจที่สุดมี 2 นัดคือ เกมระหว่างอิตาลีกับบราซิล ในศึกฟุตบอลโลก 1982 และเกมที่อังกฤษบุกไปชนะเยอรมนี 5-1 ถึงถิ่น
  • เสื้อโค้ตขนแกะสีน้ำตาลที่เป็นเอกลักษณ์ของเขา เป็นของขวัญวันคริสต์มาส และภาพจำของเขาเกิดขึ้นเมื่อสวมเสื้อตัวนี้ลงไปบรรยายเกมข้างสนามที่วีคอมบ์ เมื่อปี 1990 ท่ามกลางหิมะที่ตกลงมาอย่างหนัก
  • ปัจจุบันมอตตี้มีเสื้อขนแกะเหลืออยู่ 2 ตัว จากที่เคยมีสูงสุดถึง 7-8 ตัว
  • เขาไม่เคยสนใจการได้รับเชิญไปเกมโชว์หรือรายการเต้นต่างๆ แต่ถ้าเป็นรายการตอบคำถามกีฬาเขาจะไป
  • มอตสันได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น OBE เมื่อปี 2001 จากผลงานที่รับใช้วงการกีฬามาอย่างยาวนาน
  • และในวาระของการอำลา เขาจะได้รับรางวัลพิเศษสุด Bafta ด้วย
  • เพื่อเป็นการสดุดีเขา Twitter จัดทำอีโมจิพิเศษให้ ซึ่งทำให้มอตตี้เป็นผู้บรรยายกีฬาของอังกฤษคนแรกที่มีอีโมจิเป็นของตัวเอง โดยจะใช้อีโมจินี้ได้ในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้
  • ถ้าไม่ได้เป็นผู้บรรยายกีฬา มอตสันคิดว่าเขาจะไปเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ และโฆษกวิทยุ เพราะมีคนบอกว่าเสียงของเขา (ที่คนยกย่องว่า perfect-pitch)
  • ครั้งหนึ่งมอตสันเคยกล่าวไว้ครับว่า “ผมแค่หวังว่าทุกคนจะได้คิดถึงผมและมองว่าผมเป็นผู้บรรยายที่ดี ถ้าพวกเขาคิดถึงผมแบบนั้น ผมก็สามารถจะไปจากที่นี่ได้อย่างคนที่มีความสุข”
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising